ขอบคุณภาพจาก Sputnik
21/8/2024
ธนาคารกลางยุโรปเตรียมเปิดตัว “ ดิจิทัลยูโร “ ซึ่งเป็นสินทรัพย์ดิจิทัลที่ออกโดยธนาคารกลาง หรือ CBDC ตั้งแต่เดือนตุลาคมปีที่แล้ว ( 2023 ) แต่จนแล้วจนรอด ก็ยังไม่มีการนำ ดิจิทัลยูโร ออกใช้งาน จนเมื่อเดือนเมษายนปีนี้ ( 2024 ) ที่ประธานธนาคารกลางเยอรมนี ออกมายืนยันว่า อาจต้องใช้เวลา 4-5 ปี กว่าที่ดิจิทัลยูโรจะนำออกใช้งานได้จริง
คนเยอรมันผู้รักเงินสด ถือเป็นแกนนำกลุ่มต่อต้านการใช้ดิจิทัลยูโรในภาคพื้นยุโรป โดยมีอยู่เกือบครึ่ง ที่บอกว่า พวกเขาอาจจะ หรือ จะไม่ยอมใช้ระบบการชำระเงินแบบใหม่เลย ถ้ามีการอนุมัติแล้ว
ผลสำรวจโดยสถาบัน Forsa เพื่อการวิจัยสังคมและวิเคราะห์สถิติ ในนามของธนาคารกลางเยอรมนี พบว่า มีคนเยอรมันแค่ 15% ที่ยืนยันจะใช้ดิจิทัลยูโรแน่นอน ในขณะที่ 35% พร้อมจะลองดู แต่มีอยู่ 25% ที่ไม่ใช้แน่นอน และ 24% ที่บอกว่า อาจจะไม่ใช้ ส่วนอีก 1% ยังไม่ตัดสินใจ การสำรวจนี้ทำเมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา ครอบคลุมประมาณ 2,000 คน
คนเยอรมันเป็นแกนนำหลักในยุโรป ที่ชื่นชอบแนวคิดที่ว่า “ เงินสดคือราชา “ และยังคงใช้ธนบัตรมูลค่า 500 ยูโร หมุนเวียนในท้องตลาด ในขณะที่ธนาคารกลางของกลุ่มประเทศอื่นๆ ในแถบอียู เลิกใช้ธนบัตรนี้ไปแล้ว
เมื่อปี 2019 โพลของธนาคารกลางเยอรมนี พบว่า คนเยอรมัน 88% ยังชื่นชอบที่จะจ่ายเงินสดต่อไป ถึงแม้ว่า จะไม่มีธนบัตร 500 ยูโร หมุนเวียนในท้องตลาดแล้วก็ตาม ซึ่งถือเป็นธนบัตรยอดนิยมสำหรับคนเยอรมันเวลาที่ต้องจับจ่ายทีละมากๆ
ในกลุ่มสหภาพยุโรป สัดส่วนการใช้เงินสดระหว่างผู้ซื้อกับผู้ขายโดยตรง โดยไม่มีธนาคารหรือบริษัทบัตรเครดิตมาคั่นกลาง ยังมีมากเกิน 80% ในเยอรมนี ไซปรัส สโลวีเนีย กรีซ อิตาลี และออสเตรีย เมื่อปี 2022 ในขณะที่เอสโตเนีย ฟินแลนด์ และเนเธอร์แลนด์ ไม่นิยมใช้เงินสดจับจ่าย ตัวเลขการใช้เงินสดระหว่างผู้ซื้อและผู้ขายโดยตรงจึงเหลือไม่ถึงครึ่ง จากข้อมูลของธนาคารกลางยุโรป
คนเยอรมันและประเทศอื่นแถบยุโรป ยังคงวิตกกับการใช้ CBDC หรือสินทรัพย์ดิจิทัลที่ออกโดยธนาคารกลาง ทั้งเรื่องความเป็นส่วนตัวและการควบคุมทางการเงิน เพราะเกรงว่า จะพึ่งพาเทคโนโลยีมากเกินไป แม้ธนาคารกลางยุโรป รับประกันว่า สกุลเงินใหม่นี้ จะยังคงมีความเป็นส่วนตัว และการต้องใช้รหัสต่างๆ ก็ไม่น่ากังวลเลย โดยเฉพาะในกลุ่มผู้สูงอายุ
ธนาคารกลางยุโรป คาดว่า จะตัดสินใจใช้ดิจิทัลยูโรหรือไม่ ก่อนปลายปี 2025 แม้นายธนาคารระดับสูงของยุโรปบางคนมองว่า การใช้ดิจิทัลยูโรอาจต้องเลื่อนออกไปอีก อาจเลื่อนไปถึงใกล้ๆ ปี 2030
ในขณะที่สกุลเงินคริปโต อย่างบิทคอยน์ เป็นเงินดิจิทัลแบบไม่รวมศูนย์ คือให้แต่ละคนรับความเสี่ยงด้วยตนเอง แต่ CBDC เป็นเงินดิจิทัลแบบรวมศูนย์ ก่อให้เกิดเสียงวิจารณ์ เพราะความวิตกว่า อาจเกิดการเซนเซอร์ทางการเงิน ทำให้รัฐบาลและการเมืองเข้าควบคุมได้ง่ายขึ้น ทั้งในด้านการจับจ่ายและการฝากเงิน
แต่ผู้ที่สนับสนุน CBDC มองว่า เทคโนโลยีนี้ จะช่วยส่งเสริมนวัตกรรมในการชำระเงิน ให้ธนาคารกลางเข้ามาดูแลระบบการเงิน กระตุ้นให้เกิดการรับผิดชอบต่อสังคม เช่น ให้สกุลเงินนี้ จับจ่ายได้เฉพาะสินค้าหรือบริการที่ผ่านการอนุมัติแล้วเท่านั้น ผ่อนคลายการช่วยเหลือจากรัฐ และทำให้ธุรกรรมทางการเงินระหว่างประเทศทำได้อย่างง่ายๆ แม้จะถูกคว่ำบาตร
ส่วนที่สหรัฐ ก็มีเสียงต่อต้าน CBDC แรงยิ่งกว่าบางประเทศในแถบยุโรปเสียอีก เพราะเกรงว่า จะทำให้การเมืองเข้าแทรกสกุลเงินนี้ได้ง่าย อดีตประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ ตัวแทนรีพับลิกันลงสู้ศึกเลือกตั้งหนนี้ ออกโรงหนุนบิทคอยน์ และยืนยัน จะไม่ให้ทำ ดิจิทัลดอลลาร์ ออกมาอย่างเด็ดขาด
จนถึงขณะนี้ มีอยู่แค่ 3 ประเทศ ที่เปิดตัว CBDC คือ บาฮามาส จาไมกา และไนจีเรีย ในขณะที่ 36 ประเทศอยู่ในขั้นทดลองใช้ และอีก 30 ประเทศกำลังพัฒนาสกุลเงินนี้ ส่วนอีก 17 ประเทศที่ผุดโครงการนี้ขึ้นมา ก็ดูเฉยๆ ไปแล้ว เช่น เดนมาร์ก เกาหลีเหนือ เวเนซุเอลาและแซมเบีย และมีอยู่ 2 ประเทศที่ยกเลิกโครงการไปเลย คือ เอกวาดอร์ และเซเนกัล
By IMCT News