.

ไทยควรวางท่าทีอย่างไรกับภาษีทรัมป์
ภาษีต่างตอบแทนของโดนัลด์ ทรัมป์เปรียบเหมือนระเบิดนิวเคลียร์ที่ทรัมป์โยนใส่ระบบการค้าโลก ไทยเป็นหนึ่งในกลุ่มประเทศที่โดนกำแพงภาษีสูงที่สุดคือ36% ติดร่างแหเดียวกับจีน (54%) เวียดนาม (46%) กัมพูชา (49%) แอฟริกาใต้ (30%) ไต้หวัน (32%) ญี่ปุ่น (24%) สหภาพยุโรป (20%)
จะเห็นได้ว่า ภาษีทรัมป์นี้จะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 9 เมษายน
เพื่อว่าจะได้ให้ประเทศต่างๆมีเวลาอย่างน้อยหนึ่งสัปดาห์เพื่อที่จะเจรจาประนีประนอมกับสหรัฐ โดยที่ทรัมป์จะเป็นผู้กำหนดเงื่อนไขสำหรับการผ่อนคลายหรือยกเลิกกำแพงภาษีกับประเทศคู่ค้า ถ้าเจรจาไม่ทันก็รับภาษีศุลกากรอัตราใหม่ไปเต็มๆก็แล้วกัน
ไทยควรมีปฏิกิริยาอย่างไรกับภาษีทรัมป์ที่ประสงค์ร้าย มุ่งทำลายเศรษฐกิจคู่ค้า และเศรษฐกิจโลก เพราะว่าสหรัฐกำลังเผชิญกับระบบหนี้ (debt-based system)ที่มาถึงโค้งสุดท้าย เนื่องจากความสามารถในการสร้างรายได้ไล่ตามไม่ทันหนี้ที่พอกพูนเร็วกว่าในระบบเศรษฐกิจที่เน้นการบริโภคมากกว่าการผลิต ถ้าปัญหานี้ไม่ได้รับการแก้ไข มันจะทำลายความเชื่อมั่นในดอลล่าร์และจะนำไปสู่เงินเฟ้อระดับไฮเปอร์ในที่สุด เพราะว่าในท้ายที่สุดธนาคารกลางสหรัฐต้องกลับมาทำคิวอี หรือพิมพ์เงินมหาศาลมาจ่ายหนี้
วิธีการแก้ไขของทรัมป์คือก่อสงครามภาษีแล้วเจรจาให้เจ้าหนี้ลดหนี้ ประนอมหนี้ ยืดอายุหนี้ หรือบังคับให้ซื้อหนี้สหรัฐที่มีอายุ50ปี หรือ100ปี รวมท้ังให้ประเทศคู่ค้าปรับค่าเงินให้แข็งค่าขึ้น เพื่อว่าจะช่วยลดการขาดดุลการค้าของสหรัฐคล้ายๆกับสิ่งที่ทรัมป์ทำกับเยอรมนีและญี่ปุ่นผ่านPlaza Accordในปี 1985 ในขณะเดียวกัน ทรัมป์เตรียมรีเซ็ตระบบการเงินผ่านการเอาสเตเบิ้ลคอยน์มาใช้หมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจ และลดความสำคัญของดอลล่าร์ที่ไม่อาจรักษาความเป็นเงินสกุลหลักของโลกได้อีกต่อไป อันเห็นได้ชัดเจนจากการที่ธนาคารกลางต่างๆทั่วโลกกำลังทิ้งดอลล่าร์และหันมาซื้อทองคำแท่ง ซึ่งเป็นปัจจัยที่สำคัญที่สุดที่ทำให้ราคาทองคำทุบสถิติใหม่ในช่วงเวลานี้ มีการคาดคะเนเหมือนกันว่าทรัมป์อาจจะนำเอาระบบสองเงินตรา(two-tier currency system)มาใช้ โดยจะมีเงินตราที่ใช้ภายในประเทศ และเงินตราที่ใช้กับต่างประเทศ คล้ายๆกับสิ่งที่จีนกำลังพัฒนาออฟชอร์หยวน กับออนชอร์หยวนควบคู่กันไป
เนื่องด้วยสหรัฐมีดอลล่าร์เป็นเงินสกุลหลักของโลกจึงพอจะช่วยให้ทรัมป์ซื้อเวลาต่อไปได้ผ่านการพิมพ์เงินในกรณีที่เศรษฐกิจ หรือสภาพคล่องมีปัญหา ส่วนประเทศที่สายป่านสั้นแบบไทยแลนด์ที่มีหนี้ภาครัฐที่สูงอยู่แล้ว หากไม่มีรายได้เงินตราเข้าประเทศจากการค้าที่ปั่นป่วน เพราะภาษีทรัมป์สร้างปัญหาให้กับทุกประเทศไม่เว้น จะทำให้เกิดการขาดดุลการค้า หรือขาดดุลบัญชีเดินสะพัด และทำให้มีแรงกดดันสูงที่ต้องรีบเร่งเจรจากับทรัมป์เพื่อหาทางผ่อนคลาย เพราะว่าถ้าหากภาคส่งออกพังจะลากเศรษฐกิจให้ตกต่ำ ภาวะการตกงานจะกระจายไปทั่ว และระบบการเงินไทย รวมท้ังค่าเงินบาทจะมีปัญหารุนแรงตามมา ประเทศเล็กๆอย่างไทยพิมพ์เงินแบบสหรัฐไม่ได้ เพราะว่าค่าเงินจะดิ่งเหวทันทีที่ตลาดรับรู้
สงครามภาษีที่เปิดฉากโดยทรัมป์โดยไม่สนหน้าอินทร์หน้าพรหมเป็นการปิดฉากระบบมหาอำนาจโลกขั้วเดียวของสหรัฐที่ไม่รักษาต่อไปได้ ท่ามกลางความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ที่ลึกซึ้งกับมหาอำนาจใหม่อย่างจีนและรัสเซีย รวมท้ังกลุ่มBRICS โดยทรัมป์ต้องการทำให้ทุกประเทศอ่อนแอ จะได้รวมตัวกันไม่ติด ต่างคนต่างคิดเอาตัวรอด ทำให้ง่ายที่ทรัมป์จะเจรจาต่อรองกับประเทศคู่ค้าเพื่อตักตวงเอาผลประโยชน์ให้ได้มากที่สุด ด้วยเหตุนี้ การที่ไทยจะเจรจากับสหรัฐเรื่องภาษีทรัมป์จะไม่ใช่เรื่องการค้าอย่างเดียวโดยเฉพาะ แต่จะเชื่อมโยงกับนโยบายต่างประเทศ และนโยบายความมั่นคง
เราก็ทราบกันดีอยู่แล้วว่า ในสงครามการค้าโลกคร้ังนี้ จีนเป็นเป้าที่ใหญ่ที่สุดของทรัมป์ที่มุ่งทำลาย เพื่อสกัดไม่ให้จีนก้าวขึ้นมาเป็นมหาอำนาจโลกแทนที่สหรัฐ จีนจึงเจอกำแพงภาษี54%ในอัตราที่สูงที่สุดแบบไม่ต้องดูหน้ากันต่อไป ทรัมป์หวังว่า เศรษฐกิจจีนที่ไม่ได้เข้มแข็งมากเหมือนหลายปีที่ผ่านมาจะประสบปัญหาจากกำแพงภาษีและระบบการค้าโลกที่ปั่นป่วน ซึ่งอาจจะนำไปสู่ปัญหาสังคม หรือการเมืองภายในจีนที่จะตามมาก็ได้ ส่วนกลุ่มประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่มีโมเดลเศรษฐกิจที่พึ่งพาการส่งออก (export-oriented economic model) ต่างก็เจอกำแพงภาษีในอัตราที่สูงกันถ้วนหน้าเหมือนกัน ไม่ว่าจะเป็นเวียดนาม (46%) มาเลย์เซีย (24%) อินโดเนเซีย (32%) ฟิลิปปินส์ (17%) ท้ังนี้มีผลประโยชน์ใกล้ชิดกับจีนทางการค้า และเศรษฐกิจ เมื่อจะเล่นงานจีน ก็ต้องเล่นงานประเทศคู่ค้าที่สำคัญของจีนในภูมิภาคนี้ให้อ่อนแอตามลงไปด้วย เป็นที่น่าสังเกตุว่า สิงคโปร์โดนภาษีทรัมป์ในอัตราที่ต่ำที่สุดแค่10% เท่ากับพันธมิตรแองโกลอเมริกันคือ อังกฤษ นิวซีแลนด์ และออสเตรเลีย
การเจรจาต่อรองของไทยกับสหรัฐในด้านภาษีจะไม่ใช่เรื่องการค้าอย่างเดียว แต่เลี่ยงไม่ได้ที่ทีมอเมริกาจะเรียกร้องให้ไทยปรับนโยบายต่างประเทศ และนโยบายความมั่นคงให้สอดคล้องกับความต้องการของวอชิงตัน ซึ่งมียุทธศาสตร์อินโดแปซิฟิคในการปิดล้อมจีนอยู่แล้ว ประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อื่นๆจะเจอแรงกดดันเหมือนกับไทย แต่อาจจะน้อยกว่า เนื่องจากไทยมีความสำคัญที่สุดในฐานะที่เป็นศูนย์กลางทางภูมิศาสตร์ของภูมิภาคนี้
คำถามคือเราจะบาลานซ์การเจรจากับสหรัฐอย่างไรในภาพรวมท้ังหมด
แน่นอนที่ ผู้ส่งออกและนักอุตสาหกรรมไทยตอนนี้กำลังวิ่งตีนขวิด เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลรีบเร่งเจรจาหาทางออกกับสหรัฐ ในเวลานี้รัฐบาลที่ดีจะมองดูภาพรวมของผลประโยชน์ของประเทศเป็นหลัก การเจรจากับสหรัฐต้องดูว่ามันคุ้มมากกว่าเสียสำหรับผลประโยชน์องค์รวมของชาติ ไม่ใช่สักแต่มองแต่แง่มุมของผู้ส่งออกอย่างเดียว เพราะว่าที่ผ่านมาผู้ส่งออกได้ประโยชน์อย่างมากจากการใช้ไทยเป็นฐานผลิตเพื่อการส่งออก รวมท้ังได้ประโยชน์จากการที่ธนาคารแห่งประเทศไทยดำเนินนโยบายอัตราแลกเปลี่ยนที่เอื้อการส่งออกมากกว่าการดูแลสเถียรภาพของราคาภายในประเทศ
สำหรับสินค้าส่งออกหลักของไทยไปยังตลาดสหรัฐได้แก่เครื่องจักรไฟฟ้าและอุปกรณ์ รวมถึงอุปกรณ์โทรคมนาคม (เช่น โทรศัพท์) วงจรรวม และเซมิคอนดักเตอร์ ในปีทีผ่านมาการส่งออกเครื่องจักรไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ไปยังสหรัฐมีมูลค่าประมาณ 17.58 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งเป็นภาคการส่งออกที่ใหญ่ที่สุด นอกจากนี้ ไทยยังส่งออกชิ้นส่วนเครื่องจักรสำนักงาน (เช่น ฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์) คอมพิวเตอร์ และอุปกรณ์ต่อพ่วงคอมพิวเตอร์ไปสหรัฐ โดยมีมูลค่าประมาณ 13.63 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ
ส่วนการส่งออกยางและผลิตภัณฑ์ยางไปตลาดสหรัฐมีมุลค่าเช่น ยางรถยนต์และถุงมือ มีมูลค่าประมาณ 5.07 พันล้านดอลลาร์ สำหรับยานยนต์และชิ้นส่วนยานยนต์ ไทยส่งออกไปสหรัฐมูลค่าประมาณ 2.36 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ การส่งออกอัญมณี เครื่องประดับ และโลหะมีค่าของประเทศไทยไปยังสหรัฐมีมูลค่าประมาณ 1.97 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ส่วน
สินค้าส่งออกอื่น ๆได้แก่ อาหารแปรรูป (เช่น ปลาทูน่ากระป๋อง อาหารทะเล และข้าว) มีมูลค่าน้อยกว่า แต่โดยภาพรวมสหรัฐเป็นตลาดส่งออกที่ใหญ่ที่สุด คิดเป็นมูลค่า 55.11 พันล้านดอลลาร์ โดยไทยได้เปรียบดุลการค้า45.6 พันล้านดอลล่าร์
จะเห็นได้ว่าบริษัทต่างชาติที่ใช้ไทยเป็นฐานในการส่งออกสินค้าที่มีมูลค่าสูงเป็นหลักจะได้รับผลกระทบมาก ส่วนบริษัทไทยที่มีขนาดเล็กกว่าก็ได้ผลกระทบเหมือนกันแต่มูลค่าการส่งออกน้อยกว่า ถ้ารัฐบาลจะช่วยก็ให้เน้นดูแลผลประโยชน์ผู้ส่งออกไทยที่ใช้วัตถุดิบไทย หรือส่วนประกอบไทยเป็นหลัก ส่วนบริษัทต่างชาติก็ปล่อยให้ดูแลกันเองตามกำลังความสามารถ ในขณะที่รัฐบาลหาทางออกใหม่ให้กับประเทศ
รัฐบาลไทยต้องยอมรับความจริงว่า เราไม่สามารถพึ่งพา หรือมีความสัมพันธ์กับสหรัฐได้เหมือนเดิมอีกต่อไป เพราะว่าทรัมป์กำลังล้มระบบโลก เพื่อรีเซ็ตระบบโลกใหม่ และต้องการให้ไทย รวมท้ังกลุ่มประเทศในเอเชียดำเนินนโยบายเข้าข้างสหรัฐในการเป็นปรปักษ์กับจีน ซึ่งจะขัดกับผลประโยชน์ของไทยในระยะยาว ด้วยเหตุนี้ ในการเจรจาต่อรอง ความคิดหรือความหวังเพื่อกลับไปสู่จุดเดิมของความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับสหรัฐผ่านการรักษาระดับการเกินดุลการค้าเหมือนเดิมเป็นเรื่องที่เฟ้อฝัน ทางออกข้างหน้าของไทยคือการตีกรรเชียงออกจากการพึ่งพาสหรัฐ และหันไปเน้นการค้าการลงทุน หรือความร่วมมือกับประเทศเพื่อนบ้าน รวมท้ังกับประเทศอาเซียน จีน และกลุ่มประเทศBRICSที่ไทยได้รับเข้าเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์รวมท้ังกลุ่มประเทศซีกโลกใต้ (Global South)
อนาคตของเศรษฐกิจโลกอยู่ที่จีน BRICS และประเทศซีกโลกใต้ -- ไม่ใช่สหรัฐ ยุโรปหรือญี่ปุ่นอีกต่อไป และนี้คือทางออกของประเทศไทยที่ได้เวลาปรับเปลี่ยนทิศทางกันใหม่เพื่อรักษาเสถียรภาพและความมั่นคงของประเทศในกาลข้างหน้า
By Thanong Khanthong
3/4/2025