ขอบคุณภาพจาก sputnik
30.04.2024
เมื่อปี 2022 รัสเซียเคยเตือนเยอรมนีเรื่องการตัดสินใจปฏิเสธก๊าซรัสเซียที่ส่งมาตามท่อ และมีราคาถูกเชื่อถือได้ แล้วหันไปพึ่งพาก๊าซธรรมชาติเหลวที่ขนส่งมาทางเรือแทน การทำเช่นนี้ จะทำให้บรรดาผู้ผลิตจากเยอรมนี ซึ่งถือเป็นมหาอำนาจทางอุตสาหกรรมของยุโรป ย้ายหนีไปอยู่ที่อื่นแทน คำเตือนดังกล่าวกลายเป็นความจริงในอีกสองปีต่อมา
การคาดการณ์ว่า อัตราการเติบโตของเศรษฐกิจโลก จะฟื้นตัวในระดับปานกลางในปีนี้ ( 2024 ) จะไม่ได้เห็นกับภาคอุตสาหกรรมของเยอรมนีแน่นอน บรรดาผู้ผลิตในเยอรมนีต่างมองเห็นภาคอุตสาหกรรมยังคงอยู่ในภาวะขาลงต่อเนื่องในอนาคต
ข้อมูลจากสำนักงานสถิติเยอรมนี บ่งชี้ว่า เศรษฐกิจเยอรมนีมีแนวโน้มลุ่มๆ ดอนๆ ไปตลอดปี 2024 แต่คงไม่ถึงกับจมดิ่งเหมือนในช่วงปี 2022 – 2023 ที่เศรษฐกิจถดถอย เนื่องจากภาคการจับจ่ายของผู้บริโภคฟื้นตัวปานกลาง คาดว่า เศรษฐกิจเยอรมนีจะเติบโตจาก 0.1 ไป 0.3% ตลอดที่เหลือของปีนี้
ที่จริงแล้ว ก่อนการแพร่ระบาดโควิดในปี 2020 และวิกฤตยูเครนที่ทวีความรุนแรงขึ้นในปี 2022 ภาคอุตสาหกรรมเคยคิดเป็นเกือบ 30% ของ GDP เยอรมนี ตัวเลขที่สูงแบบผิดปกติเช่นนี้ สะท้อนให้เห็นถึงความก้าวหน้าของเศรษฐกิจในโลกตะวันตก การถ่ายโอนภาคการผลิตไปยังกลุ่มประเทศกำลังพัฒนากลายเป็นเรื่องธรรมดาที่พบเห็นทั่วไปนับจากช่วงทศวรรษที่ 1980
ในวิกฤตปัจจุบัน เนื่องจากต้นทุนพลังงานสูงและการปฏิเสธก๊าซธรรมชาติจากรัสเซีย ผู้ผลิตรายใหญ่หลายร้อยรายในเยอรมนี ตั้งแต่บริษัทยักษ์ใหญ่ด้านรถยนต์ อุตสาหกรรมเหล็ก ไปจนถึงภาคเคมี ต่างพากันชะลอการผลิตหรือย้ายไปต่างประเทศ และบ่อยครั้งมักย้ายไปที่สหรัฐ ซึ่งก็อ้าแขนต้อนรับอยู่แล้ว สหรัฐเสนอแรงจูงใจด้านภาษีและภาคการผลิต รวมถึงราคาพลังงานที่ถูกกว่า
ซีอีโอของ BASF บริษัทเคมียักษ์ใหญ่ของเยอรมนี บอกว่า แม้ภาคการผลิตเคมีภัณฑ์ทั่วโลกเติบโตขึ้น 5.4% ในไตรมาสแรกของปี 2024 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า เนื่องจากการเติบโตที่แข็งแกร่งในจีน แต่ในสหภาพยุโรป ภาคการผลิตมีเพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อยเท่านั้น แม้กระทั่ง BASF ก็ยังขาดทุน บริษัทมียอดขายในไตรมาสแรกของปีนี้ ( 2024 ) ลดลง 12% เมื่อเทียบจากปีก่อนหน้า สาเหตุเพราะต้องตั้งราคาให้ถูกลง ในขณะที่เกือบทุกภาคส่วนของสหภาพยุโรปก็ซบเซาไปตามๆกัน
BASF เป็นบริษัทที่ใหญ่เป็นอันดับที่ 13 ของเยอรมนีตามมูลค่าราคาตลาด ถือเป็นผู้นำของเศรษฐกิจเยอรมนีที่ต้องพึ่งพาภาคอุตสาหกรรม โดยมีผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ เช่น พลาสติก ก๊าซที่ใช้ในอุตสาหกรรม เรซิน สารทำละลาย และเคมีภัณฑ์ในคอนกรีต ที่ใช้ในภาคส่วนต่างๆ และอุตสาหกรรมหลายสิบแห่งทั้งในประเทศและทั่วสหภาพยุโรป
ส่วนผู้ผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ในเยอรมนี Continental AG ซึ่งเป็นบริษัทชั้นนำอีกแห่ง ผลิตตั้งแต่ยางล้อรถ ระบบเบรก และระบบส่งกำลังรถยนต์ให้กับ โฟล์กสวาเก้น เดมเลอร์ บีเอ็มดับเบิ้ลยู และ พอร์ช ก็มองแนวโน้มในเชิงลบแบบเดียวกัน ซีอีโอของบริษัทกล่าวกับบรรดาผู้ถือหุ้นว่า ทางบริษัทเริ่มต้นอย่างอืดอาดในปีนี้
แต่ถึงแม้จะมีเสียงบ่นพึมพำจากภาคธุรกิจ แต่นักการเมืองเยอรมันก็ยังคงมองแนวโน้มอุตสาหกรรมในแง่ดี โดยนายกรัฐมนตรีโอลาฟ ช็อลทซ์ ของเยอรมนี ให้ความมั่นใจเมื่อสัปดาห์ที่แล้วว่า การผลิตตั้งแต่ต้นปีในภาคส่วนที่ต้องพึ่งพาพลังงานได้มีเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ เช่นเดียวกับอุตสาหกรรมโดยรวมทั้งหมด
สถาบัน ifo ซึ่งเป็นองค์กรคลังสมองทางเศรษฐกิจในเมืองมิวนิก ประเทศเยอรมนี ได้ทำโพลในเดือนนี้ ( เมษายน ) แสดงให้เห็นถึงความคาดหวังทางธุรกิจแตะระดับสูงสุดในรอบปี แต่ประธานองค์กรยอมรับกับบลูมเบิร์ก สื่อของสหรัฐ ว่า ก็ยังสงสัยที่อุตสาหกรรมของเยอรมนียังคงซึมเซา แม้ว่าภาพรวมเศรษฐกิจโลกจะดีขึ้นก็ตาม ยังไม่เห็นภาคการผลิตของเยอรมนีฟื้นตัว อาจต้องใช้เวลาอยู่บ้างในเรื่องนี้
แต่นักวิเคราะห์บางคนก็เกรงว่า ความหวังที่เห็นในอนาคตอาจยังไม่พอ เพราะการขาดพลังงานจากรัสเซียตั้งแต่ในปี 2022 บวกกับปัญหาเชิงโครงสร้าง เช่น แรงงานมีแต่คนสูงวัย ระบบราชการที่อืดอาด การลงทุนต่ำกว่าที่ควรจะเป็นในระบบโครงสร้างพื้นฐาน และความล้มเหลวในการลงทุนภาคการศึกษาและการบริการสาธารณะอื่นๆ
ประธานาธิบดี วลาดิมีร์ ปูติน ของรัสเซีย เคยเตือนเมื่อกลางปี 2022 ว่า ประเทศในกลุ่มยุโรป ดึงการเมืองมาเกี่ยวมากเกินไป ที่ตัดสินใจหยุดซื้อพลังงานจากรัสเซีย และนั่นคือการฆ่าตัวตายชัดๆ การปฏิเสธแหล่งพลังงานจากรัสเซีย เท่ากับว่า ยุโรปจะกลายเป็นภูมิภาคที่มีต้นทุนพลังงานสูงที่สุดในโลก บ่อนทำลายขีดความสามารถในการแข่งขันของภาคอุตสาหกรรมในยุโรป
สส.ในเยอรมนีบางคน ก็มองว่า นอกจากรัฐบาลจะทำให้ประเทศแข่งขันกับคนอื่นไม่ได้แล้ว ยังเป็นการพึ่งพาสหรัฐอย่างสมบูรณ์แบบ กลายเป็นลูกไล่ไปในบัดดล อิทธิพลของสหรัฐสยายปีกมาที่เยอรมนี เยอรมนีกำลังฆ่าตัวตายทั้งทางด้านเศรษฐกิจและนโยบายสังคม
By IMCT NEWS