โครงการไอรอนโดมของสหรัฐฯ อาจกระตุ้นการแข่ง
![](../image/news/content_20250208080723.jpg)
นักวิเคราะห์ชี้ โครงการ ‘ไอรอน โดม’ ของสหรัฐฯ อาจกระตุ้นการแข่งพัฒนา-สะสมอาวุธ
7-2-2025
คำสั่งของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ให้สร้างระบบป้องกันการโจมตีทางอากาศ “ไอรอนโดม” ของประเทศเองเพื่อป้องปรามจีนและรัสเซียไม่ให้ใช้อาวุธนิวเคลียร์มาบีบบังคับสหรัฐฯ นั้น อาจนำไปสู่ภาวะการแข่งขันพัฒนาและสะสมอาวุธต่อไปได้ ตามความเห็นของนักวิเคราะห์
เมื่อวันศุกร์ที่แล้ว หน่วยงาน Missile Defense Agency ของรัฐบาลสหรัฐฯ ขอให้ธุรกิจในอุตสาหกรรมป้องกันประเทศให้ช่วยจัดหาเทคโนโลยีและระบบต่าง ๆ ที่มีอยู่เพื่อนำมาสร้างระบบป้องกันการโจมตีด้วยขีปนาวุธ ไอรอน โดม สำหรับอเมริกา (Iron Dome for America) โดยกำหนดเส้นตายไว้ที่สิ้นเดือนกุมภาพันธ์
คำขอดังกล่าวเกิดขึ้นหลังทรัมป์ลงนามในคำสั่งฝ่ายบริหารเมื่อวันที่ 27 มกราคม ที่สั่งการให้เดินหน้าโครงการไอรอน โดม เวอร์ชันอเมริกัน
คำสั่งฝ่ายบริหารดังกล่าวมีเนื้อความว่า “สหรัฐอเมริกาจะจัดหาระบบป้องกันร่วมกันเพื่อพลเรือนของเราและของประเทศด้วยการเคลื่อนกำลังและจัดตั้ง(ระบบ)โล่ป้องกันขีปนาวุธรุ่นใหม่”
แถลงการณ์ของหน่วยงาน Missile Defense Agency ระบุว่า ระบบไอรอน โดม เวอร์ชันของอเมริกาจะทำหน้าที่ป้องกัน “ขีปนาวุธแบบร่อนล้ำยุค ความเร็วเหนือเสียง และแบบทิ้งตัว และการโจมตีทางอากาศจากศัตรูที่มีความสามารถในการรบเท่าเทียมกัน ใกล้เคียงกันและที่เป็นภัยคุกคาม” และว่า ระบบป้องกันดังกล่าวจะช่วยให้มั่นใจว่าสหรัฐฯ มีความสามารถทำการโจมตีโต้กลับด้วยนิวเคลียร์ได้
รายงานข่าวเผยว่า ระบบ “ไอรอน โดม” ที่พูดถึงกันนี้ยังจะมีส่วนที่ทบทวนนโยบายป้องกันตนเองด้วยขีปนาวุธเพื่อบ่งชี้หนทางสำหรับพันธมิตรและหุ้นส่วนของสหรัฐฯ เพื่อเพิ่มความร่วมมือในปฏิบัติการและการพัฒนาระบบขีปนาวุธเพื่อป้องกันประเทศด้วย
ทั้งนี้ ปธน.ทรัมป์สั่ง พีท เฮกเซธ รัฐมนตรีกลาโหม ให้จัดทำแผนงานการสร้างระบบป้องกันการโจมตีด้วยขีปนาวุธภายใน 60 วัน
เสริมสร้างความสามารถในการป้องปราม
โรเบิร์ต ปีเตอร์ส นักวิจัยของโครงการ Nuclear Deterrence and Missile Defense มูลนิธิ Heritage Foundation บอกกับ วีโอเอ ในการสัมภาษณ์ทางโทรศัพท์ว่า ระบบ Iron Dome for America “จะช่วยกำจัดประเด็นการที่มีผู้พยายามใช้อาวุธนิวเคลียร์บีบบังคับสหรัฐฯ” นอกเหนือไปจากการช่วยป้องกันการถูกโจมตีจริง ๆ ได้ด้วย
ปีเตอร์สบอกด้วยว่า การที่สหรัฐฯ จะสร้างระบบป้องกันตัวเองนี้เป็นเรื่องที่ทำได้จริง และว่า “ไม่มีเหตุผลใด ๆ (ที่จะอธิบายว่า) ทำไมเราถึงไม่ควรทำเช่นนั้น โดยเฉพาะเมื่อเราเห็นอยูว่า บรรดาเผด็จการในเกาหลีเหนือ จีนและรัสเซียต่างทำการใช้)ความสามารถด้าน)อาวุธนิวเคลียร์ออกมาบีบบังคับ(สหรัฐฯ) กันอยู่แล้ว”
ประธานาธิบดีรัสเซีย วลาดิเมียร์ ปูติน ขู่ที่จะใช้อาวุธนิวเคลียร์มาหลายต่อหลายครั้งในตลอดเวลาทำสงครามกับยูเครนที่เริ่มต้นมาตั้งแต่เมื่อต้นปี 2022
เมื่อเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา ปูตินเพิ่งสั่งทบทวนเกณฑ์สำหรับการใช้อาวุธนิวเคลียร์ใหม่ หลังประธานาธิบดีโจ ไบเดนเปิดทางให้ยูเครนสามารถใช้ขีปนาวุธพิสัยไกลของสหรัฐฯ ในการโจมตีเป้าหมายในอาณาเขตของรัสเซียได้
หลังการปรับเปลี่ยนที่ว่า กฎเกณฑ์ในเรื่องนี้ระบุว่า รัสเซียมีสิทธิ์ที่จะใช้อาวุธนิวเคลียร์เพื่อโต้ตอบการโจมตีด้วยอาวุธสามัญธรรมดาก็ได้ ซึ่งต่างจากก่อนหน้านี้ที่รัสเซียเพียงสงวนสิทธิ์จะใช้อาวุธดังกล่าวก็ต่อเมื่อถูกโจมตีในระดับที่มองว่าเป็นภัยต่อชาติเท่านั้น
แพทริเซีย บาซิลชิก นักวิจัยโครงการ Missile Defense Project ของ Center for Strategic and International Studies กล่าวว่า หากมีการดำเนินการตามแผนงานนี้จริง “Iron Dome for America” น่าจะสามารถยกระดับความสามารถการป้องกันประเทศของสหรัฐฯ และส่งแรงสั่นสะเทือนไปยังกระบวนการวางยุทธศาสตร์ของคู่อริของสหรัฐฯ ได้ด้วย
ขณะเดียวกัน ฮานส์ คริสเตนเซน ผู้อำนวยการโครงการ Nuclear Information Project ของ Federation of American Scientists (FAS) ให้ความเห็นว่า แผนงานไอรอน โดม ของทรัมป์นั้นดูคล้ายคลึงกับข้อเสนอคู่ขนาน การริเริ่มการป้องกันทางยุทธศาสตร์ (Strategic Defense Initiative - SDI) และการปลอดอาวุธนิวเคลียร์ของอดีตประธานาธิบดีโรนัลด์ เรแกน ไม่น้อย
รัฐบาลสหรัฐฯ ประกาศ SDI หรือความคิดริเริ่ม Star Wars ออกมาในปี 1983 เพื่อพัฒนาระบบป้องกันประเทศจากอวกาศเพื่อช่วยปกป้องสหรัฐฯ จากการโจมตีด้วยขีปนาวุธติดหัวจรวดนิวเคลียร์
ความเสี่ยงของกรณีการแข่งขันขันพัฒนา-สะสมอวุธ
ฮานส์ คริสเตนเซน จาก Federation of American Scientists (FAS) กล่าวว่า “ความคิดริเริ่ม ไอรอน โดม ของทรัมป์ – ในระดับหนึ่ง – สะท้อนให้เห็นถึงความกังวลเกี่ยวกับอาวุธนิวเคลียร์” แต่ “ระบบป้องกันการโจมตีด้วยขีปนาวุธของสหรัฐฯ ที่แข็งแกร่งขึ้นน่าจะทำให้การบรรลุข้อตกลงด้านนิวเคลียร์กับรัสเซียและจีนเกิดยากขึ้นไปอีก เพราะ(สองประเทศนี้)ก็จะกังวลว่า ระบบป้องกันขีปนาวุธที่มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้นจะยิ่งเป็นภัยต่อระบบโต้ตอบนิวเคลียร์ของตนมากขึ้นไปอีก”
ตอนขึ้นกล่าวผ่านวิดีโอไปยังที่ประชุมสภาเศรษฐกิจโลก (World Economic Forum) ที่เมืองดาวอส ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ เมื่อวันที่ 23 มกราคมที่ผ่านมา ทรัมป์กล่าวว่า ตนต้องการจะหารือประเด็น “การลดอาวุธนิวเคลียร์” กับรัสเซีย พร้อมระบุว่า จีนเองก็ควรเข้ามาร่วมพูดคุยด้วย
ในประเด็นนี้ คริสเตนเซน บอกว่า ทาง “Federation of American Scientists ขอปรบมือให้กับคำกล่าวของทรัมป์เกี่ยวกับความจำเป็นของการจำกัดนิวเคลียร์ที่จะนำไปสู่การลดอาวุธนิวเคลียร์ในที่สุด และขอร้องให้รัฐบาล(กรุงวอชิงตัน) เดินหน้าทำการให้บรรลุเป้าหมายเหล่านี้ด้วย”
ส่วน แดริล คิมบอลล์ ผู้อำนวยการของสมาคม Arms Control Association บอกกับ วีโอเอ ว่า ทรัมป์นั้นวางวิสัยทัศน์ถึง “ระบบที่ทะเยอทะยานกว่าเคย ที่จะต่อต้านการโจมตีด้วยขีปนาวุธทางยุทธวิธีโดยรัสเซียและจีน”
ขณะที่ติงว่า การจะมีระบบกันดังกล่าวใช้งานในเร็ว ๆ นี้คงเกิดขึ้นได้ยาก เพราะบรรดาคู่อริทั้งหลายน่าจะระดมเล่นงานระบบป้องกันขีปนาวุธที่ว่าอย่างหนักทันที คิมบอลล์กล่าวว่า ทางสมาคมยินดีที่ทรัมป์นั้นสนใจที่จะร่วมโต๊ะเจรจากับรัสเซียและจีนเพื่อลดอาวุธนิวเคลียร์ เพราะหากเกิดกรณีแข่งขันกันพัฒนาและสะสมอาวุธใน 3 ประเทศมหาอำนาจเหล่านี้จริง “ไม่มีใครจะเป็นผู้ชนะได้เลย”
ข้อมูลจาก FAS ระบุว่า สหรัฐฯ มีหัวรบนิวเคลียร์อยู่ราว 5,044 ลูก ขณะที่ รัสเซียมีอยู่กว่า 5,500 ลูกและจีนมีประมาณ 500 ลูก
เมื่อเดือนธันวาคมที่แล้ว เพนตากอนออกรายงานประจำปีที่ประเมินความสามารถทางทหารของจีนซึ่งระบุว่า จีนน่าจะมีหัวรบนิวเคลียร์พร้อมใช้งานมากถึงกว่า 1,000 ลูกภายในปี 2030
ในอีกด้านหนึ่ง สื่อ KCNA ของทางการเกาหลีเหนือรายงานเมื่อวันจันทร์ว่า กรุงเปียงยางคัดค้านแผนการสร้าง ไอรอน โดม ของสหรัฐฯ โดยชี้ว่า นี่คือ “ความพยายามของผู้ที่ต้องการเป็นจ้าวโลกในการคงไว้ซึ่งอำนาจสูงสุดทางทหารของตนเอง”
วีโอเอ สอบถามเรื่องนี้กับสถานทูตจีนในกรุงวอชิงตันเมื่อวันจันทร์ แต่ก็ได้รับคำตอบว่า ไม่มีความเห็นในเวลานี้
เมื่อวันพฤหัสบดีที่แล้ว สื่อ Tass ของรัฐบาลรัสเซียรายงานว่า เจ้าหน้าที่การทูตระดับสูงรายหนึ่งของเครมลินกล่าวว่า แผนงาน ไอรอน โดม ของสหรัฐฯ นั้น “นำมาซึ่งการสิ้นสุดของความน่าจะเป็นของการลดอาวุธโจมตีเชิงยุทธศาสตร์ในคลังขีปนาวุธและอาวุธนิวเคลียร์”
ท้ายสุด ริชาร์ด ไวทซ์ ผู้อำนวยการศูนย์ Center for Political-Military Analysis ของ Hudson Institute กล่าวว่า ทั้งฝ่ายรัสเซียและจีนกล่าวมาเสมอว่า ถ้าสหรัฐฯ สร้างระบบป้องกันที่ดีขึ้นมาได้ ทั้งสองประเทศก็จะพัฒนาระบบโจมตีที่ดีขึ้นไปอีกออกมาเพื่อจะได้จัดการกับระบบป้องกันที่ว่านี้
ไวทซ์บอกกับ วีโอเอ ด้วยว่า ทั้งความพยายามพัฒนา ไอรอน โดม และความสนใจในการเจรจาลดอาวุธนิวเคลียร์กับจีนและรัสเซียของทรัมป์ต่างพุ่งเป้าไปยังการลดภัยคุกคามต่อสหรัฐฯ แต่ความยากในเรื่องนี้ก็คือ การจะให้จีนเข้ามาร่วมโต๊ะเจรจาด้วยนั่นเอง
ที่มา: วีโอเอ