จีนเล็งผนึกกำลัง 150 ชาติ ขยายอิทธิพล'ผ่านเส้นทางสายไหม' หลังทรัมป์ตัดงบ USAID
8-2-2025
นักวิเคราะห์ระบุว่า การที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ประกาศระงับการใช้จ่ายขององค์การเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศของสหรัฐฯ (USAID) อาจเปิดโอกาสให้จีนขยายอิทธิพลผ่านข้อริเริ่มสายแถบและเส้นทาง (Belt and Road Initiative) เข้าไปเติมเต็มสูญญากาศทางอำนาจที่เกิดขึ้น
โครงการที่ดำเนินการมา 12 ปีของจีน มุ่งเน้นการให้เงินกู้ดอกเบี้ยต่ำสำหรับพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ทั้งทางหลวง ท่าเรือ และโรงไฟฟ้า ในประเทศกำลังพัฒนาหลายสิบประเทศ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นประเทศที่ได้รับความช่วยเหลือจาก USAID ที่ดำเนินงานมา 64 ปี และถูกทรัมป์สั่งระงับการดำเนินงานในสัปดาห์นี้
ศ.ชารีฟ นาอูบาคาร์ จากมหาวิทยาลัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีฮ่องกง กล่าวว่า "เกิดสูญญากาศทางอำนาจขึ้น แม้ว่าข้อริเริ่มสายแถบและเส้นทางจะไม่ใช่ความช่วยเหลือโดยตรง แต่เป็นการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน พลังงาน และน้ำสะอาด"
ด้าน ศ.คริสโตเฟอร์ บาร์เร็ตต์ ผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์ประยุกต์และนโยบายจากมหาวิทยาลัยคอร์เนลล์ ระบุในแถลงการณ์เมื่อวันจันทร์ว่า จีนจะเป็น "ผู้ชนะ" จากการปิดตัวของ USAID เนื่องจากจะช่วยให้จีนเข้าถึงทรัพยากรสำคัญในต่างประเทศและสร้างพันธมิตรที่ไม่สอดคล้องกับผลประโยชน์ของสหรัฐฯ
สภาความสัมพันธ์ต่างประเทศ (Council on Foreign Relations) ของสหรัฐฯ วิเคราะห์เมื่อวันที่ 29 มกราคมว่า บังกลาเทศซึ่งกำลังเผชิญปัญหาเศรษฐกิจ มีแนวโน้มจะเป็นประเทศแรกๆ ที่หันไปพึ่งพาจีนหาก USAID ถอนตัว โดยระบุว่า "หากสหรัฐฯ ละทิ้งบทบาทในประเทศที่ต้องการความสัมพันธ์กับสหรัฐฯ และอาจเป็นพันธมิตรยุทธศาสตร์สำคัญ ปักกิ่งย่อมพร้อมเสนอความช่วยเหลือและเงินกู้ให้บังกลาเทศมากกว่าที่ทำอยู่แล้ว"
ข้อมูลจากเจ้าหน้าที่จีนในปี 2023 ระบุว่า มีประเทศเข้าร่วมโครงการโครงสร้างพื้นฐานแล้วประมาณ 150 ประเทศ โดยมูลค่าการค้าของจีนกับประเทศที่เข้าร่วมเกินกว่า 50% ของมูลค่าการค้ารวมทั่วโลกเป็นครั้งแรกในปีที่ผ่านมา หลังการนำเข้าและส่งออกเติบโต 6.4%
อย่างไรก็ตาม ผู้เชี่ยวชาญชี้ว่าข้อริเริ่มสายแถบและเส้นทางยังมีข้อจำกัด โดยจีนได้ปรับลดขอบเขตลงในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา เพื่อหลีกเลี่ยงการสร้างภาระหนี้ให้ประเทศผู้รับ ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และการโยกย้ายประชากร จนเจ้าหน้าที่จีนเริ่มใช้คำว่า "เล็กแต่งดงาม" เพื่ออธิบายโครงการภายใต้ข้อริเริ่มนี้
ในฟิลิปปินส์ ศ.มาเรีย เอลา อาเตียนซา จากมหาวิทยาลัยฟิลิปปินส์ ดิลิมัน เปิดเผยว่า โครงการขนส่งหลายโครงการที่ได้รับทุนจากจีนถูกยกเลิก เนื่องจากนักการเมืองที่สนับสนุนจีนอย่างเปิดเผยเสี่ยงสูญเสียคะแนนเสียง จากกรณีพิพาทระหว่างมะนิลากับปักกิ่งเรื่องอธิปไตยในทะเลจีนใต้ ทั้งนี้ USAID ได้ลงทุนในฟิลิปปินส์ไปแล้วเกือบ 290,000 ล้านเปโซ (4,900 ล้านดอลลาร์สหรัฐ)
เจยันต์ เมนอน นักวิจัยอาวุโสจากสถาบัน ISEAS-Yusof Ishak ในสิงคโปร์ กล่าวว่า "สิ่งที่ชัดเจนคืออิทธิพลของสหรัฐฯ จะลดลง ขณะที่จีนจะเป็นหนึ่งในผู้เข้ามาเติมเต็มช่องว่างนี้" อย่างไรก็ดี ศ.นาอูบาคาร์ ชี้ว่าข้อริเริ่มสายแถบและเส้นทางยังไม่ครอบคลุมภารกิจทั้งหมดของ USAID ซึ่งให้ความช่วยเหลือด้านการบรรเทาภัยพิบัติ การแก้ปัญหาความยากจน การปกป้องสิ่งแวดล้อม และโครงสร้างพื้นฐาน
ทั้งนี้ หากโครงการของสหรัฐฯ ยุติลงทั้งหมด คาดว่าโครงการความช่วยเหลือจากญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และยุโรปตะวันตก จะเข้ามาทดแทนงานของ USAID ในพื้นที่ยากจนของโลกบางส่วน
---
IMCT NEWS : Graphics: Globaltimes.cn