โลกาภิวัตน์จบแล้วนาย

โลกาภิวัตน์จบแล้วนาย
หลังจากที่สหภาพโซเวียตล่มสลายในปี 1991 สหรัฐในฐานะผู้นำโลกเสรีประชาธิปไตยก้าวขึ้นมาเป็นมหาอำนาจโลกแต่ผู้เดียวโดยไร้คู่แข่ง และมีการส่งเสริมแนวความคิดโลกาภิวัตน์ (Globalization) หรือโลกที่ไร้พรมแดน และการค้าเสรีอย่างเต็มที่ โลกาภิวัตน์คือขบวนการที่เศรษฐกิจ วัฒนธรรม สังคม การค้า การสื่อสาร การเคลื่อนย้ายของผู้คนข้ามแดนเป็นพลวัตที่บูรณาการรวมกันจนทำให้โลกใบนี้ดูเหมือนว่าเล็กลงเปรียบเหมือนกับหมู่บ้านโลก หรือที่เรียกกันว่าGlobal Village ประเทศใดที่หันหลังให้กับโลกาภิวัตน์จะถูกทิ้งข้างหลัง เสียโอกาสที่จะสร้างความเจริญรุ่งเรืองให้ประชาชน ให้อยู่ดีกินดี และมีความก้าวหน้าในโลกที่ต้องพึ่งพาซึ่งกันและกัน (Interdependence) ปราศจากภัยของสงคราม
ใครที่ไม่เห็นด้วยกับโลกาภิวัตน์ในตอนนั้นถือว่าตกยุค และแน่นอนสหรัฐอเมริกาในฐานะของศูนย์กลางของทุนนิยมโลก และประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจที่ใหญ่ที่สุดในโลกได้ประโยชน์มากที่สุดจากขบวนการโลกาภิวัตน์ที่นำไปสู่การเปิดเสรีทางการค้า และการลดกฎเกณฑ์ต่างๆที่เป็นอุสรรคต่อธุรกิจ การค้าและการลงทุน
แต่ในวันที่2 เมษายนที่ผ่านมา หลังจากที่โดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีของสหรัฐประกาศตั้งกำแพงภาษีในระดับที่สูงลิบลิ่วกับประเทศคู่ค้าทุกประเทศทั่วโลก ซึ่งนับว่าเป็นการทำลายกฎเกณฑ์การค้าระหว่างประเทศ และระบบการค้าเสรี รวมท้ังนำเอานโยบายกีดกันการค้ากลับมาใช้นั้น ถือว่าเป็นจุดเริ่มต้นของจุดจบของโลกาภิวัตน์
เมื่อสหรัฐสร้างโลกาภิวัตน์ได้ก็ทำลายโลกาภิวัตน์ได้เหมือนกัน
นายกรัฐมนตรีอังกฤษ คีร์ สตาร์เมอร์ ยอมรับว่ายุคของโลกาภิวัตน์ได้สิ้นสุดลงแล้ว จากการที่ประธานาธิบดีสหรัฐ โดนัลด์ ทรัมป์ กำหนดภาษีในอัตราที่สูงครั้งใหญ่ต่อคู่ค้าส่วนใหญ่ของอเมริกา รวมถึงสหราชอาณาจักร แม้สตาร์เมอร์จะกล่าวว่า ภาษีของทรัมป์นั้นเป็นสิ่งที่ "ผิด" แต่เน้นย้ำว่าเขาเข้าใจ "ลัทธิชาตินิยมทางเศรษฐกิจ" ของทรัมป์ และเหตุผลที่ผู้มีสิทธิเลือกตั้ง ซึ่งเชื่อว่าพวกเขาไม่ได้รับประโยชน์จากการค้าเสรีและปัญหาอิมมิเกรชั่นจำนวนมาก ให้การสนับสนุนนโยบายนี้ เจ้าหน้าที่จากทำเนียบดาวนิงสตรีทที่ไม่เปิดเผยนามบอกกับ The Times ว่า "โลกได้เปลี่ยนไปแล้ว โลกาภิวัตน์สิ้นสุดลง และเรากำลังอยู่ในยุคใหม่”
นายลอเรนซ์ หว่อง นายกรัฐมนตรีของสิงคโปร์ออกมาแสดงความเห็นคล้ายกันกับสตาร์เมอร์ว่า มาตรการภาษีของทรัมป์ไม่ทิ้งช่องว่างให้สงสัยเลยว่ากำลังมีการเปลี่ยนแปลงคร้ังใหญ่ในระเบียบโลก ซึ่งเป็นการเปลี่ยนจากโลกาภิวัตน์ที่ยึดตามกฎเกณฑ์และการค้าเสรีที่สิ้นสุดลง กลายเป็นระบบที่ "ไร้ระเบียบมากขึ้น กลายเป็นลัทธิกีดกัน และเป็นอันตราย"
นายหว่องกล่าวต่อไปว่า เป็นเวลาหลายทศวรรษที่สหรัฐได้สนับสนุนการค้าเสรีและนำความพยายามในการสร้างระบบการค้าในระบบพหุภาคีที่มีกฎเกณฑ์และบรรทัดฐานที่ชัดเจน มันเป็นระบบที่ประเทศต่างๆ สามารถได้รับประโยชน์แบบได้ทั้งสองฝ่ายผ่านการค้า ระบบ "WTO (องค์การการค้าโลก)" นี้ได้นำซึ่งความมั่นคงและความเจริญรุ่งเรืองที่ไม่เคยมีมาก่อนมาสู่โลก – และสู่ตัวสหรัฐเอง
"พูดให้ชัดเจนยิ่งขึ้น ระบบนี้อาจจะไม่สมบูรณ์แบบ สิงคโปร์ และอีกหลายประเทศ ได้เรียกร้องให้มีการปฏิรูปมานาน – เพื่อปรับปรุงกฎเกณฑ์และทำให้ระบบดีขึ้น" เขากล่าว "แต่สิ่งที่สหรัฐกำลังทำอยู่นี้ไม่ใช่การปฏิรูป มันคือการละทิ้งระบบทั้งหมดที่ตนเองเคยสร้างขึ้น แนวทางใหม่ของการใช้ภาษีตอบแทนแบบประเทศต่อประเทศคือการปฏิเสธกรอบของ WTO อย่างสมบูรณ์”
ยิ่งประเทศใดที่มีบูรณาการกับโลกาภิวัตน์มากเท่าใด ก็ยิ่งจะได้รับผลกระทบจากการล่มสลายของระบบการค้าเสรีที่ทรัมป์ทำลายมากกว่าประเทศอื่น เพราะเมื่ออุปสงค์หรือความต้องการซื้อสินค้าของสหรัฐ ซึ่งเป็นประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดในโลกลดลง เพื่อแก้ปัญหาการขาดดุลการค้า ประเทศที่พึ่งพารายได้จากการส่งออกเป็นหลักจะมีปัญหาทางเศรษฐกิจที่รุนแรงมากกว่าประเทศที่มีการกระจายโครงสร้างทางเศรษฐกิจ หรือมีการพึ่งพาการบริโภคภายในมากกว่า ยิ่งถ้าหากมีทรัพยากรธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์เป็นทุนเดิมก็จะสามารถรับแรงเสียดทานจากการพังทลายของโลกภิวัฒน์ได้ดีกว่าประเทศอื่น
คำถามคือเมื่อสหรัฐได้ประโยชน์อย่างมากจากโลกาภิวัตน์ เพราะว่าสามารถพิมพ์ดอลล่าร์กระดาษมาซื้อสินค้าจากต่างประเทศได้เหมือนกับได้เปล่าเป็นเวลา50-60ปี แล้วทำไมถึงกลับทำลายโลกภิวัฒน์? ผลกระทบในลักษณะของบูมเมอแรงจะเป็นอย่างไรต่อเศรษฐกิจสหรัฐ จากการท่ีทรัมป์ตั้งกำแพงภาษีในอัตราสูงเทียมฟ้ากับประเทศคู่ค้า โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับจีน รวมท้ังไทยเหมือนกับว่าจะไม่เผาผีกัน? ทรัมป์คิดผิด หรือคิดถูกกันแน่กับนโยบายภาษีศุลกากร?
ในแง่หนึ่ง ทรัมป์อาจจะไม่ผิดที่มีความจำเป็นต้องแก้ปัญหาการขาดดุลการค้ามโหฬารในแต่ละปี ที่เกิดจากการบริโภคเกินควรในระบบเศรษฐกิจ การก่องบประมาณการขาดดุลงบประมาณในแต่ละปีเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้เกิดการใช้จ่ายเกินตัวในประเทศ ทำให้สหรัฐกลายเป็นประเทศลูกหนี้รายใหญ่ที่สุดในโลก หนี้ภาครัฐแตะระดับ$36ล้านล้าน หรือ 120%ต่อจีดีพี สหรัฐผลิตสินค้าเองแค่15%ของการบริโภค ที่เหลือ 85%ต้องนำเข้า อันเป็นผลจากนโยบายของการย้ายโรงงาน หรือฐานการผลิตไปนอกประเทศเพื่อลดต้นทุน แล้วส่งสินค้ากลับมายังตลาดสหรัฐต้ังแต่สมัยของประธานาธิบดีบิล คลินตันเรื่อยมา เวลานี้หนี้ที่เกิดจากการขาดดุล หรือเกิดจากการที่เงินออมน้อยกว่าเงินลงทุนมีทีท่าว่าจะไม่ยั่งยืน เพราะว่าเจ้าหนี้ไม่ต้องการถือครองพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐต่อไป เพราะกลัวความเสี่ยงจากการผิดนัดชำระหนี้ และความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์ที่เพิ่มขึ้น ทำให้ธนาคารกลางทั่วโลกแห่ทิ้งดอลล่าร์แล้วหันมาถือครองทองคำแทนในรีเสิร์ฟ ทรัมป์จึงต้องการตั้งกำแพงภาษีเพื่อสกัดการนำเข้า และเพื่อลดการขาดดุล ในขณะที่จะเล่นเกมบีบบังคับให้คู่ค้าซื้อสินค้าจากสหรัฐมากขึ้น เพื่อแลกกับอัตราภาษีที่จะลดลงให้ หรือไม่เก็บภาษีเลย ในขณะเดียวกัน ทรัมป์ต้องการให้บริษัทต่างๆหันมาลงทุนในสหรัฐแทน ซึ่งจะได้สิทธิประโยชน์ต่างๆ และจะได้ไม่ต้องเจออุปสรรคของการค้า หรือกำแพงภาษีที่สูงลิ่ว
แต่หลังจากที่ประกาศกำแพงภาษีไปแล้ว ซึ่งตลาดคิดว่าอัตราไม่น่าจะสูงมากนัก แต่กลับสูงลิ่วเกินคาดทำให้มีปฏิกิริยาตอบโต้ที่รุนแรง ผลก็คือตลาดหุ้นตกอย่างรุนแรง คล้ายกับช่วงเดือนมีนาคมปี 2020ระหว่างการระบาดของไวรัสโควิด ที่ผ่านมาของสามวันทำการ (3,4, 7 เมษายน) มูลค่าตลาดรวมหายไปแล้ว$6ล้านล้านจากการขายแบบแพนิก เพราะนักลงทุนมองเห็นพ้องต้องกันว่ากำแพงภาษีทรัมป์จะทำให้เกิดการตอบโต้ประเทศคู่ค้า ทำให้ต้นทุนของการทำธุรกิจสูงขึ้น และจะมีผลต่อผลประกอบการของบริษัท นายลาร์รี่ ฟิงค์ ซีอีโอของแบล็คร็อคเตือนว่า มีโอกาสที่เศรษฐกิจสหรัฐจะเผชิญกับภาวะถดถอยสูง และดัชนีของตลาดอาจจะตกลงไปจากนี้ได้อีก20%
ทรัมป์ก้นร้อน นั่งเก้าอี้ไม่ติดเหมือนกันเมื่อหุ้นตกหนักขนาดนี้ เพราะว่าตลาดหุ้นถือว่าเป็นกล่องดวงใจของของสหรัฐ ถ้ากล่องดวงใจนี้ถูกทำลาย ความมั่งคั่งของคนอเมริกันจะสูญสิ้นไปด้วย แต่ทรัมป์ต้องทำใจเย็นสู้เสือ ไม่แสดงอาการสะทกสะท้าน โดยบอกว่าถ้าจะแก้ปัญหาเศรษฐกิจก็ต้องกินยาขม ส่วนสก็อต เบสเซนท์ รมว คลังบอกว่า: "ระบบเก่าไม่ทำงานแล้ว และถ้าคุณมองดูระบบที่ไม่ทำงาน คุณต้องกล้าที่จะเปลี่ยนแปลงมัน ... มันคงง่ายที่จะสูบฉีดเงินเข้าสู่เศรษฐกิจต่อไป กู้ยืมเงินจำนวนมาก สร้างงานของรัฐบาล ... แต่สุดท้ายคุณจะจบลงด้วยหายนะ”
มาร์โค รูบิโอ รมว ต่างประเทศออกมาหนุนนโยบายของทรัมป์ โดยให้เหตุผลว่า กำแพงภาษีเป็นการรีเซ็ตเชิงกลยุทธ์เพื่อบังคับใช้การค้าที่สมดุล ปกป้องอุตสาหกรรมของสหรัฐ และเสริมสร้างความมั่นคงแห่งชาติ เขายอมรับว่าอาจมีผลกระทบทางเศรษฐกิจ หรือผลประกอบการของบริษัทในระยะสั้น แต่เน้นย้ำถึงการปรับตัวของตลาดและผลประโยชน์ระยะยาว โดยมองว่าภาษีเป็นทั้งมาตรการลงโทษและเครื่องมือในการเจรจา
แน่นอนเลยที่เดียวว่า ทรัมป์ล้มระบบการค้าโลก รวมท้ังทำลายโลกาภิวัตน์เพื่อเป้าหมายที่ใหญ่กว่าคือการสกัดการผงาดของจีน ซึ่งเตรียมก้าวขึ้นมาแทนที่สหรัฐในฐานะมหาอำนาจเศรษฐกิจโลก ทรัมป์เก็บภาษีจีน54% และได้รับการตอบโต้จากจีนอย่างทันควัน ด้วยอัตรา34% ทรัมป์เกทับกลับด้วยคำขู่ว่า ถ้าจีนไม่ถอนมาตรการภาษีตอบโต้สหรัฐ ทรัมป์จะเก็บเพิ่มอีก 50%เป็น104% จีนแข็งกร้าวใส่ และไม่แสดงท่าทีว่าต้องการเปิดการเจรจาประนีประนอมกับทรัมป์ แถมโจมตีทรัมป์ด้วยการกล่าวหาว่าทรัมป์กำลังทำนโยบายอันธพาลทางเศรษฐกิจ ในเวลานี้ จีนมีความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจและการเงิน และไม่เกรงกลัวที่จะตัดขาด(de-couple)จากระบบเศรษฐกิจสหรัฐ แม้ว่าจะได้ดุลการค้าเกินดุลจากสหรัฐเป็นเม็ดเงินจำนวนมากที่สุดเมื่อเทียบกับทุกประเทศที่ได้เกินดุลสหรัฐ จีนได้กระจายการส่งออกไปยังตลาดอื่นอยู่แล้ว ยังคงมีกระสุนอยู่เพียบ ไม่ว่านโยบายการเงิน และการคลังที่ยังมีช่องว่างที่จะขยายตัวได้อีกมาก จึงมีความพร้อมที่จะรับมือกับเศรษฐกิจที่จะตกต่ำจากการค้าขายที่ถูกเบรคโดยทรัมป์
ทรัมป์ตั้งกำแพงภาษีสูงกับจีนเพื่อต้องการบีบให้จีนลดการพึ่งพาการส่งออก ซึ่งเป็นเครื่องยนต์หลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจจีน ด้วยการเจรจาให้จีน รวมท้ังประเทศที่เปรียบดุลการค้าสหรัฐในระดับที่สูงให้กำหนดอัตราแลกเปลี่ยนให้แข็งค่า (30%เป็นอย่างน้อย?)จะได้ลดความสามารถในการแข่งขัน คล้ายกับที่สหรัฐบีบเยอรมนี และญี่ปุ่นให้ปรับค่าเงินให้แข็งค่าในข้อตกลงPlaza Accord ในปี1985 เพื่อลดการขาดดุลการค้าของสหรัฐ อันนำไปสู่การเก็งกำไรทางการเงินของญี่ปุ่นที่มีผลทำให้ฟองสบู่การเงินแตก และภาวะเศรษฐกิจที่ฝืดเคืองที่ตามมาเป็นเวลาหลายทศวรรษที่แก้ไม่ตก นอกจากนี้สหรัฐต้องการปรับโครงสร้างหนี้กับจีน และประเทศเจ้าหนี้ ด้วยการขอลดหนี้ หรือให้ยืดอายุหนี้ผ่านการเปลี่ยนการถือครองอายุระยะสั้น เป็นบอนด์อายุ50ปีหรือ100แทน
จีนก็คงไม่โง่ที่จะยอมตามแรงกดดันของทรัมป์ ส่วนประเทศคู่ค้าต่างๆของสหรัฐที่ได้เปรียบดุลการค้าเช่นประเทศไทยก็ไม่ควรรีบเร่งเจรจากับสหรัฐ คอยดูไปก่อนว่าช้างสารชนกัน หญ้าแพรกอย่างเราจะแหลกราญไปแค่ไหน ดูอย่างเวียดนามเป็นตัวอย่าง แม้ว่าจะเสนอว่าจะลดภาษีให้สหรัฐเป็น0% แต่ปีเตอร์ นาร์วาโร ที่ปรึกษาทรัมป์ด้านการค้าระหว่างประเทศบอกว่านั้นยังไม่พอ เพราะว่ามีเรื่องการ”โกงภาษี”อื่นๆของเวียดนามที่เข้ามาเกี่ยวข้องอีก และต้องมีการซื้อสินค้าของสหรัฐเพิ่มเพื่อลดการขาดดุล
ที่สำคัญ เราต้องเข้าใจว่าโมเดลการขยายตัวทางเศรษฐกิจของสหรัฐผ่านการบริโภคสินค้านำเข้าราคาถูกๆ แล้วจ่ายเป็นเงินดอลล่าร์ที่พิมพ์ออกมาจากกลางอากาศเปล่าๆกำลังจะหมดยุคแล้ว เพราะว่าความเป็นเงินสกุลหลักของโลกของดอลล่าร์กำลังถูกสั่นคลอนจากหนี้ที่พุ่งไม่หยุด และจากการที่โลกมีทางเลือกทางเศรษฐกิจใหม่ผ่านกลุ่มBRICS และความร่วมมือในรูปแบบพหุภาคีต่างๆ ความคาดหวังว่าในการเจรจาเรื่องภาษีกับทรัมป์แล้ว โลกจะกลับไปเหมือนเดิม หรือจะกลับมาค้าขายกันได้ตามปกติจะเป็นความฝันลมๆแล้งๆ เพราะว่าทรัมป์ได้ทำลายโลกาภิวัฒน์และปิดฉากระบบการค้าเสรีไปแล้ว
By Thanong Khanthong
8/4/2025