ขอบคุณภาพจาก X ASEAN
6/8/2024
กลุ่มประเทศอาเซียนดึงดูดการลงทุนจากต่างชาติได้มากกว่าจีนแล้วในเวลานี้ และกำลังอยู่ระหว่างการวางรากฐานที่สำคัญ เซาท์ ไชน่า มอร์นิ่ง โพสต์ อ้างรายงาน Navigating High Winds : Southeast Asia Outlook 2024 – 2034 หรือ แนวโน้มเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ประจำปี 2024 – 2034 พบว่า หกชาติอาเซียน คือ อินโดนีเซีย ไทย เวียดนาม สิงคโปร์ มาเลเซีย และฟิลิปปินส์ จะครองส่วนแบ่งการขยายตัวทางเศรษฐกิจมากถึง 97% ในอาเซียนทั้งหมด เนื่องจากต่างชาติเข้ามาลงทุนคับคั่ง และอาเซียนจะครองโลกได้มากขึ้น
รายงานมีสาระสำคัญระบุว่า
- อาเซียนแซงหน้าจีนไปแล้วในปี 2023 ในแง่ของการลงทุนจากต่างชาติ และเป็นครั้งแรกในรอบ 10 ปี ที่อาเซียนแซงจีน
- มีอยู่หกชาติอาเซียนที่ยังคงรักษาการขยายตัวทางเศรษฐกิจไว้ได้ เนื่องจากต่างชาติเข้ามาลงทุนมากขึ้น
- อาเซียนกำลังพุ่งเป้าไปยังขอบข่ายทางเศรษฐกิจที่สำคัญ 4 เรื่อง คือ การพัฒนากำลังแรงงาน , การเพิ่มศักยภาพให้แรงงาน , การใช้จ่ายเพื่อการลงทุน และทุนในด้านการผลิต
รายงานชิ้นนี้มองว่า ในอีกสิบปีข้างหน้า เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ควรจะมีการขยายตัวของจีดีพีแซงหน้าจีน กลายเป็นแนวโน้มที่พลิกกลับ เมื่อเทียบกับในช่วง 30 ปีที่ผ่านมา
ระหว่างปี 2018 – 2022 การลงทุนโดยตรงจากต่างชาติขยายตัว 37% ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เทียบกับจีนที่ขยายตัวแค่ 10% โดยสิงคโปร์เป็นประเทศที่มีต่างชาติเข้ามาลงทุนโดยตรงอย่างโดดเด่นที่สุด
ปัจจัยที่ดึงดูดต่างชาติให้เข้ามาลงทุนในอาเซียน ก็คือ RCEP หรือ ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค ซึ่งเป็นกลไกลการเปิดเสรีการค้า และเป็นเขตการค้าเสรีใหญ่สุดของโลก รวมถึง แนวคิด China+1 เป็นแนวคิดของจีน ที่ต้องการมองหาตลาดการค้าใหม่ๆ ซึ่งถึงแม้ตลาดในจีนจะยังเป็นตลาดหลักของภาคการผลิต แต่การมองหาตลาดใหม่ก็เพื่อกระจายห่วงโซ่อุปทาน เพิ่มโอกาสทางการค้า และลดความเสี่ยงในการประกอบธุรกิจ เช่น ความเสี่ยงสงครามการค้าระหว่างสหรัฐกับจีน
RCEP เน้นในเรื่องการลงทุนจากต่างชาติและสิทธิทรัพย์สินทางปัญญา น่าจะช่วยดึงความร่วมมือจากต่างชาติเข้ามายังเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้ และช่วยเพิ่มอำนาจการต่อรองให้กับอาเซียนได้ด้วย เมื่อต้องแข่งกับนักธุรกิจจากจีน
รายงานยังระบุเพิ่มเติมถึงสามสาเหตุที่อาเซียนอาจดึงความสนใจจากชาวโลกได้มากขึ้นต่อเนื่อง
อันดับแรก ภาคธุรกิจต้องการถอยห่างจากจีน เนื่องจากการติดขัดต่างๆ ที่เคยเกิดขึ้นในช่วงโควิดระบาด หลายบริษัทจึงพยายามหลีกเลี่ยงการพึ่งพาตลาดเดียวมากจนเกินไป รวมถึงปัจจัยทางการเมืองด้วย พวกเขาจึงเล็งเป้ามาทางอาเซียน
อันดับสอง อาเซียนยังมีความเป็นมิตรในการทำธุรกิจข้ามแดนมากกว่า มีการค้าที่เป็นธรรม และง่ายต่อการจัดตั้งธุรกิจ ล่าสุด หลายชาติในอาเซียนชูการท่องเที่ยวให้เป็นพระเอก และนี่คือโอกาสในการทำธุรกิจที่จะได้ประโยชน์ร่วมกัน
อันดับสาม เอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีการขยายตัวอย่างรวดเร็ว ตำแหน่งที่ตั้งก็ดี เป็นประโยชน์ต่อการค้า การท่องเที่ยวและการลงทุน
รายงานคาดว่า เอเชียตะวันออกเฉียงใต้จะมีจีดีพีขยายตัวเฉลี่ย 5.1% ในอีกสิบปีข้างหน้า โดยเวียดนามกับฟิลิปปินส์คาดว่า จะเป็นประเทศที่ขยายตัวเร็วกว่าประเทศอื่นในอาเซียน โดยเฉพาะเวียดนามที่เศรษฐกิจยังเดินหน้าต่อเนื่อง
นักวิเคราะห์มองว่า ถ้าอาเซียนมีความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจเกิดขึ้นจริงอย่างที่รายงานฉบับนี้วิเคราะห์ อาจกระทบต่อดอลลาร์สหรัฐได้ เพราะอาเซียนชูจุดยืนต้องการให้สกุลเงินมีหลายขั้วอำนาจ อาเซียนกับ BRICS กำลังจัดตั้งระบบสกุลเงินของพวกเขาเอง เพื่อสู้กับดอลลาร์สหรัฐ การรวมตัวกันเชิดชูสกุลเงินท้องถิ่น น่าจะเพิ่มแรงกดดันไปที่ดอลลาร์ ปัจจุบัน อาเซียนยังหันไปร่วมมือกับกลุ่มประเทศความร่วมมืออ่าวอาหรับด้วยเช่นกัน ก่อให้เกิดความสงสัยในชะตากรรมของดอลลาร์
รายงานยังแนะนำอาเซียนว่า การลงทุนที่สำคัญที่สุด คือการลงทุนกับมนุษย์ ทั้งด้านการศึกษา การฝึกอบรมด้านวิชาชีพ และสุขภาพแรงงาน รวมถึงต้องมีธรรมาภิบาลที่ดี
By IMCT News
อ้างอิงจาก https://www.asiafinancial.com/foreign-investment-in-asean-tops-china-for-first-time-in-decade
https://watcher.guru/news/asean-overtakes-china-in-investment-us-dollar-at-risk