22/7/2024
เว็บไซต์กรุงเทพธุรกิจ รายงานว่า สถาบันวิจัยความเป็นอยู่ฮาคูโฮโด อาเซียน เผยผลวิจัยชาวอาเซียน 6 ประเทศ เปรียบเทียบในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา มีขนาดครอบครัวลดลง มีลูกน้อย นิยมใช้ชีวิตอยู่คนเดียวมากขึ้น หันมุ่งทำงาน ต่างอยากประสบความสำเร็จในการทำงาน
สถาบันวิจัยความเป็นอยู่ฮาคูโฮโด อาเซียน ระบุว่า ได้ทำวิจัยชาวอาเซียน 6 ประเทศ ทั้ง ไทย อินโดนีเซีย เวียดนาม ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย และสิงคโปร์ เปรียบเทียบในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา พบอินไซด์ที่น่าสนใจหลากหลายด้านทั้งภาพรวมขนาดเศรษฐกิจ ที่มีการขยายตัวมาต่อเนื่องในช่วง 10 ปีก่อน และใน 6 ประเทศมีฐานประชากร ที่มีกลุ่มชนชั้นกลาง ในจำนวนมากขึ้น และมีบทบาทสำคัญต่อเศรษฐกิจในภูมิภาค
ชาวอาเซียน ต้องการประสบความสำเร็จในอาชีพการงานมากขึ้น
ทั้งนี้ขนาดจีดีพีของอาเซียนที่ขยายตัว จึงสอดคล้องกับการทำงานโดยชาวอาเซียนให้ความสนใจในการอาชีพมากขึ้น ซึ่งเมื่อชาวอาเซียนถูกถามเกี่ยวกับคนในอุดมคติ ผู้ตอบแบบสอบถามทั้งชายและหญิงที่ตอบว่า “ครอบครัวมาก่อน” มีอัตราลดลงในช่วงทศวรรษ หรือ 10 ปีที่ผ่านมา ส่วนผู้ที่เลือกตอบว่าคนในอุดมคติคือคนที่ “มุ่งมั่นเพื่อความสำเร็จในอาชีพ” เพิ่มขึ้นกว่า 10% แสดงถึง ความต้องการอยากประสบความสำเร็จในอาชีพการงานเพิ่มมากขึ้น
อีกทั้ง ชาวอาเซียนที่ระบุว่า “ต้องการประสบความสำเร็จในหน้าที่การงานของตน แม้ว่าจะต้องเสียสละเวลาของครอบครัวก็ตาม” มีเพิ่มขึ้นประมาณ 5% ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา
เจาะอินไซด์ครอบครัว
หากถามชาวอาเซียนถึง “ประโยชน์ของการมีครอบครัว” โดยคำตอบอันดับหนึ่งคือ "เพื่อความมั่นคงทางการเงิน" ส่วนมุมมองของผู้ที่ตอบว่าได้ “วางแผนและเตรียมการไว้เป็นอย่างดีสำหรับอนาคตของตัวเองและครอบครัว” อยู่ที่ 28.1% แสดงถึงความสำคัญของการช่วยเหลือกันและกันในครอบครัว ที่อาจมีความจำเป็นมากขึ้นในอนาคต รวมถึงหากถามถึง ความสำคัญของสถาบันครอบครัวจะเปลี่ยนไปหรือไม่ ชาวอาเซียนตอบว่า “ความสำคัญของครอบครัวจะเพิ่มขึ้น”
สำหรับการมีครอบครัวและแต่งงาน พบว่า มีทิศทางการแต่งงานที่ลดลง จากปัจจุบันอยู่ที่สัดส่วน 4.23% ลดลงจาก 10 ปีก่อน มีสัดส่วน 5.24% สอดคล้องกับอัตราการเกิด อยู่ที่ 11.2% ในปัจจุบัน ลดลงจาก 10 ปีก่อน มีสัดส่วน 12.9% สะท้อนได้จากชาวอาเซียนมีขนาดครอบครัวที่เล็กลง หรือครอบครัวที่ย่อส่วน
ชาวอาเชียนสนใจใช้ชีวิตอยู่คนเดียวมากขึ้น
สำหรับรูปแบบการใช้ชีวิตของคนในยุคนี้ ได้ให้ความสนใจในการใช้ชีวิตอยู่คนเดียวมากขึ้น และต้องการความอิสระเพิ่มขึ้น โดยมีสัดส่วน 40.4% จากเดิมในช่วง 10 ปีก่อนอยู่ที่ 17.1% ส่วนการพูดคุยกับสมาชิกในครอบครัวอย่างสม่ำเสมอ ในปัจจุบัน อยู่ที่ 33.4% จากเดิมอยู่ที่ 40.9%
ทั้งนี้ได้หันมาติดตามและพูดคุยกับครอบครัวผ่านสื่อโซเชียลมีเดียต่างๆ เช่น การวีดีโอคอลล์ ในการพูดคุยกับครอบครัวแทน
สำหรับมุมมองการแชร์เรื่องราวบนโลกออนไลน์ ได้มีการปรับรูปแบบ แชร์เรื่องราวบนโซเชียลที่เปิดเฉพาะสมาชิกครอบครัว สามารถเข้ามาดูได้เท่านั้น ยกตัวอย่าง อินสตราแกรม ที่เปิดบัญชีแบบไพรเวท แต่มีสมาชิกครอบครัวเท่านั้นที่สามารถติดตามและจะแชร์เรื่องราวระหว่างกันได้
อย่างไรก็ตาม แม้ไลฟ์สไตล์การใช้ชีวิตที่หันมาอยู่คนเดียวมากขึ้น แต่ครอบครัว ถือเป็นสิ่งสำคัญในชีวิต และให้น้ำหนักในเรื่อง “ครอบครัวต้องมาก่อน”โดย 70% ของชาวในอาเซียน มีความเชื่อคล้ายกันว่า “คนที่มีความสัมพันธ์ที่ดีกับครอบครัว จะมีแนวโน้มเป็น “คนดี”
สำหรับการมี “ครอบครัวที่ดี” สะท้อนถึงการเป็นคนดีและได้รับความเชื่อถือจากสังคม ทำให้ทุกคนได้มุ่งสร้างภาพลักษณ์และความสัมพันธ์ในครอบครัวให้ดีมากขึ้น
"แม้ชาวอาเซียนมีไลฟ์สไตล์การใช้ชีวิตคนเดียวมากขึ้น แต่ครอบครัวคือ พื้นฐานที่ชาวอาเซียน ให้ความสำคัญ โดยเมื่อเปรียบเทียบในเรื่อง เป้าหมายการประสบความสำเร็จในชีวิตที่สำคัญอีกเรื่องคือ การสร้างครอบครัวที่มีความสุข อยู่ที่สัดส่วน 77.5% แตกต่างจากประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคเอเชีย อย่างญี่ปุ่น อยู่ที่ 55.7%"
ทั้งหมด จากผลการวิจัยกับภาพลักษณ์ที่เปลี่ยนไปของครอบครัวอาเซียนจาก “Connected Family” ในช่วง 10 ปีก่อน มาสู่ “Weaving Family” ในปี 2567 หรือ ทักถอผสานพลังของครอบครัวแน่นแฟ้นในแบบใหม่ ซึ่งแต่ละครอบครัว ต่างมีรูปแบบความสัมพันธ์ที่แตกต่างกันไปเป็นเอกลักษณ์เฉพาะ อีกทั้งยังมีการผสมผสานประเพณีแบบดั้งเดิมของแต่ละประเทศ และความเป็นโกลบอล เข้ามาร่วมด้วย ตามยุคสมัย
IMCT News
ที่มา https://www.bangkokbiznews.com/business/business/1136768