สี จิ้นผิงกับโดนัลด์ ทรัมป์ - ใครจะกระพริบตาก่อน?

สี จิ้นผิงกับโดนัลด์ ทรัมป์ - ใครจะกระพริบตาก่อน?
9-4-2025
ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ อ้างว่าหลายสิบประเทศกำลังเร่งรีบเพื่อเจรจาข้อตกลงทางการค้ากับสหรัฐอเมริกา หลังจากที่เขาได้กำหนดภาษีใหม่ที่ครอบคลุม โดยคุยโวว่าผู้นำต่างชาติกำลังขอร้องเขาให้ได้รับการยกเว้นเพื่อหลีกเลี่ยงผลกระทบเต็มรูปแบบของภาษี
ในการพูดที่งานเลี้ยงอาหารค่ำของคณะกรรมการสภาคองเกรสแห่งชาติรีพับลิกัน (NRCC) เมื่อคืนวันอังคาร ทรัมป์กล่าวว่ารัฐบาลของเขากำลัง "ทำได้ดีมาก" ในการเจรจาเบื้องต้นกับประเทศที่ได้รับผลกระทบจากภาษีพื้นฐาน 10% เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว แต่โดยภาพรวม ทรัมป์เรียกเก็บระหว่าง30%-50% ซึ่งจะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันพุธ "ผมบอกคุณได้เลย ประเทศเหล่านี้โทรหาเรา ประจบประแจงผม" ทรัมป์กล่าว "พวกเขาอยากทำข้อตกลงมาก: 'ได้โปรด ได้โปรดครับท่าน ทำข้อตกลงเถอะ ผมจะทำอะไรก็ได้ ผมจะทำอะไรก็ได้ครับท่าน'"
พูดภาษาชาวบ้าน ทรัมป์คุยโม้ว่าผู้นำของประเทศต่างๆทั่วโลกกำลังรอเข้าคิวที่ทำเนียบขาวเพื่อที่จะkiss ass หรือเลียก้นเขา เพื่อว่าจะได้ไม่โดนกำแพงภาษีที่อาจทำลายเศรษฐกิจของพวกเขาให้พังพินาศ
เจ้าหน้าที่สหรัฐได้ระบุก่อนหน้านี้ว่าเกือบ 70 ประเทศได้ขอเจรจาเพื่อลดผลกระทบจากภาษี ในขณะที่ทรัมป์ผลักดันข้อตกลงที่ปรับแต่งเฉพาะกับแต่ละประเทศ "ผมเรียกมันว่าข้อตกลงที่ออกแบบมา ไม่ใช่แบบสำเร็จรูป" เขากล่าวก่อนหน้านี้ในวันอังคารที่งานลงนามคำสั่งบริหารที่ทำเนียบขาว
ทรัมป์ไม่ต้องการตั้งวงคุยเจรจาในรูปแบบพหุภาคี เพราะว่ามันเสียเวลาที่ต้องนั่งฟังแต่ละคนพูดรอบวง เขาต้องการคุยตัวต่อตัวกับผู้นำประเทศมากกว่า จะได้ไล่บี้ได้สะดวก โดยถือว่าสหรัฐเป็นเจ้ามือเศรษฐกิจโลก ในปีหนึ่งๆสหรัฐมีการนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศมูลค่ากว่า$4ล้านล้านด้วยการใช้ดอลล่าร์กระดาษซื้อ หลังจากที่โยนระเบิดนิวเคลียร์เข้าไปในระบบการค้าโลกด้วยกำแพงภาษีอัตรามหาโหด ประเทศต่างๆต่างต้ังตัวไม่ติด และรวมตัวกันไม่ติดอีกด้วย ผู้นำแต่ละคนต่างพยายามดิ้นหาทางรอด ด้วยการหาทางเข้าคุยกับทรัมป์เป็นการส่วนตัวเพื่อขอยกเว้นภาษี ซึ่งจะเข้าทางteenของทรัมป์พอดี
หันมาดูทางผู้นำไทยคุณอิ๊ง ขอแนะนำว่าอยู่เฉยๆแล้วดูท่าทีไปก่อน ไม่ต้องไปรีบร้อนเจรจากับทรัมป์ เพราะจะเสียเกียรติ เราเป็นประเทศที่มีศักดิ์ศรี มีอารยะธรรมที่เจริญรุ่งเรื่องที่ต่อเนื่องยาวนาน มีทรัพยากรธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์ แม้ว่าจะปิดประเทศ ประชาชนก็สามารถกินดีอยู่ดีได้ ถ้ามีการจัดสรรทรัพยากรอย่างเป็นธรรม เราไม่จำเป็นต้องง้อตลาดสหรัฐถึงขนาดต้องไปจูบตูดทรัมป์ มันจะเป็นการสมควรหรือคุ้มหรือเปล่า แม้ว่าผลกระทบของการลดรายได้จากการส่งออกจะรุนแรง แต่มันเป็นความจริงที่เราต้องยอมรับ เพราะว่าทรัมป์ต้องการแก้ปัญหาการขาดดุลการค้า และต้องการสนับสนุนบริษัทต่างๆให้ย้ายโรงงานและบานผลิตกลับเข้าสหรัฐเพื่อที่จะได้ไม่เจอกับกำแพงภาษี
ต้องเข้าใจว่า ทรัมป์ล้มโต๊ะระบบการค้าโลกแล้ว ทุกอย่างไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป การคาดหวังว่าไปคุยกับทรัมป์แล้ว ทุกอย่างจะกลับไปเหมือนเดิมให้ลืมเสียเถอะ อีกประการหนึ่ง ไทยได้เปรียบดุลการค้าสหรัฐ$45,000กว่าล้าน ซึ่งเป็นตัวเลขที่สูงมาก หรือสูงกว่าที่ควรจะเป็น ดังนั้นการที่ทรัมป์ต้องการให้เราลดการเดินดุลก็เป็นสิทธิ์อันชอบธรรมที่เขาจะเรียกร้อง เพื่อแก้ปัญหาการขาดดุลที่เรื้อรัง ซึ่งถ้าปล่อยให้ปัญหาลุกลามต่อไป หนี้ที่พอกพูนจะทำให้สหรัฐออกพันธบัตรรัฐบาลไม่ได้ และจะมีผลกระทบความเชื่อมั่นในดอลล่าร์ในที่สุด อีกประการหนึ่ง รายได้จากการส่งออกของไทยส่วนใหญ่มาจากผู้ส่งออกที่เป็นบริษัทต่างชาติที่ใช้ไทยเป็นฐานในการผลิต หรือประกอบสินค้าสำเร็จรูป รายได้จากการส่งออกนั้นจึงไม่ได้เข้ากระเป๋าประเทศไทยอย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย ยกเว้นเรื่องการจ่ายภาษี และการจ้างแรงงานไทย
มันจึงเป็นความจำเป็นที่นายกอิ๊งและทีมที่ปรึกษาต้องหารือกันให้รอบคอบก่อนถึงผลได้ผลเสียของการเจรจากับทรัมป์ ว่าเราจะยอมได้แค่ไหน โดยดูผลประโยชน์ส่วนรวมของชาติเป็นตัวตั้ง ไม่ใช่ดูผลประโยชน์ของผู้ส่งออกอย่างเดียวเหมือนอย่างในช่วงที่ผ่านมา โมเดลการส่งเสริมให้บริษัทต่างชาติใช้ไทยเป็นฐานผลิตเพื่อการส่งออก โดยเฉพาะอย่างยิ่งส่งออกไปอเมริกาไม่น่าจะใช้ได้อีกต่อไป เมื่อรายได้จากการส่งออกหดตัวลง ไทยต้องหาทางฟื้นฟูเศรษฐกิจไทยผ่านการลงทุนแทน การลงทุนในเมกะโปรเจคส์จะเป็นทางออกที่เร็วที่สุด ไม่ว่าจะเป็นโครงการรถไฟไทย-จีน หรือโครงการคลองไทยที่เชื่อมโยงระหว่างทะเลอันดามัน กับอ่าวไทย การตีกรรเชียงออกจากการพึ่งพาตลาดสหรัฐจึงเป็นเรื่องที่ควรจะทำ เพราะว่ามันเป็นเรื่องที่เลี่ยงไม่ได้อีกแล้ว
นอกจากเรื่องของไทยแล้ว ประเด็นที่ใหญ่กว่าคือสี จิ้นผิง ผู้นำของจีนจะวางท่าทีกับทรัมป์ต่อไปอย่างไร หลังจากที่ทรัมป์เกทับอัตราภาษี34%ของจีนที่ตอบโต้ภาษีทรัมป์54% ด้วยอัตราใหม่104% จะบลัฟฟ์กันไปบลัฟฟ์กันมาจนกว่าจะเจ๊งกันทั้งสองฝ่าย หรือจะประนีประนอม หรือว่าคอยดูไปก่อน
ความจริงแล้ว ภาษีทรัมป์ที่เก็บกับ180ประเทศและดินแดนในโลก มุ่งเป้าไปที่จีนประเทศเดียว เพราะว่าจีนมีศักยภาพที่จะแซงหน้าสหรัฐกลายเป็นเศรษฐกิจอันดับหนึ่งของโลก และจะสามารถล้มกระดานดอลล่าร์ในฐานะเงินสกุลหลักของโลกได้อีกด้วย เพราะจีนมีความพร้อมทั้งในเรื่องขนาดของตลาด ทรัพยากรมนุษย์เศรษฐกิจ การเงิน และเทคโนโลยี รวมท้ังมีพันธมิตรจากซีกโลกใต้ (Global South) ที่พร้อมที่จะสร้างระเบียบเศรษฐกิจโลกใหม่ที่ปลอดจากอิทธิพลของตะวันตก
ทรัมป์ยอมรับว่า ถ้าหากสหรัฐสูญเสียดอลล่าร์ในฐานะเงินสกุลหลักของโลก ความเป็นมหาอำนาจโลกของสหรัฐจะสูญเสียไป ซึ่งเป็นสิ่งที่ยอมรับกันไม่ได้ ด้วยเหตุนี้จึงต้องทำทุกอย่างเพื่อสกัดจีน แม้ว่าต้องไปไกลถึงขนาดใช้กำลังรบก็ตาม
สถานการณ์ในปัจจุบันนี้ที่ทรัมป์รู้สึกไม่พอใจจีน คล้ายกับช่วงของสมัยประธานาธิบดีโรนัลด์ เรแกน ที่รู้สึกไม่พอใจกับการขาดดุลการค้ากับญี่ปุ่นอย่างมโหฬาร จึงมีการประชุมกันระดับรัฐมนตรีของสหรัฐ ญี่ปุ่น เยอรมนี อังกฤษ และฝรั่งเศสที่โรงแรมพลาซ่าที่นครนิวยอร์คในปี 1985เพื่อบีบให้ญีปุ่นลดการเกินดุลกับสหรัฐผ่านการดันให้อัตราแลกเปลี่ยนแข็งค่าขึ้น เพื่อทำให้ญี่ปุ่นขายสินค้าได้น้อยลงในตลาดสหรัฐ และให้สหรัฐขายสินค้าได้มากขึ้นในตลาดญี่ปุ่น ถ้าหากญี่ปุ่นไม่ตกลง เรแกนจะขึ้นภาษีศุลกากรแบบที่ทรัมป์กำลังทำอยู่ในเวลานี้กับจีนและประเทศคู่ค้าอื่นๆ
ผลปรากฎว่าญี่ปุ่นรีบตกลงอย่างทันที เพราะว่าญี่ปุ่นเป็นประเทศบริวารของสหรัฐอยู่แล้ว ไม่ได้มีอำนาจการต่อรองอะไร มีทหารอเมริกันหลายหมื่นนายประจำการในหมู่เกาะโอกินาวา หลังจากนั้นธนาคารกลางของสหรัฐ ยุโรป และญี่ปุ่นมีปฏิบัติการร่วมกันในตลาดอัตราแลกเปลี่ยน โดยร่วมมือกันขายเงินดอลล่าร์ และซื้อเยน ซึ่งมีผลทำให้เงินเยนแข็งค่าขึ้น เงินเยนที่มีอัตราแลกเปลี่ยนราวๆY240ต่อดอลล่าร์ในช่วงก่อนข้อตกลงพลาซ่าในวันที่22กันยายน ปี 1985 มีการแข็งค่าขึ้นอย่างรวดเร็วจากการแทรกแซงของธนาคารกลางที่ทรงอิทธิพล มีผลทำให้เยนปรับตัวแข็งค่าขึ้นไปอยู่ที่Y200 ต่อดอลล่าร์ อีก 3ปีต่อมา หรือในปี1988 เงินเยนแข็งค่าขึ้นไปที่Y120ต่อดอลล่าร์ ซึ่งแข็งค่าขึ้นเป็นเท่าตัวจากช่วงก่อนข้อตกลงพลาซ่า ผลที่ตามมาคือญี่ปุ่นจำต้องย้ายฐานการผลิตออกนอกประเทศเพื่อเลี่ยงค่าเงินเยนที่แข็งกว่าความเป็นจริง โรงงานญี่ปุ่นที่เข้ามาปักหลักปักฐานในไทยและอาเซียนเพื่อเลี่ยงค่าเงินเยนที่สูง และเพื่อรักษาตลาดการส่งออกไปยังสหรัฐตั้งแต่สมัยป๋าเปรมจึงมีที่มาที่ไปเช่นนี้ ค่าเงินเยนที่แข็งเกินควรทำให้เกิดฟองสบู่ในตลาดอสังหาฯ และตลาดหุ้นญี่ปุ่น และสร้างความเสียหายให้กับระบบธนาคารในเวลาต่อมา ทำให้ญี่ปุ่นอยู่ในสภาพเงินฝืดมาตลอดระยะเวลาหลายทศวรรษ แม้ว่ารัฐบาลก่อหนี้ หรือธนาคารกลางญี่ปุ่นจะปั้มเงินเข้าระบบเท่าใด เศรษฐกิจก็ไม่ฟื้นตัวเป็นปกติจนกระทั่งทุกวันนี้ เศรษฐกิจญี่ปุ่นจึงซบเซาเหมือนแผนที่ประเทศญี่ปุ่นที่ดูแล้วเหมือนสาวญี่ปุ่นนิทรา
สถานภาพหรือสถานการณ์ของจีนในเวลานี้แตกต่างโดยสิ้นเชิงกับญี่ปุ่นที่ไม่มีอำนาจการต่อรองใดๆในสมัยข้อตกลงพลาซ่า ทรัมป์หวังจะให้สี จิ้นผิงยอมอ่อนข้อให้เหมือนกับที่ญี่ปุ่นยอมก้มหัวให้สหรัฐในช่วงข้อตกลงพลาซ่าก็คงจะเป็นความฝัน เพราะว่าจีนเป็นมหาอำนาจนิวเคลียร์ และไม่ใช่เป็นรัฐบริวารของสหรัฐ จีนมีขนาดเศรษฐกิจที่ใหญ่อันดับสองของโลก มีการค้าขายที่ใหญ่ที่สุดในโลก และผู้นำเข้านำ้มันอันดับหนึ่งของโลกแซงหน้าสหรัฐไปแล้ว ถ้าวัดตามความเสมอภาคของอำนาจซื้อ (purchasing power parity)เศรษฐกิจของจีนมีขนาดใหญ่กว่าเศรษฐกิจของสหรัฐมานานหลายปีแล้ว จีนมีระบบการผลิตอุตสาหกรรม และระบบซับไพลเชนที่ใหญ่ที่สุด และมีความสามารถในการแข่งขันมากที่สุดของโลก จีนมีตลาดภายในประเทศที่ใหญ่ มีเทคโนโลยีของตัวเอง ไม่ว่าจะเป็นเซมิคอนดั๊กเตอร์ หรือเอไอที่พึ่งพาตัวเองได้ แม้ว่าจีนต้องพึ่งพาการส่งออกเพื่อขับเคลื่อนการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจ และได้เปรียบดุลการค้ากับสหรัฐมากถึง$295,400ล้านในปี 2024 แต่จีนสามารถปรับตัวได้ถ้าหากว่าต้องสูญเสียตลาดสหรัฐไป ที่สำคัญเศรษฐกิจของจีนเป็นเศรษฐกิจของการผลิต มีปัจจัยพื้นฐานรองรับ ในขณะที่เศรษฐกิจของสหรัฐถูกการเงิน (Financialization)ครอบงำ ผลิตได้เพียง 15%ของการบริโภคภายใน อีก85%ต้องนำเข้าอย่างเดียว
ลองจินตนาการดูว่า หากมีการสู้กันแบบแตกหักระหว่างจีนกับสหรัฐ ในท้ายที่สุดแล้วใครจะเป็นผู้ชนะ ระหว่างเจ้าหนี้ กับลูกหนี้ ระหว่างผู้ขายกับผู้ซื้อ ระหว่างผู้ที่เกินดุลการค้า กับผู้ที่ขาดดุลการค้า จะเกิดอะไรขึ้นถ้าหากจีนเทขายพันธบัตรสหรัฐ$800,000ล้านออกไป จะเกิดอะไรกับสหรัฐถ้าหากจีนไม่ซับไพลสินค้าให้ เพราะว่าทุกคนทราบดีว่า ภาษีทรัมป์จะทำให้เกิดเงินเฟ้อ แต่ยังไม่มีใครมองไกลไปถึงว่า หากจีนไม่ขายของให้จะเกิดการขาดแคลนสินค้าอย่างรุนแรง เพราะว่าสินค้าที่คนอเมริกันบริโภคมาจากจีนส่วนใหญ่
ความจริงมีการเตรียมความพร้อมมานานแล้วที่จะลดการพึ่งพาสหรัฐ เพราะรู้ดีว่าเมื่อถึงจุดที่จีนเติบโตมากเกินไป จีนจะถูกสหรัฐทำลาย เหมือนกับที่สหรัฐได้ทำลายประเทศคู่แข่งต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสหภาพโซเวียตที่ถูกสงครามเย็นก่อโดยสหรัฐถึงกับต้องล่มสลาย นโยบายของจีนมีการปรับสมดุลระหว่างภาคการส่งออกและอุปสงค์ภายในประเทศ จะได้ไม่ต้องพึ่งพาตลาดต่างประเทศ หรือตลาดสหรัฐมากเหมือนในช่วงที่เปิดประเทศเพื่อสร้างเศรษฐกิจใหม่ให้ทันสมัย
หลังจากที่สหรัฐเจอวิกฤติเลห์แมนฟองสบู่แตกในปี 2008 ทำให้ระบบการเงินโลกมีความเสี่ยงต้องล้มละลาย ทำให้สหรัฐต้องใช้นโยบายการเงินและการคลังแบบทุ่มสุดตัวเพื่อกอบกู้วอลล์สตรีทที่ล้มบนฟูก ทั่วโลกก็ต้องใช้มาตรการเดียวกันท้ังทางการเงินและการคลังเพื่อสกัดไม่ให้เศรษฐกิจโลกดิ่งเหว รัฐบาลจีนต้องปั๊มเงินเข้าไปเกือบ$500,000ล้านเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจในเวลานั้น วิกฤติสหรัฐกลายเป็นวิกฤติโลก ไม่เหมือนวิกฤติต้มยำกุ้งของไทยที่เป็นวิกฤติเฉพาะของไทยหรือของเอเชีย ที่ไม่มีใครมาช่วย ต้องกู้ไอเอ็มเอฟและเสียอำนาจอธิปไตยไป
จีนรู้ดีว่า ถ้าหากต้องอยู่ในระบบวอลล์สตรีทต่อไป เศรษฐกิจหรือระบบการเงินของจีนจะพิงพินาศแท้ จึงพยายามออกจากระบบโลกที่สหรัฐมีอิทธิพลเหนือ ผ่านการร่วมมือกับประเทศยักษ์ใหญ่ที่เป็นเศรษฐกิจเกิดใหม่ในการวางพื้นฐานสำหรับการสร้างระเบียบเศรษฐกิจ และการเงินโลกใหม่ในอนาคต กลุ่มBRICS ซึ่งประกอบด้วยบราซิล รัสเซีย อินเดีย จีนและต่อมาแอฟริกาใต้ถึงถือกำเนิดขึ้นในปี2009ด้วยอุดมการณ์นี้ ประธานาธิบดีบารัค โอบามาเล็งเห็นแล้วว่า จีนต่อไปจะเติบโตเป็นคู่แข่งกับสหรัฐ จึงเริ่มดำเนินนโยบายหันมาปักหมุดที่เอเชีย (pivot to Asia) ในปี2013 และในปีเดียวกันนั้นเอง สี จิ้นผิงได้เปิดตัวโครงการเส้นทางสายใหม่ใหม่ One Belt One Road ที่จะเชื่อมโยงเศรษฐกิจของเอเชีย ยุโรปและแอฟริกาเข้าด้วยกันผ่านการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน การค้าขาย และความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจ โดยมีจีนเป็นศูนย์กลาง และเป็นการลอยแพอเมริกาเหนือออกจากสมการ นอกจากการสร้างความร่วมมือทางเศรษฐกิจในภูมิภาคนี้ผ่านข้อตกลงการค้าเสรีในกรอบของRegional Cooperation Economic Partnership ซึ่งมีอาเซียน10ประเทศ และจีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์เป็นสมาชิก จีนยังเดินหน้าไปลงทุนและสร้างความเจริญให้กับแอฟริกา เพื่อช่วยปลดแอฟริกาจากลัทธิล่าอาณานิคมของตะวันตก ทำให้อิทธิพลของจีนมีมากกว่าสหรัฐหรือประเทศยุโรปในแอฟริกาในเวลานี้
มีเจ้าหน้าที่ระดับสูงของแอฟริกาบอกว่า พวกอเมริกันมาประเทศเขามีแต่เลคเช่อร์เรื่องเสรีภาพกับประชาธิปไตย ส่วนจีนพูดถึงเรื่องสนามบินกับโรงพยาบาล แล้วระหว่างประชาธิปไตยกับสนามบิน คุณคิดว่าพวกเราจะเอาอะไร
มาถึงตอนนี้ ทรัมป์ต้องการใช้ข้อตกลง มาร์ อา ลาโก้กับจีน เหมือนกับที่สหรัฐใช้ข้อตกลงพลาซ่ากับญี่ปุ่น โดยมีเนื้อหาหลักคือให้จีน และประเทศที่ได้เปรียบดุลการค้าสหรัฐมากๆปรับอัตราแลกเปลี่ยนของหยวนหรือค่าเงินสกุลตัวเองให้แข็งค่าขึ้น30%-50%เมื่อเทียบกับดอลล่าร์ เพื่อลดการส่งออกเข้าตลาดสหรัฐ และในทางตรงกันข้ามช่วยการส่งออกของสินค้าสหรัฐ ในขณะเดียวกัน ทรัมป์ต้องการแก้ปัญหาหนี้สินพะรุงพะรังของสหรัฐด้วยการให้เจ้าหนี้ รวมท้ังจีน และญี่ปุ่่นที่เป็นเจ้าหนี้รายใหญ่ให้เปลี่ยนพันธบัตรที่ถือครองอยู่ให้เป็นพันธบัตรชุดใหม่ที่มีอายุ50ปี หรืออายุ 100ปี
ถ้าจีนยอมตามเงื่อนไขนี้เพื่อไม่ต้องโดนภาษี104%ทรัมป์ก็โง่เต็มทน แต่จีนไม่ได้โง่ และมีความเข้มแข็งพอเกือบทุกด้านที่จะต้านตานข้อเสนอของทรัมป์ แม้ว่าผลที่ตามมาคือเศรษฐกิจจีนอาจจะพัง แต่เศรษฐกิจสหรัฐก็จะพังตามไปด้วย ที่สำคัญใครจะลุกขึ้นมายืนได้ก่อน ส่วนญี่ปุ่นที่ทำข้อตกลงพลาซ่าในปี1985จะบอกว่าโง่ไม่ได้ เพราะว่าสหรัฐทำตัวเป็นเจ้าพ่อที่ยื่นข้อเสนอให้ญี่ปุ่นที่มิอาจจะปฏิเสธได้
By Thanong Khanthong
9/4/2025