กลุ่มทุนเหมืองทองจีน เล็งเป้าขยายธุรกิจ

กลุ่มทุนเหมืองทองจีน เล็งเป้าขยายธุรกิจผ่านการซื้อกิจการเหมืองทองทั่วโลก
19-5-2025
บริษัทขุดทองขนาดใหญ่จีนรอจังหวะราคาทองเสถียรเพื่อเข้าซื้อกิจการ หลังพบช่องทางลงทุนมากกว่าปีก่อน ผู้ผลิตทองคำชั้นนำของจีนกำลังเดินหน้าค้นหาโอกาสเข้าซื้อกิจการทั่วโลก แม้ว่าความผันผวนของราคาทองคำในช่วงนี้ ซึ่งมีสาเหตุจากความไม่แน่นอนทางการค้าระหว่างประเทศ ทำให้บริษัทต้องชะลอการตัดสินใจลงนามในข้อตกลงต่างๆ
"มีโครงการมากมายในตลาดที่เจ้าของพร้อมขาย" ลิเดีย หยาง ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของบริษัท ฉีเฟิง จีหลง โกลด์ ไมนิ่ง (Chifeng Jilong Gold Mining Co.) กล่าวในการให้สัมภาษณ์ทางออนไลน์จากกรุงปักกิ่งเมื่อวันพฤหัสบดี เธอยังสังเกตเห็นว่าปีนี้มีโอกาสในการเข้าซื้อกิจการมากกว่าปีก่อนหน้า
ฉีเฟิง โกลด์ (Chifeng Gold) ผู้ประกอบการเหมืองทองที่ขยายกำลังการผลิตอย่างรวดเร็วทั้งในประเทศและต่างประเทศ ปัจจุบันเป็นผู้ผลิตทองคำรายใหญ่ที่สุดของจีนที่ไม่ได้อยู่ภายใต้การควบคุมของรัฐ ผลผลิตทองคำรวมต่อปีจากเหมือง 5 แห่งในจีน และอีกแห่งละหนึ่งเหมืองในกานา (ซึ่งซื้อมาในปี 2564) และลาว ได้เพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดดจากประมาณ 2 ตันในปี 2562 เป็น 15.2 ตันในปีที่ผ่านมา
บริษัทเหมืองทองในจีน ซึ่งเป็นประเทศผู้ผลิตทองรายใหญ่ที่สุดของโลก กำลังแข่งขันกันทำข้อตกลงในต่างประเทศกับบรรดาบริษัทยักษ์ใหญ่ระดับนานาชาติมากขึ้น โดยได้รับแรงกระตุ้นจากราคาทองคำที่พุ่งทำสถิติในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา
เพื่อเป็นส่วนหนึ่งของยุทธศาสตร์การขยายธุรกิจระดับโลก ฉีเฟิง โกลด์ได้เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฮ่องกงเมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา หลังจากระดมทุนได้ 2.82 พันล้านดอลลาร์ฮ่องกง (ประมาณ 361 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) ซึ่งนับจากวันแรกที่เข้าตลาด ราคาหุ้นของบริษัทได้พุ่งขึ้นถึง 80%
"ฮ่องกงให้โอกาสในการเข้าถึงแหล่งเงินทุนโดยตรง ดังนั้นเมื่อเราพบโอกาสการลงทุนที่น่าสนใจ เราสามารถดำเนินการได้อย่างรวดเร็ว" หยางกล่าว
ด้วยปริมาณการผลิตทองคำทั่วโลกที่ทรงตัวใกล้เคียงกับระดับของปี 2561 และการสำรวจแหล่งใหม่ที่ล่าช้า ผู้ประกอบการเหมืองบางรายที่มีสินทรัพย์อายุมากจึงมองว่าการควบรวมและซื้อกิจการ (M&A) เป็นแนวทางที่ดีที่สุดในการขยายธุรกิจ นอกเหนือจาก CMOC Group ของจีนแล้ว Northern Star Resources Ltd. ของออสเตรเลีย และ Gold Fields Ltd. ของแอฟริกาใต้ ต่างก็เป็นผู้ซื้อบริษัทขนาดเล็กรายล่าสุดในตลาด
ตามการคำนวณของบลูมเบิร์ก ในปี 2567 มูลค่าของข้อตกลงในกลุ่มโลหะมีค่าที่เสร็จสิ้นและอยู่ระหว่างการเสนอได้เติบโตขึ้นเกือบร้อยละ 25 และคิดเป็นมากกว่าครึ่งหนึ่งของข้อตกลงทั้งหมดที่เกิดขึ้นในภาคอุตสาหกรรมโลหะโดยรวม
อย่างไรก็ตาม ฉีเฟิงกำลังใช้แนวทางที่รอบคอบในการควบรวมและซื้อกิจการท่ามกลางความผันผวนของราคาที่เพิ่มสูงขึ้นในปัจจุบัน ราคาทองคำได้ลดลงประมาณร้อยละ 8 นับตั้งแต่ทำสถิติสูงสุดที่ประมาณ 3,500 ดอลลาร์ต่อออนซ์เมื่อเดือนที่แล้ว เนื่องจากความหวังต่อความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯ และจีนที่ดีขึ้นได้ลดทอนคุณค่าของทองคำในฐานะสินทรัพย์ปลอดภัย
สถานการณ์นี้ทำให้ฉีเฟิง ซึ่งหยางยืนยันว่าไม่มีแผนจะกระจายการลงทุนไปยังทรัพยากรประเภทอื่น จะต้องพิจารณาข้อตกลงการเข้าซื้อกิจการในระยะใกล้นี้อย่างรอบคอบ
"เมื่อราคาสูงเช่นนี้ การกำหนดมูลค่ากิจการเป็นเรื่องยาก เพราะผู้ขายมีความคาดหวังที่สูงขึ้น" เธอกล่าว "อาจจะดีกว่าหากรอจนกว่าสถานการณ์จะมีเสถียรภาพมากขึ้น"
---
IMCT NEWS
ที่มา https://www.mining.com/web/chinese-gold-miner-scours-globe-for-takeover-targets/
Photo : Credit: Chifeng Jilong Gold Mining