18/5/2024
กองทัพเรือยืนยันการเดินหน้าโครงการเรือดำน้ำจีนต่อมีผลดีมากกว่าผลเสีย และพร้อมชี้แจงทุกรายละเอียด เพราะเชื่อว่า ทุกฝ่ายโปรงใส และเป็นไปตามขั้นตอน
กรณีความคืบหน้าในการจัดหาเรือดำน้ำของกองทัพเรือ ซึ่งมีการเจรจาระหว่างกระทรวงกลาโหมของไทย และตัวแทนบริษัท CSOC ซึ่งเป็นบริษัทผู้ผลิต เมื่อวันที่ 14-15 พฤษภาคม 2567 ที่ผ่านมาและล่าสุดมีรายงานว่า ได้ข้อสรุปเบื้องต้นแล้วว่า จะเดินหน้าโครงการจัดหาเรือดำน้ำจีนต่อนั้น แหล่งข่าวระดับสูงในกองทัพเรือกล่าวว่า กองทัพเรือได้ส่งตัวแทนเข้าร่วมทั้งการเจรจา และเดินทางไปดูเครื่องยนต์ใหม่ที่จีนเสนอมาแล้ว และยืนยันว่า เป็นการดำเนินการอย่างโปร่งใสและสามารถอธิบายเหตุผลได้ทุกเรื่อง
แหล่งข่าวระบุว่า ประการแรกเครื่องยนต์ใหม่ของจีนเป็นเครื่องขับเครื่องกำเนิดไฟฟ้า โดยเครื่องกำเนิดไฟฟ้าจะทำหน้าที่ผลิตไฟฟ้าเข้ามาบรรจุในแบตเตอรี่ เพื่อให้แบตเตอรี่ทำหน้าที่ในการจ่ายพลังงานไปยังเครื่องยนต์ ไม่ใช่เครื่องปั่นไฟ ตามที่ปรากฏบนสื่อสังคมโซเชี่ยลบางราย และการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ เป็นการเปลี่ยนแปลงที่มีนัยสำคัญ ซึ่งอัยการและกฤษฏีกาก็เห็นตรงกันว่า หากจะแก้ไขสัญญา จะต้องผ่านความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี
ประการที่สอง กองทัพเรือไม่มีการจัดซื้อจ้างอะไรที่สั่งของแบบหนึ่ง แต่ได้ของอีกแบบหนึ่ง แล้วจะยินยอมโดยไม่มีการโต้แย้ง แต่ระเบียบพัสดุกำหนดว่า หากมีความจำเป็นต้องเปลี่ยนแปลง ของที่มาแทนต้องดีกว่า หรืออย่างน้อยต้องมีมาตรฐานเท่าเทียมกับของเดิมที่ระบุในสัญญา ครั้งนี้ก็เช่นกัน ถึงแม้กองทัพเรือจะได้ของไม่ตรงตามสัญญา แต่เราก็ดำเนินการลดความเสียหาย และดำเนินการตามกรอบข้อตกลงในสัญญาแบบ G to G ที่กำหนดแนวทางการแก้ปัญหาด้วยการเจรจา โดยหลีกเลี่ยงที่จะใช้ทางออกด้วยวิธีการทางกฏหมาย
กรณีนี้กองทัพเรือจึงพยายามเจรจาเพื่อหาทางออกที่ดีที่สุด และส่งเจ้าหน้าที่ไปดูเครื่องยนต์ใหม่ที่ทางจีนเสนอ และพบว่า อยู่ในมาตรฐานและหลักเกฌฑ์ที่ยอมรับได้
ประการที่สาม เมื่อพิจารณาจากเงื่อนไขที่บริษัท GSOC เสนอเครื่องฝึกที่มีความจำเป็นสำหรับกองเรือดำน้ำที่มีมูลค่าหลายร้อยล้านบาทให้ หากทางไทยยินดีเดินหน้าโครงการนี้ต่อ ก็ยังเป็นเงื่อนไขที่น่าสนใจ เพราะเป็นเงื่อนไขที่ก่อให้เกิดประโยชน์กับกองทัพ
นอกจากนั้นการเจรจาเพิ่มเติม กระทรวงกลาโหมยังก็ได้ขอผ่านทางกระทรวงพาณิชย์ไทยให้เจรจาให้จีนช่วยสนับสนุนผลผลิตทางเกษตรอีกด้วย แม้เป็นส่วนข้อเรียกร้องเพิ่มเติม ที่ไม่ได้ผูกพันการตัดสินใจเดินหน้าโครงการเรือดำน้ำนี้ แต่หากจีนยอมช่วยเหลือก็จะเป็นประโยชน์ต่อภาคเกษตรกรรมอีกด้านหนึ่ง
แหล่งข่าวจากกองทัพเรือยืนยันข้อมูลนี้ ภายหลังมีความคืบหน้าการเจรจาแก้ปัญหาเรือดำน้ำ ระหว่าง พลเอก สมศักดิ์ รุ่งสิตา ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม กับ ตัวแทน หน่วยงานด้านยุทโธปกรณ์ ของกระทรวงกลาโหมจีน และ ตัวแทนบริษัท CSOC ซึ่งเป็นบริษัทผู้ผลิต ที่กระทรวงกลาโหมเมื่อวันที่ 14-15 พฤษภาคม 2567 และมีข้อสรุปเบื้องต้นว่าจะเดินหน้าโครงการจัดหาเรือดำน้ำจีนต่อ
โดยการเจรจาครั้งนี้ นายสุทิน คลังแสง รมว.กลาโหม ได้เข้าร่วมรับฟังการประชุมในวันแรก คือ วันที่ 14 พฤษภาคม 2567 พร้อมรับทราบปัญหาความล่าช้าของการเจรจาที่ผ่านมาว่า เนื่องจากเป็นช่วงเวลาที่จีนอยู่ในช่วงการปรับโครงสร้างกองทัพ เพื่อยุบหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ที่มีหลายหน่วยงาน รวมศูนย์เป็นหน่วยงานด้านยุทโธปกรณ์เพียงหน่วยงานเดียว คือ The Bureau of Military Equipment and Technology Cooperation (BOMETEC) ซึ่งเป็นหน่วยงานรับรองการขายอาวุธที่มีใช้ในกองทัพจีนให้กับต่างประเทศ
การเจรจาครั้งนี้ ฝ่ายจีนจึงส่งตัวแทนของ BOMETEC เป็นตัวแทนมาร่วมเจรจา โดยมีตัวแทน The State administration of Science, Technology and Industry for national Defense (SASTIND) ซึ่งเป็นหน่วยงานรับรองบริษัทที่ขายอาวุธให้ต่างประเทศ มาร่วมโต๊ะเจรจาด้วย
ผลสรุปการเจรจาจึงมีความคืบหน้าและมีข้อสรุปที่ชัดเจน เนื่องจากเป็นการพูดคุยกับทั้ง 2 หน่วยงานที่มีหน้าที่รับผิดชอบโดยตรง โดยพิจารณาจาก 2 ทางเลือกคือ ยกเลิกโครงการ หรือเดินหน้าโครงการต่อ
ซึ่งจากการหารือ และประเมินข้อดี-ข้อเสียแล้วพบว่า การยกเลิกโครงการจะเกิดผลเสียมากกว่าผลดี เพราะการยกเลิกโครงการ ผลเสีย คือ ไทยอาจต้องฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายเรื่องเงินค่างวดที่จ่ายไปล่วงหน้า และอาจได้คืนเพียงบางส่วน ไม่ครบตามจำนวนที่จ่ายไปทั้งหมด
แต่หากไม่ยกเลิกโครงการ ผลดี คือ นอกจากข้อเสนอที่จีนเสนอมาให้ และเป็นประโยชน์กับกองทัพ โดยทางจีนยินดีที่จะสนับสนุนทางการทหาร เช่น การสนับสนุนยุทโธปกรณ์ที่เกี่ยวข้องกับเรือดำน้ำ ทั้งเครื่องช่วยฝึก หรือ Simulator และอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องอื่นๆ รวมถึงเรื่องระบบประกัน / การฝึกศึกษา ซึ่งมีมูลค่าหลายร้อยล้านบาทแล้ว ก็ยังสามารถรักษาความสัมพันธ์ไทย-จีนที่มีมาอย่างยาวนานได้อีกด้วย
IMCT News