ส่องประเด็น 'แก๊งต้มตุ๋น' และการท่องเที่ยว เมื่อนายกฯไทยเตรียมพบสี จิ้นผิง
5-2-2025
นายกรัฐมนตรีไทย เเพทองธาร ชินวัตร เริ่มการเยือนจีน 4 วันในวันพุธ ซึ่งถูกคาดหมายว่าจะมีการหารือประเด็นสำคัญด้านการค้าและเศรษฐกิจ
นายกฯ แพทองธารมีกำหนดพบประธานาธิบดีจีน สี จิ้นผิง และนักวิเคราะห์กล่าวว่าฝ่ายไทยต้องการให้รัฐบาลปักกิ่งช่วยกระตุ้นความมั่นใจให้ชาวจีนมาเที่ยวในประเทศไทย โดยในขณะนี้เกิดความกังวลในหมู่นักท่องเที่ยวจีน เรื่องแก๊งต้มตุ๋นที่ดำเนินการในเมียนมาที่ติดกับไทย
เมื่อเดือนมกราคม ดาราโทรทัศน์จีน หวัง ซิง ถูกลักพาตัวจากไทยและถูกบังคับใช้เเรงงานที่ 'ศูนย์คอลเซ็นเตอร์' ในเมียนมา
ราห์มาน ยาค็อบ นักวิจัยจากโครงการเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แห่งสถาบันโลรี กล่าวว่า "จีนค่อนข้างกังวลเกี่ยวกับสิ่งที่เกิดขึ้นในประเทศไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งแก๊งต้มตุ๋นทางไซเบอร์ ดังนั้นการเยือนของนายกฯ ไทยครั้งนี้ ถือเป็นการไปยืนยันต่อจีน ว่าฝ่ายไทยจะทำทุกอย่างที่สามารถทำได้ เพื่อจัดการกับประเด็นแก๊งต้มตุ๋น"
ในช่วงหลายสัปดาห์ที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่รักษากฎหมายจีนและไทยร่วมมือกันปราบปรามขบวนการคอลเซ็นเตอร์หลายสิบกลุ่มบริเวณชายแดนไทยเมียนมา รวมถึงการจับตัวผู้ต้องสงสัยรายหนึ่งที่อาจเกี่ยวข้องกับการลักพาตัวดาราจีน หวัง ซิง
เจ้าหน้าที่ของทั้งสองประเทศยังได้ตกลงที่จะตั้งศูนย์ประสานงานการทำงานด้านนี้ที่กรุงเทพฯ ด้วย
พอล เเชมเบอร์ส ผู้เชี่ยวชาญด้านเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่มหาวิทยาลัยนเรศวร กล่าวกับวีโอเอว่า "นายกรัฐมนตรีไทย อาจจะอนุญาตให้ตำรวจจีนทำงานได้อย่างเป็นอิสระมากขึ้นในไทย ซึ่งรวมถึงการทำงานอย่างเป็นทางการกับตำรวจไทย และการตั้งสถานีตำรวจจีนในประเทศไทย"
เมื่อปีที่เเล้ว นักท่องเที่ยวจีนมาเยือนไทยกว่า 6.2 ล้านคน จากนักท่องเที่ยวต่างชาติทั้งหมด 35 ล้านคน
เเซคารี อะบูซา ศาสตราจารย์ด้านการเมืองเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แห่ง National War College ที่กรุงวอชิงตัน กล่าวว่า "การทำให้การท่องเที่ยวกลับมาคึกคักเป็นเรื่องสำคัญอย่างมากสำหรับไทย และพวกเขาต้องการการสนับสนุนจากรัฐบาลจีน เพราะรัฐบาลปักกิ่งคุมสื่อ" ในประเทศจีน
แม้ว่าประเด็นแก๊งคอลเซ็นเตอร์เป็นสิ่งท้าทายต่อทั้งไทยและจีน แต่นักวิเคราะห์บางคนเห็นว่าเรื่องนี้ไม่น่าสร้างการเปลี่ยนแปลงขั้นพื้นฐานต่อความสัมพันธ์ของทั้งสองประเทศ
ฮันเตอร์ มาร์สตัน นักวิจัยที่มหาวิทยาลัยลาโทรบ ในออสเตรเลียบอกกับวีโอเอว่า "ความร่วมมือไม่นานนี้ ในเรื่องดังกล่าว (ระหว่างจีนและไทย) ส่งสัญญาณว่าทั้งสองประเทศจะเน้นผลเชิงปฏิบัติ และไม่ปล่อยให้ความกังวลโดยรวมสั่นคลอนความสัมพันธ์อย่างเป็นทางการ"
นอกจากเรื่องขบวนการผิดกฎหมายเเล้ว ผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่านายกรัฐมนตรีไทย น่าจะหาทางกระชับความสัมพันธ์ทวิภาคีกับจีนในการเยือนกรุงปักกิ่งครั้งนี้
แชมเบอร์ส แห่งมหาวิทยาลัยนเรศวรกล่าวว่า "ไทยอาจจะเสนอทางเลือกในโครงการระบบสาธารณูปโภคพื้นฐานให้กับจีน"
หนึ่งในโครงการ ที่อาจเป็นหนึ่งในข้อเสนอคือโครงการรถไฟความเร็วสูงระยะทาง 609 กิโลเมตร ที่ไทยหวังว่าจะสร้างให้เสร็จในปี 2030 หรืออีก 5 ปีจากนี้ โดยเส้นทางนี้เชื่อมการเดินทางจากไทยไปยังตอนใต้ของจีน ผ่านประเทศลาว
มาร์สตัน ที่มหาวิทยาลัยลาโทรบ กล่าวว่า "โครงการรถไฟความเร็วสูงจะเป็นหัวข้อหลัก ของไทยในการดำเนินความสัมพันธ์กับจีน และจีนก็มองเห็นถึงประโยชน์จากการเชื่อมต่อกันในมุมมองที่มีต่อภูมิภาคนี้ในระยะยาว"
อีกด้านหนึ่ง ไทยต้องการลดปัญหาทางเศรษฐกิจจากสินค้าจีนราคาถูกที่หลั่งไหลมายังไทย โดยเมื่อปีที่เเล้วรัฐบาลไทยตั้งคณะทำงาน ประกอบด้วย 28 หน่วยงาน เพื่อการพิจารณาและปรับกฎหมายในการรับมือกับเรื่องนี้
แต่ นักวิจัยยาค็อบกล่าวว่ายังมีประเด็นเรื่องการดึงดูดเงินทุนจากจีน ที่ฝ่ายไทยต้องการประสานงานกับรัฐบาลปักกิ่งด้วย
ทั้งนี้ การเดินทางเยือนจีนของนายกฯ เเพทองธาร เกิดขึ้นท่ามกลางเสียงเรียกร้องจากองค์กรสิทธิมนุษยชน และหลายประเทศทั่วโลก รวมทั้งสหรัฐฯ ที่ไม่ต้องการให้ไทยส่งตัวชาวอุยกูร์ 48 คนจากไทยไปยังจีน
รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ มาร์โค รูบิโอ เคยกล่าวว่าจะหาทางที่จะทำให้ชาวอุยกูร์เหล่านั้นไม่ถูกส่งกลับไปยังจีน โดยอาศัยวิธีทางการทูตและความสัมพันธ์ระหว่างไทยเเละสหรัฐฯ ที่มีมายาวนาน
ในเรื่องนี้ มาร์สตัน กล่าวว่ารัฐบาลไทยอาจใช้คำขอร้องจากจีนเรื่องการส่งตัวกลับชาวอุยกูร์ เป็นการต่อรองจากรัฐบาลปักกิ่ง เช่นความช่วยเหลือทางเศรษฐกิจ
ส่วนยาค็อบเชื่อว่ารัฐบาลไทยอาจจะพยายามรักษาสมดุลในความสัมพันธ์กับจีนและกับสหรัฐฯ
แต่ในเวลานี้ รัฐบาลอเมริกันภายใต้ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ มีท่าทีว่าจะใช้เเรงกดดันต่อเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เรื่องการค้า และนั่นอาจเปิดช่องให้จีนกระชับความสัมพันธ์กับไทยมากขึ้น
สำหรับจีน รัฐบาลปักกิ่งอาจมองว่าการเดินเกมเรื่องความมั่นคงในภูมิภาคนี้ เป็นทิศทางที่จีนต้องการทำเพื่อลดทอนอิทธิพลของสหรัฐฯ ตามความเห็นของยาค็อบ
"สหรัฐฯ มีบทบาทสำคัญเรื่องความมั่นคงในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และจีนค่อนข้างสนใจที่จะลดอิทธิพลของอเมริกา ในภูมิภาคนี้ ซึ่งจีนมองว่าเป็นสนามหลังบ้านของเขา" ยาค็อบกล่าว
ที่มา: วีโอเอ
Photo : Facebook ไทยคู่ฟ้า
---------------------------------------------
ไทยตัดไฟฟ้าชายแดนเมียนมา หวังสกัดศูนย์สแกมเมอร์
5-2-2025
สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า ทางการไทยจะระงับการจ่ายไฟฟ้าบริเวณพรมแดนบางส่วนที่ติดกับเมียนมา ในความพยายามสกัดกั้นการทำงานของศูนย์สแกมเมอร์ในเมียนมาที่ล่อลวงชาวต่างชาติจำนวนมากเข้าไปทำงาน และหลอกเอาเงินจากประชาชนในหลายประเทศมูลค่ามหาศาล
สำนักงานว่าด้วยยาเสพติดและอาชญากรรมแห่งสหประชาชาติ หรือ UNODC (United Nations Office on Drugs and Crime) ประเมินว่า ปริมาณความสูญเสียจากขบวนการสแกมเมอร์ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และเอเชียตะวันออกเมื่อปี 2023 อยู่ที่ระดับประมาณ 18,000 - 37,000 ล้านดอลลาร์
รองนายกรัฐมนตรี ภูมิธรรม เวชยชัย กล่าวกับผู้สื่อข่าวว่า ไทยจำเป็นต้องตัดการจ่ายไฟฟ้าทันที โดยเตรียมสั่งการไปยังการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคที่ดูแลพื้นที่บริเวณนั้นแล้ว
ที่ผ่านมา ไทยแสดงความกังวลต่อผลกระทบในภาคการท่องเที่ยวจากบรรดาสแกมเมอร์ และพยายามใช้มาตรการหลายอย่างเพื่อบรรเทาความหวาดกลัวของนักท่องเที่ยวจากจีนซึ่งเป็นแหล่งรายได้สำคัญ
สภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) กล่าวว่า มีหลักฐานแสดงให้เห็นว่า แก๊งอาชญากรข้ามชาติปฏิบัติการอยู่ในเมืองท่าขี้เหล็ก เมืองเมียวดี และเมืองพญาตองซู ซึ่งล้วนเป็นเป้าหมายของการตัดไฟฟ้าในครั้งนี้
สื่อ Global New Light of Myanmar ของทางการเมียนมา มีรายงานเกี่ยวกับปัญหาสแกมเมอร์เมื่อเดือนที่แล้วว่า สาธารณูปโภคต่าง ๆ ที่ใช้ในศูนย์คอลเซนเตอร์ รวมทั้งไฟฟ้าและอินเทอร์เน็ต ไม่ได้มาจากรัฐบาลเมียนมา แต่มาจากประเทศอื่น ซึ่งเชื่อว่าหมายถึงประเทศไทย
รายงานดังกล่าวระบุว่า "องค์กรต่างชาติ" เป็นผู้ลงทุนในโครงสร้างสาธารณูปโภคเหล่านั้น และชี้ว่า ตั้งแต่เดือนตุลาคม ปี 2023 รัฐบาลทหารเมียนมาได้ส่งชาวต่างชาติกว่า 55,000 คนกลับประเทศ ส่วนใหญ่เป็นชาวจีนที่ถูกล่อลวงมาทำงานในศูนย์คอลเซนเตอร์ต่าง ๆ
เมื่อปีที่แล้ว ทางการจีนใช้ปฏิบัติการปราบปรามศูนย์คอลเซนเตอร์ในเมียนมาและจับกุมชาวจีนกว่า 50,000 คนบริเวณพรมแดนเมียนมากับมณฑลยูนนานของจีน
ที่มา: รอยเตอร์