4/6/2024
หลังจากที่ทองคำแซงหน้าเงินยูโรในเงินทุนสำรองระหว่างประเทศของธนาคารกลางต่างๆทั่วโลก มันเป็นเรื่องของเวลาก่อนที่ทองคำจะเบียดบังรัศมีของเงินดอลลาร์ต่อไป
รายงานของ Gainesville Coins ระบุว่าในปี 2023 ระบบธนาคารกลางของโลกถือครองทองคำ 17.60%ในเงินทุนสำรองระหว่างประเทศ เทียบกับการถือครองเงินยูโร 16.50%
ในขณะเดียวกัน เงินดอลลาร์ยังคงเป็นทรัพย์สินหลักที่ธนาคารกลางโลกถือครอง โดยมีสัดส่วน 48.10% ณ สิ้นปี 2023 โดยลดลงจาก 64.53% ในปี 1979
Gainesville Coinsรายงานว่า ทองคำกำลังอยู่ในช่วงตลาดกระทิง ซึ่งจะกินเวลาไปอีกหลายปีข้างหน้า เนื่องจากความเชื่อมั่นในทรัพย์สินในรูปเครดิตที่ลดลง ซึ่งจะทำให้เงินทุนไหลออกจากเงินสกุลต่างๆ รวมทั้งบอนด์ และหุ้นเข้าสู่ทองคำ
Gainesville Coinsอธิบายต่อไปว่า สัดส่วนของทองคำที่เพิ่มขึ้นในเงินทุนสำรองระหว่างประเทศของธนาคารกลางสะท้อนแนวโน้มนี้ที่กำลังอยู่ช่วงเริ่มต้น
ระบบธนาคารกลางค่อยๆซื้อทองคำเข้าเงินทุนสำรองระหว่างประเทศมาพักใหญ่แล้ว แต่เริ่มมีอัตราเร่งในปี 2022เนื่องจากเกิดสงครามยูเครน และสหรัฐติดอาวุธดอลลาร์ด้วยการยึดเงินทุนสำรองระหว่างประเทศในรูปดอลลาร์และยูโรของรัสเซียไปกว่า $300,000 ล้านเหรียญ ทำให้ประเทศต่างๆลดความเชื่อมั่นในดอลลาร์ เพราะเกรงว่าทรัพย์สินดอลลาร์ที่ตนถือครองอาจจะถูกยึดไปเมื่อไหร่ก็ได้
ในขณะเดียวกัน ความเชื่อมั่นในระบบเครดิตที่เป็นรากฐานของทุนนิยมการเงินโลกในปัจจุบันกำลังถูกสั่นคลอนจากหนี้ที่ไม่สามารถชำระได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหนี้ของรัฐบาลสหรัฐที่มีหนี้สาธารณะแตะระดับ $34.5 ล้านล้านเหรียญ ไม่นับงบประมาณขาดดุล $2-$3 ล้านล้านต่อปี ทำให้กระทรวงการคลังสหรัฐต้องออกพันธบัตรมากมายมหาศาลเพื่อกู้เงินมาจ่ายหนี้ ทำให้เงินเฟ้อจะเป็นปัญหาใหญ่ที่จะตามมาจากการเพิ่มปริมาณเงินที่ไม่มีเพดาน
ระบบเครดิตที่มีปัญหา รวมทั้งเงินเฟ้อที่ตามมาจะนำไปสู่การเสื่อมศรัทธาในเงินกระดาษ (fiat money)ที่สหรัฐพิมพ์ดอลลาร์ที่เป็นเงินสกุลหลักของโลกในเวลานี้ออกมาโดยไม่มีหลักทรัพย์อะไรมาค้ำประกัน
ทองคำจึงกลายเป็นทรัพย์สินที่มั่นคงที่แท้จริงที่รองรับเงินทุนที่ไหลออกจากระบบดอลลาร์กระดาษที่ก่อหนี้ไม่มีที่สิ้นสุด ระบบเครดิตที่สั่นคลอน รวมทั้งปัญหาเงินเฟ้อที่จะมีความรุนแรงมากขึ้นเมื่อธนาคารกลางสหรัฐไม่มีทางเลือกต้องกลับมาพิมพ์เงินเพิ่มเพื่ออุ้มพันธบัตรรัฐบาล
ทองคำมีความมั่นคง ไม่มีความเสี่ยง แม้ว่าจะไม่ออกดอกออกผลในรูปอัตราดอกเบี้ย หรือเงินปันผล เพราะว่าเป็นเงินที่แท้จริง ไม่เหมือนเงินกระดาษที่เป็นเครดิต และมีความเสี่ยงของผู้ออก (counter-party risk)
หันกลับมาดูงบดุลของธนาคารแห่งประเทศไทยว่ามีการบริหารเงินทุนสำรองระหว่างประเทศ ซึ่งถือว่าเป็นเงินถุงเงินถังของประเทศอย่างไร
ณ เดือนเมษายน 2024 แบงค์ชาติถือครองทองคำ $17,237.26 ล้านเหรียญจากเงินทุนสำรองต่างประเทศทั้งหมดที่มีอยู่ $197,210.31 ล้านเหรียญ หรือคิดเป็นสัดส่วน 8.74%
จะเห็นได้ว่า แบงค์ชาติถือครองทองคำต่ำกว่าระบบธนาคารกลางของโลกที่ถือครอง 17.60% ถ้าหากว่าจะต้องเพิ่มการถือครองทองคำ แบงค์ชาติต้องขายรีเสิร์ฟดอลลาร์ออกไป เพื่อเอาดอลลาร์มาซื้อทองคำ
ดูแนวโน้มแล้ว มันเป็นสิ่งที่เลี่ยงยากที่แบงค์ชาติต้องทยอยขายทรัพย์สินในรูปเครดิตออกไป และหันมาเพิ่มการถือครองทองคำแทนจากระดับปัจจุบันที่ค่อนข้างต่ำเนื่องจากวิกฤติการเงินโลกกำลังส่อเค้าเป็นเงาดำทะมึน
ในปัจจุบันระบบการเงินโลกยังอยู่ในระบบเงินกระดาษอยู่ โดยมีดอลลาร์เป็นรีเสิร์ฟหลัก แต่เริ่มมีนักวิเคราะห์ออกมาพูดกันมากยิ่งขึ้นถึงโอกาสการล่มสลายของดอลลาร์จากวิกฤติหนี้ และเศรษฐกิจเนื่องจากการดำเนินนโยบายที่ผิดพลาดทางการเงิน การคลังและการเมืองที่ไปติดอาวุธดอลลาร์
ถ้าหากว่าโลกจะหันหลังให้ดอลลาร์และกลับไปใช้ระบบมาตรฐานทองคำ ประเทศต่างๆจะเพิ่มการถือครองทองคำเป็นทรัพย์สินส่วนใหญ่ในเงินทุนสำรองระหว่างประเทศ โดยอาจจะถือทองคำในสัดส่วน 40%-60% ของเงินทุนสำรองระหว่างประเทศก็ได้ ไม่จำเป็นต้องถือ 100%
ในระบบมาตรฐานทองคำเมื่อมีการขาดดุลการค้า ก็จะหักลบกลบหนี้ด้วยทองคำ (แทนที่จะใช้ดอลลาร์เป็นหลักเหมือนอย่างปัจจุบัน ทำให้สหรัฐได้เปรียบเพราะว่าสามารถพิมพ์ดอลลาร์ออกมาได้อย่างไม่จำกัด) ทองคำจะไหลจากประเทศที่ขาดดุลไปสู่ประเทศที่เกินดุล ด้วยวิธีการนี้จะทำให้ประเทศต่างๆจะระมัดระวังในเรื่องการใช้จ่าย และจำต้องมีวินัยการเงินและการคลัง ระบบการเงินโลกจะมีเสถียรภาพมากยิ่งขึ้น
ครม. ได้อนุมัติในหลักการให้ประเทศไทยสมัครเข้าเป็นสมาชิกของ BRICS แล้ว ซึ่งรัสเซียเป็นเจ้าภาพจัดประชุมในปีนี้ และอาจจะรับไทยเป็นสมาชิกก็ได้ BRICS มีนโยบายหลักคือการออกจากอิทธิพลของระบบดอลลาร์ (de-dollarization) โดยจะให้ประเทศสมาชิกใช้เงินสกุลประจำชาติค้าขายกันเอง แต่เงินตราของประเทศสมาชิก BRICS ต่อไปจะมีความน่าเชื่อถือต้องมีทรัพย์สินหนุนหลังในรูปของทองคำ หรือสินค้าโภคภัณฑ์อื่นๆ เพื่อสร้างความแตกต่างจากระบบเงินกระดาษในปัจจุบันที่มีดอลลาร์เป็นเสาหลัก
ด้วยเหตุนี้ มันจึงเป็นสิ่งที่เลี่ยงไม่ได้ที่หลังจากเป็นสมาชิกของ BRICS แล้ว ธนาคารแห่งประเทศไทยจะต้องเพิ่มการถือครองทองคำ รวมทั้งการเอาสินค้าโภคภัณฑ์ที่เป็นทรัพยากรของประเทศไม่ว่าจะเป็นน้ำมัน ก๊าซธรรมชาติ ข้าว โปรแตช ฯลฯมาหนุนค่าเงินบาท และถือครองรีเสิร์ฟที่เป็นเงินสกุลของประเทศคู่ค้าที่เป็นสมาชิกของ BRICS ด้วยกันในเงินทุนสำรองระหว่างประเทศเพิ่มขึ้น เพื่อความสะดวกในการทำธุรกรรมระหว่างประเทศ
สิ่งที่ BRICS กำลังทำคือการผลักดันระบบการเงินโลกให้กลับไปใช้ระบบมาตรฐานทองคำ หรือระบบที่เอาสินค้าโภคภัณฑ์มาหนุนค่าเงิน มาแทนระบบเงินกระดาษที่เป็นเครดิต และกำลังจะล่มสลายจากการก่อหนี้ที่ไม่มีที่สิ้นสุด โดยภาพทั้งหมดจะชัดเจนมากยิ่งขึ้นหลังจากการประชุมซัมมิท ของ BRICS ในเดือนตุลาคมที่จะถึงนี้
By Thanong Khanthong, Editor
IMCT News
อ้างอิง https://x.com/JanGold_/status/1796233426292400131
https://app.bot.or.th/BTWS_STAT/statistics/ReportPage.aspx?reportID=80&language=eng