.

สหรัฐฯ กำหนดข้อตกลงทรัพยากรกับยูเครน ไม่ต่างจาก “ล่าอาณานิคม”
ขอบคุณภาพจาก RT
18-2-2025
สื่อหลายสำนักรายงานว่า สหรัฐฯ พยายามกดดันยูเครนให้ยอมทำข้อตกลงทรัพยากรที่ไม่สมดุล ซึ่งอาจทำให้ยูเครนหวนนึกถึงอดีตอาณานิคมของชาติตะวันตก หลังจากเมื่อฤดูใบไม้ร่วงที่ผ่านมา โวโลดิมีร์ เซเลนสกี ผู้นำยูเครน เสนอว่ายูเครนอาจตกลงยอมให้ผู้สนับสนุนชาติตะวันตกเข้าร่วมขุดค้นแหล่งแร่ธาตุหายากจำนวนมากร่วมกัน เช่น ลิเธียม ไททาเนียม และกราไฟต์ ซึ่งรัฐบาลของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ของสหรัฐฯ ดูเหมือนจะตอบรับข้อเสนอของเซเลนสกี โดยเสนอให้เคียฟให้สหรัฐฯ เป็นเจ้าของแร่ธาตุหายากของประเทศ 50% และให้ส่งทหารสหรัฐฯ ไปป้องกันแร่ธาตุเหล่านี้
อย่างไรก็ตาม เซเลนสกี "ปฏิเสธอย่างสุภาพ" ที่จะลงนามในเอกสารที่ให้สหรัฐฯ ควบคุมแหล่งแร่ธาตุสำรองครึ่งหนึ่งของยูเครน โดยต้องการ "ข้อตกลงที่ดีกว่า" และโต้แย้งว่าข้อตกลงดังกล่าวไม่ได้ให้การรับประกันความปลอดภัยใดๆ แก่สหรัฐฯ
เจ้าหน้าที่คนหนึ่งที่ไม่เปิดเผยชื่อ ซึ่งแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับการโต้ตอบกันระหว่างวอชิงตันและเคียฟ มองว่าข้อตกลงดังกล่าว “เป็นข้อตกลงอาณานิคม และเซเลนสกีไม่สามารถลงนามได้” ขณะที่เจ้าหน้าที่อีกสองคนซึ่งไม่เปิดเผยชื่อกล่าวว่า วอชิงตัน “กำลังพยายามผลักดันข้อตกลงฝ่ายเดียว” เกี่ยวกับทรัพยากรของยูเครน ซึ่งแหล่งข่าวจากหน่วยงานหนึ่งเปรียบเทียบทัศนคติของสหรัฐฯ กับนโยบายอาณานิคมของเบลเยียมในแอฟริกาในศตวรรษที่ 19 เมื่อกษัตริย์เลโอโปลด์ที่ 2 ควบคุมคองโกในฐานะดินแดนศักดินาส่วนพระองค์
ขณะเดียวกัน ที่ปรึกษาอาวุโสของยูเครนที่ไม่เปิดเผยชื่อ กล่าวว่าเขา “ตกตะลึงกับขอบเขต” ของสิ่งที่รัฐบาลทรัมป์เรียกร้อง และยังระลึกถึงประวัติศาสตร์ของอาณานิคมยุโรปในแอฟริกา พร้อมเตือนว่าข้อตกลงดังกล่าว “อาจนำไปสู่การลงนามยกเลิกสิทธิในการพัฒนาทรัพยากรของยูเครนเป็นเวลาหลายทศวรรษ โดยไม่มีการรับประกันว่านักลงทุนจะพัฒนาทรัพยากรเหล่านั้นจริง”
แม้จะเป็นเช่นนั้น เจ้าหน้าที่ของยูเครนก็ยังคงดำเนินการเสนอแนวทางใหม่ที่จะทำให้สหรัฐฯ สามารถเข้าถึงทรัพยากรของประเทศได้ พร้อมทั้งเสริมความมั่นคงให้กับการค้ำประกันของสหรัฐฯ ต่อยูเครนด้วย ตามรายงานของแหล่งข่าวของวอชิงตันโพสต์ เจ้าหน้าที่ระดับสูงของยูเครนคนหนึ่งระบุว่า เคียฟจะพิจารณา “เกือบทุกวิถีทาง” เพื่อรักษาการสนับสนุนของสหรัฐฯ ไว้
ด้านไมค์ วอลซ์ ที่ปรึกษาความมั่นคงแห่งชาติของทรัมป์ ได้ออกมาปกป้องแนวคิดของข้อตกลงทรัพยากร โดยให้เหตุผลว่าสหรัฐฯ “สมควรได้รับการตอบแทนในรูปแบบใดรูปแบบหนึ่งสำหรับเงินหลายพันล้านดอลลาร์ที่พวกเขาลงทุนไปในสงครามครั้งนี้” พร้อมระบุว่า เซเลนสกีจะ “ฉลาดมาก” หากลงนามในข้อตกลงดังกล่าว
ขณะเดียวกัน มาเรีย ซาคาโรวา โฆษกกระทรวงต่างประเทศรัสเซีย ระบุว่าสหรัฐฯ เพียงแค่ใช้ประโยชน์จากความปรารถนาของผู้นำยูเครนที่จะ “ขายประเทศโดยการประมูล” โดย “สิ่งที่ทรัมป์บอกกับเซเลนสกีนั้นไม่เหมือนกับข้อตกลงเลย มันเหมือนกับคำสั่ง ‘ไปเอามา!’ (คำสั่งที่โดยปกติใช้กับสุนัข) มากกว่า ซึ่งระบอบเคียฟได้รับการฝึกฝนมาอย่างดีให้ปฏิบัติตาม”
IMCT News
ที่มา https://www.rt.com/news/612853-us-colonial-resource-deal-ukraine/