Thailand
ขอบคุณภาพจาก RT
27/5/2024
สหรัฐยังประสบปัญหาเงินเฟ้อพุ่งสูง โดยพุ่งขึ้น 3.4% เมื่อเดือนเมษายน เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน แม้จะยังห่างไกลตัวเลขเงินเฟ้อ 9.1% เมื่อกลางปี 2022 แต่เงินเฟ้อในปัจจุบัน ก็ยังนำโด่งจากเป้าหมายที่ธนาคารกลางสหรัฐระบุไว้ว่า ควรอยู่ที่ 2%
เดวิด โซโลมอน ซีอีโอของโกลด์แมน แซคส์ วาณิชธนกิจชื่อดังของสหรัฐ บอกว่า เขายังคงสงสัยว่า ธนาคารกลางสหรัฐจะลดดอกเบี้ยในปีนี้หรือไม่ ( 2024 ) เพราะยังไม่เห็นข้อมูลสนับสนุนให้ทำเช่นนั้น
เขาบอกว่า ตัวเลขเงินเฟ้อพุ่ง กำลังบีบครัวเรือนชาวอเมริกัน ทำให้ผลประกอบการเมื่อไม่นานมานี้ ร่วงลงไปด้วย ตามบริษัทต่างๆ ที่จัดหาสินค้าและบริการให้กลุ่มชนชั้นกลาง ตั้งแต่แม็คโดนัลด์ ไปจนถึง ออโต้โซน ชัดเจนว่า เงินเฟ้อพุ่ง ข้าวของแพง กำลังกระทบกับภาคการบริโภคในสหรัฐ
นี่จึงเป็นเหตุผลว่า ทำไม ธนาคารกลางสหรัฐจึงยังไม่น่าลดดอกเบี้ย อย่างน้อยก็ยังไม่ใช่ในปีนี้ ( 2024 ) ภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวแต่เงินเฟ้อกลับพุ่ง ยังเป็นผลมาจากราคาน้ำมันแพงเพราะความวุ่นวายที่เพิ่มขึ้นในตะวันออกกลาง ความเสี่ยงยังมีมากขึ้น ถ้าสภาคองเกรสสหรัฐไม่หามาตรการเพิ่มผลผลิตและขีดความสามารถในการแข่งขัน
เจมี่ ไดมอน ซีอีโอ เจพี มอร์แกน เชส บอกกับวอลล์สตรีท เจอร์นัล ว่า อเมริกาตอนนี้ ดูเหมือนในช่วงทศวรรษที่ 1970 เข้าไปทุกขณะ หลายอย่างดูดีในปี 1972 แล้วก็พลิกกลับมาเป็นย่ำแย่ในปี 1973
ทั้งหมดนี้ ทำให้ผู้กำหนดนโยบายในหลายชาติของเอเชีย ต้องปรับกลยุทธ์ด้วยเช่นกัน นักเศรษฐศาสตร์ของ โนมุระ โฮลดิ้งส์ เชื่อว่า ดอกเบี้ยในสหรัฐที่พุ่งสูง บวกกับเงินดอลลาร์สหรัฐที่แข็งค่าขึ้น ทำให้ธนาคารกลางในเอเชียต้องรักษาอัตราดอกเบี้ย ให้สอดคล้องกับความเคลื่อนไหวของธนาคารกลางสหรัฐ ไม่เช่นนั้น ก็เสี่ยงที่สกุลเงินในเอเชียจะอ่อนค่ากว่านี้ ราคาข้าวของแพงสืบเนื่องจากต้นทุนสินค้านำเข้ามีราคาแพงขึ้น
เมื่อเดือนที่แล้ว ( เมย. 2024 ) ธนาคารกลางอินโดนีเซีย สร้างความประหลาดใจด้วยการประกาศขึ้นดอกเบี้ยเป็น 6.25% เพื่อพยุงเงินรูเปี๊ยะไม่ให้อ่อนค่า
ส่วนเงินริงกิตของมาเลเซียก็อ่อนค่าหนักสุดในรอบ 26 ปี เมื่อไม่นานมานี้ มาแตะระดับที่ไม่เคยได้เห็นมานานแล้ว นับจากเกิดวิกฤติการเงินในเอเชีย ปี 1997-1998 ส่วนผู้กำหนดนโยบายในไทยและฟิลิปปินส์ ก็กำลังทบทวนแผนที่จะลดดอกเบี้ย เพราะการทำเช่นนั้น จะยิ่งทำให้เงินเปโซและเงินบาทอ่อนค่า และเงินทุนก็เสี่ยงไหลออก
เกาหลีใต้ เป็นอีกประเทศหนึ่งที่ถูกกระทบจากวิกฤติการเงินเอเชียในครั้งก่อน ผู้ว่าการธนาคารกลางเกาหลีเตือนให้ระวัง ความผันแปรของเงินวอนที่มีมากจนเกินไป และเตรียมพร้อมมาตรการรักษาค่าเงินให้มีเสถียรภาพ
เงินดอลลาร์สหรัฐยังคงแข็งค่าขึ้นต่อเนื่อง เพราะนักลงทุนจำนวนมากขึ้น มองว่า ธนาคารกลางสหรัฐจะยังคงดอกเบี้ยในระดับสูงต่อไป
นักวางกลยุทธ์ของโกลด์แมน แซคส์ บอกว่า ธนาคารกลางในอังกฤษ ในโซนยุโรป และแคนาดา มีแนวโน้มลดดอกเบี้ยในเดือนหน้า ( มิย. 2024 ) ประธานธนาคารกลางยุโรป ส่งสัญญาณในเรื่องนี้ เพราะแรงกดดันจากราคาผู้บริโภคผ่อนคลายลง แต่การทำเช่นนี้ ก็มีแนวโน้มจะทำให้เงินดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าต่อไป ซึ่งปัจจุบันก็แข็งค่ามากที่สุดแล้วเมื่อเทียบกับบรรดา 10 ประเทศอุตสาหกรรมรายใหญ่สุดของโลก เงินดอลลาร์แข็งค่าขึ้น 11% เมื่อเทียบกับเยนญี่ปุ่น และแข็งค่าขึ้น 2% เมื่อเทียบกับยูโร ในปีนี้ ( 2024 )
หลายคนยังสงสัยว่า ธนาคารกลางสหรัฐจะได้ลดดอกเบี้ยหรือไม่ในปีนี้ ผู้ว่าการธนาคารกลางสหรัฐ ระบุว่า ถ้าตัวเลขในสหรัฐ ในอีก 3-5 เดือนข้างหน้า ออกมาเป็นใจ ก็อาจเปิดช่องให้ลดดอกเบี้ยก่อนสิ้นปี 2024
ด้านผู้ว่าการธนาคารกลางจีน ก็พูดเป็นนัยถึงการลดดอกเบี้ยในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา เพราะแม้จีดีพีของจีนขยายตัว 5.3% ในช่วงไตรมาสแรกของปี 2024 แต่ยอดขายค้าปลีก และความเชื่อมั่นในครัวเรือนก็ยังต่ำ ท่ามกลางวิกฤติอสังหาซึมลึก
แต่การที่ธนาคารกลางจีนจะตัดสินใจลดหรือขึ้นดอกเบี้ย ต้องอยู่ที่ท่าทีของธนาคารกลางสหรัฐเป็นสำคัญ ไม่ใช่คำนึงถึงแต่เงื่อนไขทางเศรษฐกิจของตัวเองแต่เพียงอย่างเดียว เพราะการที่สหรัฐใช้นโยบายให้ผลตอบแทนสูงขึ้นและยาวนานขึ้น จากการขึ้นดอกเบี้ย ก็ทำให้จีนยากจะลดดอกเบี้ยลงได้ เพราะการทำเช่นนั้น จะยิ่งทำให้เงินหยวนอ่อนค่าลงไปอีกเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ
และจีนเองก็มีหลายเหตุผลที่ยังลังเล ที่จะปล่อยให้หยวนอ่อนค่าลงอีก เพราะการทำเช่นนั้น จะทำให้นักพัฒนาอสังหาริมทรัพย์รายใหญ่ของจีน จ่ายหนี้หุ้นกู้ต่างประเทศได้ยากขึ้น เพิ่มความเสี่ยงในการผิดนัดชำระหนี้ เงินหยวนอ่อนค่า ยังบ่อนทำลายความเชื่อมั่นเงินหยวนในสายตาชาวโลกอีกด้วย
เอเชียพึ่งพาการส่งออกอย่างหนัก และใช้ดอลลาร์เป็นสื่อกลาง วิกฤติการเงินในเอเชียเมื่อปี 1997-1998 ทำให้เกิดความผันผวนในค่าเงินอย่างรุนแรงเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ ส่วนในครั้งนี้ ธนาคารกลางสหรัฐยังลังเลที่จะผ่อนคลายทางการเงิน แต่ยังคงใช้วิธีขึ้นดอกเบี้ย ทำให้ส่วนต่างดอกเบี้ยกับเอเชียยิ่งถ่างกว้างขึ้น สร้างความตึงเครียดให้กับบรรดาธนาคารกลางในเอเชีย
สหรัฐใช้นโยบายขึ้นดอกเบี้ยให้ยาวนานขึ้น ยังทำให้เงินทุนตอนนี้ หลั่งไหลจากเอเชียไปยังสหรัฐ ทั้งที่เอเชียจำเป็นต้องการเงินทุนในการสนับสนุนตลาดหุ้นและตราสารหนี้
By IMCT News
อ้างอิงจาก https://asiatimes.com/2024/05/asia-starting-to-feel-like-1997-98-all-over-again/
© Copyright 2020, All Rights Reserved