.

เผยแนวทางเจรจาการค้าไทย-สหรัฐเพื่อแก้ไขปัญหาภาษีทรัมป์
12-4-2025
นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยภายหลังการประชุม แนวทางการดำเนินการของไทยต่อกรณีนโยบายการค้าของสหรัฐอเมริกาว่า แนวทางการหารือกับสหรัฐ เน้นการสร้างความร่วมมือที่เป็นประโยชน์ร่วมกัน (win-win solution) และแก้ไขปัญหาทางการขาดดุลการค้ากับสหรัฐ โดยรัฐบาลพร้อมทำงานร่วมกับภาคเอกชนในการหาแนวทางร่วมกัน
"โดยภายในเดือน เม.ย.นี้ ตนพร้อมทีมเจรจาจะมีกำหนดการเดินทางไปสหรัฐ และรอจังหวะโอกาสที่จะได้เข้าพบบุคคลสำคัญที่ใกล้ชิดกับประธานาธิบดีทรัมป์ เพื่อพูดคุยถึงหลักการและข้อเสนอตามที่ท่านนายกรัฐมนตรีได้สื่อสารกับทางสหรัฐแล้วว่า ไทยยินดีเป็นหุ้นส่วนและพันธมิตรทางเศรษฐกิจกับสหรัฐ โดยเน้นผลประโยชน์ร่วมกัน แล้วหลังจากนั้นจะเป็นทีมปฏิบัติการที่หารือกับผู้แทนการค้าสหรัฐ (USTR) ในรายละเอียดต่อไป"
ทั้งนี้ อีกหนึ่งประเด็นสำคัญที่เป็นข้อห่วงกังวลจากสหรัฐ เรื่องการสวมสิทธิ์ส่งออกสินค้าจากไทย โดยใช้ไทยเป็นทางผ่านเพื่อเลี่ยงภาษี ซึ่งรัฐบาลจะต้องมีการตรวจสอบคุณภาพและมาตรฐานของสินค้าอย่างเข้มงวดมากขึ้น
ขณะเดียวกัน สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) จะต้องมีการปรับยุทธศาสตร์การให้สิทธิประโยชน์เพื่อดึงดูดการลงทุนใหม่ ตามสถานการณ์โลกที่เปลี่ยนแปลงจากโลกาภิวัตน์เป็นโลกแบ่งขั้ว และการกีดกันทางการค้า ซึ่งทำให้เกิดเทรนด์การย้ายฐานผลิต
"ต่อไปนี้การให้สิทธิประโยชน์การลงทุนจะต้องกำหนดให้รัดกุมมากขึ้น อาทิ ค่ายรถยนต์ที่เข้ามาตั้งโรงงานในไทย จะต้องมีส่วนของ local content เพิ่มขึ้น และผู้ผลิตเองจะต้องหาตลาดส่งออกใหม่ที่ไม่ใช่สหรัฐด้วย”
สำหรับแนวทางการเจรจาจะยังคงเดินหน้า 5 แนวทาง ได้แก่
1.การนำเข้าสินค้าจากสหรัฐเพิ่มขึ้นเพื่อให้เกิดสมดุลการค้าระหว่างสองประเทศ โดยเฉพาะสินค้าเกษตรที่เป็นวัตถุดิบเพื่อการแปรรูปและส่งออกอาหารสัตว์ เช่น ข้าวโพด ถั่วเหลือง โดยมีเป้าหมายที่จะเพิ่มส่วนแบ่งทางการตลาดอาหารสัตว์เลี้ยงในตลาดโลกจาก 3% เป็น 6% ภายใน 5-7 ปี หรือขยายตัวราว 12% ต่อปี ทั้งนี้ รัฐบาลจะสนับสนุนการนำเข้าข้าวโพดจากสหรัฐ เพื่อใช้ในการผลิตอาหารสัตว์ โดยจะจัดสรรการนำเข้าอย่างเป็นธรรมและไม่กระทบต่อเกษตรกรในประเทศ นอกจากนี้ รัฐบาลพิจารณานำเข้าก๊าซธรรมชาติจากสหรัฐเพิ่มเติม เนื่องจากประเทศไทยมีความต้องการใช้ก๊าซธรรมชาติในปริมาณมาก แต่ผลิตได้เองไม่เพียงพอ ซึ่งจะต้องมีต้นทุนที่แข่งขันได้ โดยอาจพิจารณาร่วมทุนในแหล่งผลิตก๊าซธรรมชาติในสหรัฐ เพื่อให้ได้ราคาที่เป็นธรรมและลดต้นทุนการขนส่ง
2.ลดหรือยกเว้นภาษีให้สินค้าสหรัฐ ให้เท่าเทียมกับที่นำเข้าจากประเทศอื่นๆ
3.การป้องกันการสวมสิทธิ์ของสินค้าที่นำเข้ามาและใช้ไทยเป็นทางผ่าน เพื่อเลี่ยงภาษีนำเข้าสหรัฐ โดยจะต้องมีความเข้มงวดในการตรวจสอบคุณภาพมาตรฐานสินค้า และการออกใบรับรองแหล่งกำเนิดสินค้า
4.การแก้อุปสรรคต่อการค้าที่ไม่ใช่ภาษี (Non-Tariff Barriers) รวมทั้งอำนวยความสะดวกให้มีความรวดเร็วและเป็นธรรม
5.การพิจารณาลงทุนเพิ่มเติมในสหรัฐโดยเอกชนที่มีศักยภาพ เช่น การลงทุนแหล่งก๊าซธรรมชาติ
ที่มา bangkokbiznews.com