14/5/2024
สถานการณ์การสู้รบในประเทศเมียนมาร์ ระหว่างฝ่ายต่อต้านรัฐบาลทหารเมียนมาร์ และกองทัพเมียนมาร์ในเกือบทุกพื้นที่ทั่วประเทศ ล่าสุดยังคงทวีความรุนแรงและความขัดแย้งมากขึ้น แม้ว่าในพื้นใกล้แนวชายแดนไทยฝั่งตรงข้ามอำเภอแม่สอด จังหวัดตากของประเทศไทย จะเริ่มเข้าสู่ภาวะปกติ เมื่อกองทัพเมียนมาร์สามารถกลับเข้ามายึดครองพื้นที่สำคัญในเมียวดีได้อีกครั้ง
แต่การสู้รบในห้วงเวลา 2 ปีที่ผ่านมา ฝ่ายต่อต้านรัฐบาลทหารพม่าได้ใช้ยุทธวิธีจัดกองกำลังขนาดเล็กที่มีประสิทธิภาพ และปรับยุทธวิธีการโจมตีที่สร้างความเสียหายให้กับที่ตั้งสำคัญของฝ่ายรัฐบาลเมียนมาร์ ทั้งหน่วยราชการและฐานที่มั่นทางการทหาร ไม่เว้นแม้แต่การโจมตีสนามบิน และโรงเรียนนายร้อยในเมืองเนปิดอว์ เมืองหลวงใหม่ของเมียนมาร์
หนึ่งในยุทธวิธีสำคัญ และมีประสิทธิภาพการทำลายค่อนข้างแม่นยำ จนทำให้ทหารเมียนมาร์ต้องทิ้งฐานที่มั่น และล่าถอยออกจากเมียววดี คือ การใช้โดรน หรืออากาศยานไร้คนขับขนาดเล็ก บินสอดแนม ฐานที่ตั้ง รวมทั้งติดอาวุธ และระเบิดเข้าไปโจมตี จนสร้างความเสียหายอย่างหนัก เนื่องจากทหารเมียนมาร์ไม่สามารถสกัดโดรนเหล่านั้นได้ทั้งหมด แม้ว่าจะมีระบบ Anti-Drone รวมทั้งพยายามยิงสกัด แต่ก็ไม่สามารถสกัดได้ทั้งหมด เมื่อฝ่ายต่อต้านใช้ฝูงโดรน กระจายโจมตีพร้อมๆกัน เนื่องจากระบบ Anti-Drone ที่มีอยู่สามารถสกัดโดรนขนาดเล็กเหล่านั้นได้เพียงครั้งละหนึ่งลำท่านั้น
หน่วยที่อยู่เบื้องหลังความสำเร็จของการโจมตีครั้งนี้ คือ Federal Wings ที่ฝ่ายต่อต้านรัฐบาลทหารพม่าจัดตั้งขึ้น เพื่อให้เป็นหน่วยรบโดรนที่ล้ำสมัย และมีประสิทธิภาพการโจมตีสูงสุด
Federal Wings หรือ หน่วยการบินรัฐบาลกลาง เป็นหน่วยงานพิเศษที่จัดตั้งโดย รัฐบาลเอกภาพแห่งชาติ (NUG) หรือรัฐบาลเงาของพม่า ทำหน้าที่ปฏิบัติการรบทางอากาศสนับสนุนการต่อสู้กับเผด็จการทหารเมียนมาร์
เอกสารงานวิจัยส่วนบุคคล ของหน่วยงานด้านความมั่นคง ระบุว่า ชนกลุ่มน้อยในเมียนมาร์ ได้ใช้โดรนทางการเกษตรนำไปประยุกต์ประกอบลูกระเบิด เพื่อใช้ในการโจมตีกองกำลังทหารเมียนมาร์ จนนำไปสู่การจัดตั้ง เป็นหน่วย FEDERAL WINGS
กำลังพลที่สังกัด FEDERAL WINGS ล้วนเป็นคนหนุ่มสาว ที่จบการศึกษา วิศวกรรมศาสตร์จากมหาวิทยาลัยในเมียนมา เพื่อฝึกให้เป็นผู้ควบคุม ใช้งาน ดัดแปลง ให้เป็นโดรนทิ้งระเบิดเพื่อใช้ในการสู้รบกับกำลังทหารเมียนมา โดย
4.1 โดรนสามารถปฏิบัติภารกิจได้ 3 แบบ ในคราวเดียวกัน คือ
1) ติดกล้อง สามารถมองเห็นเป้าหมาย บันทึกภาพทางอากาศได้
2) ติดตั้งกระสุนเครื่องยิงลูกระเบิด นำไปทิ้งต่อเป้าหมายได้
3) ติดตั้งเครื่องตัดสัญญาณ จากการยิงปืนตัดสัญญาณโดรน
4.2 โดรนทางการเกษตรที่ตรวจพบ มีจำนวน 4 รุ่น เป็นโดรนที่ผลิตมาจาก สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนจีน ทำการบินได้สูงประมาณ 3,000 – 4,000 เมตร มีระบบการนำร่อง GPS มีเสารับ-ส่งสัญญาณ จำนวน 4 เสา (1T2R) และ รีโมทคอนโทรล DJI RC- N1 ใช้ย่านความถี่ 1.05–1.25 GHz (ทหาร)และย่านความถี่ 2.400-2.4835 GHz, 5.725-5.850 GHz (พลเรือน
4.3 การดัดแปลงยุทโธปกรณ์สามารถติดตั้งลูกระเบิดขว้าง, ลูกระเบิด ขนาด 40 มิลลิเมตร , 60 มิลลิเมตร , 81 มิลลิเมตร และระเบิดแสวงเครื่องอื่น ๆ บริเวณด้านล่าง ของโดรน โดยบรรจุได้ครั้งละ 2 ลูก รวมถึงสามารถเชื่อมต่อผ่านโทรศัพท์มือถือ เพื่อให้ การควบคุมและใช้งานได้สะดวกมากยิ่งขึ้น มีกำลังพลที่มีความรู้ความสามารถในการ ใช้งานได้ประมาณ 20 นาย (ลำละ 2 นาย)
4.4 วิธีการลักลอบส่งออกโดรนทางการเกษตร ที่นำไปประยุกต์ประกอบ ลูกระเบิด กองกำลังชนกลุ่มน้อยกลุ่มต่อต้านจะได้รับการสนับสนุนงบประมาณบริจาคจาก ประชาชนชาวเมียนมาที่อาศัยอยู่ต่างประเทศ กลุ่มองค์การนักศึกษาเมียนมาแห่งชาติ ในต่างประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกา, แคนาดา, ออสเตรเลีย และแรงงานชาวเมียนมา ในประเทศไทยบางส่วน ผ่านมูลนิธิหรือตัวแทนจัดตั้งในต่างประเทศ
นอกจากนั้นยังมีวิธีการด้วยการรวบรวมงบประมาณ และจัดหาอุปกรณ์ต่าง ๆ ผ่านทางตัวแทนในไทย แล้วลักลอบส่งออก บริเวณชายแดนไทย-เมียนมา ตามช่องทางธรรมชาติ ส่งไปยังกองกำลังชนกลุ่มน้อย กลุ่มต่อต้านในพื้นที่รัฐกะเหรี่ยง ของสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา คือ
1) เดินทางไปซื้อ โดรนทางการเกษตรจากร้านขายโดรนในพื้นที่จังหวัดใกล้เคียง เช่น จังหวัดตาก จังหวัด กำแพงเพชร จังหวัดสุโขทัย เป็นต้น โดยนำมาพักคอยในพื้นที่ชายแดนจังหวัดตาก แล้วจึง ดำเนินการลักลอบส่งออกตามช่องทางธรรมชาติ ส่งให้กองกำลังชนกลุ่มน้อยกลุ่มต่อต้าน ไปประกอบระเบิด ไม่ต้องขึ้นทะเบียนโดรน
2) ดำเนินการสั่งซื้อ โดรนทางการเกษตรผ่านช่องทางออนไลน์ เช่น Lazada, Shopee เป็นต้น นำมาส่งใน พื้นที่ชายแดนจังหวัดตาก แล้วจึงดำเนินการลักลอบส่งออกตามช่องทางธรรมชาติ ส่งให้ กองกำลังชนกลุ่มน้อยกลุ่มต่อต้าน ไปประกอบระเบิด ไม่ต้องขึ้นทะเบียนโดรน
ความสำเร็จของชนกลุ่มน้อย ที่สามารถพัฒนากองกำลังขนาดเล็ก ในนาม FEDERAL WINGS และปฏิบัติการโจมตีด้วยยุทธวิธีใหม่ๆ ทำให้หน่วยงานความมั่นคงในไทยเริ่มติดตามความเคลื่อนไหวของวัตถุต้องสงสัยในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งเคยบินผ่านเข้าไปในฐานที่มั่นทางการทหารหลายครั้ง เนื่องจากพบข้อมูลความเป็นไปได้ที่กลุ่มผู้ก่อความไม่สงบในพื้นที่ภาคใต้ อาจพัฒนาโดรนขนาดเล็กขึ้นมาใช้ในรูปแบบเดียวกับชนกลุ่มน้อยในเมียนมาร์ โดยเฉพาะการตั้งหน่วยบินโดรน ในรูปแบบเดียวกัน เนื่องจากอาจเกิดความสูญเสียที่ประเมินไม่ได้
IMCT News