BRICS เล็งตั้งกลไกค้ำประกันการลงทุนพหุภาคี

BRICS เล็งตั้งกลไกค้ำประกันการลงทุนพหุภาคี หวังเสริมเสถียรภาพเศรษฐกิจโลกท่ามกลางแรงกดดันจากสหรัฐฯ
27-4-2025
SCMP รายงานว่า เจ้าหน้าที่ระดับสูงของบราซิลเปิดเผยว่า ประเทศสมาชิก BRICS ได้เริ่มการหารือเบื้องต้นเกี่ยวกับการจัดตั้งกลไกค้ำประกันการลงทุนแบบพหุภาคี โดยมีเป้าหมายเพื่อเสริมสร้างบทบาทของกลุ่มในการช่วยรักษาเสถียรภาพเศรษฐกิจโลก
ทาเทียนา โรซิโต เลขาธิการด้านกิจการระหว่างประเทศประจำกระทรวงการคลังบราซิล กล่าวว่า การเจรจาดังกล่าวเกิดขึ้นหลังการประชุมกลุ่มบริกส์อย่างไม่เป็นทางการในช่วงการประชุมฤดูใบไม้ผลิของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) และธนาคารโลกที่กรุงวอชิงตัน ดีซี
กลไกที่นำเสนอนี้จะใช้รูปแบบตามองค์การค้ำประกันการลงทุนพหุภาคี (MIGA) ของธนาคารโลก ซึ่งช่วยประเทศกำลังพัฒนาดึงดูดการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ ด้วยการเสนอประกันความเสี่ยงทางการเมืองและการค้ำประกันสินเชื่อ
MIGA ให้ความคุ้มครองความเสี่ยงต่างๆ เช่น การเวนคืนทรัพย์สิน การไม่สามารถแปลงสกุลเงินได้ การผิดสัญญา และการหยุดชะงักอันเนื่องมาจากความขัดแย้ง หน่วยงานที่ก่อตั้งขึ้นในปี 1988 นี้ ได้ช่วยลดความเสี่ยงให้กับโครงการโครงสร้างพื้นฐานและพลังงานในสภาพแวดล้อมที่มีความผันผวนสูงที่สุดแห่งหนึ่งของโลก
หากมีการจัดตั้งขึ้น กลไกคล้าย MIGA ในรูปแบบของ BRICS อาจจะถูกเพิ่มเข้าไปในชุดเครื่องมือทางการเงินของกลุ่ม เคียงคู่กับข้อตกลงสำรองเงินฉุกเฉิน (Contingent Reserve Arrangement - CRA) ซึ่งลงนามในปี 2014 และเริ่มดำเนินการตั้งแต่ปี 2016
ปัจจุบัน CRA เป็นกองทุนสภาพคล่องมูลค่า 1 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ที่ช่วยเหลือประเทศสมาชิก BRICS ในช่วงวิกฤติดุลการชำระเงินผ่านการแลกเปลี่ยนสกุลเงิน ช่วยปกป้องเศรษฐกิจเกิดใหม่จากความผันผวนทางการเงินระดับโลก และลดการพึ่งพาสถาบันอย่าง IMF
โรซิโตกล่าวว่า การเสริมสร้างเสถียรภาพทางการเงินในกลุ่มประเทศบริกส์ ซึ่งคิดเป็นประมาณ 41% ของผลผลิตทางเศรษฐกิจทั่วโลก เป็นหนึ่งในเป้าหมายสำคัญของบราซิล
ในปีนี้ บราซิลดำรงตำแหน่งประธานหมุนเวียนของกลุ่ม BRICS และจะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมสุดยอดผู้นำในเดือนกรกฎาคมนี้ โดยเลขาธิการชาวบราซิลกล่าวว่า การปฏิรูป "ระบบการเงินและการคลังระหว่างประเทศ" เป็นเรื่องสำคัญลำดับต้น ซึ่งรวมถึง "การเสริมความเข้มแข็งให้กับกลไกเฉพาะของกลุ่มบริกส์ เช่น ธนาคารบริกส์และ CRA"
โรซิโตเสริมว่า แม้ว่าธนาคารเพื่อการพัฒนาใหม่ (New Development Bank - NDB) ซึ่งเป็นสถาบันที่ตั้งอยู่ในเซี่ยงไฮ้และมักเรียกอย่างไม่เป็นทางการว่า "ธนาคารBRICS จะมีอำนาจในการให้การค้ำประกันอยู่แล้ว แต่ขณะนี้กำลังมีการหารือเกี่ยวกับความเป็นไปได้ในการสร้างกลไกแยกต่างหาก
"เราได้หยิบยกประเด็นนี้ขึ้นมา และขณะนี้กำลังมีการหารือว่าจะวางกลไกดังกล่าวไว้ที่ไหนและอย่างไร ซึ่งอาจอยู่ภายในธนาคารบริกส์ก็ได้ แต่เรื่องนี้ยังอยู่ในขั้นตอนการศึกษา" เธอกล่าว พร้อมชี้แจงว่าการตัดสินใจขั้นสุดท้ายจะต้องได้รับการอนุมัติจากคณะกรรมการของ NDB เท่านั้น
ความเคลื่อนไหวนี้เกิดขึ้นท่ามกลางความตึงเครียดที่ปะทุขึ้นอีกครั้งระหว่างกลุ่มบริกส์กับทำเนียบขาว โดยประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ของสหรัฐฯ ได้โจมตีความคิดริเริ่มของกลุ่มหลายครั้ง โดยเฉพาะความพยายามที่จะลดการพึ่งพาเงินดอลลาร์
ทรัมป์ขู่ว่าจะขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจากกลุ่ม BRICS 100% และอ้างว่ากลุ่มซึ่งประกอบด้วยเศรษฐกิจเกิดใหม่ชั้นนำนี้จะล่มสลายภายใต้แรงกดดันทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯ นอกจากนี้ เขายังเรียกความพยายามของกลุ่มในการออกสกุลเงินร่วมว่าเป็น "ภัยคุกคามต่อโลกเสรี"
เพื่อตอบโต้ กลุ่ม BRICS ได้หยิบยกประเด็น "ภาษีตอบโต้" ที่ทรัมป์กำหนดให้กับประเทศสมาชิกบริกส์หลายประเทศ โรซิโตเปิดเผย โดยกล่าวว่าได้มีการหารือเรื่องนี้ในการประชุมของกลุ่มที่วอชิงตัน พร้อมแสดงความกังวลเกี่ยวกับผลกระทบของความตึงเครียดทางการค้าที่รุนแรงขึ้นต่อเศรษฐกิจของประเทศสมาชิก "ในกลุ่ม BRICS [สงครามภาษี] ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของทุกประเทศ" เธอกล่าวเสริม "เรารู้สึกว่าทางเลือกที่ดีที่สุดคือการลดระดับความตึงเครียดเหล่านี้และดำเนินการเจรจาที่มีเหตุผลมากขึ้น"
แม้ว่าประเทศส่วนใหญ่จะได้รับการจัดเก็บภาษีนำเข้าพื้นฐาน 10% หลังจากตลาดถดถอย แต่จีนซึ่งเป็นประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่ในกลุ่มBRICS ยังคงเผชิญกับการปฏิบัติที่รุนแรงกว่าอย่างเห็นได้ชัด โดยสินค้าส่งออกบางรายการของจีนยังคงต้องเสียภาษีสูงถึง 245% ภายใต้มาตรการในยุคทรัมป์ สะท้อนให้เห็นถึงความตึงเครียดที่ยังคงมีอยู่ในความสัมพันธ์ทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีน อย่างไรก็ตาม ท่ามกลางความท้าทายเหล่านี้ ความสัมพันธ์ระหว่างบราซิลกับจีนยังคงแน่นแฟ้น เลขาธิการชาวบราซิลระบุ
"เรามีการประชุมกลุ่มBRICS ที่ยอดเยี่ยม เรามีความสัมพันธ์ที่ดีเยี่ยมกับจีน" โรซิโตกล่าวเสริม "เรามีคณะอนุกรรมการร่วมบราซิล-จีนในด้านการเงิน เราพบปะกันอยู่เสมอ... เราสื่อสารกันตลอด"
---
IMCT NEWS : Photo: Handout