.

ทรัมป์เหลือไพ่ไม่กี่ใบในมือ
@SecScottBessent
: "ระบบเก่าไม่ทำงานแล้ว และถ้าคุณมองดูระบบที่ไม่ทำงาน คุณต้องกล้าที่จะเปลี่ยนแปลงมัน ... มันคงง่ายที่จะสูบฉีดเงินเข้าสู่เศรษฐกิจต่อไป กู้ยืมเงินจำนวนมาก สร้างงานของรัฐบาล ... แต่สุดท้ายคุณจะจบลงด้วยหายนะ"
นี้คือคำพูดที่ออกมาจากปากของสก็อตต์ เบสเซนท์ รมว คลังของสหรัฐที่ให้สัมภาษณ์กับทักเกอร์ คาร์ล์สัน ยอมรับว่าวันดีๆ the good old daysของสหรัฐได้สิ้นสุดลงแล้ว สหรัฐไม่สามารถรักษามาตรฐานการครองชีพที่สูงที่สุดในโลกได้อีกต่อไปผ่านการใช้จ่ายเงินล่วงหน้า หรือการพึ่งพาระบบหนี้ ทุกคนทราบกันดีว่าหนี้ทำให้เกิดฟองสบู่ และในที่สุดฟองสบู่ต้องแตก เมื่อฟองสบู่แตก หายนะทางเศรษฐกิจจะตามมา
สหรัฐผ่านวิกฤตเศรษฐกิจหลายครั้ง ไม่ว่าจะเป็นช่วงดอตคอม ปี 2000, เลห์แมน บราเธอร์ส ปี 2008-2009, โควิด ปี 2020 แต่ทุกคร้ังก็ฟันผ่าวิกฤตได้เนื่องจากงบดุลของประเทศมีขนาดใหญ่ สามารถก่อหนี้เพิ่มเพื่อกลบปัญหา เนื่องจากมีดอลล่าร์เป็นเงินสกุลหลักของโลก ทำให้พิมพ์เงินดอลล่าร์ออกมาเพื่อต่ออายุเศรษฐกิจได้ โดยไม่ได้รับผลกระทบเรื่องเงินเฟ้อ หรือการทำลายค่าเงิน เพราะว่ามีอุปสงค์สำหรับดอลล่าร์ทั่วโลกที่ต้องใช้ดอลล่าร์ในการค้าขาย หรือทำธุรกรรมทางการเงิน คนอเมริกันจึงหลงเชื่อว่า อเมริกาเป็นประเทศที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในโลก สามารถใช้จ่ายอย่างสุรุ่ยสุร่ายกินดีอยู่ดีได้ตลอดไป แต่ความจริงหาเป็นเช่นนั้นไม่ ชนชั้นกลางเริ่มได้รับผลกระทบจากระบบเศรษฐกิจที่ถูกแปลงให้เป็นการเงิน (Financialization) และความสามารถในการแข่งขันที่ลดลงของเศรษฐกิจสหรัฐที่แทบที่จะไม่มีระบบอุตสาหกรรม เพราะเน้นการบริการและการบริโภค ทำให้เกิดช่องว่างของรายได้มหาศาล ส่วนคนจนระดับล่างไม่ต้องพูดถึง เพราะว่ามีชีวิตค่อนข้างลำบากจากการขายแรงงานราคาถูก แต่ค่าครองชีพแพง ที่ผ่านมามีแต่คนรวยเท่านั้นที่มีสัดส่วนน้อยมากของประชากรได้ประโยชน์อย่างมากจากระบบหนี้ที่เอื้อต่อการเติบโตของทรัพย์สินทางการเงิน
เวลานี้ระบบหนี้ของสหรัฐเดินหน้าต่อไปไม่ได้ เพราะว่าหนี้เพิ่มมากกว่ารายได้แบบไม่เห็นฝุ่น เจ้าหนี้รู้สึกไม่สบายใจที่จะถือครองหนี้สหรัฐ ทำให้เศรษฐกิจต้องเผชิญกับวิกฤตรอบใหม่อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เศรษฐกิจของสหรัฐถูกออกแบบมาให้อยู่ในวงจร Boom & Bust Cycleในทุกๆ7-10ปี บูมคือการที่เฟดลดดอกเบี้ยให้ตลอดหุ้นอู้ฟู้ และระบบเครดิตมีการขยายตัวทำให้เศรษฐกิจเติบโต และมีการจ้างงาน บัสท์คือการที่เฟดขึ้นดอกเบี้ยเพื่อสกัดเงินเฟ้อและฟองสบู่ที่เกิดจากการขยายตัวของเครดิต และการใช้จ่ายที่เกินตัวของภาครัฐ วิกฤตรอบต่อไปจะเกิดในสมัยโดนัลด์ ทรัมป์พอดี ทำให้เป็นความท้าทายของทรัมป์ว่าจะแก้ปัญหาอย่างไร
แม้ทรัมป์จะรู้ว่าอเมริกากำลังสู่ยุคแห่งความตกต่ำ และเขาไม่ได้มีไพ่ในมือหลายใบที่จะเล่นเหมือนเดิม แต่ก็ต้องหลอกคนอเมริกันว่า สหรัฐกำลังเข้าสู่ยุคทองของความรุ่งเรืองอย่างไม่เคยมีมาก่อนในประวัติศาสตร์ของสาธารณรัฐ ท้ังๆที่ธนาคารเฟดสาขาแอตแลนต้าประเมินแล้วว่าเศรษฐกิจสหรัฐติดลบ2.50%ในไตรมาสแรกของปีนี้ ทำให้หลายคนต้องยอมรับความจริงว่าเศรษฐกิจสหรัฐกำลังถลำเข้าไปในภาวะถดถอยแล้ว เมื่อเศรษฐกิจเข้าสู่การถดถอย มันจะยากที่จะดึงกลับขึ้นมา เพราะว่าต้องใช้นโยบายการเงิน และการคลังที่รุนแรง ในขณะที่ภาคธุรกิจจะไม่ลงทุนจนกว่าจะเห็นผลจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ ตลาดหุ้นแครชไปแล้ว เป็นการออกอาการฟองสบู่แตก
อเมริกาจะกลับมารุ่งเรืองใหม่ได้ ต้องมีการยกเครื่องระบบเศรษฐกิจและการเงิน ในการยกเครื่องทุกคร้ัง จะมีความเจ็บปวดตามมา ความยากลำบากคือคนอเมริกันไม่พร้อมที่จะยอมรับความยากลำบาก เพราะว่าสำหรับหลายที่ที่มีรายได้เดือนชนเดือน และมีภาระหนี้สูง ความเจ็บปวดจากการปฏิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจและการเงินยิ่งจะเพิ่มความรุนแรงขึ้น ด้วยเหตุนี้ อีลอน มัสก์ที่ต้องการยกเครื่องการทำงานของภาครัฐ และประหยัดการใช้จ่ายงบประมาณ ด้วยการไล่หรือลดจำนวนพนักงานรัฐลงจึงถูกการต่อต้านที่รุนแรง เพราะว่าการใช้จ่ายภาครัฐมีสัดส่วนที่สุงมากต่อจีดีพี ที่ผ่านมาทำได้ เพราะว่ารัฐบาลสามารถก่อหนี้ผ่านงบประมาณการขาดดุลได้อย่างต่อเนื่อง เพราะว่าหนี้ดอลล่าร์เป็นที่ต้องการของตลาดที่หวังได้ดอกเบี้ย แต่ในเวลานี้ หนี้ดอลล่าร์เริ่มออกอาการ เจ้าหนี้ไม่อยากที่จะรับ เพราะว่ากลัวสหรัฐจะเบี้ยวหนี้ที่ท่วมถึงคอหอย
ทางด้านเศรษฐกิจมหภาค ทรัมป์ต้องการลดการขาดดุลการค้าที่เกิดขึ้นทุกๆปีในปริมาณที่มหาศาล ปีที่แล้วสหรัฐขาดดุลเกือบแตะระดับ$1ล้านล้าน ที่ผ่านมา สหรัฐขาดดุลการค้าแต่ไม่มีปัญหา เพราะว่าสามารถออกบอนด์เพื่อจ่ายหนี้ได้ หรือพูดง่ายๆใช้หนี้จ่ายหนี้นั่นเอง นี่คือสิ่งที่ประธานาธิบดีชาร์ลส เดอ โกลของฝรั่งเศสบอกในปี1965ว่ามันเป็นเรื่องที่ไม่เป็นธรรม เพราะว่าเวลาสหรัฐขาดดุลการค้ากับประเทศคู่ค้า แทนที่จะเคลียร์บัญชีระหว่างกันด้วยทองคำ ซึ่งเป็นเงินที่แท้จริง สหรัฐกลับออกบอนด์เพื่อไปชำระหนี้ของการขาดดุล ก่อนหน้านั้น ประเทศต่างๆเคลียร์บัญชีการค้ากันด้วยการจ่ายเป็นทองคำ อีกสามปีต่อมาเดอ โกลต้องสูญเสียอำนาจจากการปฏิวัติสี เพราะว่าบังอาจไปตั้งคำถามกับลุงแซมที่ไม่เคยเล่นตามกฎกติกา
มองไปข้างหน้า ทรัมป์รู้ตัวดีว่า ประเทศคู่ค้าจะไม่ขายสินค้าให้สหรัฐเพื่อแลกกับหนี้อีกต่อไป พวกเขาอยากได้ทองคำ ไม่ใช่ดอลล่าร์กระดาษ หรือพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐที่ก่อหนี้เหมือนไม่มีวันพรุ่งนี้ ประเทศคู่ค้าเหล่านี้หมายถึงกลุ่มBRICSที่ไทยเพิ่งได้เข้าร่วมเป็นพาร์ตเนอร์ และกำลังสร้างระบบการเงินโลกใหม่ที่ออกจากระบบดอลล่าร์ และระบบชำระเงินSWIFTที่สหรัฐควบคุมอยู่ ขนาดเศรษฐกิจและประชากรของกลุ่มBRICSใหญ่กว่ากลุ่มG7แล้ว และมีแนวโน้มจะมีอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่สูงกว่า และจะแซงหน้าไปในที่สุดในทุกด้าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งจีนที่กำลังเป็นผู้นำโลกด้านเทคโนโลยี และระบบการผลิต และมีการกระจายสินค้าการส่งออกไปยังภูมิภาคอื่นๆเพื่อลดความสำคัญของตลาดสหรัฐลงไปแล้ว
ที่สำคัญที่สุด BRICSอยู่ได้โดยไม่ต้องมีอเมริกา เพราะว่ามีทรัพยากร มีเทคโนโลยี มีสินค้าโภคภัณฑ์ มีพลังงาน มีระบบการผลิตของตัวเอง มีตลาดที่ใหญ่ครอบคลุมเอเชีย ตะวันออกกลาง แอฟริกา ละตินอเมริกา ไม่จำเป็นที่ต้องพึ่งพาสหรัฐอีกต่อไป โดยที่ยุโรปจะมาร่วมวงทีหลังก็ได้ ถ้าหากมีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมยกเลิกลัทธิล่าอาณานิคมเอาเปรียบชาวบ้าน
ภายใต้วิสัยทัศน์ร่วมของสี จิ้นผิง กับปูติน BRICSจะสร้างระเบียบโลกใหม่ทางการเมือง เศรษฐกิจ และการเงินที่เป็นธรรมแบบพหุภาคีที่ประเทศทั่วโลกมีส่วนร่วม และจะถือว่าเป็นการปิดฉากระบบโลกขั้วเดียวที่สหรัฐคุมเกมอยู่ตั้งแต่หลังสงครามโลกคร้ังที่ 2
ทั้งสี จิ้นผิงกับปูตินจึงมีไพ่อยู่ในมือหลายใบที่จะเล่น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องแร่ธาตุที่หายาก สินค้าอุตสาหกรรม สินค้าโภคภัณฑ์ ตลาดใหม่ เทคโนโลยีเอไอ ระบบการเงิน &ระบบชำระเงินใหม่ที่ปลดแอกจากดอลล่าร์ อาวุธยุทโธปกรณ์ก็ล้ำสมัย ต่างจากทรัมป์ที่เหลือไพ่เล่นอยู่เพียงใบเดียวคือแสนยานุภาพ
ด้วยเหตุนี้ ทรัมป์จึงล้มโต๊ะโลกาภิวัฒน์และระบบการค้าเสรีผ่านการตั้งกำแพงภาษีที่สูงตระหง่านเหมือนกำแพงเมืองจีน เพื่อทำให้โลกเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจตกต่ำไปพร้อมๆกับสหรัฐ ประเทศต่างๆจะได้ตกอยู่ในฐานะของความฉิบหายในระดับเดียวกันกับสหรัฐ เพื่อว่าเวลาเรียกประชุมระดับนานาชาติเพื่อหารือการกำหนดระเบียบการเงิน และเศรษฐกิจโลกใหม่ ทรัมป์หวังว่าสหรัฐจะมีอำนาจการต่อรองที่สูงกว่า เพราะว่าโครงสร้างระบบการเงินโลกปัจจุบันที่มีดอลล่าร์กระดาษกำลังสิ้นอายุขัยจากหนี้ที่ท่วมท้นของสหรัฐ และในระบบโลก และจากการที่BRICSเตรียมการใช้ทองคำ และสินค้าโภคภัณฑ์ในการหนุนค่าเงินในการสร้างระเบียบการเงินโลกใหม่
ถ้าหากมีการตอบโต้มาตรการภาษีของทรัมป์ (จีน แคนาดา สหภาพยุโรป ฯลฯ )จะทำให้โลกเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอยที่รุนแรงเร็วยิ่งขึ้น แต่หากมีการเจรจาต่อรองกับทรัมป์ ( ไทยและอีก50กว่าประเทศที่กำลังพยายามติดต่อทำเนียบขาวเพื่อขอเจรจาผ่อนปรนภาษี) ก็จะเป็นการซื้อเวลาออกไป ซึ่งท้ายที่สุดแล้วไทยหรือประเทศคู่ค้าอื่นๆจะไม่ได้ประโยชน์อะไร หรืออาจจะเสียหายมากกว่าเดิมเมื่อทรัมป์รีเซ็ตระบบดอลล่าร์ เบี้ยวหนี้ดอลล่าร์ ลดหนี้ หรือบีบให้คู่ค้าเปลี่ยนการถือบอนด์อายุสั้นเป็นบอนด์อายุ 50ปี หรือ100ปี เพราะว่าหนี้สหรัฐอย่างไรเสียต้องมีการปรับโครงสร้าง
ปรากฎว่าผู้นำของประเทศต่างๆแทนที่จะรวมกันเพื่อต่อรองกับทรัมป์ กลับเลือกที่จะคุยกับทรัมป์ในรูปแบบทวิภาคี ซึ่งทำให้ทรัมป์ได้เปรียบ ไม่รู้เหมือนกันว่าอย่างนี้จะมีอาเซี่ยนไปทำไม เพราะว่าผู้นำอาเซี่ยนต่างคนต่างแยกกันคุยกับทรัมป์ และจะโดนบีบไข่จนหน้าเขียว
ถ้าหากทรัมป์เล็งเห็นว่า สหรัฐรีเซ็ตหนี้ดอลล่าร์ล้มเหลว สร้างระบบการเงินใหม่ที่ไม่สามารถเทียบเคียงระบบของBRICSได้ ทรัมป์จะทิ้งไพ่ใบสุดท้ายที่แนบในอก คือการก่อสงคราม
ความจริงทรัมป์ยังเลี้ยงนโยบายสงครามของพวกดีปสเตทของสหรัฐอยู่เหมือนเดิม ท้ังๆที่โฆษณาชวนเชื่อมาตลอดว่าเขาต้องการสันติภาพ อันเห็นได้จาก 1. การที่สหรัฐยังคงส่งอาวุธและให้ความช่วยเหลือยูเครนอย่างต่อเนื่อง แม้ว่ากำลังเจรจาหยุดยิงกับรัสเซีย 2. การที่ทรัมป์สั่งบอมบ์เยเมน เปิดทางให้อิสราเอลบุกกาซ่า และขู่ที่จะบอมบ์อิหร่านหากไม่ล้มเลิกโครงการนิวเคลียร์. 3. มีการโยกย้ายกองกำลังทหาร และอุปกรณ์ทางทหารมายังภูมิภาคอินโดแปซิฟิคเพื่อปิดล้อมจีนทางทหาร หรือเตรียมการทำสงครามกับจีน โดยใช้ไต้หวันเป็นตัวล่อ
การเจรจาต่อรองเรื่องกำแพงภาษีกับทรัมป์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรณีของไทย และประเทศอาเซี่ยน หรือประเทศในภูมิภาคเอเชียจะมีเรื่องความมั่นคง การซื้ออาวุธ ความร่วมมือทางทหารและการใช้ฐานทัพเข้ามาเกี่ยวข้องอย่างแน่นอน เมื่อสถานการณ์เป็นอย่างนี้ เราต้องรู้ว่าจะคุยกับทรัมป์ในขอบเขตอย่างไร และมีความจำเป็นต้องคำนึงถึงผลประโยชชน์ของความมั่นคงของชาติในองค์รวม มากกว่าผลประโยชน์ของการส่งออกอย่างเดียว
By Thanong Khanthong
7/4/2025