Thailand
17/5/2024
เว็บไซต์กรุงเทพธุรกิจ ระบุว่า จากรายงานของ “เครดิตบูโร” หรือบริษัทข้อมูลเครดิตแห่งชาติ พบหนี้เสียโดยรวมของครัวเรือนไทยพุ่งขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 1.09 ล้านล้านบาท เกือบเทียบเท่าระดับสูงสุดของวิกฤติโควิด-19 ที่หนี้เสียทะลุ 1.1 ล้านล้านบาท หนึ่งในนั้นคือ “หนี้บ้าน” แม้เป็นหนี้ที่ได้มาจากการกู้เพื่อใช้จ่ายฟุ่มเฟือยแต่เป็นปัจจัย 4 ที่ลูกหนี้พึงอยากจะมีในชีวิตเป็นอันดับต้นๆ ด้วยภาระหนี้ครัวเรือนดังกล่าว
ขณะที่รายได้ยังไม่ฟื้นตัวกลับมา ประกอบต้นทุนทางการเงิน ค่าใช้จ่ายต่างๆ ปรับสูงขึ้น กระทบต่อการชำระหนี้อย่างมาก ทำให้สถาบันการเงินยิ่งเพิ่มความเข้มงวดการปล่อยสินเชื่อที่อยู่อาศัย ส่งผลให้ยอดการปฏิเสธสินเชื่อ (Reject Rate) พุ่งสูงระดับ 60-70% โดยเฉพาะเซ็กเมนต์ราคาต่ำกว่า 3 ล้านบาทต่อยูนิต
นายสุรพล โอภาสเสถียรผู้จัดการใหญ่ บริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ (เครดิตบูโร) เปิดเผยข้อมูลสินเชื่อบ้านไตรมาสแรกที่ผ่านมาว่า “ค่อนข้างน่าห่วง” หากดูจากหนี้เสียครัวเรือนไทย 1.09 ล้านล้านบาท มีหนี้เสียจากบ้านสัดส่วน 20% ของพอร์ตรวม เติบโตถึง 18% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน
“ยังมีหนี้ค้างชำระแต่ไม่เกิน 90% หรือที่รู้จักกันดี คือ กลุ่ม SM ที่มียอดค้างชำระถึง 120,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 15% จากปีก่อน และไม่น่าแปลกใจว่าเกินกว่าครึ่งเป็นหนี้ค้างชำระจากลูกหนี้แบงก์รัฐที่ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มรายได้ต่ำ มีความสามารถซื้อบ้านไม่เกิน 3 ล้านบาท ยิ่งตอกย้ำให้เห็นถึงความเปราะบางของกลุ่มฐานรากเปราะบางขึ้นไปอีก”
นอกจากนี้ กลุ่มที่น่าห่วงสุด คือกลุ่ม เจนวาย (Gen Y) ที่กำลังสร้างตัว หรือกลุ่มเริ่มทำงาน พบว่าเป็นหนี้เสียถึง 83,281 สัญญา คิดเป็นวงเงิน 124,000 ล้านบาท และมีลูกหนี้ที่ค้างชำระหนี้ แต่ไม่เกิน 90 วัน อีก 76,276 สัญญา อีก 118,000 ล้านบาท
“หากคิดเร็วๆ เจนวาย กลุ่มเดียวเป็นหนี้เสียและหนี้ค้างชำระ สัดส่วนเกินกว่า 50% ของหนี้เสียทั้งหมด หรือยอดค้างชำระทั้งหมด คนเจนวายเป็นหนี้เสียแล้ว 124,000 ล้านบาท ของหนี้เสียบ้านทั้งหมด 200,000 ล้านบาท และเป็นหนี้ค้างชำระที่กำลังจะเป็นหนี้เสียอีก 118,000 ล้านบาท ของยอดค้างชำระหนี้รวมที่ 180,000 ล้านบาท”
“หนี้เสีย-หนี้กำลังจะเสีย”เจนวายพุ่ง 2.5 แสนล้าน
หากรวมทั้งสองกลุ่ม ทั้งหนี้เสียและหนี้ค้างชำระ “เจนวาย” เป็นหนี้เสียทั้งสิ้นเกือบ 242,000 ล้านบาท หรือมียอดสัญญาค้างชำระเกือบ 160,000 สัญญา หรือเทียบเป็นบ้านเท่ากับค้างชำระหนี้เกือบ 160,000 หลัง สอดคล้องกับสถานการณ์ยื่นขอสินเชื่อบ้าน พบว่ามีแนวโน้มถูกปฎิเสธสูง หรือ 100 ใบสมัครผ่านการพิจารณาเบื้องต้นเพียง 50 ใบ จากการตรวจประเมินรายได้ที่เข้มข้น เพื่อให้แน่ใจว่าผู้ขอกู้มีศักยภาพ ซึ่งหมายถึงมีรายได้แน่นอน มั่นคง เพียงพอ สม่ำเสมอ ตามเกณฑ์ความสามารถในการชำระหนี้ตามตารางการชำระหนี้ได้ตลอดรอดฝั่ง
“ตรวจรายได้เสร็จก็ไปตรวจเครดิตบูโรต่อว่า มีหนี้มากแค่ไหน มีประวัติการค้างชำระหรือไม่ เพื่อประเมินความตั้งใจในการชำระหนี้เป็นไปตามกฎว่ากรรมเป็นเครื่องชี้เจตนา”
หากพิจารณาบัญชีที่เปิดใหม่ของสินเชื่อบ้าน พบว่าเจนวายมีสัดส่วนสูงขึ้นทุกปี โดยมีวงเงินสินเชื่อบ้านระดับไม่เกิน 3 ล้านบาทเป็นกลุ่มหลัก ทั้งนี้ ปี 2561 มีจำนวนเกินกว่า 430,000 บัญชี ปีก่อนโควิดอยู่ที่ระดับ 370,000 บัญชี ปี 2565 อยู่ที่ 330,000 บัญชี ไตรมาสแรก ปี 2567 มี 59,000 บัญชี ค่อนข้างแผ่วตัวลง
“ฝั่งผู้ประกอบการต่างก็บ่นกันมากในเรื่องขายได้ยาก กู้ไม่ผ่าน ของเหลือมากขึ้น จึงนำมาสู่ข้อเสนอที่อยากให้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ผ่อนปรนเงื่อนไข เช่น LTV หลังที่ 2 หลังที่ 3 แต่ยังไม่มีเสียงตอบรับที่ปลายสาย”
แบงก์หันเจาะกลุ่มรายได้สูง
สอดคล้องกับข้อมูลของ ธปท.ล่าสุดที่มีการเปิดรายงานสินเชื่ออสังหาริมทรัพย์ พบว่าปรับตัวลดลง สะท้อนการเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อบ้านของสถาบันการเงินซึ่งหันไปเจาะกลุ่มที่มีศักยภาพมากขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มบนเพื่อลดความเสี่ยงด้านคุณภาพหนี้จากการปล่อยสินเชื่อให้กลุ่มซื้อบ้านต่ำกว่า 3 ล้านบาท
นายภัทรพงศ์ รักตะบุตร ประธานสายธุรกิจสินเชื่อรายย่อย และประธานสายเครือข่ายสาขา ธนาคารเกียรตินาคินภัทร จำกัด (มหาชน) (KKP) กล่าวว่า สินเชื่อของธนาคารที่ปรับลดลง ส่วนหนึ่งมาจากการแข่งขันของดอกเบี้ยสำหรับลูกค้าระดับบน โดยปกติสินเชื่อบ้านของ KKP อยู่ในกลุ่มลูกค้าระดับบน (Mass Affluent) ขณะที่กลุ่มบ้านราคาต่ำกว่า 3 ล้านบาท ธนาคารไม่ได้ลงไปแข่งขันปล่อยสินเชื่อ จึงไม่ได้รับกระทบจากสถานการณ์หนี้เสีย
เช่นเดียวกับ นายเอกสิทธิ์ พฤฒิพลากร ผู้บริหารผลิตภัณฑ์ธุรกิจรายย่อย ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย (CIMB) กล่าวว่า ยอดปฏิเสธสินเชื่อบ้านราคาต่ำกว่า 3 ล้านบาทเพิ่มขึ้น เป็น 70% จากเดิม 50-60% เนื่องจากคุณภาพผู้กู้ด้อยลงมาก ทำให้ทิศทางหนี้เสียเพิ่มสูงขึ้น ขณะที่ภาระค่าใช้จ่ายของผู้กู้เพิ่มสูงขึ้น
IMCT News
ที่มา https://www.bangkokbiznews.com/property/1127235#google_vignette
© Copyright 2020, All Rights Reserved