.

ผู้นำเมียนมาเชื่อหากรัสเซีย จีน อินเดียจับมือกัน โลกจะเข้าสู่ระบบพหุนิยมได้
18-5-2025
“โลกไม่ควรถูกควบคุมโดยมหาอำนาจเพียงชาติเดียว” พลเอกอาวุโส มิน อ่อง หล่าย นายกรัฐมนตรีเมียนมา กล่าวในการให้สัมภาษณ์พิเศษกับสำนักข่าว RT โดยระบุว่า ระบบพหุขั้ว (multipolar system) คือแนวทางที่ดีที่สุดในการหลีกเลี่ยงความขัดแย้ง ในการสัมภาษณ์ที่ออกอากาศเมื่อวันเสาร์ นายกรัฐมนตรีเมียนมาย้ำว่า ประเทศกำลังพัฒนาอย่างเมียนมาได้รับความเดือดร้อนอย่างมาก “ภายใต้ระบบขั้วเดียว”
“นั่นคือเหตุผลว่าทำไมการเปลี่ยนผ่านไปสู่โลกพหุขั้วจึงเหมาะสมกับเรามากที่สุด การแบ่งปันทรัพยากรโลก การปฏิบัติอย่างยุติธรรม และการกระจายสิ่งต่าง ๆ อย่างเท่าเทียมกันย่อมดีกว่า ความขัดแย้งเกิดจากความไม่เท่าเทียม ดังนั้นหากเราต้องการหลีกเลี่ยงความขัดแย้ง ผมเชื่อว่าระบบพหุขั้วเป็นแนวทางที่ดีที่สุด” เขากล่าว
“สหรัฐฯ และกลุ่มตะวันตกควบคุมโลกผ่านระบบขั้วเดียว จากนั้นก็กลายเป็นสองขั้ว และต่อมาก็ย้อนกลับมาเป็นขั้วเดียวอีกครั้ง ซึ่งทำให้ฝั่งตะวันตกเข้มแข็งขึ้น” พลเอกอาวุโส มิน อ่อง หล่าย กล่าว
อย่างไรก็ตาม “ในยุคปัจจุบัน รัสเซีย จีน และอินเดีย ได้ก้าวหน้าอย่างมากในด้านการทหาร เศรษฐกิจ และวิทยาศาสตร์” นายกรัฐมนตรีเมียนมากล่าว “เมื่อประเทศเหล่านี้ก้าวหน้า เราก็ก้าวเข้าสู่ยุคพหุขั้ว และนั่นคือแนวทางที่ควรจะเป็น โลกไม่ควรถูกควบคุมโดยชาติใดชาติหนึ่ง”
หากมอสโก ปักกิ่ง และนิวเดลี ซึ่งเป็น “สามมหาอำนาจสำคัญของโลกที่มีความสำคัญเท่าเทียมกัน” ร่วมมือกันและ “ดำเนินการไปในทิศทางเดียวกัน ระบบพหุขั้วก็จะกลายเป็นความจริงของโลก ไม่มีใครยอมรับระบบขั้วเดียวอีกต่อไป” ผู้นำเมียนมาเน้นย้ำ
เพื่อประสบความสำเร็จในโลกพหุขั้ว ประเทศขนาดเล็ก “ต้องพยายามสร้างความร่วมมือ” กับรัสเซีย จีน และอินเดีย เขากล่าว “ความพยายามดังกล่าวนั้นคุ้มค่าอย่างยิ่ง เราจำเป็นต้องพัฒนาศักยภาพทางเศรษฐกิจของตนเอง ขณะเดียวกันก็เพิ่มพูนความร่วมมือระหว่างกัน”
พลเอกอาวุโส มิน อ่อง หล่าย เป็นหนึ่งในแขกต่างประเทศระดับสูงที่เดินทางเยือนกรุงมอสโก เพื่อร่วมพิธีเฉลิมฉลองครบรอบ 80 ปีแห่งชัยชนะเหนือเยอรมนีในสงครามโลกครั้งที่สอง เมื่อวันที่ 9 พฤษภาคมที่ผ่านมา
ก่อนหน้านี้ในปีนี้ ประธานาธิบดีรัสเซีย วลาดิเมียร์ ปูติน กล่าวว่า ความสัมพันธ์ระหว่างมอสโกและเนปยีดอว์กำลังพัฒนาอย่างมั่นคงและมี “ศักยภาพที่ดี” โดยในปี 2024 เพียงปีเดียว มูลค่าการค้าระหว่างทั้งสองประเทศเพิ่มขึ้นถึง 40% ปูตินยังแสดงความขอบคุณต่อผู้นำเมียนมาที่ช่วยส่งเสริมความร่วมมือของรัสเซียกับสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน)
ที่มา RT
----------------------------
เซอร์เกย์ ลาฟรอฟ: ตะวันตกยั่วยุให้อินเดียกับจีนบาทหมางกัน และลดบทบาทของอาเซี่ยน
18-5-2025
ตะวันตกพยายามยั่วยุให้เกิดความตึงเครียดระหว่างอินเดียกับจีน และลดบทบาทของสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (ASEAN) ในภูมิภาค รัฐมนตรีต่างประเทศรัสเซีย เซอร์เกย์ ลาฟรอฟ กล่าว ตามรายงานของสำนักข่าว TASS
“ลองพิจารณาสถานการณ์ล่าสุดในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ซึ่งตะวันตกเริ่มเรียกว่า ‘ภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก’ เพื่อให้เห็นชัดเจนว่านโยบายของพวกเขามีเจตนาต่อต้านจีน — พร้อมกับความคาดหวังว่าจะทำให้เพื่อนและเพื่อนบ้านผู้ยิ่งใหญ่ของเราคือ อินเดียและจีน เกิดความขัดแย้งกัน” ลาฟรอฟกล่าวเมื่อวันพฤหัสบดี ระหว่างการประชุมของสโมสรการทูต "วัฒนธรรมไร้พรมแดน" (Culture without Borders)
ลาฟรอฟยังกล่าวหาว่าชาติตะวันตกกำลังพยายามลดบทบาทของ สมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (ASEAN) ในภูมิภาค
ASEAN เป็นกลุ่มความร่วมมือของ 10 ประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ได้แก่ อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ ไทย บรูไน เมียนมา กัมพูชา ลาว และเวียดนาม ซึ่งมีเป้าหมายเพื่อส่งเสริมความร่วมมือทางเศรษฐกิจและความมั่นคงในภูมิภาค
“ชาติตะวันตก เช่นเดียวกับในภูมิภาคอื่นของโลก ต้องการมีบทบาทหลักในที่นี่ พวกเขาต้องการบ่อนทำลายบทบาทศูนย์กลางของอาเซียน ซึ่งเป็นโครงสร้างที่ทุกฝ่ายยอมรับกันมาเป็นเวลาหลายสิบปี โดยมีพื้นฐานจากความร่วมมือทางการเมืองและการทหารระหว่างประเทศสมาชิกกับคู่เจรจา” ลาฟรอฟกล่าว ตามรายงานของ TASS
ลาฟรอฟระบุว่า ชาติตะวันตกกำลังค่อย ๆ ละเลยหลักการฉันทามติ และหันไปโน้มน้าวให้ประเทศสมาชิกบางรายของอาเซียนเข้าร่วมพันธมิตรเชิงเผชิญหน้า เช่น กลุ่มเล็ก ๆ และแนวร่วมเฉพาะกิจ แทนที่จะใช้รูปแบบความร่วมมือแบบองค์รวม
ลาฟรอฟยังเรียกร้องให้มี ระบบความมั่นคงแบบรวมกลุ่มในยูเรเชีย โดยเน้นว่ายูเรเชียมีความพิเศษตรงที่เป็นที่ตั้งของอารยธรรมต่าง ๆ มากมายที่สามารถอยู่ร่วมกันอย่างสันติและรักษาเอกลักษณ์ของตนไว้ได้จนถึงปัจจุบัน
เขาชี้ว่า ยูเรเชียยังไม่มีกรอบความร่วมมือระดับทวีปเหมือนภูมิภาคอื่น ๆ และจึงจำเป็นต้องมี กระบวนการรวมกลุ่ม เพื่อปรับผลประโยชน์ของมหาอำนาจและอารยธรรมต่าง ๆ ให้สอดคล้องกัน
ลาฟรอฟเปรียบเทียบว่า ทวีปอื่น ๆ อย่างแอฟริกามี สหภาพแอฟริกา (African Union) และลาตินอเมริกามี ประชาคมลาตินอเมริกาและแคริบเบียน (CELAC) ซึ่งนอกเหนือจากกลุ่มย่อยในภูมิภาคแล้ว ยังมีองค์กรครอบคลุมระดับทวีป ขณะที่ยูเรเชียยังไม่มีองค์กรในลักษณะนี้เลย
IMCT News