ได้ประโยชน์กลับอ้างว่าเสียประโยชน์

ได้ประโยชน์กลับอ้างว่าเสียประโยชน์
2-4-2025
โดนัลด์ ทรัมป์ออกข่าววันก่อนว่าเขาเตรียมประกาศอัตราภาษีตอบโต้ (reciprocal tariffs)กับประเทศต่างๆทั่วโลกแบบเหมาโหลในวันที่2เมษายนนี้ เนื่องจากสหรัฐถูกเอารัดเอาเปรียบทางการค้ามานานถึง40ปี หรือมากกว่านั้น ยังไม่มีใครทราบว่าทรัมป์จะประกาศอัตราภาษีศุลกากรในอัตราเท่าใด ขึ้นอยู่กับการพิจารณาแต่ละประเทศที่ทรัมป์เล็งเห็นว่ามีการใช้ภาษี หรือมาตรการกีดกันทางการค้ากับสินค้ากับสหรัฐมากน้อยแค่ไหน หรืออย่างไร แต่อาจเป็นไปได้ว่าทรัมป์จะใช้อัตราภาษี20%ทั่วทั้งกระดานไปก่อน แล้วค่อยเจรจาต่อรองกันทีหลัง
ไทยก็อยู่ในข่ายที่จะโดนกำแพงภาษีของทรัมป์เนื่องจากเราได้เปรียบดุลการค้ากับสหรัฐ$45,600ล้านเมื่อปีที่แล้ว เศรษฐกิจไทยอ่อนแออยู่แล้ว เพิ่งจะประสบเหตุการณ์แผ่นดินไหว และถ้าหากต้องเจอกำแพงภาษีของทรัมป์จะทำให้การส่งออกได้รับผลกระทบค่อนข้างมาก เพราะว่ามาร์จิ้นของการขายสินค้าได้มาน้อยนิดอยู่แล้ว ถ้าต้องขึ้นราคาสินค้าเพื่อรองรับอัตราภาษีใหม่ จะทำให้ขายสินค้าได้น้อยลง
คำพูดของทรัมป์ที่ว่า สหรัฐถูกประเทศต่างๆเอาเปรียบทางการค้ามามากกว่า40ปีจากการขาดดุลเป็นการโกหกคำโต ผู้ที่ได้ประโยชน์มักจะอ้างว่าเสียประโยชน์ ตลอดระยะเวลาหลายทศวรรษที่ผ่านมา สหรัฐขาดดุลการค้ามาตลอด ในปี2024 สหรัฐขาดดุลการค้า$918,400ล้าน การการนำเข้าสินค้า$4.1ล้านล้านมากกว่าการส่งออก$3.2ล้านล้าน คนอเมริกันได้เปรียบจากการเป็นผู้ซื้อโดยการใช้ดอลล่าร์กระดาษที่พิมพ์ออกมาได้ตามอำเภอใจ ในขณะที่ประเทศผู้ส่งออกเสียเปรียบจากเป็นผู้ขายแล้วได้ดอลล่าร์กระดาษกลับมา
ถ้าจะว่าไปแล้ว การขาดดุลการค้านี้เป็นนโยบายยุทธศาสตร์สหรัฐมาแต่ไหนแต่ไร เพราะว่าสหรัฐได้ประโยชน์จากการบริโภคสินค้าจากต่างประเทศในราคาถูก ช่วยดูแลเงินเฟ้อไปในตัว โดยสหรัฐพิมพ์ดอลล่าร์กระดาษที่ไม่มีทรัพย์สิน หรือทองคำหนุนหลังมาซื้อสินค้านำเข้า ในขณะที่ประเทศผู้ส่งออกต้องผลิตสินค้า ต้องใช้วัตถุดิบ ต้องใช้หยาดเหงื่อแรงงาน ต้องตั้งโรงงานเพื่อผลิตสินค้าไปขายเพื่อแลกกับดอลล่าร์กระดาษที่สหรัฐพิมพ์ออกมาจากกลางอากาศ ที่สหรัฐทำเช่นนี้ได้ เพราะว่าดอลล่าร์เป็นเงินสกุลหลักของโลก และเป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยนสินค้าและบริการในระบบเศรษฐกิจโลก แม้ว่าการบริโภคสินค้านำเข้าที่เกินตัวอย่างต่อเนื่องมานานหลายสิบปีจะมาพร้อมกับหนี้ที่เพิ่มขึ้น แต่ตราบเท่าที่ดอลล่าร์เป็นเงินสกุลหลักของโลก สหรัฐสามารถพิมพ์เงินมาจ่ายหนี้ต่อไปได้เรื่อยๆ
มาดูกันว่าสหรัฐใช้นโยบายการขาดดุลการค้า และขาดดุลงบประมาณเป็นหัวใจหลักของการบริหารอย่างไร
Yanis Varoufakis อดีตรัฐมนตรีว่าการการะทรวงการคลังของกรีซเล่าให้ฟังว่า ในปี 1968 สหรัฐ ซึ่งเป็นมหาอำนาจโลกทางเศรษฐกิจอย่างเต็มตัวหลังสงครามโลกคร้ังที่ 2 และมีระบบอุตสาหกรรมที่เข้มแข็งที่สุดประสบกับการขาดดุลการค้าเป็นคร้ังแรก เรื่องนี้ทำให้เฮนรี่ คิสซิงเจอร์ ที่ปรึกษาสภาความมั่นคงของสหรัฐ (ระหว่างปี1969-1975) และต่อมาดำรงตำแหน่ง รัฐมตรีต่างประเทศควบคู่กันไปด้วยรู้สึกไม่สบายใจเมื่อตอนเข้ามาทำงานใหม่ๆ เขาเรียกประชุมสต๊าฟเพื่อหารือเรื่องการขาดดุลการค้า ว่าต่อไปจะมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจของสหรัฐอย่างไร และจะมีวิธีการแก้ไขอย่างไร คิสซิงเจอร์ให้สต๊าฟทุกคนกลับไปคิด และเขียนรายงานมาส่ง โดยเนื้อหาต้องไม่เกินครึ่งหน้ากระดาษพิมพ์ดีด แต่ละคนแสดงความเห็นของตัวเองไปในการลดการขาดดุล โดยหลักก็คือให้หาทางเพิ่มการส่งออกและลดการนำเข้า แต่มีสต๊าฟคนหนึ่งเขียนแนะนำว่า สหรัฐควรเพิ่มการขาดดุลอีกเป็นสามเท่า แล้วให้ประเทศต่างๆที่ค้าขายกับสหรัฐแบกรับภาระนั้นแทนสหรัฐ!
คิสซิงเจอร์ ผู้มีความคิดที่ลึกซึ้งและเป็นนักยุทธศาสตร์ที่สุดยอดที่สุดของสหรัฐที่เคยมีมาเห็นด้วยกับคำแนะนำนี้ทันที สหรัฐสามารถขยายการเติบโตทางเศรษฐกิจ และเพิ่มมาตรฐานการครองชีพของคนอเมริกันผ่านระบบเศรษฐกิจของการบริโภค แทนที่จะพยายามลดการขาดดุล สหรัฐจะเดินหน้าเพิ่มการขาดดุล และสร้างอุปสงค์มวลรวม (aggregate demand)ให้กับประเทศผู้ส่งออกเช่นเยอรมนี และญี่ปุ่น และพิมพ์เงินดอลล่าร์ไปจ่ายหนี้ เนื่องจากดอลล่าร์เป็นเงินสกุลหลักของโลกที่ทุกประเทศต้องถือครองในการทำการค้า หรือทำธุรกรรมการเงินระหว่างประเทศ เมื่อประเทศผู้ส่งออกได้ดอลล่าร์จากการขายสินค้าให้กับตลาดสหรัฐแล้วก็จะเอาดอลล่าร์นั้นมารีไซเกิ้ลกลับไปซื้อพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐเพื่อเป็นรีเสิร์ฟในเงินทุนสำรองระหว่างประเทศ การทำเช่นนี้เท่ากับเป็นการเพื่อช่วยไฟแนนซ์การบริโภคที่เกินตัวของสหรัฐ และขาดดุลงบประมาณแผ่นดินของรัฐบาลกลางสหรัฐอีกต่อหนึ่ง ด้วยเหตุนี้สหรัฐจึงสามารถดำเนินนโยบายการขาดดุลการค้ากับการขาดดุลงบประมาณไปพร้อมๆกัน โดยไม่ต้องห่วงเรื่องต้นทุนทางการเงิน เพราะว่าสามารถก่อหนี้ดอลล่าร์ไปได้เรื่อยๆผ่านการออกบอนด์ใหม่ไปไถ่ถอนหนี้ของบอนด์เก่า ตราบเท่าที่สหรัฐสามารถควบคุมระบบชำระเงินของโลก และสกัดไม่ให้เงินสกุลของประเทศใดขึ้นมาเทียบรัศมีกับดอลล่าร์ได้
สรุปแล้ว การขาดดุลการค้าทำให้คนอเมริกันสามารถบริโภคเกินตัว ได้ของดีของถูกมาใช้ ส่วนการขาดดุลงบประมาณทำให้รัฐสามารถใช้จ่ายเกินตัวในโครงการสวัสดิการสังคม และสร้างแสนยานุภาพทางทหารเพื่อรักษาความเป็นจ้าวโลกของสหรัฐ
ทุกระบบที่มีจุดเริ่มต้นก็ต้องมีจุดจบเป็นของธรรมดา เวลานี้นโยบายการขาดดุลการค้า และการขาดดุลงบประมาณของสหรัฐกำลังจะเข้าสู่โค้งสุดท้ายหลังจากที่ดำเนินมาเป็นเวลากว่าครึ่งศตวรรษ เนื่องจากหนี้ดอลล่าร์ที่ก่อดูแล้วไม่ยั่งยืนอีกต่อไป หรือกำลังไปถึงเพดานจำกัด สหรัฐมีหนี้เอกชนและรัฐรวมกันมากกว่า$100ล้านล้าน ในขณะที่มีเม็ดเงินจริงๆในระบบ$21ล้านล้าน หมายความว่าต้องมีการเพิ่มปริมาณดอลล่าร์ในระบบมากขึ้นไปเรื่อยๆเพื่อจ่ายหนี้ในระบบที่หนี้วิ่งเร็วกว่าความสามารถในการหารายได้ นี้คือปัญหาพื้นฐานที่ทรัมป์ หรือพ่อของทรัมป์ก็แก้ไม่ได้ ถ้าต้องเพิ่มดอลล่าร์เพื่อจ่ายหนี้ที่เพิ่มในอัตราที่เร่งตัว จะทำให้ค่าดอลล่าร์เสื่อม และในที่สุดจะทำให้เกิดเงินเฟ้อที่รุนแรงจนถึงขั้นทำลายระบบการเงิน
ความเชื่อมั่นในระบบดอลล่าร์เริ่มสั่นคลอนให้เราได้เห็นชัดเจนขึ้นเรื่อยๆ ราคาทองคำที่พุ่งเป็นประวัติการณ์เป็นตัววัดเสถียรภาพของระบบดอลล่าร์ได้ดี ตั้งแต่ต้นปีมาถึงตอนนี้ ราคาทองคำเพิ่มขึ้นไปแล้ว20% หรืออยู่ที่ราวๆ$3,100กว่าต่อออนซ์ ราคาทองคำไปในทิศทางตรงข้ามกับดอลล่าร์ เมื่อทองคำมีราคาสูงขึ้น ดอลล่าร์จะตก เมื่อดอลล่าร์แข็งค่าขึ้น ทองคำจะร่วง แต่ดูเหมือนว่าเวลานี้ ทองคำวิ่งขึ้นขาเดียว ทำให้นักวิเคราะห์หลายคนมองว่าธนาคารกลางของสหรัฐและธนาคารกลางของประเทศต่างๆ รวมท้ังธนาคารแห่งประเทศไทยที่อยู่ในระบบการเงินกระดาษ (fiat money)กำลังเสียการควบคุมระบบการเงิน เงินกระดาษกำลังด้อยค่าลงทุกวันเมื่อเทียบกับสินค้าที่จับต้องได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสินค้าโภคภัณฑ์จากการที่มีการเพิ่มปริมาณเงินเข้าสุ่ระบบการเงินมากเกินไปนั่นเอง ต้องเข้าใจว่าเงินเฟ้อเป็นปรากฎการณ์ทางด้านการเงิน เมื่อมีปริมาณเงินเพิ่ม ค่าเงินจะด้อยลง
ราคาทองคำที่เพิ่มขึ้นมาจากปัจจัยหลักของการตะลุยซื้อทองคำขอธนาคารกลางทั่วโลก ที่ต้องการกระจายความเสี่ยงออกจากระบบดอลล่าร์ ที่ผ่านมาธนาคารกลางทั่วโลกถือพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐเป็นรีเสิร์ฟของประเทศ แต่เวลานี้รู้สึกไม่มั่นใจในความสามารถในการชำระหนี้ของรัฐบาลสหรัฐที่มีหนี้มากกว่า$36ล้านล้าน หรือ120%ต่อจีดีพี งบประมาณแผ่นดินของสหรัฐมีการขาดดุล $2ล้านล้านต่อปี และมีภาระดอกเบี้ยที่ต้องจ่ายมากกว่า $1ล้านล้านต่อปี ภายในปีนี้สหรัฐมีภาระที่ต้องรีไฟแนนซ์หนี้ที่ครบกำหนดต้องชำระ$9ล้านล้าน คำถามคืออุปสงค์ของพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐที่มากมายมหาศาลจะมาจากไหน ซึ่งเราฏ้รู้กันอยุ่แล้วว่าธนาคารกลางสหรัฐพร้อมจะกลับมาคำคิวอีเพื่ออุ้มพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐทุกเมื่อในฐานะbuyer of last resort
ด้วยเหตุนี้เอง เรย์ ดาลิโอ ผู้ก่อตั้งเฮดจ์ฟันด์ Bridgewater Associatesจึงได้ส่งคำเตือนไปยังตลาดว่า สหรัฐมีโอกาสผิดนัดชำระหนี้สูง เพราะว่าหนี้และระดับการก่อหนี้ และการชำระหนี้ดูแล้วไม่ยั่งยืน ทำให้รัฐบาลสหรัฐจำต้องปรับโครงสร้างหนี้ ยืดอายุหนี้ออกไป หรือบังคับให้เจ้าเจ้าซื้อหนี้เพิ่ม ถ้าไม่ไหวจริงๆอาจจะเบี้ยวหนี้ไปเลยก็ได้
อีกประการหนึ่งที่สำคัญคือเวลานี้โลกมีทางเลือกออกจากระบบดอลล่าร์ จากการที่จีนมีเงินหยวนที่มีเสถียรภาพมากกว่า และมีการสร้างระบบชำระเงินที่เป็นเอกเทศจากระบบSWIFTที่สหรัฐควบคุม และสามารถแซงชั่นทุกประเทศได้ จึงทำให้ประเทศกำลังพัฒนา โดยเฉพาะประเทศที่มีรีเสิร์ฟเป็นดอลล่าร์มากๆเช่นซาอุดิ อาราเบียที่ต้องการกระจายความเสี่ยงฝากความหวังที่กลุ่มBRICSที่กำลังก่อตัวขึ้นเพื่อสร้างระเบียบการเงิน และระเบียบเศรษฐกิจโลกใหม่ออกจากอิทธิพลของดอลล่าร์และตะวันตก ทำให้สามารถค้าขายกันเองได้ โดยใช้เงินหยวน หรือเงินสกุลประจำชาติ โดยไม่ต้องผ่านยูเอสดอลล่าร์อีกต่อไป เพราะว่ามีระบบชำระเงินของตัวเองที่เป็นเอกเทศ
ใครเล่าจะคิดว่ามหาอำนาจโลกอย่างสหรัฐกำลังมาถึงจุดที่กำลังคิดจะเบี้ยวหนี้ แต่ถ้าดูตามประวัติศาสตร์แล้ว มันเป็นเรื่องที่ไม่น่าแปลกใจ เพราะว่าจักรวรรดิทุกจักรวรรดิล่มสลายจากการบริโภคเกินตัวหรือการขาดดุล อันนำไปสู่การเพิ่มปริมาณเงินที่ทำให้เกิดเงินเฟ้อ และในที่สุดเงินเฟ้อก็ทำลายทุกสิ่งทุกอย่าง สหรัฐกำลังเดินตามชะตากรรมของจักรวรรดิโรมัน
ทรัมป์เป็นนักธุรกิจที่เลยล้มละลายมาหลายคร้ัง และเป็นนักเจรจาตัวยง แถมเป็นนักสร้างภาพที่หาตัวจับยาก จึงได้รับมอบหมายในฐานะประธานาธิบดีผู้มีอำนาจสูงสุดมาให้จัดการเรื่องหนี้ของรัฐบาลสหรัฐ บทบาทตอนนี้แตกต่างจากตอนเป็นนักธุรกิจ นักพัฒนาอสังหาฯที่ทรัมป์ในฐานะลูกหนี้ไม่ได้มีอำนาจต่อรองกับเจ้าหนี้มากเท่าใดนัก แต่เวลานี้สถานการณ์ต่างจากเดิม เพราะว่าทรัมป์เป็นประธานาธิบดีของสหรัฐที่มีอาวุธนิวเคลียร์และเป็นมหาอำนาจเบอร์หนึ่งของโลกจึงมีอำนาจการต่อรองสูงกว่าลูกหนี้ท้ังหลายไม่ว่าจะเป็นญี่ปุ่น จีน อังกฤษ หรือแม้กระทั่งไทยแลนด์ที่อาจถูกเบี้ยวหนี้ทั้งที่เป็นทองคำสำรองที่ฝากเอาไว้ที่นิวยอร์ค และพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐที่ธนาคารแห่งประเทศไทยถือครองอยู่
การก่อสงครามภาษีของทรัมป์เป็นส่วนหนึ่งของการรักษาอำนาจของสหรัฐ เพราะว่าประเทศผู้ส่งออกที่สายป่านสั้นอย่างประเทศไทยจะโดนผลกระทบมากกว่า ค่าเงินบาท หรือค่าเงินของประเทศต่างๆจะอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับดอลล่าร์ หากตลาดมองว่าส่งออกไม่ได้ หรือไม่มีรายได้พอที่จะจ่ายหนี้ต่างประเทศ เมื่อกำแพงภาษี หรือลัทธิกีดกันการค้าถูกนำออกมาใช้อย่างเต็มสูบจะทำให้เกิดภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ หรือถดถอยอย่างรุนแรง ใครอยู่ได้ก็อยู่ไป ใครอยู่ไม่ได้ก็ล้มไป เมื่อประเทศต่างๆอ่อนแอ ทรัมป์จะถือโอกาสเปิดประตูเจรจาในทุกมิติที่ทำควบคู่กับการค้า ไม่ว่าจะเป็นนโยบายต่างประเทศ หรือนโยบายความมั่นคงเพื่อชิงความได้เปรียบเหนือคู่แข่งอย่างรัสเซียหรือจีนต่อไป ถ้าไม่ยอมรับการปรับโครงสร้างหนี้ของสหรัฐ อาจจะผ่านการยืดอายุหนี้ออกไป50ปี หรือ100ปีตามแผนการของMar-a-Lago Accord ทรัมป์จะไล่บี้เรื่องภาษี มาตรการกีดกันทางการค้า หรืออาจจะยกทัพมาขู่ที่หน้าบ้าน หรือดีไม่ดีอาจจะยึดดินแดนไปเลยเหมือนกับที่กำลังเตรียมทำกับกรีนแลนด์
จับตาดูขบวนการล้มละลายของจักรวรรดิให้ดีๆ มันเริ่มต้นอย่างช้าๆ แล้วก็ล้มละลายอย่างกระทันหัน
By Thanong Khanthong
2/4/2025