.

นักวิเคราะห์คาด ‘ไทย-อินเดีย’ โดนหนัก จากนโยบายภาษีทรัมป์
17-2-2025
นักวิเคราะห์มองว่า การประกาศนโยบายกำแพงภาษีของโดนัลด์ ทรัมป์ กับประเทศคู่ค้า ได้สร้างแรงกระเพื่อมให้ประเทศในเอเชียที่ได้ประโยชน์ทางการค้ากับรัฐบาลวอชิงตัน หาทางเจรจากับผู้นำสหรัฐฯ เพื่อหลีกเลี่ยงมาตรการภาษีรอบใหม่ ขณะที่บางประเทศในเอเชียเตรียมรับแรงกระแทกจากนโยบายนี้แล้ว
ในการหาเสียงเมื่อปีที่แล้ว ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ประกาศว่าจะขึ้นภาษีในอัตราที่เท่ากัน โดยระบุว่า “หากพวกเขาเก็บภาษีเรา เราจะเก็บภาษีพวกเขา – ตาต่อตา ฟันต่อฟัน ภาษีต่อภาษี ในอัตราที่เท่ากัน”
เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ทรัมป์ กล่าวว่าจะประกาศมาตรการภาษีตอบโต้ (reciprocal tariffs) ในอัตราเทียบเท่ากับที่ประเทศต่าง ๆ บังคับใช้กับสินค้าของสหรัฐฯ อย่างรวดเร็วที่สุดคือในวันอังคารนี้ เพื่อแก้ปัญหาขาดดุลการค้าของอเมริกา โดยไม่ได้ระบุว่าประเทศใดบ้างที่จะได้รับผลกระทบ
ระหว่างที่เงื่อนไขของนโยบายนี้ยังไม่มีความชัดเจนออกมา นักวิเคราะห์จาก Barclays ระบุเมื่อวันจันทร์ที่แล้วว่า “มีแนวโน้มที่ภาษีนำเข้าของสหรัฐฯ จะปรับขึ้นกับประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ในเอเชียเกือบทั้งหมด” เว้นแต่สิงคโปร์และฮ่องกง ที่สหรัฐฯ ได้เปรียบการค้าอยู่
ด้านการประเมินขององค์การการค้าโลก หรือ WTO ระบุว่า ประเทศส่วนใหญ่ในเอเชียบังคับใช้มาตรการภาษีนำเข้ากับสหรัฐฯ ในอัตราที่สูงกว่าในปี 2023 และเมื่อดูเป็นรายประเทศในเอเชีย เมื่อปีที่แล้ว พบว่า จีนเกินดุลการค้าสหรัฐฯ เป็นอันดับ 1 ที่ตัวเลขเกินดุล 295,400 ล้านดอลลาร์ ตามมาด้วยเวียดนาม เกินดุลสหรัฐฯ 123,500 ล้านดอลลาร์ ไต้หวันเกินดุล 74,000 ล้านดอลลาร์ ญี่ปุ่นเกินดุล 68,500 ล้านดอลลาร์ และเกาหลีใต้ เกินดุล 66,000 ล้านดอลลาร์ อ้างอิงจากข้อมูลของสำนักงานสำมะโนประชากรสหรัฐฯ (U.S. Census Bureau)
สเตฟาน แอนกริค นักเศรษฐศาสตร์อาวุโสจาก Moody’s Analytics ให้ทัศนะกับซีเอ็นบีซีว่า “ประเทศเศรษฐกิจเหล่านี้หลบเลี่ยงมาตรการภาษีได้ในตอนนี้ ก็ไม่ได้หมายความว่าจะหายใจได้โล่งปอด” และว่ารัฐบาลวอชิงตันอาจเปลี่ยนโทนและบังคับใช้มาตรการภาษีในภายหลังได้
นักเศรษฐศาสตร์คาดไทย-อินเดีย อาจกระทบหนัก
นักเศรษฐศาสตร์ได้เตือนว่า เอเชียคือพิกัดสงครามการค้าแห่งใหม่ ที่อินเดียและไทยอยู่ในแนวหน้าของสมรภูมินี้ เนื่องจากมีส่วนต่างการเรียกเก็บภาษีกับสินค้านำเข้าจากสหรัฐฯ สูงกว่าที่อเมริกาเรียกเก็บอยู่มาก
เชทาน อาห์ยา นักวิเคราะห์จาก Morgan Stanley ชี้ว่า ไทยและอินเดียจะเผชิญอัตราภาษีเพิ่มขึ้นราว 4-6% และว่า “มาตรการภาษีที่เริ่มขึ้นนี้มีความก้าวร้าวกว่าเดิม” เมื่อเทียบกับทรัมป์สมัยแรก
เมวา คัซเซิน จาก Bloomberg Economics และจอร์จ ซาราเวลอส จากธนาคาร Deutsche Bank มองว่า อินเดียเสี่ยงต่อมาตรการตอบโต้เพราะมีส่วนต่างด้านภาษีนำเข้ากับสินค้าอเมริกาถึง 10%
เหวิน จาก MUFG คาดว่า สหรัฐฯ อาจขึ้นภาษีเกิน 15% จากระดับปัจจุบันที่ 3% โดยอินเดียเกินดุลการค้ากับสหรัฐฯ 45,700 ล้านดอลลาร์เมื่อปีก่อน และอินเดียคิดภาษีนำเข้ากับสินค้าเกษตรสหรัฐฯ ในระดับ 39%
เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว อินเดียได้หารือการสั่งซื้อพลังงานเพิ่มจากสหรัฐฯ ระหว่างการหารือของผู้นำสหรัฐฯ และอินเดีย ส่วนไทยกำลังพิจารณาซื้อสินค้าอเมริกาเพิ่มเติม เพิ่มการนำเข้าเอธานอลและสินค้าเกษตรในปีนี้
เวียดนามเตรียมรับแรงกระแทกจากนโยบายภาษีทรัมป์
อีกด้านหนึ่ง แอนกริค นักเศรษฐศาสตร์อาวุโสจาก Moody’s Analytics เสริมว่า เวียดนามเป็น “ประเทศที่ไม่ต้องสงสัยเลยว่าจะมีความเสี่ยงมากที่สุด” ในการตกเป็นเป้าของมาตรการกีดกันทางการค้าของทรัมป์ เนื่องจากเวียดนามเกินดุลการค้ากับสหรัฐฯ ไปมาก และมีการลงทุนของจีนจำนวนมากในประเทศ
ข้อมูลของ WTO ชี้ว่า เวียดนามเกินดุลการค้าสหรัฐฯ มากขึ้นเกือบ 18% ต่อปี และแตะระดับสูงสุดเมื่อปีที่แล้ว ขณะที่อัตราภาษีกับประเทศที่ได้สถานะ MFN ของเวียดนามอยู่ที่ระดับ 9.4%
อย่างไรก็ตาม ทรัมป์ ซึ่งเคยเรียกเวียดนาม ว่า เป็นผู้ใช้ประโยชน์จากนโยบายการค้าโดยมิชอบ เมื่อปี 2019 ยังไม่ได้กล่าวถึงเวียดนามหลังได้รับเลือกขึ้นมาเป็นผู้นำสหรัฐฯ คนใหม่
ฝั่งรัฐบาลฮานอย ประกาศแผนซื้อเครื่องบิน ก๊าซธรรมชาติเหลว LNG และสินค้าอื่น ๆ จากอเมริกา เมื่อเดือนพฤศจิกายนปีก่อน และเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว นายกรัฐมนตรีเวียดนาม ฝ่าม มิงห์ จิ๋งห์ ได้ขอให้คณะรัฐมนตรีเตรียมการสำหรับผลกระทบของสงครามการค้าโลกในปีนี้
ไมเคิล เหวิน นักวิเคราะห์อาวุโสด้านค่าเงิน แห่งธนาคาร MUFG ให้ข้อมูลกับซีเอ็นบีซีในวันจันทร์ที่แล้วว่า สหรัฐฯ อาจปรับขึ้นภาษีเวียดนามเป็นเท่าตัว ที่ 8% อย่างไรก็ตาม สหรัฐฯ จะไม่ใช้มาตรการที่เข้มงวดสุดโต่งกับเวียดนาม แต่มีแนวโน้มจะขึ้นภาษี “ในสินค้าบางอุตสาหกรรม”
จีนพร้อมหารือทรัมป์หลังเจอขึ้นภาษี 10%
ณ เวลานี้ จีนเป็นประเทศที่ต้องเผชิญภาษีเพิ่มขึ้น 10% ครอบคลุมสินค้านำเข้าทั้งหมดเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ซึ่งจีนออกมาตรการภาษีตอบโต้สินค้านำเข้าบางประเทศจากสหรัฐฯ เมื่อวันจันทร์ หลังจากไม่สามารถจัดการหารือระหว่างประธานาธิบดีสี จิ้นผิง กับปธน.ทรัมปได้ในช่วงเวลาดังกล่าว
จีนขึ้นภาษี 15% กับถ่านหิน ก๊าซ LNG และ 10% กับน้ำมันดิบ อุปกรณ์การเกษตร รถยนต์และรถกระบะ ซึ่งประเมินว่าแพคเกจกำแพงภาษีนี้จะครอบคลุมสินค้าที่จีนนำเข้าจากสหรัฐฯ เป็นมูลค่า 13,900 ล้านดอลลาร์ อ้างอิงจากสถาบันโนมูระ
แต่ในมุมมองของทอมมี่ สี หัวหน้าฝ่ายวิจัยระดับมหภาพของเอเชีย แห่งธนาคาร OCBC ที่ระบุกับซีเอ็นบีซี ชี้ว่า มาตรการรอบนี้น้อยกว่าที่จีนบังคับใช้ในยุคทรัมป์สมัยแรก ที่กระทบกับสินค้านำเข้าจากสหรัฐฯ มูลค่า 50,000 ล้านดอลลาร์ ซึ่งส่งสัญญาณว่า “จีนเลือกจะตอบสนองในแนวทางที่หลากหลายมากขึ้น” ด้วยมาตรการที่ไม่ใช่ภาษี เช่น การควบคุมการส่งออก และการสั่งตรวจสอบบริษัทอเมริกัน ในระหว่างที่ “เปิดทางสำหรับการเจรจาในอนาคต” กับสหรัฐฯ
ญี่ปุ่นยังคงได้รับผลเชิงบวก
นักวิเคราะห์เห็นว่า ญี่ปุ่น ดูเหมือนจะมีความสัมพันธ์เชิงบวกกับทรัมป์ และอาจได้รับการป้องกันจากการขึ้นภาษีสูงขึ้น “ในเวลานี้” หลังจากนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น ชิเงรุ อิชิบะ เดินทางเยือนกรุงวอชิงตันเมื่อต้นเดือนกุมภาพันธ์ โดยญี่ปุ่นเห็นชอบที่จะนำเข้าก๊าซธรรมชาติจากสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น รวมทั้งเพิ่มการลงทุนในสหรัฐฯ มากขึ้น
ที่ผ่านมา ญี่ปุ่นเป็นผู้ลงทุนในสหรัฐฯ มากที่สุดต่อเนื่องเป็นปีที่ 5 และยังให้คำมั่นในการขยายการลงทุนในอเมริกามูลค่าถึง 1 ล้านล้านดอลลาร์ จากระดับ 783,300 ล้านดอลลาร์เมื่อปีที่แล้ว
นอกจากนี้ ญี่ปุ่นเก็บภาษีกับประเทศที่ได้สถานะ MFN ที่ 3.7% ตามข้อมูลของ WTO ซึ่งหมายความว่าอาจมีการปรับขึ้นภาษีกับสินค้าของญี่ปุ่นเพียงเล็กน้อย ในมุมมองของเคียวเฮ โมริตะ หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์จากสถาบันโนมูระ
ขณะที่เจมส์ เบรดี้ รองประธานบริษัทที่ปรึกษา Teneo กล่าวกับซีเอ็นบีซีว่า “ระหว่างที่ญี่ปุ่นไม่อาจหลีกเลี่ยงผลกระทบจากนโยบายกำแพงภาษีสหรัฐฯ ในอนาคตได้” แต่อาจเลี่ยงการปฏิบัติที่มุ่งเป้าเจาะจงเหมือนกรณีของแคนาดา เม็กซิโก และจีนได้
ที่มา: ซีเอ็นบีซีและบลูมเบิร์ก
---------------------------------
สงครามภาษีทรัมป์ในเอเชีย เวียดนาม-เกาหลีใต้เสี่ยงสูง 'ไทยปานกลาง' อินเดีย-ฟิลิปปินส์เสี่ยงต่ำ
17-2-2025
ING Group เปิดเผยรายงานวิเคราะห์ผลกระทบจากมาตรการขึ้นภาษีเหล็กและอลูมิเนียม 25% ของประธานาธิบดีทรัมป์ต่อภูมิภาคเอเชีย โดยระบุว่าเวียดนามมีความเสี่ยงสูงสุด เนื่องจากมูลค่าการส่งออกสินค้าดังกล่าวไปสหรัฐฯ คิดเป็น 0.3% ของ GDP ในปี 2567 ประกอบกับบทบาทสำคัญในการแปรรูปเหล็กกึ่งสำเร็จรูปจากจีนเพื่อส่งออก
เกาหลีใต้เป็นอีกประเทศที่มีความเสี่ยงสูง แม้จะได้รับโควตาการส่งออกปลอดภาษี แต่ปริมาณการส่งออกที่ผ่านมาต่ำกว่าเพดานที่กำหนด ทำให้อำนาจต่อรองในการเจรจากับสหรัฐฯ ลดลง
นโยบาย "อเมริกาต้องมาก่อน" ของทรัมป์จะส่งผลกระทบรุนแรงต่อประเทศในเอเชียเหนือ โดยเฉพาะจีน เกาหลี และเวียดนาม ที่มีดุลการค้าเกินดุลกับสหรัฐฯ สูงและพึ่งพาการส่งออกเป็นหลัก นอกจากนี้ ความมุ่งมั่นของทรัมป์ในการเพิ่มการผลิตสินค้าเทคโนโลยีขั้นสูงภายในประเทศจะกระทบผู้ส่งออกเซมิคอนดักเตอร์ ปัญญาประดิษฐ์ และอุปกรณ์พลังงานใหม่ โดยเฉพาะญี่ปุ่นและไต้หวัน
ในทางตรงกันข้าม อินเดียและฟิลิปปินส์มีความเสี่ยงต่ำกว่าเนื่องจากเศรษฐกิจพึ่งพาอุปสงค์ภายในประเทศเป็นหลัก แม้ว่าอาจได้รับผลกระทบหากสหรัฐฯ ขยายมาตรการไปสู่ภาคบริการ โดยเฉพาะธุรกิจเอาท์ซอร์สและซอฟต์แวร์
มาเลเซีย ไทย และอินโดนีเซียอยู่ในกลุ่มที่มีความเสี่ยงปานกลาง โดยมาเลเซียและไทยได้รับประโยชน์จากการปรับเปลี่ยนห่วงโซ่อุปทานในอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์และยานยนต์ตามลำดับ แต่อุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าของอินโดนีเซียอาจได้รับผลกระทบจากการยกเลิกมาตรการจูงใจภายใต้กฎหมายลดเงินเฟ้อ
ING ยังเตือนว่าการพึ่งพาจีนที่เพิ่มขึ้นของอาเซียน โดยสัดส่วนการนำเข้าจากจีนเพิ่มจาก 16% เป็น 26% ในทศวรรษที่ผ่านมา อาจทำให้ผลกระทบจากมาตรการภาษีรุนแรงขึ้น
อย่างไรก็ตาม อาเซียนและอินเดียอาจได้รับประโยชน์จากการลงทุนโดยตรงของสหรัฐฯ ที่เพิ่มขึ้น โดยสหรัฐฯ มีสัดส่วนถึงหนึ่งในสามของเงินลงทุนโดยตรงสุทธิในอาเซียนปี 2566 สะท้อนบทบาทสำคัญของภูมิภาคในกลยุทธ์จีน+1 โดยบริษัทยักษ์ใหญ่อย่าง Intel, Apple และ Google กำลังขยายการลงทุนในเวียดนาม มาเลเซีย และไทย ซึ่งอาจช่วยบรรเทาผลกระทบจากมาตรการภาษีและนำไปสู่การเจรจาการค้าทวิภาคีในอนาคต
---
IMCT NEWS
ที่มา https://www.investing.com/news/economy/trumps-tariff-war-who-are-asias-winners-and-losers-3868160