Thailand
23/8/2024
กรุงเทพฯ (22 ส.ค.67) - ที่โรงแรมอนันตรา สยาม บางกอก นายทนง ขันทอง นายกสมาคมสื่อมวลชนนานาชาติ ประเทศไทย (IMCT) ระบุระหว่างกล่าวเปิดงาน BRICS Forum Thailand 2024 'ส่งเสริมความสัมพันธ์ข้ามชาติ เพิ่มโอกาสทางธุรกิจ ผ่านมิตรภาพกลุ่ม BRICS'ว่าไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่ต้องการเข้าร่วมเป็นสมาชิกกลุ่ม BRICS เพื่อเป็นส่วนหนึ่งของระบบระหว่างประเทศที่เสรีและมีความยุติธรรม ด้วยโอกาสทางการค้าการลงทุนกับกลุ่มประเทศที่มีขนาดทางเศรษฐกิจที่คิดเป็น 1 ใน 4 ของเศรษฐกิจโลก (ข้อมูลปี 2565) รวมถึงการเดินหน้าเพื่อการก่อตั้งสกุลเงินร่วมในกลุ่ม BRICS ลดการพึ่งพาสกุลเงินดอลลาร์ (De-Dollarization) สำหรับการค้าระหว่างกันในอนาคต
ด้านนาย Zhongchao Wei Chairman of Sinothai Empowering Industry Development Co.,LTD ได้ระบุว่า จีนพร้อมจะเดินหน้าตามความต้องการของแต่ละประเทศในความร่วมมือต่างๆ ระหว่างกัน รวมถึง BRICS พร้อมขอบคุณ IMCT ที่จัดเวทีสาธารณะซึ่งให้ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับความร่วมมือระหว่างกลุ่ม BRICS อีกด้วย
ส่วนเวทีเสวนา 'ส่งเสริมความสัมพันธ์ข้ามชาติ เพิ่มโอกาสทางธุรกิจ ผ่านมิตรภาพกลุ่ม BRICS' โอกาสและความท้าทายของไทยในประเทศสมาชิกกลุ่ม BRICS อนาคตด้านเศรษฐกิจ การเงิน การค้าและการลงทุน รวมถึงด้านอื่นๆ ในทัศนะมุมมองของเอกอัครราชทูตประเทศสมาชิกกลุ่ม BRICS ระบุถึงการขยายตัวของ BRICS การใช้สกุลเงินของตนเอง รวมถึงระบบการชำระเงินของ BRICS และความสัมพันธ์ทวิภาคีของแต่ละชาติกับไทย ซึ่ง H.E. Mr. Evgeny Tomikhin เอกอัครราชทูตสหพันธรัฐรัสเซียประจำประเทศไทยมองว่า แม้จะมีปัญหาทางการเมือง แต่ในการที่รัสเซียจะเป็นเจ้าภาพในการจัดการประชุมสุดยอด BRICS ในปีนี้ (2024) ที่เมืองคาซาน ขณะที่กลุ่ม BRICS ถูกมองว่าเติบโตอย่างรวดเร็ว รัสเซียก็ต้องการจะเพิ่มบทบาทของ BRICS ในเวทีโลก ทั้งในมิติความสัมพันธ์ทวิภาคี การเมืองความมั่นคง เศรษฐกิจและการเงิน รวมถึงวัฒนธรรมและมนุษยชาติ ผ่านกลไกความร่วมมือที่เป็นมิตรของ BRICS ที่มองหาแนวคิดและทางเลือกใหม่ๆ ในระบบการชำระเงินที่มีประสิทธิภาพอย่าง BRICS Bridge แม้จะไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะคาดการณ์อนาคตท่ามกลางการถูกคว่ำบาตร พร้อมระบุว่าจะสานต่อสิ่งที่ได้พูดคุยไว้บนเวทีการประชุมสุดยอด BRICS ครั้งที่ 15 ที่โจฮันเนสเบิร์ก แอฟริกาใต้เมื่อปีที่แล้ว (2023) ส่วนไทยถือว่ามีศักยภาพมากในการเข้าร่วม BRICS
ด้าน H.E. Mr.Nagesh Singh เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐอินเดียประจำประเทศไทย กล่าวว่า ในมุมมองของอินเดีย BRICS เป็นความร่วมมือที่เข้มแข็งในความสนใจร่วมระหว่างแต่ละประเทศสมาชิก โดยมีการมองมุมมองแบบโลกสมัยใหม่ซึ่งมีหลายขั้วอำนาจ ครอบคลุม และเป็นประชาธิปไตยมากขึ้น พร้อมย้ำว่า วาระหลักของ BRICS ไม่ใช่ความร่วมมือที่เป็นไปเพื่อการต่อต้านโลกตะวันตก ซึ่งไทยมีโอกาสเป็นไปได้สูงที่จะได้รับการรับรองให้เข้าร่วม BRICS จากการที่ไทยเป็นพันธมิตรที่ดีของแต่ละชาติสมาชิก และเป็นสะพานเชื่อมทางเศรษฐกิจที่ดี
ขณะที่ H.E. Mr.Nassereddin Heidari เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐอิสลามอิหร่านประจำประเทศไทย เน้นย้ำว่าอิหร่านพร้อมสนับสนุนความร่วมมือแบบพหุภาคีในโลกที่มีขั้วอำนาจหลายขั้ว นอกจากนี้ก็เชื่อว่าการจัดตั้ง BRICS สะท้อนความร่วมมือและอัตลักษณ์ด้านความมั่นคงและเศรษฐกิจที่แท้จริงซึ่งสำคัญต่อประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ในประเทศซีกโลกใต้ (Global South) ที่จะกลายเป็นพลังอำนาจต่อรองเพื่อประโยชน์ของทุกฝ่ายบนเวทีระหว่างประเทศอย่าง UN หรือ G7 ส่วนการพัฒนา New Development Bank (NDB) ไม่ได้เป็นไปเพื่อทำให้ระบบเดิมสะดุดลง แต่เป็นไปเพื่อให้ระบบการเงินของ BRICS มีศักยภาพและเชื่อมโยงกันมากขึ้น ส่วนการที่ไทยจะเข้าร่วม BRICS แม้จะเข้าร่วมกับองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD) ด้วย ก็มองว่าไม่เป็นอุปสรรค พร้อมย้ำว่าอิหร่านพร้อมเปิดการค้ากับไทยผ่านสกุลเงินท้องถิ่นโดยไม่พึ่งพาดอลลาร์สหรัฐฯ ได้
ส่วน H.E. Mr.Darkey Ephraim Africa เอกอัครราชทูตแอฟริกาใต้ประจำประเทศไทย ระบุว่า ตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่สอง โลกต้องการจะเห็นเวทีระหว่างประเทศที่เดินหน้าไปอย่างเป็นธรรม ซึ่ง BRICS มีบทบาทสำคัญในการสร้างโลกที่ทุกประเทศได้รับประโยชน์ที่เท่าเทียมมากขึ้น พร้อมกับการเปลี่ยนแปลงวาระทางเศรษฐกิจของโลก เพื่อเติบโตทางเศรษฐกิจในเชิงคุณภาพและเสริมสร้างความเข้มแข็งให้ความร่วมมือทั้งระดับทวิภาคีและพหุภาคี ซึ่งแอฟริกาใต้ที่เติบโตทางการค้าไปกับ BRICS พร้อมจะผลักดันการส่งเสริมเศรษฐกิจและการเข้าถึงตลาดอย่างเท่าเทียม สร้างความหลากหลายด้านการลงทุนและมูลค่าการส่งออกแบบมหภาคเพื่อรับมือปัญหาทางเศรษฐกิจที่อาจเกิดขึ้น รวมถึงปกป้องเศรษฐกิจของประเทศกำลังพัฒนาจากอคติที่เกิดขึ้นต่อประเทศซีกโลกใต้ (Global South) โดยไม่ได้ต่อต้านชาติตะวันตกแต่อย่างใด ขณะที่ไทยมีความเป็นไปได้ที่จะได้เข้าร่วม BRICS จากการเป็นชาติที่มีเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับต้นๆ ของอาเซียน ส่วนเรื่องระบบสกุลเงิน มองว่ามีความท้าทายลักษณะเดียวกับทวีปแอฟริกา ที่พยายามพูดคุยกันเพื่อเดินหน้าสู่การใช้สกุลเงินเดียวทั้งทวีป
ขณะเดียวกัน บนเวที 'ส่งเสริมความสัมพันธ์ข้ามชาติ เพิ่มโอกาสทางธุรกิจ ผ่านมิตรภาพกลุ่ม BRICS' โอกาสและความท้าทายของไทยในประเทศสมาชิกกลุ่ม BRICS อนาคตด้านเศรษฐกิจ การเงิน การค้าและการลงทุน รวมถึงด้านอื่นๆ ในมุมมองประธานหอการค้า ประเทศสมาชิกกลุ่ม BRICS ได้พูดคุยกันถึงโอกาสทางการค้าและการลงทุนสำหรับภาคเอกชนของไทย หากไทยได้เข้าเป็นสมาชิก BRICS ซึ่ง Mr.Vitaly Kiselev ประธานหอการค้ารัสเซีย-ไทยมองว่า BRICS เชื่อมโยงกันผ่านทั้งด้านการเมือง ยุทธศาสตร์ และเศรษฐกิจ ซึ่งจะเป็นประโยชน์กับไทยด้านการเข้าถึงสินค้าไทยในตลาด BRICS และจะยกสถานะของไทยในอาเซียนด้วย โดยคาดหวังว่าจะมีพัฒนาการด้านเศรษฐกิจร่วมกับกลุ่มประเทศ BRICS ในอนาคต ซึ่งกลุ่มธุรกิจค่อนข้างตื่นเต้นกับความเคลื่อนไหวนี้ ส่วนปัญหาสำคัญที่สุดของการค้าการลงทุนระหว่างไทยและรัสเซีย คือขาดความรู้ความเข้าใจในโอกาสอื่นๆ นอกจากการท่องเที่ยว ซึ่งหอการค้ารัสเซีย-ไทยพยายามจะจัดกิจกรรมเสริมสร้างความรู้ให้คู่ค้าให้เพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะกฎระเบียบของรัสเซียในการนำเข้าผลิตภัณฑ์อาหารจากไทย ขณะที่ผลิตภัณฑ์พลังงานระหว่างไทยกับรัสเซียก็กำลังขับเคลื่อนเรื่องนี้ร่วมกับผู้บริหารกระทรวงและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของไทยเมื่อไม่นานมานี้
ขณะเดียวกัน ปัญหาการคว่ำบาตรที่รัสเซียต้องเผชิญ ประธานหอการค้ารัสเซีย-ไทยระบุว่า ส่งผลต่อการค้าการลงทุนอย่างแน่นอน โดยเฉพาะการค้าระหว่างประเทศอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ จากการที่ธนาคารรัสเซียถูกห้ามไม่ให้ใช้ระบบ SWIFT ซึ่งทางออกก็คือ การค้าขายด้วยสกุลเงินท้องถิ่นที่บางบริษัทก็เริ่มใช้วิธีดังกล่าวแล้ว
ด้าน Mr.Neil van Heerden ประธานหอการค้าแอฟริกาใต้-ไทย ชี้ว่าจากจำนวนประชากรที่มีจำนวนมากของ BRICS จะเป็นโอกาสของไทยในการเข้าถึงวัตถุดิบในสายการผลิตต่างๆ รวมถึงผลิตภัณฑ์ด้านเกษตรกรรมและพลังงานสะอาดที่เติบโตในแอฟริกาใต้ จากการเข้ามาลงทุนของจีนและอินเดีย นอกจากนี้ BRICS ยังสามารถช่วยพัฒนาด้านการวิจัยเช่นเดียวกับที่แอฟริกาใต้ได้รับทุนสนับสนุนการวิจัยด้วย พร้อมๆ กับเปลี่ยนความเข้าใจที่อาจจะยังไม่ถูกต้องที่มีต่อแอฟริกาใต้ควบคู่ไปกับการผลักดันขยายโอกาสของนักธุรกิจแอฟริกาใต้ในไทยอย่างเปิดกว้างด้วย ส่วนระบบการชำระเงิน มองว่ารัฐบาลของแต่ละประเทศ BRICS กำลังพยายามหาทางแก้ไขข้ออุปสรรคต่างๆ อยู่
ขณะที่ Mr.Sushil Kumar Dhanuka ประธานหอการค้าอินเดีย-ไทยที่เก่าแก่มากว่า 80 ปี ระบุว่าอินเดียจะมีความสุขมาก หากไทยได้เข้าร่วมเป็นชาติสมาชิกของกลุ่ม BRICS ที่จะผลักดันให้เศรษฐกิจไทยเติบโตเป็นอย่างมาก เพราะพื้นที่ภูมิศาสตร์ของไทยถือเป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญระหว่างอินเดียและจีน ซึ่งหอการค้าอินเดีย-ไทยได้สร้างความสัมพันธ์อันดีกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อการค้าการลงทุนที่ราบรื่น ทั้งต่อนักธุรกิจอินเดียในไทย และนักธุรกิจไทยในอินเดีย โดยเฉพาะในด้านโครงสร้างพื้นฐานที่อินเดียกำลังเติบโตอย่างรวดเร็ว บนแนวคิด Look East และ Act East ไปพร้อมๆ กัน ส่วนข้อกังวลของหอการค้าอินเดียคือ ไทยยังขาดแรงงานมีฝีมือ จึงมองว่ารัฐบาลไทยควรส่งเสริมและผลักดันการเข้าถึงความรู้สู่การเป็นแรงงานที่มีทักษะมากพอ ขณะเดียวกัน ภาคการท่องเที่ยวก็กำลังเติบโต หากไทยเข้าร่วมเป็นสมาชิก BRICS ก็อาจเดินหน้าแนวคิด 'BRICS Visa' ที่มีแนวทางคล้ายๆ กับวีซ่าเชงเก้นของยุโรปได้ ขณะเดียวกัน ระบบการเงินระหว่างอินเดียและไทย ประธานหอการค้าอินเดีย-ไทยระบุว่า ไม่มีปัญหาแต่อย่างใด จากการที่นักท่องเที่ยวของอินเดียสามารถนำเงินรูปีอินเดียมาใช้ในไทยได้ผ่านระบบบัตรสำหรับชำระเงิน
ส่วน Mr.Marcelo Souza ประธานหอการค้าบราซิล-ไทยก็หวังว่า หากไทยได้เข้าเป็นสมาชิก BRICS ก็จะทำให้สามารถทำความเข้าใจได้มากขึ้น พร้อมกับการผลักดันประเทศไทยให้เป็นชาติแรกๆ ที่บราซิลนึกถึงหากกล่าวถึงอาเซียน ขณะเดียวกัน หอการค้าบราซิล-ไทยก็ยังได้เปิดแพลตฟอร์มซึ่งรวบรวมบริษัทที่เป็นสมาชิกหอการค้าของประเทศกลุ่ม BRICS เอาไว้ให้ง่ายต่อการสืบค้นเพื่อเชื่อมโยงและส่งเสริมความร่วมมือทางเศรษฐกิจของชาติสมาชิก BRICS ที่ทำงานร่วมกันได้เป็นอย่างดีมาตลอด พร้อมระบุว่า หาก BRICS พัฒนาต่อไปให้มีข้อตกลงการค้าเสรี หรือ FTA ก็จะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งสำหรับการค้าการลงทุนระหว่างชาติสมาชิก BRICS แต่ไทยก็อาจจะต้องปรับกฎระเบียบบางประการให้สอดคล้องกัน เพื่อให้ไทยพ้นจากกับดักรายได้ปานกลางด้วย
IMCT News
© Copyright 2020, All Rights Reserved