'ประชุม จี20' เริ่มแล้วที่บราซิล ภายใต้ความไม่แน่นอนการเมืองโลก
19-11-2024
ประธานาธิบดีบราซิล ลูอิซ อินาซิโอ ลูลา ดา ซิลวา เป็นประธานเปิดการประชุมสุดยอดกลุ่มประเทศเศรษฐกิจชั้นนำของโลก 20 ประเทศ หรือ จี20 (G20) ในวันจันทร์ พร้อมกับมีการเปิดตัวกลุ่มพันธมิตรระหว่างประเทศเพื่อต่อสู้กับปัญหาความยากจนและผู้หิวโหย
การประชุม จี20 ปีนี้จัดขึ้นที่นครริโอ เดอ จาเนโร ระหว่างวันที่ 18-19 พ.ย. โดยมีประเด็นสำคัญคือเรื่องการค้า การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ และความมั่นคง ภายใต้การเปลี่ยนขั้วการเมืองของสหรัฐฯ เมื่ออดีตประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ จะเข้ารับตำแหน่งอีกครั้งในวันที่ 20 ม.ค. ปีหน้า
ปธน.ลูลาแห่งบราซิล กล่าวว่า ผลกระทบอันเลวร้ายของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศสามารถเห็นได้ทั่วโลก พร้อมเรียกร้องให้บรรดาผู้นำร่วมมือกันแก้ปัญหาภาวะโลกร้อนและความยากจน
ที่ประชุมยังได้เปิดตัวคณะทำงานชุดใหม่เพื่อต่อสู้กับความยากจนและความหิวโหย โดยได้รับการสนับสนุนจากสหภาพแอฟริกา สหภาพยุโรป องค์กรระหว่างประเทศ ธนาคารเพื่อการพัฒนา และองค์กรการกุศลต่าง ๆ เช่น มูลนิธิบิล แอนด์ เมลินดา เกตส์ (Bill & Melinda Gates Foundation)
มีการรักษาความปลอดภัยอย่างเข้มงวดทั่วเมืองริโอ เดอ จาเนโร ระหว่างการประชุมครั้งนี้ และมีรายงานการยิงกันที่สลัมแห่งหนึ่งก่อนการประชุมจะเริ่มขึ้นเพียงไม่กี่ชั่วโมง ห่างจากสถานที่จัดการประชุมราว 20 กม. ซึ่งทางตำรวจได้เร่งไปยังที่เกิดเหตุ แต่ไม่มีรายงานผู้บาดเจ็บแต่อย่างใด
ประธานาธิบดีสหรัฐฯ โจ ไบเดน เดินทางเข้าร่วมประชุม จี20 ครั้งนี้เป็นครั้งสุดท้ายก่อนที่จะส่งมอบตำแหน่งให้แก่ว่าที่ประธานาธิบดีคนใหม่ โดนัลด์ ทรัมป์ ในอีกสองเดือน ท่ามกลางความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์ในหลายพื้นที่ทั่วโลก โดยเฉพาะยูเครนและกาซ่า
ไบเดน มีกำหนดประกาศสนับสนุนด้านการเงินแก่กองทุนแก้ปัญหาความยากจนของธนาคารโลก และเปิดตัวโครงการความร่วมมือด้านพลังงานสะอาดระหว่างสหรัฐฯ กับบราซิล ในการประชุมครั้งนี้ด้วย
อย่างไรก็ตาม ผู้เข้าร่วมประชุมมีความกังวลถึงโอกาสเกิดสงครามการค้ารอบใหม่ระหว่างจีนกับสหรัฐฯ ภายใต้รัฐบาลอเมริกันชุดใหม่ หลังจากที่ทรัมป์เคยประกาศว่าจะเพิ่มกำแพงภาษีสินค้านำเข้าจากจีนและหลายประเทศ
ที่มา: รอยเตอร์
-------------------------------------
G20 ชี้ "ความยากจนไม่ใช่ภัยธรรมชาติ แต่เป็นผลจากการเมือง"
19-11-2024
DW รายงานจากเวทีประชุม G20 ว่า ลุยซ์ อินาซิโอ ลูลา ดา ซิลวา ประธานาธิบดีบราซิล ต้อนรับผู้นำโลกในการประชุมสุดยอด G20 ที่นครริโอ เดอ จาเนโร เมื่อวันจันทร์ (18 พ.ย.67) ท่ามกลางเงาของโดนัลด์ ทรัมป์ ว่าที่ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ที่จะส่งผลกระทบต่อประเด็นร้อนระดับโลก ทั้งสงครามในยูเครนและตะวันออกกลาง การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การค้า สิทธิสตรี และการผงาดขึ้นของจีน
"ความหิวโหยและความยากจนไม่ได้เกิดจากความขาดแคลนหรือภัยธรรมชาติ แต่เป็นผลจากการตัดสินใจทางการเมือง" ลูลากล่าวที่พิพิธภัณฑ์ศิลปะสมัยใหม่แห่งริโอ พร้อมระบุว่าในโลกที่ผลิตอาหารเกือบ 6 พันล้านตันต่อปี การที่ยังมีคนอดอยากเป็นสิ่งที่ยอมรับไม่ได้ ก่อนประกาศจัดตั้งพันธมิตรระดับโลกต่อสู้ความยากจนและความหิวโหย โดยได้รับการสนับสนุนจาก 80 ประเทศ สหภาพแอฟริกา สหภาพยุโรป ธนาคารเพื่อการพัฒนา มูลนิธิร็อคกี้เฟลเลอร์ และมูลนิธิบิลและเมลินดา เกตส์
สรุปบรรยากาศการเปิดประชุม G20
ด้านโจ ไบเดน ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ที่กำลังจะพ้นวาระ เร่งสร้างผลงานด้านการแก้ปัญหาความยากจนโลกก่อนรัฐบาลทรัมป์จะเข้ามาตัดงบประมาณ โดยจอน ไฟเนอร์ รองที่ปรึกษาความมั่นคงแห่งชาติ เผยว่าไบเดนจะประกาศสนับสนุนกองทุนสมาคมพัฒนาระหว่างประเทศของธนาคารโลก แม้ยังไม่ระบุจำนวนเงินชัดเจน พร้อมแจ้งว่าสหรัฐฯ บรรลุเป้าหมายเพิ่มเงินทุนด้านสภาพอากาศเป็น 11,000 ล้านดอลลาร์ต่อปี หลังไบเดนเป็นประธานาธิบดีคนแรกที่เยือนป่าอเมซอน
อย่างไรก็ตาม การประชุมเผชิญอุปสรรคในการหาฉันทามติหลายประเด็น โดยเฉพาะกรณียูเครนที่สหรัฐฯ เพิ่งอนุมัติให้ใช้อาวุธโจมตีเป้าหมายในรัสเซียได้ไกลขึ้น ขณะที่จีน อินเดีย และบราซิลยังไม่แข็งกร้าวกับมอสโก แม้ไบเดนจะเรียกร้องให้ทุกประเทศสนับสนุนอธิปไตยและบูรณภาพแห่งดินแดนของยูเครน ส่วนปูตินไม่ได้เข้าร่วมเนื่องจากมีหมายจับจากศาลอาญาระหว่างประเทศ โดยส่งเซอร์เกย์ ลาฟรอฟ รัฐมนตรีต่างประเทศมาแทน
วิกฤตตะวันออกกลางยิ่งห่างไกลฉันทามติ ขณะที่ผู้ประท้วงนับร้อยรวมตัวบนท้องถนนริโอต่อต้านปฏิบัติการของอิสราเอลในกาซา และลูลาเองก็เคยเปรียบเทียบการกระทำของอิสราเอลกับการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวยิว จนถูกประกาศเป็นบุคคลไม่พึงปรารถนา ขณะที่โอลาฟ โชลซ์ นายกรัฐมนตรีเยอรมนี ยืนยันสนับสนุนทั้งแนวทางสองรัฐและสิทธิป้องกันตัวเองของอิสราเอล
ขณะเดียวกัน ฆาเวียร์ มิเลอี ประธานาธิบดีอาร์เจนตินาสายเสรีนิยมขวาจัดผู้สนับสนุนทรัมป์ ก็คัดค้านข้อเสนอของลูลาเรื่องเก็บภาษีมหาเศรษฐีและส่งเสริมความเท่าเทียมทางเพศ สะท้อนจากการจับมือห่างเหินระหว่างผู้นำทั้งสอง ต่างจากการต้อนรับอบอุ่นที่ลูลามีต่อผู้นำคนอื่น
ท้ายที่สุด สีจิ้นผิง ผู้นำจีน กลายเป็นตัวละครสำคัญของเวที G20 หลังไบเดนอำลาตำแหน่งและปูตินไม่มา โดยจีนหวังผลักดันโครงการ "หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง" ลงทุนโครงสร้างพื้นฐานในประเทศกำลังพัฒนาเพื่อขยายอิทธิพล แม้ผิดหวังที่บราซิลปฏิเสธเข้าร่วมจนกระทบความสัมพันธ์ ตามที่ศาสตราจารย์หลี่ ซิง จากสถาบันกลยุทธ์ระหว่างประเทศกวางตุ้งระบุ แต่ยังมีโอกาสความร่วมมือด้านอื่นในการเยือนอย่างเป็นทางการวันพุธนี้ ขณะที่การพบปะกับเคียร์ สตาร์เมอร์ นายกฯ อังกฤษ ครั้งแรกในรอบ 6 ปี สะท้อนบทบาทที่เพิ่มขึ้นของจีนในโลกหลายขั้วอำนาจ โดยสีกล่าวว่า "โลกกำลังเข้าสู่ช่วงปั่นป่วนและเปลี่ยนแปลง"
ที่มา https://www.dw.com/en/g20-brazils-lula-highlights-world-hunger-as-trump-looms/a-70814859