Thailand
สหรัฐทุ่มสุดตัวดันฟิลิปปินส์แหล่งผลิตชิพแห่งใหม่
รัฐมนตรีพาณิชย์สหรัฐประกาศ นักธุรกิจอเมริกันจะเข้าไปลงทุน 1,000 ล้านดอลลาร์ หรือประมาณ 35,000 ล้านบาท ในฟิลิปปินส์ และจะใช้ฟิลิปปินส์เป็นฐานการผลิตเซมิคอนดักเตอร์เพื่อกระจายภาคการผลิตชิพทั่วโลกให้หลากหลาย ท่ามกลางความตึงเครียดที่มีมากขึ้นกับจีน
ขอบคุณภาพจาก fb U.S. Asia Pacific Media Hub
13/3/2024
คำกล่าวนี้มีขึ้นในช่วงที่รัฐมนตรีพาณิชย์สหรัฐเยือนกรุงมะนิลาของฟิลิปปินส์เป็นเวลา 2 วัน โดยได้ร่วมหารือกับคณะผู้บริหารธุรกิจชาวอเมริกัน 22 คน จากบริษัทชื่อดัง เช่น กูเกิ้ล วีซ่า และไมโครซอฟท์ การหารือมีขึ้นในย่านมากาตี ศูนย์กลางการเงินของกรุงมะนิลา
รัฐมนตรีพาณิชย์สหรัฐย้ำว่า นี่คือเหตุการณ์ในหน้าประวัติศาสตร์ ที่สหรัฐจะหนุนให้ฟิลิปปินส์เป็นผู้ผลิตชิพรายใหญ่ และบริษัทสัญชาติอเมริกันจะเข้าไปลงทุนในฟิลิปปินส์คิดเป็นวงเงิน 1,000 ล้านดอลลาร์ หรือประมาณ 35,000 ล้านบาท ครอบคลุมตั้งแต่ด้านพลังงานแสงอาทิตย์ รถไฟฟ้าและผลิตภัณฑ์ดิจิทัล
ถือเป็นครั้งแรกที่รัฐมนตรีพาณิชย์สหรัฐจัดทัพชุดใหญ่เยือนฟิลิปปินส์ เหตุการณ์นี้มีขึ้นในช่วงที่สงครามแย่งชิงความเป็นใหญ่ในการผลิตเซมิคอนดักเตอร์ ทวีความร้อนแรงขึ้นระหว่างจีนกับสหรัฐ
ที่ผ่านมา สหรัฐคว่ำบาตร เพื่อจำกัด ไม่ให้จีนเข้าถึงชิพได้โดยง่าย ซึ่งถือเป็นอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ชิ้นเล็กๆ ที่สำคัญมากในระบบเศรษฐกิจสมัยใหม่ และเรียกร้องให้บริษัทสัญชาติอเมริกัน กระจายแหล่งผลิตชิพให้หลากหลาย จากปัจจุบัน ที่ภาคการผลิตชิพของสหรัฐ ถูกผูกขาดอยู่แค่ไม่กี่ประเทศในโลก นอกจากจะไม่เหมาะสมในแง่ภูมิรัฐศาสตร์แล้ว ยังไม่เหมาะตามสำนวนที่ว่า “ ไม่ควรนำไข่ทั้งหมดใส่ลงในตะกร้าใบเดียว “
รัฐมนตรีพาณิชย์สหรัฐ บอกว่า ฟิลิปปินส์มีสถานที่อำนวยความสะดวกในด้านการประกอบ การทดสอบ และการบรรจุผลิตภัณฑ์เซมิคอนดักเตอร์ รวม 13 แห่ง จึงเห็นสมควรน่าจะมีเพิ่มขึ้นอีกเท่าตัว เพราะฟิลิปปินส์อุดมไปด้วยทรัพยากรแร่ที่สำคัญ บริษัทในสหรัฐเองก็กำลังคิดหาทางกระจายแหล่งผลิตให้ดูยืดหยุ่นขึ้น กำลังมองหาประเทศอื่นๆ ในโลก ที่สามารถเปิดการผลิตในส่วนนี้ได้ และเชื่อว่า ฟิลิปปินส์คือตัวเก็งในเบอร์ต้นๆ
สหรัฐผูกสัมพันธ์กับฟิลิปปินส์มากขึ้น โดยเฉพาะประเด็นความมั่นคง นับจากประธานาธิบดี เฟอร์ดินานด์ มาร์กอส จูเนียร์ เข้ารับตำแหน่งเมื่อกลางปี 2022 สหรัฐยังสร้างสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจกับหลายประเทศในแถบอินโดแปซิฟิก ซึ่งคิดเป็น 40% ของเศรษฐกิจโลก เพื่อรับมือกับการขยายอิทธิพลของจีน
เมื่อกลางปี 2022 สหรัฐได้เปิดตัวกรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจอินโดแปซิฟิก หรือ IPEF โดยพุ่งเป้าไปที่สี่เสาหลัก คือ การค้า ห่วงโซ่อุปทานหรือ Supply Chain เศรษฐกิจที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและเศรษฐกิจที่เป็นธรรม โดยครอบคลุมไปถึงเรื่องภาษีและการต่อต้านคอร์รัปชั่น
นอกเหนือจากสหรัฐและฟิลิปปินส์ หุ้นส่วน IPEF ยังประกอบไปด้วย ออสเตรเลีย บรูไน ฟิจิ อินเดีย อินโดนีเซีย ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ มาเลเซีย นิวซีแลนด์ สิงคโปร์ ไทยและเวียดนาม แต่ก็ถูกวิจารณ์ว่า เป็นการรวมกลุ่มที่ไม่ได้จัดหาตลาดใดใดไว้ให้เลย
เมื่อปี 2023 สหรัฐถือเป็นหุ้นส่วนการค้าใหญ่เป็นอันดับสามของฟิลิปปินส์ โดยถือเป็นตลาดส่งออกใหญ่สุด และเป็นแหล่งนำเข้าสินค้าใหญ่เป็นอันดับ 5 ของฟิลิปปินส์ จากข้อมูลของรัฐบาลฟิลิปปินส์ ส่วนคู่ค้าใหญ่สุดของฟิลิปปินส์คือจีน
ยักษ์ใหญ่ด้านเทคโนโลยีอย่าง ไมโครซอฟท์ บอกว่า จะขอเป็นหุ้นส่วนกับกระทรวงการอาชีวศึกษาและพัฒนาศักยภาพของฟิลิปปินส์ เพื่อฝึกหัดผู้หญิงชาวฟิลิปปินส์ 1 แสนคนเข้าสู่ธุรกิจ AI และการควบคุมความปลอดภัยในโลกไซเบอร์
By IMCTNews
อ้างอิงจาก https://www.rfa.org/english/news/southchinasea/philippines-chip-sector-03122024094537.html
© Copyright 2020, All Rights Reserved