Thailand
26/3/2024
ไทยเริ่มส่งความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมไปเมียนมา โดยหวังว่า ความคิดริเริ่มนี้จะปูทางไปสู่การเจรจาระหว่างคู่ขัดเเย้ง หลังจากที่ความรุนเเรงในเมียนมาที่ปะทุจากการก่อรัฐประหารดำเนินมา 3 ปี ขณะที่ฝ่ายค้านออกมาแสดงความเห็นต่างในประเด็นนี้
สำนักข่าว VOA ไทย รายงานข่าวโดยอ้างอิงรอยเตอร์ว่า แถลงการณ์ของกระทรวงการต่างประเทศของไทยที่ระบุว่า ถุงยังชีพ 4,000 ถุงซึ่งเป็นล็อตเเรก ที่บรรจุข้าวสาร อาหารเเห้งและสิ่งจำเป็นอื่น ๆ ถูกส่งไปยังเมียนมาผ่านด่านเเม่สอด-เมียวดีแล้ว
โครงการนี้เป็นส่วนหนึ่งของความคิดริเริ่มจากไทย ในการสร้างเส้นทางขนส่งความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมไปยังเมียนมา ภายใต้แผน "ระเบียงมนุษยธรรม" ของสมาคมอาเซียน
รอยเตอร์อ้างถึงการให้สัมภาษณ์ของ นายสีหศักดิ์ พวงเกตุแก้ว ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงการต่างประเทศ ว่า การส่งความช่วยเหลือไปครั้งนี้ "เป็นการเเสดงให้เห็นถึงเจตนาที่ดีจากไทยไปยังประชาชนเมียนมา"
VOA รายงานโดยอ้างแหล่งข้อมูลจากรอยเตอร์ว่า สงครามกลางเมืองในเมียนมา ระหว่างกองทัพรัฐบาลและกลุ่มติดอาวุธชาติพันธุ์ชนกลุ่มน้อยทวีความรุนเเรงขึ้น
สหประชาชาติกล่าวว่า ประชาชนอย่างน้อย 2.6 ล้านคนต้องอพยพจากที่อยู่ของตนเนื่องจากการสู้รบที่เกิดขึ้น และประชากรกว่า 18 ล้านคนต้องการความช่วยเหลือ แผนสันติภาพของอาเซียน ที่ตกลงกับผู้นำกองทัพเมียนมายังไม่ได้รับการสานต่อให้เดินหน้าไปได้ โดยประเทศสมาชิกอาเซียนไม่พอใจที่ฝ่ายกองทัพเมียนมาที่โค่นอำนาจรัฐบาลพลเรือนขาดความมุ่งมั่นที่จะทำตามข้อตกลงประเทศสมาชิกอาเซียนยังไม่เห็นด้วยที่มีการใช้ปืนใหญ่และการโจมตีทางอากาศต่อพื้นที่พลเรือนในเมียนมา
ทั้งนี้ ข้อตกลง 5 ข้อระหว่างอาเซียนและผู้นำทหารเมียนมา ประกอบด้วยการเปิดเส้นทางส่งความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม การหยุดยิง และการเริ่มต้นเจรจา ในประเด็นต่าง ๆ เหล่านี้ ผู้นำเมียนมายังไม่ปฏิบัติตาม
รัฐบาลไทยหวังว่าจะมีบทบาทช่วยลดการต่อสู้ลงมาให้อยู่ในระดับที่บริหารจัดการได้ และเชิญชวนให้เกิดการเจรจากัน
ขณะที่นายกัณวีร์ สืบแสง สมาชิกสภาผู้แทนราษฏร พรรคเป็นธรรม ซึ่งเป็นหนึ่งในพรรคการเมืองฝ่ายค้าน ออกมาแสดงความไม่เห็นด้วยกรณีกระทรวงการต่างประเทศไทย ส่งถุงยังชีพไปยังเมียนมา
นายกัณวีร์แสดงความเห็นผ่านแอบพลิเคชั่น X ว่า เขาได้เตือน นายปานปรีย์ พหิทธานุกร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศหลายครั้งแล้ว อย่าส่งของไปให้กาชาดเมียนมา เพราะถูกควบคุมเบ็ดเสร็จโดยทหาร และเขาเชื่อว่า จะไม่มีชนกลุ่มน้อย กลุ่มไหนเข้าไปรับของจากฝ่ายตรงข้าม
นายกัณวีร์ กล่าวหาว่า กระทรวงการต่างประเทศของไทยดำเนินการผิดหลักการของงานด้านมนุษยธรรม ถึง 4 ข้อ คือ
1. ไม่ได้ยึดหลัก humanity ที่มองว่าปัญหาอยู่ตรงไหนต้องรีบแก้ตรงนั้น
2. ผิดหลักการไม่เอนเอียงเพราะเห็นได้ชัดว่า โปรทหารเมียนมาอย่างชัดเจน
3. ผิดหลักความเป็นกลาง ไม่ฟังเสียงคนส่วนใหญ่ที่ได้รับผลกระทบเลือกเฉพาะส่วนน้อยที่อยู่ฝ่ายที่ร่วมสังหารประชาชน
และสุดท้ายนายกัณวีร์กล่าวหาว่า กระทรวงการต่างประเทศ ไม่มีอิสรภาพในการทำงาน เร่งใช้งบประมาณที่ได้รับการสนับสนุนจากต่างชาติ มาเป็นตัวชี้วัดในการดำเนินงานที่อ้างว่า ทำเพื่อ “มนุษยธรรม” มาบังหน้า
นายกัณวีร์เชื่อว่า ผลการกระทำครั้งนี้ จะทำให้ไทยถูกมองด้วยความหวาดระแวงจากชนกลุ่มน้อยทั้งหมด
ขณะที่นายพายุ เนื่องจำนงค์ อดีตส.ส..พรรคประชาธิปัตย์ที่ปัจจุบันย้ายมาสังกัดพรรคเพื่อไทยก็ออกมาโต้ตอบนายกัณวีร์ผ่าน X เช่นกัน โดยนายพายุระบุว่า
ในมุมมองส่วนตัวเข้าใจได้ว่า นายกัณวีร์ อาจจะต้องการแสดงวิสัยทัศน์เรื่องของเมียนมา หลังจากที่ได้รับตำแหน่งล่าสุดกับทางองค์กร IPU ที่สวิตเซอร์แลนด์
แต่เขายืนยันว่า ในกรณีนี้นายกัณวีร์ ควรกลับไปทำความเข้าใจออกใหม่ และควรให้ความเป็นธรรมต่อ นายปานปรีย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศ และแก่รัฐบาลไทย ที่มีหน้าที่ความรับผิดชอบแรกต่อประชาชนคนไทยก่อนเรื่องอื่นๆของภูมิภาคนี้
นายพายุระบุว่า ก่อนที่จะเกิดการเข้าใจผิดหรือมีการบิดเบือนให้มีความเข้าใจว่า รัฐบาลไทยไม่ให้ความสำคัญด้านมนุษยธรรม หรือต่อชีวิตคนเมียนมา ขออยากให้นายกัณวีร์ เข้าใจหลักการของ “burden of command” ที่มากับตำแหน่ง รมว. กต. ผู้ซึ่งต้องดูแลและรับผิดชอบด้านทางการทูตของประเทศ ที่นายปานปรีย์ต้องแบกรับเป็น priority แรก
การเป็น “ด่านหน้า” และผู้ต้องผดุงรักษาความสมดุลของทุกความความสัมพันธ์ในภูมิภาคและความมั่นคงของประเทศชาติที่ละเอียดอ่อน เพื่อประชาชนคนไทยทั้งที่อยู่ตลอดชายแดน ไทย-พม่า และที่เหลืออีก 70 กว่าล้านชีวิตทั่วประเทศ.. จึงไม่สามารถมาเลือกที่จะตัดสินใจบริหารจัดการตามอำเภอใจแต่เพียงผู้เดียว ตามที่ นายกัณวีร์ พยายามสื่อออกมา
นายพายุบอกว่า เขาเชื่อว่ากระทรวงต่างประเทศไทยมีข้าราชการและผู้เชี่ยวชาญทางการทูตที่มีประสบการณ์ด้าน Geo-Politicas มานานร่วมหลายสิบปี ที่สามารถให้คำแนะนำและข้อมูลที่ดีที่สุดต่อ รัฐมนตรี และ นายกรัฐมนตรี เพื่อนำไปประกอบการตัดสินใจ ทั้งในกรณีนี้และกรณีอื่นๆแทนการใช้การตัดสินใจผ่านข้อมูลข้างเดียวที่อาจไม่ได้รับการกลั่นกรองหรือน่าเชื่อถือเพียงพอผ่านทางทวิตเตอร์ (X) หรือทางโซเชี่ยลฯอื่นๆ แม้จะเป็นการ “เตือน” ด้วยความหวังดีก็ตาม
IMCT News
อ้างอิง : VOA
© Copyright 2020, All Rights Reserved