Thailand
ขอบคุณภาพจาก RT
30/3/2024
รัสเซียกำลังดันให้จัดตั้งตลาดแลกเปลี่ยนธัญพืชในกลุ่ม BRICS ประธานาธิบดี วลาดิมีร์ ปูติน ของรัสเซียเป็นผู้ริเริ่มแนวคิดนี้ เพื่อทานอิทธิพลของตะวันตก ซึ่งเข้าครอบงำระบบการตั้งราคาซื้อขายธัญพืชมาช้านาน และยังท้าทายดอลลาร์สหรัฐ ในฐานะสกุลเงินหลักของโลกที่ใช้ในการซื้อขายสิ่งต่าง ๆ
ถึงแม้จะถูกตะวันตกคว่ำบาตรจากความขัดแย้งกับยูเครน แต่รัสเซียก็ยังเป็นผู้เล่นรายหลักในแวดวงเกษตรกรรม ป้อนธัญพืชสู่ตลาดโลกเกือบ 1 ใน 4 จากข้อมูลของรัสเซีย
การจัดตั้งตลาดแลกเปลี่ยนธัญพืชในกลุ่ม BRICS จะทำให้ผู้ซื้อและผู้ขายธัญพืชรายใหญ่สุดของโลกได้มาเจอกัน เมื่อปี 2023 สมาชิก BRICS คือ บราซิล รัสเซีย อินเดีย จีน และแอฟริกาใต้ เป็นผู้ผลิตธัญพืชได้ถึง 42% ของทั้งโลก คิดเป็นเกือบ 1.2 ล้านตัน และยังเป็นผู้บริโภคมากถึง 40% ของโลกด้วยเช่นกัน จากข้อมูลของกระทรวงเกษตรรัสเซีย และเมื่อรวมสมาชิกใหม่ อย่าง ซาอุดิอาระเบีย อียิปต์ สหรัฐอาหรับเอมิเรสต์ อิหร่าน และเอธิโอเปียเข้าไปแล้ว ผลผลิตธัญพืชในกลุ่มก็ทะลุ 1,240 ล้านตัน และการบริโภคอยู่ที่ 1,230 ล้านตัน
การจัดตั้งตลาดแลกเปลี่ยนธัญพืชในกลุ่ม BRICS อาจทำให้รัสเซียมีอิทธิพลทางด้านภูมิเศรษฐศาสตร์เหนือกลุ่มสมาชิกทันที รัสเซียจะมีบทบาทสำคัญในการจัดหาธัญพืชและปุ๋ยให้กับประเทศสมาชิก ส่งเสริมความพึ่งพาทางเศรษฐกิจ ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจรัสเซียและยกระดับทางการทูต
การใช้อาหารเป็นอาวุธ ดูเหมือนจะเป็นกลยุทธ์การทำสงครามอย่างหนึ่งของรัสเซียในความขัดแย้งกับยูเครน ซึ่งรัสเซียก็ประกาศเจตนารมณ์จะเข้ามาแทนที่ยูเครนในการจัดหาธัญพืชให้กับกลุ่มประเทศรายได้ต่ำ และรายได้ปานกลางระดับต่ำ ทั้งยังหวังจะเข้ามาควบคุมการซื้อขายธัญพืชและปุ๋ยโลก รัสเซียตั้งเป้าจะเป็นมหาอำนาจด้านการซื้อขายอาหารโลก ซึ่งก็รวมถึงการจัดหา การเข้าถึง และการตั้งราคา
สมาชิกกลุ่ม BRICS ก็เห็นว่า การแลกเปลี่ยนธัญพืชกันเองในกลุ่ม จะช่วยลดความไม่แน่นอนในการจัดหาธัญพืช หากภาคการผลิตธัญพืชโลกเกิดปัญหา ท่ามกลางข้อวิตกว่า ความไร้เสถียรภาพทางอาหารกำลังบานปลาย
สมาชิก BRICS หลายประเทศ อุดมไปด้วยทรัพยากรและเป็นผู้ส่งออกวัตถุดิบรายหลักของโลก เช่น อิหร่านและสหรัฐอาหรับเอมิเรสต์ ส่งออกน้ำมันดิบ บราซิลส่งออกแร่เหล็ก ถั่วเหลืองและน้ำตาล รัสเซียกับจีนส่งออกปุ๋ย และเอธิโอเปียส่งออกกาแฟและเมล็ดพืชที่นำไปทำน้ำมัน ด้วยเหตุนี้ การเปิดตลาดแลกเปลี่ยนกันเองในกลุ่ม จึงน่าจะปูทางไปสู่การค้าระหว่างภูมิภาคที่แข็งแกร่งขึ้น หรือแลกเปลี่ยนสินค้าโภคภัณฑ์อื่นในกลุ่ม BRICS ต่อไป
ความร่วมมือด้านนี้ที่แข็งแกร่ง ยังอาจหมายถึงการพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานร่วมกัน เช่น การทำโรงเก็บปุ๋ย และท้ายสุด อาจทำให้ภูมิรัฐศาสตร์ และภูมิยุทธศาสตร์ ของชาติสมาชิก BRICS มีความแข็งแกร่งขึ้น ผ่านการผูกสัมพันธ์การค้าและการเกษตรกับรัสเซีย และจะนำไปสู่การเปลี่ยนขั้วอำนาจโลก ยากที่ประเทศนอกกลุ่มจะแข่งด้วยได้
ประเทศนอกกลุ่มที่เป็นผู้ส่งออกธัญพืชและปุ๋ยมาแต่เก่าก่อน อย่าง สหรัฐอเมริกา แคนาดา และออสเตรเลีย อาจจะต้องเผชิญความท้าทายในการรักษาส่วนแบ่งตลาด และการเจรจาต่อรองทางการค้า เพราะธัญพืชจากรัสเซียมีราคาถูกกว่า และหากอยากจะรักษาขีดระดับการแข่งขันเอาไว้ ประเทศเหล่านี้ก็อาจต้องหันไปลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนา ปรับปรุงพันธุ์พืชให้มีสารอาหารมากขึ้น หรือใช้เทคโนโลยีที่คุ้มค่ามากขึ้น และอาจต้องหันไปหาตลาดทางเลือกใหม่ๆ เช่น เอเชียตะวันออกเฉียงใต้
การที่รัสเซียเสนอให้จัดตั้งตลาดแลกเปลี่ยนธัญพืชขึ้นในกลุ่ม BRICS จึงน่าจะส่งผลให้เกิดการปรับเปลี่ยนทั้งทางด้านภูมิรัฐศาสตร์และภูมิเศรษฐศาสตร์ และยังเพิ่มศักยภาพการแข่งขันด้านการซื้อขายสินค้าเกษตร ประเทศผู้ส่งออกธัญพืชดั้งเดิม คือ ออสเตรเลียและสหรัฐ อาจต้องประเมินนโยบายและกลยุทธ์ของตัวเองเสียใหม่ เพื่อรักษาขีดระดับการแข่งขันเอาไว้
By IMCTNews
© Copyright 2020, All Rights Reserved