3/6/2024
เว็บไซต์กรุงเทพธุรกิจ รายงานว่า นายสักกะภพ พันธ์ยานุกูล ผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายตลาดการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า ภาพรวมเศรษฐกิจไทยเดือนเม.ย. หลายเครื่องชี้ทางเศรษฐกิจสะท้อนว่าเศรษฐกิจปรับตัวดีขึ้นจากเดือนก่อนหน้า
หลักๆมาจากภาคบริการทั้งจำนวนนักท่องเที่ยว และรับรับจากนักท่องเที่ยวปรับตัวเพิ่มขึ้น รวมถึงภาคการบริโภคภาคเอกชนและการลงทุนที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นเช่นเดียวกัน เช่นเดียวกับภาคการส่งออกของไทยที่พบว่ากลับมาเป็นบวกในรอบหลายเดือน จากการผลิตภาคอุตสาหกรรมที่ปรับตัวดีขึ้น
เช่นเดียวกัน เงินเฟ้อทั่วไปที่กลับมาบวกจากหมวดอาหารสด และพลังงาน ส่วนเงินเฟ้อพื้นฐานทรงตัว
ทั้งนี้หากมองไปข้างหน้า คาดว่า แรงส่งจากภาคการท่องเที่ยวยังมีอย่างต่อเนื่อง และเป็นแรงส่งสำคัญสำหรับเศรษฐกิจไทย
รวมถึงการบริโภคภาคเอกชน ที่จะเป็นแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยอย่างต่อเนื่อง
แต่อย่างไรก็ตาม ต้องติดตามการเบิกจ่ายของภาครัฐ หลังจากนี้ที่คาดว่าจะทยอยดีขึ้นหลังจากนี้เป็นต้นไป รวมถึงตัวมาตรการต่างๆที่อาจมีมากขึ้นในอนาคต รวมถึงติดตามการฟื้นตัวของการส่งออกและการผลิตที่มีสัญญาณฟื้นตัวที่ดีขึ้น
ดังนั้นคาดว่า ภาพรวมเศรษฐกิจไทยในไตรมาส 2 น่าจะฟื้นตัวดีขึ้นต่อเนื่อง หากเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน สอดคล้องกับคาดการณ์ของคณะกรรมการนโยบายการเงิน หรือ กนง. ก่อนหน้านี้
“หากดูจีดีพีไตรมาสแรก ที่ออกมา 1.5% ถือว่าดีกว่าที่ตลาดคาดไว้ 0.8% และมากกว่าที่ธปท.ประเมินไว้ ดังนั้นถือว่าเป็นจุดตั้งต้นที่ดีกว่าที่เราคาด ส่วนไตรมาส2 ต้องดูพัฒนาการเศรษฐกิจต่อไป แต่เชื่อว่าไตรมาส2จะเป็นจุดเทิร์นนิ่งพ้อยท์ เพราะตัวเลขหลายๆตัวมันเริ่มกลับมาเป็นบวก แต่ก็ต้องติดตามว่าตัวเลขเหล่านี้จะยั่งยืนมากน้อยเพียงใด”
สำหรับเงินเฟ้อในเดือนเม.ย. กลับมาเป็นบวกอยู่ที่ 0.19% จากติดลบต่อเนื่องในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมา โดยเชื่อว่าหลังจากนี้เงินเฟ้อทั่วไปจะทยอยฟื้นตัวเข้าสู่เข้าประมาณการณ์ที่ 0.6% ปีนี้
ส่วนเงินเฟ้อที่เฉลี่ยอยู่ต่ำกว่ากรอบล่างของกรอบเป้าหมายธปท.นั้น ส่วนหนึ่งมาจากปัญหาอุปทาน ทั้งเรื่องของพลังงานที่มีมาตรการคอยช่วยเหลือ อาหารสด ราคาหมูลดลง ดังนั้นเงินเฟ้อทีลดลงในช่วงที่ผ่านมา มาจากอุปทานค่อนข้างมาก และตัวที่ธปท.ติดตามดูคือราคาสินค้าในตะกร้าของธปท.ที่พบว่า ราคาสินค้าโดยรวมยังใกล้เคียงเดิม สะท้อนว่าในแง่ของตัวดีมานด์หรือกำลังซื้อไม่ได้แย่ลง
“อีกด้านที่เห็นคือเงินเฟ้อคาดการณ์ของเอกชน ทั้งจากผู้ผลิตที่ยังอยู่ในระดับที่ใกล้เคียงกับกรอบเป้าหมายของธปท. และคาดว่าเงินเฟ้อทั่วไปจะทยอยปรับสูงขึ้น ดังนั้นถามว่ากังวลหรือไม่ หากตอบว่าไม่กังวลอาจไม่ใช่ แต่ธปท.ก็มีการจับตาใกล้ชิด แต่ปัจจุบันเงินเฟ้อยังอยู่ในกรอบที่ธปท.ประเมินไว้”
สำหรับตัวเลขส่งออกที่กลับมาบวกในรอบหลายเดือนที่ผ่านมาจากที่ติดลบต่อเนื่อง ธปท.จะมีการปรับประมาณการณ์ลงหรือไม่นั้น เชื่อว่าในภาพรวมส่งออกยังเป็นไปตามที่ธปท.ประเมินไว้ เพราะเดิมธปท.ไม่ได้คาดว่าส่งออกจะขยายตัวมากนัก ดังนั้นไม่ได้เซอร์ไพรส์กว่าที่คาด และประมาณการณ์ส่งออกที่ระดับ 2% สำหรับทั้งปี 67 ถือว่า เป็นตัวเลขที่อยู่ระดับกลางๆหรือต่ำ หากเทียบกับที่ตลาดประเมินไว้
IMCT News
ที่มา https://www.bangkokbiznews.com/finance/investment/1129467