ขอบคุณภาพจาก RT
5/7/2024
กลุ่ม BRICS กับกลุ่ม G7 มีความแตกต่างกันในหลายประเด็น ตั้งแต่ที่มา วัตถุประสงค์ และอื่นๆ ซึ่งถ้าเปรียบกลุ่ม G7 เป็นการรวมตัวของกลุ่มประเทศร่ำรวย กลุ่ม BRICS ก็เป็นการรวมตัวของกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา
กลุ่ม BRICS ถือกำเนิดอย่างเป็นทางการในปี 2009 เพราะต้องการถอยห่างจากแนวคิดที่ให้ตะวันตกครอบครองโลก เป็นเหมือนแพลทฟอร์มการรวมตัวของกลุ่มประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ ที่ตั้งเป้าจะปฏิรูปหลายสถาบันระหว่างประเทศ
ส่วนกลุ่ม G7 ที่มาย้อนกลับไปเมื่อช่วงต้นทศวรรษที่ 1970 หลังการล่มสลายของระบบ Bretton Woods System แล้วกลุ่มประเทศเศรษฐกิจชั้นนำของโลกก็หาทางจัดตั้งเป็นกรอบการเงินโลกขึ้นมา แล้วในปี 1975 ก็มีหกประเทศ คือ สหรัฐ ฝรั่งเศส อิตาลี ญี่ปุ่น อังกฤษ และเยอรมนีตะวันตก รวมตัวเพื่อแก้ปัญหาเศรษฐกิจจากหลายเหตุการณ์ เช่น การห้ามส่งออกน้ำมันของโอเปก จากนั้น แคนาดาจึงมาร่วมในภายหลัง เพื่อร่วมหารือผลกระทบจากความเปลี่ยนแปลงทางภูมิรัฐศาสตร์ในยุคสงครามเย็น
ทั้ง BRICS และ G7 ต่างประกอบขึ้นจากประเทศยักษ์ใหญ่สุดและมีเศรษฐกิจใหญ่สุดของโลก แต่ BRICS ดูเหมือนว่า จะแซงหน้าในแง่ของการขยายจำนวนประชากรและเศรษฐกิจ เพราะอินเดียและจีน ต่างเป็นสองชาติที่มีพลเมืองมากสุดในโลกทั้งคู่ BRICS จึงมีจำนวนประชากรรวมกันทั้งหมด 3,500 ล้านคน ส่วนกลุ่ม G7 มีแค่ 776 ล้านคน
ในแง่ของการขยายตัวทางเศรษฐกิจ ตั้งแต่ปี 1990 ถึง 2022 กลุ่ม BRICS มีจีดีพีเติบโตเฉลี่ย 4.5% ส่วน G7 มีจีดีพีเฉลี่ยที่ 1.5%
แต่ถ้าเทียบกันตามมูลค่าจีดีพี กลุ่ม BRICS คาดว่า จะมีมูลค่าจีดีพีทะลุ 30 ล้านล้านดอลลาร์ หรือคิดเป็นประมาณ 29% ของจีดีพีโลก แต่ก็ยังห่างไกลจากกลุ่ม G7 ที่มูลค่าจีดีพีรวมกันสูงถึง 45.9 ล้านล้านดอลลาร์ คิดเป็น 43% ของโลก และถ้ามาดูรายได้ต่อหัวต่อปี กลุ่ม BRICS ก็ยังตามหลังกลุ่ม G7 อยู่มาก
และถ้าวัดกันในประเด็นมุมมองและทัศนคติ เราก็จะเห็นว่า กลุ่ม BRICS รวมตัวกันระหว่างกลุ่มประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ ตั้งเป้าเพื่อส่งเสริมให้ประเทศเหล่านี้เป็นปากเป็นเสียงให้กับกลุ่มประเทศซีกโลกใต้ ในระบบโลกหลายขั้วอำนาจ และต้องการถอยห่างจากกฎเกณฑ์ที่ตะวันตกสร้างขึ้นมา
ในขณะที่กลุ่ม G7 ส่วนใหญ่ประกอบขึ้นจากประเทศที่เต็มไปด้วยคนขาว นำโดยสหรัฐ และประเด็นที่พวกเขาหารือกันก็ครอบคลุมไปทั่ว ทั้งความมั่นคงทางเศรษฐกิจ เสถียรภาพของบ้านเมือง และการพัฒนาอย่างยั่งยืน แต่ทั้งหมดต้องอยู่บนหลักการของประชาธิปไตย และเศรษฐกิจแบบให้ตลาดชี้นำ ซึ่งถ้านำเอาดัชนีประชาธิปไตยมาชี้วัด จะเห็นว่า ไม่มีชาติใดในกลุ่ม BRICS ที่มีดัชนีตรงส่วนนี้ เข้าใกล้กลุ่ม G7 ได้เลย โดยกลุ่ม G7 มีดัชนีประชาธิปไตยเฉลี่ยอยู่ที่ 0.77 แต่ของกลุ่ม BRICS ตัวเลขนี้อยู่แค่ 0.31 ซึ่งถ้าตัวเลขเข้าใกล้ 1 มากเท่าไหร่ ก็แสดงว่า มีความเป็นประชาธิปไตยเข้มข้นมากเท่านั้น
กลุ่ม G7 ยังตั้งขึ้นมาเพื่อจัดระเบียบโลกในหลายภาคส่วน ทั้งการรับมือกลุ่มก่อการร้าย ปัญหาความไม่มั่นคงทางเศรษฐกิจ แนวคิดยับยั้งการแพร่ขยายอาวุธทำลายล้างสูง สวนทางกับกลุ่ม BRICS ที่ต้องการแค่เป็นปากเป็นเสียงให้กลุ่มซีกโลกใต้ และรังสรรค์โลกหลายขั้วอำนาจ ท้าทายระบบเดิมของพวกตะวันตก
BRICS พยายามที่จะเปลี่ยนกฎเกณฑ์ทางเศรษฐกิจโลกเสียใหม่ องค์กรทางเศรษฐกิจ ทั้งกองทุนการเงินระหว่างประเทศ หรือ ไอเอ็มเอฟ และธนาคารโลก ล้วนอยู่ภายใต้การนำของสหรัฐ โดยเฉพาะไอเอ็มเอฟ ที่ BRICS มีเสียงโหวตแค่ 15% เท่านั้น องค์กรการเงินเหล่านั้น จึงไม่ตอบโจทย์ของพวกเขา เป็นแค่องค์กรที่ตะวันตกเอาไว้บังหน้า ในการเข้ามาแทรกแซงกิจการภายในของประเทศอื่น และตอนนี้ สิ่งที่ BRICS เป็นห่วงที่สุดคือ อิทธิพลของดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งสหรัฐใช้เป็นอาวุธในการเข้าไปคว่ำบาตรทางการทูต ด้วยเหตุนี้ จึงมีกลุ่มประเทศในซีกโลกใต้ถึง 40 ชาติ ที่สนใจจะเข้าร่วมกลุ่ม BRICS และมี 23 ประเทศในนั้น ที่ร้องขอเป็นสมาชิกอย่างเป็นทางการแล้ว
BRICS ยังจัดตั้ง New Development Bank หรือ NDB ขึ้นมา โดยใช้เงินทุน 50,000 ล้านดอลลาร์ หรือประมาณ 1.85 ล้านล้านบาท ที่รวบรวมมาจากสมาชิก NDB จะเสนอช่องทางเงินกู้ให้แก่กลุ่มประเทศกำลังพัฒนาทางเศรษฐกิจ เพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืนและโครงการระบบโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ถึงไม่ใช่สมาชิก BRICS ก็เข้าถึงแหล่งเงินกู้นี้ได้ เพราะหลายประเทศกำลังพัฒนาและกลุ่มเศรษฐกิจเกิดใหม่ ล้วนผิดหวังกับโครงสร้างการให้เงินกู้ของไอเอ็มเอฟ ที่พ่วงมาด้วยมาตรการรัดเข็มขัดต่างๆ BRICS ยังพัฒนากลไกลสภาพคล่อง ภายใต้ชื่อ Contingent Reserve Arrangement หรือ CRA เพื่อช่วยเหลือชาติสมาชิกที่เผชิญความยุ่งยากทางการเงิน
นับจากหลังสงครามโลกครั้งที่ 1 เป็นต้นมา ดอลลาร์ก็ได้วางตัวเองเป็นสกุลเงินสากลของโลกในด้านการค้า สิ่งนี้ ไม่เพียงแต่ทำให้สหรัฐก้าวขึ้นมาเป็นมหาอำนาจโลก แต่ยังแผ่อิทธิพลไปทั่วอีกด้วย จึงมีเสียงเรียกร้องในกลุ่ม BRICS ให้ถอยห่างจากดอลลาร์ แล้วสร้างสกุลเงินของตัวเองขึ้นมาในกลุ่ม แม้กระทั่งอินเดีย และบังกลาเทศ ก็เริ่มใช้เงินหยวน ในการซื้อน้ำมันจากรัสเซียแล้ว ในขณะที่บราซิลและจีน ก็ประกาศแผนจะใช้เงินหยวนซื้อขายระหว่างกัน BRICS กำลังพัฒนาระบบจ่ายเงิน “ BRICS pay “ เพื่อใช้ซื้อขายระหว่างชาติสมาชิก โดยไม่จำเป็นต้องเปลี่ยนสกุลเงินตัวเองให้เป็นดอลลาร์
แต่หนทางของ BRICS ก็ใช่ว่าจะราบรื่น เพราะมีบางประเทศสมาชิกที่ยังขัดแย้งกันอยู่ เช่น จีนกับอินเดีย ที่ยังขัดแย้งกันเรื่องพรมแดน หรืออย่างธนาคาร NDB ที่ตั้งขึ้นมา 8 ปีแล้ว แต่จนบัดนี้ ธนาคารก็ยังต้องพึ่งพาการใช้ดอลลาร์สหรัฐอย่างหนัก และเผชิญความท้าทายในการจัดตั้งสกุลเงินร่วม BRICS อีกทั้งดอลลาร์สหรัฐ ก็ยังคงครองสัดส่วนทุนสำรองต่างประเทศของธนาคารกลางต่างๆ มากถึง 59%
นอกจากนี้ กลุ่มตะวันตกก็ยังพยายามชักชวนให้อินเดียมาเป็นพวกเดียวกัน อย่างการประชุมสุดยอดผู้นำกลุ่ม G7 ผู้นำเยอรมนี ก็ได้เชิญผู้นำอินเดียและผู้นำแอฟริกาใต้มาเป็นแขกร่วมด้วย ก่อให้เกิดความวิตกจากจีนและรัสเซีย ว่า อินเดียกับแอฟริกาใต้อาจถูกกลุ่ม G7 ดึงไปได้ การที่ชาติสมาชิก BRICS ยังเห็นไม่ตรงกันเรื่องการขยายกลุ่ม ก็เป็นหลักฐานชัดเจนว่า มีความขัดแย้งในกลุ่ม BRICS โดยบราซิลและอินเดีย ยังไม่อยากให้ขยายชาติสมาชิกตอนนี้
ส่วนประเทศที่เพิ่งเข้าเป็นสมาชิกใหม่ของ BRICS ก็ล้วนแต่มีจุดยืนของตนเอง และบางครั้งก็ไปกันไม่ได้กับจุดยืนที่สมาชิกเก่ามีอยู่ บางประเทศก็ไม่ได้มีที่ตั้งอยู่ในกลุ่มซีกโลกใต้ และบางประเทศ ก็ไม่ได้จัดอยู่ในกลุ่มเศรษฐกิจเกิดใหม่ตามการตีความ นับจากเข้าสู่ยุคศตวรรษที่ 21
กล่าวโดยสรุปก็คือ ในขณะที่กลุ่ม G7 ยังคงมีอิทธิพลอย่างหาใครเทียบไม่ได้ ในแง่ของการเงินและการเมืองโลก แต่กลุ่ม BRICS ก็พยายามเสนอตัวเป็นทางเลือก ที่มุ่งเน้นการรวมกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาเข้าด้วยกัน และการสร้างระเบียบโลกแบบหลายขั้วอำนาจ แม้จะมีความขัดแย้งภายในกลุ่มเกิดขึ้นบ้าง แต่ BRICS ก็มีความคืบหน้าอย่างมีนัยยะสำคัญ ในการจัดตั้งสถาบันการเงินแบบทางเลือกและส่งเสริมความร่วมมือกันในแถบซีกโลกใต้ ซึ่งการที่ BRICS จะท้าทายกลุ่ม G7 ได้สำเร็จนั้น นั่นหมายความว่า BRICS ต้องแก้ปัญหาความขัดแย้งภายในและความไม่ลงรอยกันของชาติสมาชิกให้ได้ก่อน เพื่อจะนำมาซึ่งความเปลี่ยนแปลงในเชิงบวก และเป็นประโยชน์กับทุกประเทศอย่างเท่าเทียม
By IMCTNews