ย้อนดูชีวิตบะชาร์ อัล-อัซซาด ผู้นำซีเรีย
9-12-2024
ประธานาธิบดีบะชาร์ อัล-อัซซาดแห่งซีเรียลี้ภัยออกจากประเทศในวันอาทิตย์ ในช่วงเข้าปีที่ 14 ของสงครามกลางเมืองที่หลายชาติเข้ามาร่วมจนเป็นสงครามตัวแทน
ในเวลาต่อมา สื่อ RIA และ TASS ของรัฐบาลรัสเซีย รายงานในวันอาทิตย์ ว่าผู้นำซีเรียอยู่ที่กรุงมอสโก
การโค่นอำนาจของรัฐบาลเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วจนน่าตกใจ เมื่อกลุ่มต่อต้านที่นำโดยกลุ่มติดอาวุธ ฮายัต ทาห์เรีย อัล-ชาม หรือ HTS (Hayat Tahrir al-Sham) สามารถยึดเมืองอเลปโป เมืองฮามาและเมืองฮอมส์ภายในเวลาเพียงไม่กี่วัน
กลุ่ม HTS มีจุดกำเนิดมาจากกลุ่มอัล-ไคยด้า โดยทั้งสหรัฐฯ และสหประชาชาติ ระบุว่ากลุ่มติดอาวุธนี้เป็นกลุ่มก่อการร้าย
เดิมที ฮาเฟซ อัล-อัซซาด พ่อของบะชาร์ ตั้งใจปลุกปั้นให้เบซิล ผู้เป็นลูกชายคนโต สืบทอดอำนาจต่อ ทว่าเบซิลเสียชีวิตในเหตุรถชนเมื่อปี 1994 ทำให้บะชาร์ที่กำลังศึกษาด้านจักษุวิทยาที่กรุงลอนดอนถูกนำตัวกลับมาซีเรีย
ที่ซีเรีย บะชาร์เข้ารับการฝึกทหารและรับยศพันเอกเพื่อสร้างความน่าเชื่อถือและปูพื้นฐานสำหรับการเป็นผู้นำต่อจากพ่อ ที่ปกครองซีเรียยาวนานเกือบ 30 ปี ภายใต้เศรษฐกิจรวมศูนย์แบบโซเวียต และการปราบปรามผู้เห็นต่างอย่างหนักหน่วง
เมื่อฮาเฟซถึงแก่กรรมเมื่อปี 2000 รัฐสภาซีเรียลงมติลดเกณฑ์อายุผู้ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีจาก 40 ลงมาเหลือ 34 ปี เท่ากับอายุของบะชาร์ในเวลานั้น ก่อนขึ้นเป็นหัวหน้าพรรคบาธ ลงเลือกตั้งแบบไม่มีคู่แข่ง และชนะการเลือกตั้งในที่สุด
เมื่อขึ้นสู่ตำแหน่ง เขาประกาศปล่อยนักโทษการเมือง และเปิดให้มีพื้นที่การแสดงออกมากขึ้น ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นคือ ‘ดามัสกัส สปริง’ หมายถึงการรวมตัวของคนเพื่อพูดคุยแลกเปลี่ยนในเรื่องศิลปะ วัฒนธรรม ไปจนถึงการเมือง ต่างไปจากสมัยพ่อที่ชาวซีเรียไม่กล้าแม้แต่จะพูดถึงการเมืองแบบขำขัน
ไม่เกินหนึ่งปีหลังจากนั้น มีกลุ่มปัญญาชนลงนามกัน 1,000 คน เรียกร้องให้ซีเรียเป็นประชาธิปไตยแบบหลายพรรคและมีเสรีภาพมากขึ้น ไม่เพียงเท่านั้นยังมีหลายคนยังเริ่มก่อตั้งพรรคการเมือง จนทำให้ตำรวจลับเข้าทลายดามัสกัส สปริง หลายแห่ง
อัซซาดหันเหจากการเปิดพื้นที่การเมืองไปสู่การปฏิรูปเศรษฐกิจด้วยการผ่อนคลายการควบคุมเศรษฐกิจ ให้ธนาคารต่างชาติเข้ามาทำธุรกิจ เปิดรับการนำเข้าและสนับสนุนภาคเอกชน ทำให้กรุงดามัสกัสค่อย ๆ มีห้างสรรพสินค้าใหม่ ร้านอาหารและสินค้าใหม่ ๆ รวมถึงนักท่องเที่ยวที่หลั่งไหลเข้ามาหลังจากนั้น
ในด้านการต่างประเทศ อัซซาดผู้ลูกมีแนวทางการทูตเหมือนฮาเฟซผู้เป็นพ่อด้วยการเป็นพันธมิตรกับอิหร่านและยืนกรานให้อิสราเอลคืนพื้นที่ของที่ราบสูงโกลันทั้งหมดที่ยึดไปจากซีเรีย แต่บะชาร์ไม่เคยเผชิญหน้ากับรัฐบาลเทลอาวีฟในทางการทหารเลย
เมื่อปี 2005 ซีเรียสูญเสียอำนาจเหนือเลบานอนที่เป็นเพื่อนบ้าน หลังอดีตนายกรัฐมนตรีราฟิก ฮารีรีถูกลอบสังหาร ตามมาด้วยการขึ้นสู่อำนาจของรัฐบาลที่สนับสนุนสหรัฐฯ และความกังขาของชาวเลบานอนจำนวนมากที่สงสัยว่าซีเรียเกี่ยวข้องกับเหตุลอบสังหารดังกล่าว
ในช่วงเวลานั้น โลกอาหรับแบ่งขั้วเป็นสองฝ่าย ได้แก่กลุ่มชาตินิกายสุหนี่ที่เป็นพันธมิตรกับสหรัฐฯ เช่นซาอุดีอาระเบียและอียิปต์ กับอีกกลุ่มก็คือซีเรียและรัฐบาลชีอะห์ของอิหร่าน ที่มีสายสัมพันธ์กับกลุ่มเฮซบอลลาห์และกลุ่มติดอาวุธปาเลสไตน์
สำหรับอัซซาด เขาบริหารอำนาจในประเทศตามรอยพ่อบนฐานอำนาจเก่าของกลุ่มมุสลิมนิกายอลาไวต์ ซึ่งเป็นนิกายแยกมาจากนิกายใหญ่แบบชีอะห์ ซึ่งมีจำนวนประชากรคิดเป็น 10% ของซีเรีย
ตำแหน่งระดับนำและใกล้ชิดตัวประธานาธิบดีถูกส่งมอบให้กับสมาชิกครอบครัวอัซซาด อีกหลายตำแหน่งในรัฐบาลถูกส่งต่อให้กับรุ่นลูกของครอบครัวเดิมที่รับใช้อำนาจมาตั้งแต่สมัยอัซซาดผู้พ่อ ขณะเดียวกันกลุ่มชนชั้นกลางใหม่ที่ลืมตาอ้าปากได้จากนโยบายปฏิรูปรวมถึงกลุ่มครอบครัวค้าขายจากนิกายสุหนี่ ก็เข้ามาร่วมในการบริหารประเทศมากขึ้น
อัซซาดมองกระแสลุกฮือของประชาชนที่เรียกกันว่า ‘อาหรับสปริง’ ในปี 2011 ที่โค่นล้มผู้นำในตูนิเซียและอียิปต์ได้สำเร็จในแบบไม่ยี่หระ โดยระบุว่าการปกครองของซีเรียนั้นเข้ากับประชาชนได้มากกว่า โดยในช่วงเวลานั้นเขายังส่งอีเมลแบบขำขัน ล้อเลียนผู้นำอียิปต์ ฮอสนี มูบารัค เรื่องการไม่ยอมลงจากตำแหน่งเสียที
แต่หลังจากมีการลุกฮือแบบเดียวกันในซีเรีย อัซซาดก็ใช้กองกำลังของรัฐปราบปราม โดยให้เหตุผลว่าคนกลุ่มดังกล่าวเป็น “ผู้ก่อการร้ายที่มีต่างชาติหนุนหลัง” ที่พยายามบ่อนทำลายการปกครองของประเทศ
วาทะของอัซซาดลักษณะนี้ ไปสร้างแนวร่วมกับชนกลุ่มน้อยในประเทศ เช่นกลุ่มดรูซ กลุ่มคริสเตียน รวมถึงกลุ่มชีอะห์ และสุหนี่ ที่แม้ไม่ชอบระบอบอัซซาด แต่ก็กลัวว่าจะมีรัฐบาลสุหนี่สุดโต่งเข้ามาปกครอง
การประท้วงลุกลามบานปลายเป็นสงครามกลางเมือง จนทำให้ชาวซีเรียหลายล้านคนลี้ภัยไปที่จอร์แดน ตุรกี อิรัก เลบานอน และยุโรป
ในปี2011 สหรัฐต้องการโค่นล้มอัซซาด มีการสนับสนุนกองกำลังต่อต้านรัฐบาลรวมท้ังพวกอัล เคด้า และไอซิส ซีเรียเกือบล่มสลายแล้ว แต่รัสเซียเข้ามาช่วยในปี2015พร้อมกับอิหร่าน และฮิซบอเลาะห์
แต่มาวันนี้ความช่วยเหลือต่ออัซซาดสิ้นสุดลงท่ามกลางความอ่อนไหวของปัญหาภูมิรัฐศาสตร์
ที่มา: เอพี, Agencies