อิสราเอลเปิดฉากโจมตีทางอากาศในกรุงดามัสกัส

อิสราเอลเปิดฉากโจมตีทางอากาศใกล้ทำเนียบประธานาธิบดีในกรุงดามัสกัส
3-5-2025
เมื่อช่วงเช้ามืดวันศุกร์ นายกรัฐมนตรีเบนจามิน เนทันยาฮู ของอิสราเอลเปิดเผยว่า อิสราเอลได้โจมตีทางอากาศใกล้ทำเนียบประธานาธิบดีในกรุงดามัสกัส เมืองหลวงของซีเรีย โดยเน้นย้ำว่า อิสราเอลจะไม่ยอมให้กองกำลังซีเรียเคลื่อนทัพลงมาทางตอนใต้ของเมืองหลวง หรือคุกคามชาวดรูซ ซึ่งเป็นชนกลุ่มน้อยที่อาศัยอยู่ในซีเรีย นี่เป็นครั้งที่สองภายในสองวันที่อิสราเอลโจมตีซีเรีย สืบเนื่องจากคำมั่นว่าจะปกป้องกลุ่มดรูซ หลังเกิดเหตุปะทะระหว่างชาวดรูซกับกลุ่มติดอาวุธชาวสุหนี่เมื่อต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา
กลุ่มดรูซนับถือศาสนาที่แตกแขนงมาจากอิสลาม และมีประชากรอาศัยอยู่ในซีเรีย เลบานอน และอิสราเอล
การโจมตีครั้งนี้สะท้อนความไม่ไว้วางใจอย่างลึกซึ้งของอิสราเอลต่อกลุ่มอิสลามิสต์สายสุหนี่ ซึ่งมีบทบาทในการโค่นล้มประธานาธิบดีบาชาร์ อัล-อัสซาด เมื่อเดือนธันวาคมที่ผ่านมา โดยสถานการณ์ดังกล่าวเป็นอุปสรรคสำคัญต่อความพยายามของประธานาธิบดีรักษาการ อาห์เหม็ด อัล-ชาอ์ราอา ในการฟื้นฟูความมั่นคงและควบคุมประเทศที่ยังคงแตกเป็นเสี่ยง ๆ
“เมื่อคืนที่ผ่านมา อิสราเอลได้โจมตีใกล้กับทำเนียบประธานาธิบดีในกรุงดามัสกัส”
เนทันยาฮูกล่าวในแถลงการณ์ร่วมกับรัฐมนตรีกลาโหมอิสราเอล แคตซ์ “นี่คือข้อความชัดเจนถึงรัฐบาลซีเรียว่า อิสราเอลจะไม่ยอมให้มีการเคลื่อนกำลังพลทางใต้ของดามัสกัส และจะไม่ยอมให้เกิดภัยคุกคามต่อชาวดรูซ”
กองทัพอิสราเอลระบุว่า จุดที่ถูกโจมตีอยู่ “ใกล้บริเวณทำเนียบของอาห์เหม็ด ฮุสเซน อัล-ชาอ์ราอา” แต่ไม่ได้เปิดเผยรายละเอียดของเป้าหมาย ส่วนรัฐบาลซีเรียยังไม่แสดงความเห็นใด ๆ เกี่ยวกับเหตุการณ์นี้
หลังอัสซาดถูกโค่นล้มเมื่อปลายปีที่ผ่านมา อิสราเอลได้เข้ายึดพื้นที่ทางตอนตะวันตกเฉียงใต้ของซีเรีย พร้อมประกาศว่าจะปกป้องกลุ่มดรูซอย่างเต็มที่ รวมทั้งเรียกร้องให้รัฐบาลวอชิงตันไม่สนับสนุนให้ซีเรียกลับมาเข้มแข็ง และยังได้โจมตีอาวุธหนักของกองทัพซีเรียหลายแห่งในช่วงไม่กี่วันหลังอัสซาดพ้นตำแหน่ง
อาห์เหม็ด อัล-ชาอ์ราอา ซึ่งเคยเป็นสมาชิกระดับสูงของอัลกออิดะห์ก่อนจะถอนตัวในปี 2016 ได้ให้คำมั่นว่าจะปกครองประเทศอย่างครอบคลุมและเปิดกว้างต่อทุกฝ่าย แต่เหตุการณ์ความรุนแรงเชิงศาสนาที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะกรณีการสังหารหมู่ชาวอะลาวีเมื่อเดือนมีนาคม ได้เพิ่มความกังวลของชนกลุ่มน้อยที่ไม่มั่นใจในท่าทีของรัฐบาลชุดใหม่
ความรุนแรงระลอกล่าสุดเริ่มต้นเมื่อวันอังคาร จากเหตุปะทะระหว่างชาวดรูซกับกลุ่มติดอาวุธชาวสุหนี่ในเมืองจารามานา ซึ่งเป็นพื้นที่ของชาวดรูซ โดยมีชนวนเหตุจากคลิปเสียงที่มีเนื้อหาหยาบคายต่อศาสดามูฮัมหมัด ซึ่งกลุ่มสุหนี่สงสัยว่าเป็นฝีมือของชาวดรูซ
มีรายงานว่ามีผู้เสียชีวิตกว่า 10 รายในวันแรกของเหตุการณ์ และในวันถัดมา ความรุนแรงได้ขยายตัวไปยังเมืองซาห์นายา ชานกรุงดามัสกัส ซึ่งเป็นอีกหนึ่งชุมชนของชาวดรูซ
-----------------------------------
เจ้าหน้าที่ UN ชี้ อัฟกานิสถานเผชิญวิกฤตรอบด้าน
3-5-2025
คุนดุซ — การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ, สิทธิสตรี, การพลัดถิ่น และความยากจน — อัฟกานิสถานยังคงเป็นประเทศที่ต้องให้ความสำคัญอย่างเร่งด่วน เนื่องจากกำลังเผชิญกับวิกฤตซ้อนทับหลายด้าน ตามคำกล่าวของ Tom Fletcher หัวหน้าสำนักงานบรรเทาทุกข์แห่งสหประชาชาติ เมื่อวันพุธ โดยเขาแสดงความเสียใจต่อ “การตัดงบประมาณช่วยเหลืออย่างโหดร้าย”
“เราระบุได้ 17 วิกฤตทั่วโลกที่เราจำเป็นต้องเข้าไปมีส่วนร่วมอย่างเร่งด่วนและสำคัญที่สุด ซึ่งอัฟกานิสถานอยู่ในลำดับต้น ๆ ของรายชื่อนั้น” Fletcher ผู้ดำรงตำแหน่งรองเลขาธิการสหประชาชาติด้านมนุษยธรรม กล่าวในการให้สัมภาษณ์กับ AFP ระหว่างการเยือนจังหวัดคุนดุซ
การเดินทางครั้งนี้เกิดขึ้นหลังจากที่ประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ ของสหรัฐฯ มีมติลดงบประมาณช่วยเหลือจากต่างประเทศอย่างมาก ซึ่งสร้างแรงกระเพื่อมไปทั่วโลก สหรัฐอเมริกาเคยเป็นผู้บริจาคหลักให้แก่อัฟกานิสถาน โดยตั้งแต่ที่กลุ่มตาลีบันกลับมามีอำนาจในปี 2021 และนำกฎหมายอิสลามในรูปแบบเข้มงวดมาใช้ รัฐบาลสหรัฐได้ใช้เงินไปแล้วกว่า 3.71 พันล้านดอลลาร์ในด้านมนุษยธรรมและการพัฒนา
“ตอนนี้เราอยู่ในช่วงที่ต้องจัดลำดับความสำคัญอย่างเข้มงวด และต้องตัดสินใจอย่างโหดร้าย...เป็นการตัดสินใจที่หมายถึงชีวิตหรือความตายจริง ๆ ว่าเราจะปฏิบัติงานที่ไหน และจะช่วยชีวิตใคร” Fletcher กล่าว
“คุณอาจมองซูดานในแง่ของขนาดของวิกฤต หรือมองฉนวนกาซาในแง่ของความรุนแรงและความดุเดือดของการสังหาร แต่สำหรับอัฟกานิสถาน มันเป็นวิกฤตที่หนักด้วยความซับซ้อนและทับซ้อน...และนั่นก็ไม่ได้หมายความว่ามันจะเล็กลงเลย”
เขาเสริมว่า การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศส่งผลกระทบต่อประเทศในเอเชียกลางแห่งนี้ “อย่างหนักหน่วงเป็นพิเศษ” และอาจ “เป็นปัจจัยที่กระตุ้นความต้องการด้านมนุษยธรรมยิ่งกว่าความขัดแย้งเสียอีกในอนาคตข้างหน้า”
“และทั้งหมดนี้ยังซ้อนทับกับระดับความยากจนที่มีอยู่เดิม บวกกับความไม่มั่นคงและความขัดแย้งที่ยืดเยื้อมานานหลายทศวรรษ”
สถานการณ์ด้านสิทธิสตรีในอัฟกานิสถานยังเพิ่มแรงกดดันให้ “วิกฤตที่ถาโถมซ้อนทับกัน”เพิ่มมากขึ้น Fletcher กล่าวเพิ่มเติม โดยระบุว่ารัฐบาลตาลีบันได้ออกข้อจำกัดต่าง ๆ ต่อผู้หญิง ซึ่งองค์การสหประชาชาติได้ประณามว่าเป็น “การแบ่งแยกทางเพศโดยสิ้นเชิง” (gender apartheid)
ที่มา https://tribune.com.pk/story/2543340/un-official-finds-afghanistan-deep-in-crises