.

ไทยควรเลือกข้างหรือไม่ในสงครามภาษีระหว่างสหรัฐกับจีน
จะเห็นได้ว่าสงครามภาษีระหว่างโดนัลด์ ทรัมป์กับสี จิ้นผิงไปไกลกว่าเรื่องการค้า หรือเศรษฐกิจ แต่มันเป็นเกมการต่อสู้ของมหาอำนาจโลกในทางภูมิรัฐศาสตร์ที่ลึกซึ้ง เพื่อตัดสินว่าผู้ใดจะก้าวขึ้นมาเป็นมหาอำนาจโลกในศตวรรษที่ 21 อย่างแท้จริง ประเทศอื่น ๆ จึงกลายเป็นเพียงหมากในกระดานภูมิรัฐศาสตร์ ทำให้การวางตัว หรือกำหนดนโยบายเพื่อรับมือกับความขัดแย้งระหว่างสหรัฐและจีนเป็นไปอย่างยากลำบาก
เข้าทำนองหนีเสือปะจระเข้
การวางตัวเป็นกลางของแต่ละประเทศ รวมท้ังประเทศไทยเป็นเรื่องที่แทบจะเป็นไปไม่ได้ ท่ามกลางสถานการณ์ที่ร้อนแรงในปัจจุบัน เพราะว่าทรัมป์ก่อสงครามภาษีครั้งนี้เพื่อเปลี่ยนโครงสร้างเศรษฐกิจของสหรัฐ ด้วยการลดการขาดดุล และฟื้นฟูอุตสาหกรรมการผลิต แต่เป้าหมายที่ใหญ่กว่าคือการสกัดไม่ให้จีนเจริญเติบโตก้าวหน้าต่อไป ถ้าหากจีนยังคงเติบโตในระดับปัจจุบัน ภายใน5-10ปี จีนจะแซงหน้าสหรัฐในแทบทุกด้าน และจะเป็นผู้กำหนดกฎเกณฑ์ของระเบียบวาระโลกใหม่ ท้ังทางด้านเศรษฐกิจ การเงิน และการเมืองระหว่างประเทศ เหมือนกับที่สหรัฐมีอิทธิพลเหนือระเบียบโลกปัจจุบันตั้งแต่หลังสงครามโลกคร้ังที่ 2
ในขณะที่จีนเจอกำแพงภาษีของทรัมป์145% ทำให้การค้าระหว่างสองประเทศแทบที่จะชะงักงันในเวลานี้ กลุ่มประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ไม่ว่าจะเป็นเวียดนาม ลาว กัมพูชา มาเลเซีย อินโดเนเซีย รวมท้ังประเทศไทยเจอกำแพงภาษีที่สูงลิบลิ่วจากทรัมป์เหมือนกัน
การที่ไทย ซึ่งในปีที่แล้วได้เปรียบดุลการค้าสหรัฐ$45,000กว่าล้าน เจอกำแพงภาษี36%-37%เท่ากับว่าทรัมป์ประกาศสงครามเศรษฐกิจกับไทยอย่างเต็มกำลัง
จะบอกว่าทรัมป์ไม่ไว้หน้า หรือต้องการทำลายไทยก็ได้ ผิดวิสัยของมิตรประเทศที่กระทำต่อกัน
อย่างไรก็ตาม หลังจากตลาดบอนด์ และตลาดหุ้นสหรัฐโดนเทขายจนเสียหายอย่างรุนแรง ทรัมป์จึงยอมถอยไปก่อน ด้วยการยังไม่บังคับใช้อัตราภาษีที่ประกาศในวัน Liberation Day หรือวันที่2เมษายนที่ผ่านมา แต่ให้เวลา90วันสำหรับประเทศคู่ค้าในการเจรจาลดอัตราภาษีกัน ในขณะเดียวกันทรัมป์เรียกเก็บภาษีพื้นฐาน10%กับทุกประเทศ ส่วนจีนจะไม่ได้รับการยกเว้นแต่ประการใด คือเจอภาษี45%
ทรัมป์กำลังบลัฟฟ์ว่าถ้าหากขาดผู้บริโภคชาวอเมริกัน ประเทศผู้ส่งออกทั่วโลกจะขายสินค้าไม่ได้ และจะต้องเผชิญกับวิกฤตเศรษฐกิจ และภาวะการว่างงานในอัตราที่สูง
มีเพียงไม่กี่ประเทศที่กล้าตอบโต้กำลังแพงภาษีของทรัมป์ เช่นจีนที่ขึ้นภาษี125%กับสินค้าของสหรัฐ รวมท้ังแคนาดา และเม็กซิโก ทรัมป์รีบตบหัวแล้วลูบหลังด้วยการประเทศให้ประเทศต่างๆอย่าได้ตอบโต้ภาษีกับสหรัฐ ให้รีบต่อคิวเข้ามาเจรจา แล้วจะได้รางวัล ทรัมป์คุยโวว่ามี 75 ประเทศที่ติดต่อเข้ามาเพื่อขอจูบก้น (kiss ass) ทรัมป์ เพื่อว่าจะได้ไม่ต้องเจอกำแพงภาษี
แต่วาระที่แท้จริงของทรัมป์คือการใช้กำแพงภาษีเป็นเครื่องมือในการโดดเดี่ยวจีนจากการค้าโลก สก็อตต์ เบสเซนต์ รมว คลังของสหรัฐเป็นหนึ่งในผู้อยู่เบื้องหลังแนวความคิดในการต้ังเงื่อนไขให้กับประเทศคู่ค้าว่าให้ลดการค้าขายกับจีน หรือการห้ามไม่ให้บริษัทจีนเข้ามาลงทุนในประเทศของตนเพื่อใช้เป็นฐานในการส่งออก เท่ากับว่าสหรัฐกำลังพยายามแซงชั่นจีนทางการค้าและเศรษฐกิจ เหมือนกับที่ได้ร่วมมือกับสหภาพยุโรปและพันธะมิตรในการแซงชั่นเศรษฐกิจรัสเซีย หลังจากที่รัสเซียเปิดฉากทำสงครามยูเครนในเดือนกุมภาพันธ์ปี 2022
การแซงชั่นจีนทางเศรษฐกิจจะดำเนินไปควบคู่กับยุทธศาสตร์อินโดแปซิฟิคในการปิดล้อมจีนทางทหารในภูมิภาคที่กว้างใหญ่ไพศาลนี้ ที่ครอบคลุมประเทศที่อยู่ในพื้นที่มหาสมุทรอินเดีย และมหาสมุทรแปซิฟิค ถ้าหากจะปิดล้อมจีนทางเศรษฐกิจและทางทหาร สหรัฐต้องได้รับความร่วมมือจากประเทศต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งจีน ญี่ปุ่น เกาเหลีใต้ และประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมท้ังประเทศไทย ทรัมป์ตั้งกำแพงภาษีสหภาพยุโรปที่อัตรา20% และจะบีบให้สหภาพยุโรปโดดเดี่ยวจีนในทำนองเดียวกัน ในขณะที่ภาวะเศรษฐกิจในสหภาพยุโรปแย่มาก
ด้วยเหตุนี้ จะมองสงครามกำแพงภาษีของทรัมป์เป็นเรื่องการค้าหรือเศรษฐกิจล้วนๆไม่ได้ แต่มีเรื่องความมั่นคง และภูมิรัฐศาสตร์เข้ามาเกี่ยวข้องอย่างลึกซึ้ง โดยจีนกำลังตกเป็นเป้าของการทำลายจากสหรัฐ จีนเข้าใจเรื่องราวท้ังหมดดีว่า ตัวเองกำลังจะถูกปิดล้อมทางเศรษฐกิจ จึงได้ออกแสดงจุดยืนให้ประเทศต่างๆร่วมมือกับจีนเพื่อต้านทานนโยบายของทรัมป์
กระทรวงพาณิชย์จีนระบุในแถลงการณ์เมื่อวันจันทร์ว่า แม้จีนจะเคารพการตัดสินใจของประเทศต่างๆ ในการแก้ไขข้อพิพาททางการค้ากับสหรัฐฯ แต่ปักกิ่ง "คัดค้านอย่างเด็ดขาดหากฝ่ายใดบรรลุข้อตกลงโดยทำให้ผลประโยชน์ของจีนเสียหาย"* แถลงการณ์ระบุเพิ่มเติมว่า หากเหตุการณ์เช่นนั้นเกิดขึ้น ปักกิ่ง "จะไม่ยอมรับอย่างเด็ดขาดและจะใช้มาตรการตอบโต้ที่เท่าเทียมกัน" พร้อมเสริมว่า "จีนพร้อมที่จะเสริมสร้างความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันและประสานงานกับทุกฝ่าย เพื่อร่วมกันตอบสนองและต่อต้านการกระทำที่เป็นการรังแกฝ่ายเดียว”
เป้าหมายของสหรัฐและท่าทีของจีน ทำให้ประเทศต่าง ๆ วางตัวเป็นกลางลำบาก แต่ดูเหมือนว่ารัฐบาลไทยของนายกแพรทองธาร ชินวัตรจะโน้มเอียงไปในทิศทางเอาใจสหรัฐ โดยไม่ให้น้ำหนักของความสำคัญกับจีนอย่างเพียงพอ เห็นได้จากข้อเสนอที่จะไปเจรจากับสหรัฐ
มีรายงานจากแหล่งข่าวจากทำเนียบรัฐบาลไทยว่า ไทยจะนำเสนอ 5 ข้อที่เป็นข้อเสนอให้กับสหรัฐฯพิจารณา ซึ่งเป้าหมายที่เป็นรูปธรรมคือลดการเกินดุลกับสหรัฐฯให้ได้ 50% ภายใน 5 ปี และส่งเสริมความร่วมมือที่เป็นพันธมิตรในระดับยุทธศาสตร์มากขึ้นในอนาคต โดยข้อเสนอ 5 ข้อได้แก่
1. เสริมความร่วมมือในธุรกิจอาหารแปรรูปไทยและสหรัฐฯ มุ่งพัฒนาอุตสาหกรรมอาหารแปรรูป ด้วยการใช้จุดแข็งของทั้งสองประเทศร่วมกัน โดยเฉพาะการนำเข้าสินค้าเกษตรจากสหรัฐฯ เพื่อใช้เป็นวัตถุดิบในการแปรรูปและส่งออกต่อไปยังตลาดโลก นอกจากนี้ยังมีการหารือร่วมกับภาคเกษตรของสหรัฐฯ ซึ่งเป็นฐานเสียงสำคัญทางการเมืองของอดีตประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์
2. เพิ่มปริมาณการนำเข้าสินค้าจากสหรัฐฯไทยมีแผนเพิ่มการนำเข้าสินค้าจำเป็นจากสหรัฐฯ อาทิ พลังงาน (น้ำมันดิบ, LNG, อีเทน), เครื่องบินและชิ้นส่วน, อาวุธยุทโธปกรณ์ และผลิตภัณฑ์เกษตรอย่างข้าวโพด ถั่วเหลือง และเนื้อวัว เพื่อกระชับความสัมพันธ์เชิงพาณิชย์ และตอบสนองความต้องการของภาคเศรษฐกิจในประเทศ
3. เปิดตลาดและลดอุปสรรคทางการค้า การลดภาษีนำเข้าภายใต้ระบบ MFN จำนวนกว่า 11,000 รายการ ลงประมาณ 14% รวมถึงการลดอุปสรรคที่ไม่ใช่ภาษี (NTBs) เป็นหนึ่งในเป้าหมายสำคัญของความร่วมมือ เพื่อส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ อีกทั้งยังมีการปรับลดโควตาและข้อจำกัดต่าง ๆ พร้อมเปิดตลาดให้สินค้าสหรัฐฯ เช่น เชอรี่ แอปเปิ้ล ข้าวสาลี ข้าวโพด และผลิตภัณฑ์จากเนื้อสัตว์
4. บังคับใช้กฎหมายถิ่นกำเนิดสินค้าอย่างเคร่งครัด ไทยจะใช้มาตรการเข้มงวดในการตรวจสอบและบังคับใช้กฎว่าด้วยถิ่นกำเนิดสินค้า เพื่อแก้ปัญหาการสวมสิทธิ์สินค้า "Made in Thailand" โดยสินค้าจากประเทศที่สามซึ่งส่งออกผ่านไทยไปยังสหรัฐฯ โดยจะเพิ่มการติดตามและเฝ้าระวัง เพื่อลดความเสี่ยงและรักษาภาพลักษณ์สินค้าไทยในตลาดสหรัฐฯ
และ 5. ส่งเสริมการลงทุนของไทยในสหรัฐฯ ภาครัฐสนับสนุนการขยายการลงทุนของเอกชนไทยในสหรัฐฯ ภายใน 4 ปีข้างหน้า โดยเฉพาะในกลุ่มพลังงาน เช่น โครงการลงทุน LNG ในรัฐอลาสก้า และการลงทุนในฟาร์มเกษตรขนาดใหญ่ ปัจจุบันเอกชนไทยมีการลงทุนในสหรัฐฯ แล้วกว่า 70 แห่ง ใน 20 มลรัฐ สร้างงานมากกว่า 16,000 ตำแหน่ง คิดเป็นมูลค่าการลงทุนรวมกว่า 16,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
จะเห็นได้ว่าข้อเสนอของทีมเจรจาของรัฐบาลไทยนำโดยนายพิชัย ชุณหวชิรสอดคล้องกับผลประโยชน์ของสหรัฐในยุทธศาสตร์อินโดแปซิฟิคที่ออกแบบมาเพื่อปิดล้อมจีนทางทหารและทางเศรษฐกิจ เพราะว่าทีมไทยเน้นความเป็นพันธมิตรกับสหรัฐ ทั้งๆที่โดนทรัมป์เรียกเก็บภาษี 36%-37% สหรัฐไม่ได้ถือว่าไทยเป็นหุ้นส่วน แต่ถือว่าเป็นรัฐบริวาร ในข้อ2. ทีมเจรจาไทยเสนอซื้ออาวุธ และอุปกรณ์จากสหรัฐ และในข้อ4. ทีมไทยรับปากจะตรวจสอบอย่างเคร่งครัดบริษัทต่างประเทศที่มาตั้งฐานผลิตในไทยเพื่อสวมสิทธิ์ในการส่งออกไปตลาดสหรัฐ ซึ่งเท่ากับว่ารัฐบาลกำลังจะดำเนินมาตรการเข้มงวดกับบริษัทจีนในไทย
เป็นโชคดีสำหรับไทยอย่างหนึ่งที่การเจรจาระหว่างทีมไทยกับทีมUSTRของสหรัฐถูกเลื่อนออกไปจากเดิมทีที่กำหนดในวันที่ 23เมษายน ด้วยเหตุขัดข้องทางเทคนิคบางประการเพราะว่าถ้าหากทีมเจรจาของไทยไปกรุงวอชิงตันด้วยข้อเสนอ5ข้อนี้จะสร้างความเสียหายให้กับประเทศไทยอย่างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งจะเป็นการทำลายความสัมพันธ์ไทย-จีน ท้ังๆที่จีนจะเป็นพันธมิตรที่น่าเชื่อถือกว่าสหรัฐในระยะยาวต่อไป จากประวัติศาสตร์จะเห็นได้ว่า สหรัฐเอาแน่เอานอนไม่ได้ นโยบายเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลาขึ้นอยู่กับผลประโยชน์ของสหรัฐ เพราะว่าสหรัฐไม่เคยคำนึงถึงคำว่าเพื่อน หรือยึดมั่นในคำสัญญาใดๆ
ที่สำคัญพอ ๆ กัน คือทีมไทยไปเจรจาโดยรู้หรือเปล่าว่าสหรัฐจะเรียกร้องอะไรและเราจะพร้อมตอบสนองได้หรือเปล่า ยกตัวอย่างเช่นในกรณีที่ญีปุ่นไปเจรจาถึงทำเนียบขาว โดยมีทรัมป์นั่งร่วมประชุมด้วย ปรากฎว่าทรัมป์ถามหัวหน้าทีมเจรจาของญีปุ่นว่ามีข้อเสนออะไรให้สหรัฐ ญี่ปุ่นถึงกับงง เพราะในความเป็นจริงทรัมป์ต้องเป็นผู้เสนอข้อเรียกร้องก่อน เนื่องจากทรัมป์เป็นผู้เปิดสงครามการค้า ก็เลยต้องเป็นผู้นำเสนอข้อเรียกร้องก่อน ไม่ใช่ว่าจะให้ญีปุ่นมาเสนอก่อน เหมือนกับเวลาเราไปเดินซื้อสินค้าที่ตลาดสด แม่ค้าต้องบอกราคาเราก่อนว่าผักบุ้งกำละกี่บาท ไม่ใช่แม่ค้าย้อนถามเราว่าจะให้ราคาผักบุ้งเท่าใด ถ้าญีปุ่นนำเสนอข้อเสนอก่อน จะเข้าทางเท้าของทรัมป์ที่จะเรียกร้องเอาประโยชน์เพิ่มเติมไม่มีที่สิ้นสุด
ด้วยท่าทีเช่นนี้ของรัฐบาลไทย ทำให้ประธานาธิบดีสี จิ้นผิงถึงได้ไม่มาเยือนประเทศไทยในการเดินทางมาภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เพื่อกระชับความสัมพันธ์กับเพื่อนบ้านเวียดนาม มาเลเซีย และกัมพูชาระหว่างวันที่ 14-18เมษายนที่ผ่านมา การเยือนสามประเทศในภูมิภาคบ้านของสีนี้เน้นเรื่องความมั่นคงอย่างเดียว จีนพยายามดึงเวียดนามออกจากอกของสหรัฐที่ต้องพึ่งพาสหรัฐเป็นตลาดหลักของการส่งออก และเป็นประเทศที่ตกเป็นเป้าอันดับต้นๆของกำแพงภาษีของทรัมป์เพราะได้เปรียบดุลการค้าในระดับที่สูงมาก ในความขัดแย้งระหว่างจีนกับสหรัฐในทะเลจีนใต้ เวียดนามจะเป็นตัวแปรที่สำคัญ จีนไม่ต้องการให้เวียดนามเปิดทางให้สหรัฐใช้ดินแดนเวียดนามตั้งฐานทัพเรือ สีกับเวียดนามจึงบรรลุข้อตกลงกันหลายฉบับ และน่าจะมีเรื่องการวางตัวของเวียดนามในกรณีที่เกิดความขัดแย้งระหว่างจีนกับสหรัฐ
ส่วนมาเลเซียคุมช่องแคบมะละกากับอินโดเนเซีย จึงเป็นประเทศที่จีนให้ความสำคัญ ในกรณีที่สหรัฐปิดช่องแคบมะละกาจะทำให้การขนส่งทางทะเลจากมหาสมุทรอินเดียเข้ามหาสมุทรแปซิฟิคเป็นอัมพาต และจะมีผลกระทบต่อการขนส่งสินค้า และนำมันของจีน อินโดเนเซียได้เข้าเป็นสมาชิกของ BRICS แล้ว ส่วนมาเลเซียมีสถานภาพเป็นประเทศหุ้นส่วนของ BRICS เหมือนกัน จีนน่าที่จะเร่งช่วยมาเลเซียให้เข้าเป็นสมาชิกของ BRICS อย่างเต็มตัว ส่วนกัมพูชาได้รับการสนับสนุนจากจีนอย่างเต็มที่ในการสร้างท่าเรือที่จะใช้ในกิจการทางทหาร เนื่องจากมีพื้นที่ติดกับทะเลจีนใต้เหมือนกับเวียดนาม สีจึงเดินทางมากัมพูชาเพื่อกระชับสัมพันธ์และตอกย้ำความเป็นพันธะมิตรในยามยากข้างหน้า
ไม่รู้เหมือนกันว่ารัฐบาลไทยเข้าใจบริบทของความสัมพันธ์ระหว่างประเทศที่กำลังเปลี่ยนไปอย่างไร ถ้าหากไทยยังยึดอยู่กับนโยบายเดิมที่ทำกันมานานหลายสิบปี ด้วยการเอาใจสหรัฐและยอมทิ้งจีน เพื่อผลประโยชน์เฉพาะหน้าที่ไม่คุ้มกับเสีย จะสร้างความเสียหายให้กับประเทศชาติอย่างใหญ่หลวง ท้ังทางเศรษฐกิจและความมั่นคง ในขณะที่ทั้งโลกมองเห็นแล้วว่า สหรัฐไม่มีทางหยุดยั้งความก้าวหน้าของจีนได้ และจีนจะผงาดขึ้นมาเป็นมหาอำนาจของโลกร่วมกับรัสเซีย และจะเป็นผู้วางกฎเกณฑ์ของระเบียบวาระโลกใหม่ที่แท้จริง
เวลาเหลืออีกไม่มาก ขอให้รัฐบาลของแพรทองธาร ชินวัตรปรับเปลี่ยนท่าทีที่เข้าท่ากว่านี้ ก่อนที่ประเทศจะประสบกับหายนะที่กู้คืนไม่ได้ เพราะรู้ๆกันอยู่แล้วว่าทรัมป์ต้องการให้....
1. ไทยเลิกคบจีน
2. ให้ซื้อF-16และอุปกรณ์สงคราม
3.ให้ซื้อน้ำมันกับก๊าซราคาแพงจากสหรัฐ
และ4. ให้ร่วมมือทางทหารกับสหรัฐในการปิดล้อมจีนทางทหารตามยทุธศาสตร์อินโดแปซิฟิค
คำถามคือข้อเสนอของทรัมป์แบบนี้ ไทยเราจะรับได้จริงๆหรือ?
By Thanong Khanthong
22/4/2025