จีนยืนยัน 'เงินฝืด' คือโอกาส ชี้ราคาถูกลง-คุณภาพดีขึ้นคือการขับเคลื่อนอุตสาหกรรม
15-1-2025
วิเคราะห์เศรษฐกิจจีน: ภาวะเงินฝืดคือกลยุทธ์ขับเคลื่อนอุตสาหกรรม
Asia Time นำเสนอบทความภาวะเงินฝึดและกลยุทธ์ของจีนว่า ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ของจีน ตั้งคำถามที่สร้างความฮือฮาในวงการเศรษฐกิจโลกว่า "ภาวะเงินฝืดมีอะไรแย่นัก? ประชาชนไม่ชอบหรือที่สินค้าราคาถูกลง" สะท้อนมุมมองที่แตกต่างต่อสภาวะเศรษฐกิจที่หลายฝ่ายกังวล
ข้อมูลจากสหประชาชาติระบุว่า ภาคการผลิตของจีนมีแนวโน้มจะเพิ่มขึ้นเป็น 45% ของการผลิตทั่วโลกในปี 2573 จากเดิมที่มีสัดส่วน 30% ในปี 2565 สวนทางกับความกังวลของนักวิเคราะห์ที่มองว่าจีนกำลังเผชิญปัญหาเช่นเดียวกับญี่ปุ่นในช่วงทศวรรษ 1990
อย่างไรก็ตาม ภาวะเงินฝืดของจีนมีความแตกต่างอย่างสิ้นเชิงจากกรณีของญี่ปุ่น โดยญี่ปุ่นเผชิญภาวะเงินฝืดจากการลดลงของอุปสงค์หลังฟองสบู่แตก ขณะที่จีนเกิดจากการเพิ่มขึ้นของอุปทานจากการผลิตที่มีประสิทธิภาพสูงขึ้น
ตัวอย่างที่ชัดเจนคือ อุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า ในปี 2567 ราคารถยนต์เฉลี่ยในจีนอยู่ที่ประมาณ 180,000 หยวน (ราว 25,000 ดอลลาร์สหรัฐ) สามารถซื้อรถซีดานขนาดใหญ่ BYD Han รุ่นกลางได้ เทียบกับปี 2563 ที่ราคาเฉลี่ย 150,000 หยวน (ราว 22,000 ดอลลาร์สหรัฐ) ซื้อได้เพียง Toyota Corolla รุ่นคอมแพคท์
นักวิเคราะห์ Glenn Luk เปิดเผยว่า ในช่วง 16 ปีที่ผ่านมา BYD สามารถลดราคารถรุ่น Qin PHEV ลงได้มากกว่าครึ่ง (ราว 14,000 ดอลลาร์สหรัฐ) ขณะที่เพิ่มระยะทางวิ่งและกำลังเครื่องยนต์ได้มากถึง 4 เท่า
ปรากฏการณ์นี้ไม่ได้จำกัดอยู่เพียงอุตสาหกรรมยานยนต์ แต่ครอบคลุมถึงสินค้าอุปโภคบริโภคหลากหลายประเภท ตั้งแต่อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ สมาร์ทโฟน เครื่องใช้ไฟฟ้า ไปจนถึงบริการร้านอาหารและโรงแรมบูติก
รัฐบาลจีนเลือกใช้นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจที่แตกต่างจากประเทศตะวันตก โดยมุ่งเน้นการสนับสนุนด้านอุปทาน เช่น การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัล และการให้สินเชื่อแก่อุตสาหกรรมการผลิตขั้นสูง แทนการแจกเงินโดยตรงให้ประชาชนเพื่อกระตุ้นการบริโภค
ทั้งนี้ ภาวะเงินฝืดที่เกิดจากการเพิ่มขึ้นของอุปทานครั้งล่าสุดในประวัติศาสตร์เศรษฐกิจโลก เคยเกิดขึ้นในสหรัฐอเมริกาช่วงปี 2416-2442 หลังสงครามกลางเมือง ซึ่งเป็นยุคที่มีการลงทุนพัฒนาอุตสาหกรรมอย่างมาก ทั้งระบบราง การผลิตเหล็ก และการผลิตสินค้าอุตสาหกรรม
ด้วยความสำเร็จของโครงการ Made in China 2025 การเติบโตของกลุ่มอุตสาหกรรมในพรรคคอมมิวนิสต์จีน และการคาดการณ์ว่าแรงงานด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรมศาสตร์ และคณิตศาสตร์ (STEM) ของจีนจะเพิ่มขึ้นเป็น 3 เท่าในอีก 20 ปีข้างหน้า ทำให้มีความเป็นไปได้สูงที่จีนจะเผชิญภาวะเงินฝืดที่เกิดจากการเพิ่มขึ้นของอุปทานต่อเนื่องยาวนาน
ภาวะดังกล่าวอาจเป็นกุญแจสำคัญในการพัฒนาอุตสาหกรรมของประเทศกำลังพัฒนาทั่วโลก ที่ต้องการเงินทุนและสินค้าทุน เช่น ระบบพลังงานแสงอาทิตย์ ระบบไฟฟ้า โครงสร้างพื้นฐาน และยานพาหนะ มากกว่าการเข้าถึงตลาด
---
IMCT NEWS
ที่มา https://asiatimes.com/2025/01/in-defense-of-chinese-deflation/