UN เผย “ความหิวโหยทั่วโลก” ทะลุจุดสูงสุด

UN เผย “ความหิวโหยทั่วโลก” ทะลุจุดสูงสุดใหม่ในปี 2024 — สถานการณ์ปี 2025 ส่อวิกฤตหนักขึ้น
17-5-2025
องค์การสหประชาชาติออกมาเตือนว่า โลกกำลังเผชิญภาวะความหิวโหยในระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ โดยมีผู้คนกว่า 295 ล้านคนใน 53 ประเทศและดินแดนที่ต้องเผชิญกับ “ภาวะขาดแคลนอาหารอย่างรุนแรง” ในปี 2024 ที่ผ่านมา และแนวโน้มในปี 2025 ยิ่งน่าวิตกยิ่งกว่าเดิม ท่ามกลางความขัดแย้ง ภัยพิบัติทางธรรมชาติ และวิกฤตเศรษฐกิจที่ยังคงดำเนินอยู่
รายงาน Global Report on Food Crises 2025 (GFRC) ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากสหประชาชาติและเผยแพร่เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา ระบุว่า ระดับความไม่มั่นคงทางอาหารและภาวะทุพโภชนาการในเด็กได้เพิ่มขึ้นเป็นปีที่ 6 ติดต่อกัน โดยเพิ่มขึ้นจากปี 2023 ถึง 5% และถือเป็นแนวโน้มต่อเนื่องที่น่ากังวล
กว่า 22.6% ของประชากรในพื้นที่วิกฤตประสบกับความหิวในระดับวิกฤตหรือรุนแรงกว่านั้น โดยปัจจัยหลักที่ผลักดันความหิวโหยคือ “ความขัดแย้ง” ซึ่งส่งผลกระทบต่อผู้คนเกือบ 140 ล้านคนใน 20 ประเทศ รวมถึงพื้นที่ที่มีความไม่มั่นคงทางอาหารในระดับ “หายนะ” อย่างฉนวนกาซา ซูดานใต้ เฮติ และมาลี โดยในซูดานได้มีการประกาศอย่างเป็นทางการว่าเกิดภาวะ “อดอยาก” แล้ว
ขณะเดียวกัน วิกฤตเศรษฐกิจ เช่น อัตราเงินเฟ้อและการลดค่าของสกุลเงิน ได้ผลักดันให้ประชากรกว่า 59.4 ล้านคน ใน 15 ประเทศ เช่น ซีเรียและเยเมน ตกอยู่ในวิกฤตความหิวโหย ส่วนภัยธรรมชาติ โดยเฉพาะภัยแล้งและน้ำท่วมจากปรากฏการณ์เอลนีโญ ส่งผลให้ 18 ประเทศต้องเผชิญวิกฤตด้านอาหาร ส่งผลกระทบต่อผู้คนกว่า 96 ล้านคน โดยเฉพาะในแอฟริกาตะวันออกเฉียงใต้ เอเชียใต้ และภูมิภาคฮอร์นออฟแอฟริกา
อันโตนิโอ กูแตร์เรส เลขาธิการสหประชาชาติระบุว่า ความหิวโหยในศตวรรษที่ 21 เป็นสิ่งที่ “ไม่อาจยอมรับได้” และย้ำว่าวิกฤตที่กำลังเกิดขึ้นไม่ใช่แค่ความล้มเหลวของระบบ แต่เป็น “ความล้มเหลวของมนุษยธรรม” เขายังกล่าวเพิ่มเติมอีกว่า “เราไม่สามารถตอบโต้กับท้องที่ว่างโหวง และมือที่ว่างเปล่า ด้วยการหันหลังให้พวกเขาได้”
ในบรรดาประเทศที่ได้รับผลกระทบรุนแรงที่สุด ได้แก่ อัฟกานิสถาน ซูดาน ซีเรีย และเยเมน ซึ่งล้วนมีทั้งจำนวนผู้ประสบวิกฤตอาหารสูง และสัดส่วนของประชากรที่ได้รับผลกระทบสูงที่สุด
รายงานยังพบว่า “จำนวนผู้ที่เผชิญภาวะขาดแคลนอาหารอย่างรุนแรงพุ่งเกือบ สามเท่า” ในปี 2024 และมีถึง 26 ประเทศ ที่เผชิญภาวะวิกฤตด้านโภชนาการควบคู่กันไปด้วย
ตะวันออกกลางและแอฟริกาเหนือได้รับผลกระทบหนักสุด
ประเทศที่ประสบวิกฤตโภชนาการรุนแรงที่สุดในปีที่ผ่านมาคือ ซูดาน เยเมน มาลี และปาเลสไตน์ โดยในเดือนกรกฎาคม 2024 ค่ายผู้ลี้ภัยซัมซัมในดาร์ฟูร์เหนือของซูดานถูกประกาศว่าเข้าสู่ภาวะอดอยากอย่างเป็นทางการ และตั้งแต่เดือนตุลาคมถึงพฤษภาคม 2025 มีพื้นที่อีก 9 แห่งของซูดานที่อยู่ในระดับเดียวกัน
แม้ฉนวนกาซาจะหลีกเลี่ยงภาวะอดอยากในเดือนมีนาคม 2024 ได้ด้วยการส่งความช่วยเหลืออย่างเร่งด่วน แต่รายงานเตือนว่า หากสงครามยังดำเนินต่อ และการปิดล้อมของอิสราเอลยังไม่ยุติ ภาวะขาดแคลนอาหาร อัตราทุพโภชนาการ และอัตราการเสียชีวิต อาจทะลุระดับวิกฤตอีกครั้งภายในเดือนกันยายน
อย่างไรก็ดี ในปี 2024 มี 15 ประเทศ ที่สถานการณ์ความมั่นคงทางอาหารดีขึ้น เช่น ยูเครน เคนยา และกัวเตมาลา ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมที่เพิ่มขึ้น การเก็บเกี่ยวผลผลิตที่ดีขึ้น อัตราเงินเฟ้อลดลง และความขัดแย้งที่ซาลง
อย่างไรก็ตาม รายงานฉบับนี้ส่งสัญญาณเตือนว่า อนาคตยังคงมืดมน เนื่องจากประเทศผู้บริจาครายใหญ่หลายประเทศ ได้ลดงบประมาณด้านมนุษยธรรมลงอย่างมากในปี 2025
IMCT News
ที่มา: https://www.aljazeera.com/news/2025/5/16/global-hunger-hits-new-high-amid-conflict-extreme-weather-un