.

หัวใครจะหลุดจากบ่าก่อนเพื่อสังเวยนโยบายภาษีทรัมป์ที่ผิดพลาด
14-4-2025
ไม่รู้เหมือนกันว่าทีมงานครม. หรือที่ปรึกษาทางเศรษฐกิจของทรัมป์คนใดบ้างที่หัวจะหลุดออกจากบ่าจากความเสียหายในการแนะนำโดนัลด์ ทรัมป์ในเรื่องกำแพงภาษีที่สร้างความเสียหายให้กับความน่าเชื่อถือของทรัมป์และสหรัฐอเมริกาอย่างให้อภัยไม่ได้
ทรัมป์ต้องยอมถอยการต้ังกำแพงภาษีที่ไม่สมเหตุสมผล โดยเฉพาะอย่างยิ่งให้กับจีน และประเทศคู่ค้าที่สำคัญที่ซับไพลสินค้าที่สำคัญ ไม่ว่าจะเป็นสมาร์ทโฟน คอมพิวเตอร์ และอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์อื่นๆให้กับบริษัทอเมริกา ตลาดบอนด์ที่ยิลด์พุ่ง ตลาดหุ้นที่ร่วงหนัก ค่าเงินดอลล่าร์ที่ตก และเศรษฐกิจที่กำลังถดถอยส่งสัญญานโดยตรงให้ทรัมป์ว่าถ้าหากยังคงฝืนเดินหน้ากับนโยบายล้มโต๊ะระบบการค้าโลกแบบนี้ อเมริกาจะล้มก่อนจีน หรือก่อนประเทศคู่ค้า เพราะสหรัฐมีหนี้มากเกินไป และพึ่งพาการนำเข้าอย่างมาก
มาดูทีมงานของทรัมป์ว่ามีใครบ้างที่แนะนำให้ทรัมป์ออกมาตรการภาษีที่รุนแรงจนมีผลบูมเมอแรงย้อนกลับมาทำร้ายตัวประธานาธิบดีเอง รวมท้ังความน่าเชื่อถือของสหรัฐในเวทีการเมืองโลก
คนแรกที่ปัดความรับผิดชอบไม่ได้กับนโยบายภาษีที่ล้มครืนอย่างไม่เป็นท่าคือปีเตอร์ นาวาร์โร ที่ปรึกษาอาวุโสด้านการค้าและการผลิตในรัฐบาลทรัมป์ เขาเป็นผู้สนับสนุนภาษีสูงอย่างเด่นชัด โดยเน้นนโยบายปกป้องเพื่อส่งเสริมภาคการผลิตในสหรัฐฯ และลดการขาดดุลการค้า เขามีจุดยืนที่แข็งกร้าวในการคงภาษีสูงอย่างไม่มีกำหนด เขาปฏิเสธต่อสาธารณะว่าภาษีเป็นเพียงเครื่องมือเจรจา โดยมองว่าเป็นการตอบสนองต่อ “ภาวะฉุกเฉินแห่งชาติ” เพื่อปกป้องอุตสาหกรรมสหรัฐฯ
อิทธิพลของเขาสอดคล้องกับการเพิ่มภาษีอย่างรวดเร็วของทรัมป์ เช่น ภาษี 25% สำหรับแคนาดาและเม็กซิโก และสูงถึง 125% สำหรับจีน อีลอน มัสก์ไม่เห็นด้วยกับนโยบายภาษีที่เพิ่มอย่างรวดเร็วในอัตราที่สูง เพราะว่ามันจะส่งผลกระทบต่อสหรัฐอย่างรุนแรงด้วย เขาแสดงความเหยียดหยามในนาวาร์โร โดยบอกว่านาวาร์โรมีสมองเหมือนกระสอบอิฐ
สตีเฟน มิราน ประธานคณะที่ปรึกษาเศรษฐกิจของรัฐบาลทรัมป์ เขาเป็นอาจารย์จากมหาวิทยาลัยฮาวาร์ด และเป็นผู้เขียนบทความในเดือนพฤศจิกายน 2567ปีที่แล้ว ชื่อว่า “คู่มือผู้ใช้สำหรับการปรับโครงสร้างระบบการค้าโลก” แต่บทความเขารู้จักกันดีว่าเป็น “ข้อตกลงมาร์-อะ-ลาโก” ซึ่งใช้ชื่อรีสอร์ทหรูของทรัมป์ที่รัฐฟลอริด้า เพื่อให้ทรัมป์ดูเท่ห์ มิรานต้องการแก้ไขปัญหาการขาดดุลการค้าที่มโหฬารของสหรัฐ และฟื้นฟูภาคการผลิตอุตสาหกรรมในประเทศ เขาเสนอให้ใช้ภาษีศุลกากรในปรับโครงสร้างการค้าที่กว้างขึ้น อย่างไรก็ตาม แต่ให้เพิ่มภาษีแบบค่อยเป็นค่อยไป (เช่น เริ่มต้นที่ 2% และเพิ่มขึ้นทีละน้อย) เพื่อลดผลกระทบทางเศรษฐกิจ และเปิดทางให้ธุรกิจสามารถปรับตัวได้ ส่วนประเทศที่เกินดุลการค้ากับสหรัฐมากก็ให้ปรับอัตราแลกเปลี่ยนให้สูงขึ้น เพื่อทำให้ดอลล่าร์อ่อนค่า เหมือนกับข้อตกลงพลาซ่าในปี 1985 ที่สหรัฐบีบให้ญี่ปุ่นปรับขึ้นอัตราแลกเปลี่ยนของเงินเยนเพื่อให้สินค้าญี่ปุ่นขายยากขึ้นในตลาดอเมริกา และในขณะเดียวกันให้สินค้าสหรัฐมีความสามารถในการแข่งขันมากขึ้น เพราะว่าดอลล่าร์มีค่าอ่อนลง ในขณะเดียวกันสหรัฐต้องหาทางปรับโครงสร้างหนี้กับเจ้าหนี้
ปรากฎว่าข้อเสนอของมิรานถูกมองข้าม ในวันที่2เมษายนทรัมป์ปรับภาษีขึ้นด้วยอัตราพื้นฐานที่ 10% และระหว่าง11%-50%สำหรับประเทศที่เกินดุลการค้ากับสหรัฐมาก แต่สำหรับจีน ทรัมป์ปรับอัตราภาษีแบบไม่ต้องเผาผีกันก่อนที่จะตอบโต้ภาษีกับจีนไปมาจนถึงระดับ145% ส่วนจีนหยุดกำแพงภาษีที่เก็บกับสหรัฐที่ 125% แทนที่ทรัมป์จะค่อยๆปรับอัตราภาษีทีละ2%ไปเรื่อยๆ โดยเว้นระยะเวลานานหน่อยให้เศรษฐกิจปรับตัวได้ ทรัมป์ทำให้ตลาดช็อค ระบบการค้าโลกปั่นป่วน และสร้างความเสียหายให้กับความน่าเชื่อถือของสหรัฐ ที่ถูกมองว่าเอาแต่ผลประโยชน์ของตัวเอง โดยไม่สนใจคู่ค้าด้วยกันว่าจะอยู่กันอย่างไร
เรื่องภาษีนี้มิรานไม่น่าที่จะต้องรับผิดชอบอะไรจากความเสียหาย หลังจากทรัมป์จำใจต้องชักเข้าชักออก ท้ังยกเว้น และลดอัตราภาษีลงเพื่อคลายความกังวลใจของตลาด และธุรกิจภายในประเทศ
เควิน ฮัสเซตต์ ผู้อำนวยการสภาเศรษฐกิจแห่งชาติ ออกมาปกป้องภาษีของทรัมป์ต่อสาธารณะ โดยโต้แย้งว่ามันจะบังคับให้คู่ค้าเจรจาลดการเกินดุลกับสหรัฐ เขาอ้างว่ามีมากกว่า 50 ประเทศติดต่อเพื่อเจรจาหลังการประกาศภาษี โดยมองว่านโยบายนี้เป็นเครื่องมือสร้างอำนาจการต่อรองให้สหรัฐ แม้ว่าเขาจะไม่มีมุมมองที่กร้าวร้าวเหมือนนาวาร์โรก็ตาม ฮัสเซตต์มองว่าภาษีจะช่วยสหรัฐ “รีเซ็ต” ความสัมพันธ์ทางการค้ากับประเทศคู่ค้า แต่เขาไม่เห็นด้วยกับการปรับภาษีที่รุนแรง125%สำหรับจีน
ฮาวาร์ด ลัทนิก รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ มีส่วนร่วมในการหารือเรื่องภาษี โดยเฉพาะการส่งสัญญาณถึงผลที่ตามมาจากการตอบโต้ของคู่ค้า เช่น แคนาดาและจีน เขาสนับสนุนเจตนาของนโยบายในการปกป้องผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯ แต่เน้นการจัดการผลกระทบมากกว่าการออกแบบอัตราภาษี บทบาทของเขาดูเหมือนเป็นการปฏิบัติการมากกว่าการให้คำแนะนำเกี่ยวกับการปรับขึ้นภาษีเอง
เจมส์สัน เกรียร์ ผู้แทนการค้าสหรัฐฯ รับผิดชอบในการดำเนินการตามวาระการค้าของทรัมป์ รวมถึงภาษี แต่ถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าทำงานไม่สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงนโยบายอย่างกะทันหันของทรัมป์ (เช่น การหยุดภาษี 90 วัน) บทบาทของเขามุ่งเน้นที่การดำเนินการมากกว่าการให้คำแนะนำเกี่ยวกับโครงสร้างหรือจังหวะของการปรับขึ้นภาษี เขามีบทบาทค่อนข้างจำกัด
คนสุดท้ายที่ต้องกล่าวถึงคือสก็อตต์ เบสเซนต์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เขาสนับสนุนวาระภาษีของทรัมป์อย่างเปิดเผย โดยมองว่าเป็นเครื่องมือในการปรับสมดุลการค้าระดับโลกและปกป้องแรงงานอเมริกัน เขาอธิบายว่าภาษีเป็นวิธีการจัดการกับการปฏิบัติทางการค้าที่ไม่เป็นธรรม เช่น การอุดหนุนของรัฐบาลจีนให้ผู้ส่งออก และนโยบายของรัฐบาลจีนที่บริหารเงินหยวนให้อ่อนค่าเกินไปเมื่อเทียบกับดอลล่าร์เพื่อรักษาความสามารถในการแข่งขัน เขาเชื่อว่าภาษีศุลกากรจะช่วยสร้างรายได้เพื่อชดเชยภาษี เช่น การยกเว้นภาษีจากทิป หรือภาษีนิติบุคคล เบสเซนต์ปกป้องนโยบายภาษีของทรัมป์ว่าเป็น “การเปลี่ยนแปลง (transformation)” สำหรับเศรษฐกิจสหรัฐฯ โดยเน้นการเติบโตในระยะยาวมากกว่าความผันผวนของตลาดในระยะสั้น เขาโต้แย้งว่าระบบก่อนภาษีก่อนหน้าทรัมป์ให้ความสำคัญกับสินค้านำเข้าราคาถูกมากกว่าความเจริญรุ่งเรืองของอเมริกา
เบสเซนต์เชื่อว่า จีนมีเศรษฐกิจที่เปราะบาง เพราะฉะนั้นจะได้รับผลกระทบจากมาตรการภาษีของทรัมป์ วึ่งจะทำให้สี จิ้นผิงต้องหาทางเจรจากับทรัมป์เพื่อขจัดการค้าที่เขากล่าวหาว่าไม่เป็นธรรม และจะนำไปสู่การลดการขาดดุลการค้าของสหรัฐ และการฟื้นฟูภาคอุตสาหกรรมการผลิตในสหรัฐ อย่างไรก็ตาม เบสเซนจ์อาจจะไม่ใช่ผู้ผลักดันหลักในเรื่องขนาดหรือจังหวะเวลาของการขึ้นภาษี เขาสนับสนุนแนวทางที่ระมัดระวังมากกว่า โดยเน้นว่าภาษีเป็นเครื่องมือในการเจรจามากกว่าสิ่งถาวร เขาพยายามลดความตื่นตระหนกในตลาดและรักษาข้อตกลงทางการค้า
ก็แล้วแต่ทรัมป์ว่าจะลงดาบกับทีมงานคนไหนที่แนะนำเขาพลาดในเรื่องขนาด และจังหวะเวลาของการขึ้นภาษี ซึ่งมีผลทำให้ตลาดบอนด์พัง หุ้นตก ดอลล่าร์ถูกเทขาย และสร้างความวิตกมากขึ้นกับผลกระทบของภาษีต่อภาวะเศรษฐกิจถดถอยของสหรัฐ การชักเข้าชักออกมาตรการภาษีทำให้ความน่าเชื่อถือของทรัมป์ และของสหรัฐเสื่อมลงจนไม่รู้ว่าจะกู้กลับคืนมาอย่างไร ในขณะเดียวกันไม่สามารถทำอะไรจีนได้ตามที่คาดหวัง เพราะมองว่าจีนเป็นคู่แข่งที่ต้องถูกกำจัด
By Thanong Khanthong
14/4/2025