Thailand
เศรษฐกิจสหรัฐไม่ได้ดีอย่างที่คิด และหากล้มขึ้นมาในครั้งนี้ ทั่วโลกสะเทือนด้วย
ขอบคุณภาพจาก RT
14/10/2024
หนี้สาธารณะในสหรัฐพุ่งทะยานเร็วกว่าเดิม และใครก็ตามที่เชื่อว่า เศรษฐกิจสหรัฐแข็งแกร่ง ควรต้องติดตามประเด็นนี้อย่างใกล้ชิด เพราะตัวเลขหนี้บอกอะไรได้มากกว่าที่คิด
ปัจจุบัน หนี้สาธารณะในสหรัฐทะลุ 35.27 ล้านล้านดอลลาร์ไปแล้ว หรือประมาณ 1,100 ล้านล้านบาท พุ่งขึ้นเท่าตัวในช่วงสิบปีที่ผ่านมา เท่ากับว่า คนอเมริกันแต่ละคน จะแบกภาระหนี้คนละ 105,000 ดอลลาร์ หรือประมาณ 3.4 ล้านบาท ตอนนี้ หลายคนทราบดีว่า สหรัฐมีความเสี่ยงที่จะเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอย แต่คำถามคือ อีกนานเท่าไหร่ที่ทุกอย่างจะพัง ?
สัดส่วนหนี้ต่อจีดีพี เป็นอีกสัญญาณชัดเจนที่บ่งบอกถึงความตึงเครียดทางเศรษฐกิจ ในช่วงไตรมาสสอง อัตราส่วนหนี้ต่อจีดีพีอยู่ที่ 121.57% เกินเลยไปมากจากอัตราส่วนหนี้ต่อจีดีพีซึ่งควรอยู่ที่ 77% จึงจะปลอดภัย
ดอกเบี้ยหนี้คาดว่า จะพุ่งราวติดจรวด จาก 659,000 ล้านดอลลาร์ ในปี 2023 ( 21.7 ล้านล้านบาท ) ไปอยู่ที่ 870,000 ล้านดอลลาร์ก่อนสิ้นปีนี้ ( 28.7 ล้านล้านบาท ) งบของรัฐแทนที่จะเก็บไว้ลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานและสาธารณสุข ก็ต้องนำไปจ่ายดอกเบี้ยหนี้
ตัวเลขหนี้ในสหรัฐเริ่มพุ่งทะยานหลังวิกฤติการเงินในปี 2008 และพุ่งทะยานหนักขึ้นหลังวิกฤติโรคระบาด
ในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา ยอดหนี้ในสหรัฐมีแต่จะพุ่งขึ้น และถ้ายังไม่มีอะไรปรับเปลี่ยน ก็คาดว่า หนี้สหรัฐอาจพุ่งแตะ 166% ของจีดีพี ก่อนปี 2054 ทั้งเดโมแครตและรีพับลิกัน ก็ได้แต่ปล่อยให้ปัญหาทวีความรุนแรงต่อไป
ทั้งสองพรรคต่างชูนโยบายที่ต้องใช้งบมหาศาล และลดภาษี ซึ่งจะยิ่งซ้ำเติมปัญหาให้หนักขึ้น เหมือนเตะถ่วงปัญหาไปเรื่อยๆ โดยไม่มีแนวทางแก้ไขจริงๆ แต่สิ่งที่เลวร้ายที่สุดก็คือ การขาดดุลงบประมาณของรัฐบาลกลางสหรัฐ ในปี 2023 อยู่ที่ 1.7 ล้านล้านดอลลาร์ หรือ 56 ล้านล้านบาท แต่คาดว่า ในปีนี้ ตัวเลขจะพุ่งเป็น 1.9 ล้านล้านดอลลาร์ หรือประมาณ 62 ล้านล้านบาท
แม้ยอดหนี้จะสูงมาก แต่เศรษฐกิจสหรัฐก็ยังประคองให้เติบโตไปได้เรื่อยๆ ในช่วงสิบปีที่ผ่านมา แต่ถ้าพูดกันตามความเป็นจริง การเติบโตนี้ไม่ได้อยู่บนรากฐานที่แข็งแรงเลย เหมือนสร้างตึกสูงบนทรายดูด
ปัญหาเงินเฟ้อ อาจทำให้การเติบโตของเศรษฐกิจสหรัฐในอนาคตต้องหดหายไปด้วย ถ้าเงินเฟ้อยังพุ่งต่อเนื่อง รัฐบาลก็ต้องขึ้นดอกเบี้ยเพื่อบรรเทาเงินเฟ้อลง แต่การทำเช่นนั้น ก็จะทำให้ต้นทุนกู้ยืมเงินของรัฐพุ่งขึ้นด้วย ซ้ำเติมหนี้ให้ทะยานขึ้นอีก
เงินเฟ้อไม่ใช่แค่เป็นปัญหาของรัฐ แต่เป็นฝันร้ายของผู้บริโภคเช่นกัน ดอกเบี้ยสูงยังหมายถึงว่า ประชาชนจะจับจ่ายน้อยลง
ความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์ ทำให้ความต้องการสินค้าสหรัฐชะลอตัว และแนวโน้มเริ่มจะมืดมนกว่าเดิม ทั้งสองพรรคดูจะยุ่งเกินกว่าจะเข้าไปแก้ปัญหาเศรษฐกิจที่แท้จริง ซึ่งอาจจะระเบิดขึ้นในไม่ช้า
หากเศรษฐกิจสหรัฐเข้าสู่ภาวะถดถอย เศรษฐกิจก็จะหดตัว จีดีพีร่วง คนตกงาน และผู้บริโภคหยุดจับจ่าย อย่างในช่วง Great Recession ปี 2007-2009 จีดีพีในสหรัฐร่วงลง 4.3% และตอนนี้ก็อาจเกิดขึ้นอีก ภาคธุรกิจร่วง โดยเฉพาะภาคการผลิตและอสังหาริมทรัพย์
ยอดขายและผลกำไรร่วง ภาคธุรกิจจำเป็นต้องลดต้นทุน นำไปสู่การเลิกจ้าง ทำให้สถานการณ์ยิ่งเลวร้าย เงื่อนไขการปล่อยสินเชื่อที่เข้มงวดขึ้น ทำให้ภาคธุรกิจกู้เงินไม่ได้ง่ายๆ อาจมีบริษัทมากขึ้นจวนเจียนจะล้มละลาย
ในอดีตที่ผ่านมา การว่างงานจะผุดขึ้นในช่วงที่เศรษฐกิจถดถอย อย่างในช่วงที่เกิด Great Recession การว่างงานในสหรัฐพุ่งไปอยู่ที่ 10% คนที่ตกงานในช่วงเศรษฐกิจถดถอย มักจะว่างงานนานกว่าเดิม และเมื่อกลับเข้าไปทำงานอีกครั้ง ค่าจ้างก็มักจะได้น้อยลง
ผลวิจัยพบว่า พนักงานที่ตกงานในช่วง Great Recession จะมีปริมาณเงินที่หามาได้ตลอดชีวิตหายไป 19% เท่ากับว่า การตกงานในช่วงเศรษฐกิจถดถอย ไม่เพียงแต่แค่ไม่มีงานทำ แต่ยังหมายถึงการสูญเสียความมั่นคงทางการเงินไปอีกหลายปี
และเมื่อทุกสิ่งดูแย่ รัฐบาลก็จะเข็นมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจออกมา พวกเขาจะอัดเงินเข้าสู่ระบบและลดภาษี เพื่อกระตุ้นให้คนจับจ่ายมากขึ้น แต่เอาเข้าจริง มาตรการเหล่านี้ คือ ยังไม่มากพอที่จะแก้ปัญหา และช้าเกินไป เพราะเมื่อรัฐบาลลงมือ ความเสียหายมันก็ไปหนักแล้ว
ธนาคารกลางสหรัฐ อาจลดดอกเบี้ยลง เพื่อกระตุ้นให้เกิดการกู้ยืมและลงทุน ในช่วงที่เศรษฐกิจสหรัฐถดถอยครั้งก่อนๆ พวกเขาถึงขั้นใช้นโยบายผ่อนคลายเชิงปริมาณ คือการอัดเงินเข้าสู่ตลาด เพื่อประคองเศรษฐกิจ แต่การทำเช่นนั้น จะทำให้เงินเสื่อมมูลค่า
ภาวะเศรษฐกิจถดถอยมักสร้างปัญหาสังคมตามมา ทั้งเรื่องความเหลื่อมล้ำของฐานะ ที่จะถ่างออกมากกว่าเดิม กลุ่มคนรวยดูจะฟื้นตัวเร็วกว่า เพราะพวกเขามีสินทรัพย์และการลงทุนรองรับอยู่ ส่วนคนจน ก็จะจนหนักกว่าเดิม
เศรษฐกิจถดถอยยังทำให้คนเกิดปัญหาทางจิต ความเครียดจากการตกงาน ความไม่มั่นคงทางการเงิน และความไม่แน่นอนในอนาคต นำไปสู่อัตราการซึมเศร้าและความวิตกกังวลที่พุ่งขึ้น
สหรัฐเป็นประเทศที่มีเศรษฐกิจใหญ่สุดในโลก และเมื่อสหรัฐสะดุด การค้าโลกก็พลอยหยุดชะงักไปด้วย หลายประเทศพึ่งพาการส่งออกไปสหรัฐอย่างหนัก โดยเฉพาะประเทศเม็กซิโกและแคนาดา จะต้องเจ็บหนักด้วย หากสหรัฐแย่ แม้กระทั่งสินค้าโภคภัณฑ์ก็พลอยกระทบ เช่น น้ำมัน และโลหะ ราคาจะร่วง ในช่วงที่เกิดวิกฤติการเงินปี 2008 ราคาน้ำมันร่วงจาก 140 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล เหลือไม่ถึง 40 ดอลลาร์
ประเทศอย่างรัสเซียและซาอุดิอาระเบีย ซึ่งพึ่งพาการส่งออกสินค้าโภคภัณฑ์ ก็จะส่งออกได้น้อยลง ห่วงโซ่อุปทานพลอยกระทบ และจะเกิดความโกลาหลไปทั่ว แม้กระทั่งตลาดหุ้นก็พลอยร่วง
นักลงทุนมีแนวโน้มจะดึงเงินออกมาจากสินทรัพย์เสี่ยง ก่อให้เกิดความผันผวนหนักขึ้นในกลุ่มตลาดเกิดใหม่ ความโกลาหลจะส่งผลให้เงินทุนไหลออกจากกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา ซ้ำเติมเศรษฐกิจให้ยิ่งแย่
ภาคการธนาคารทั่วโลกก็ไม่ปลอดภัย เศรษฐกิจสหรัฐถดถอยจะแพร่ลามไปยังประเทศอื่นอย่างรวดเร็ว ก่อให้เกิดปัญหาสภาพคล่อง เพราะธนาคารจะต้องพยายามทำให้ทุกอย่างมีเสถียรภาพในขณะที่มูลค่าทรัพย์สินด้อยลง และถ้าบรรดาลูกหนี้ในสหรัฐพากันเบี้ยวหนี้ ไม่ช้านาน เรื่องนี้ก็จะกระทบไปยังธนาคารทั่วโลกด้วย
สิ่งที่เกิดขึ้น ทำให้หลายประเทศอาจต้องทบทวนนโยบายการค้าเสียใหม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การเดินหน้าไปสู่การปกป้องอุตสาหกรรมในประเทศ เพื่อคุ้มกันตัวเองในกรณีที่เศรษฐกิจสหรัฐถดถอย ดังนั้น เศรษฐกิจสหรัฐจึงไม่ได้ยิ่งใหญ่อย่างที่หลายคนคิด และเมื่อมันล้มขึ้นมา ทั่วโลกจะพลอยสะเทือนไปด้วย
By IMCTNews
อ้างอิงจาก https://www.cryptopolitan.com/the-us-economy-is-not-doing-as-good/
© Copyright 2020, All Rights Reserved