'รูบิโอ' เผย เอลซัลวาดอร์เสนอตัวเป็นพื้นที่จำคุกนักโทษจากสหรัฐฯ
ขอบคุณภาพจาก Human Rights Watch
5-2-2025
ประธานาธิบดีนายิบ บูเคเล ผู้นำเอลซัลวาดอร์ เสนอตัวเป็นพื้นที่จำคุกผู้ก่ออาชญากรรมที่ถูกผลักดันออกนอกประเทศจากสหรัฐฯ ทั้งชาวอเมริกันและคนสัญชาติอื่นๆ เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา (3 ก.พ.) เพื่อให้ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์สามารถว่าจ้างระบบเรือนจำของสหรัฐฯ มาใช้แทนได้ ซึ่งถือเป็นก้าวสำคัญที่มาร์โก รูบิโอ รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ ยกย่อง แม้ในปัจจุบัน แทบไม่มีกรณีตัวอย่างใดที่ประเทศประชาธิปไตยจะส่งพลเมืองของตนเองไปคุมขังในเรือนจำต่างประเทศ และความพยายามใดๆ ก็ตามที่จะทำเช่นนั้นอาจถูกท้าทายในศาลของสหรัฐฯ
แต่รูบิโอยินดีกับข้อเสนอที่จะทำเช่นนั้นของประธานาธิบดีบูเคเล ซึ่งการปราบปรามอาชญากรรมครั้งใหญ่ทำให้เขาได้รับความนิยมอย่างล้นหลามในประเทศ และกลายเป็นฮีโร่ของหลายๆ คนในวงโคจรของประธานาธิบดีทรัมป์
“เขาเสนอที่จะคุมขังอาชญากรชาวอเมริกันอันตรายที่ถูกคุมขังในประเทศของเรา รวมถึงผู้ที่มีสัญชาติสหรัฐฯ และถิ่นที่อยู่ถูกกฎหมายในเรือนจำของเขา” รูบิโอกล่าว “ไม่มีประเทศใดเคยเสนอมิตรภาพเช่นนี้มาก่อน” ซึ่ง “เราซาบซึ้งใจมาก”
ด้านประธานาธิบดีบูเคเลกล่าวว่า เอลซัลวาดอร์จะเรียกร้องเงินและพร้อมที่จะคุมขังชาวอเมริกันในเรือนจำที่เขาเปิดเมื่อปีที่แล้ว (2024) ซึ่งเป็นเรือนจำที่ใหญ่ที่สุดในละตินอเมริกา
“เราได้เสนอโอกาสให้สหรัฐอเมริกาจ้างคนภายนอกมาดูแลระบบเรือนจำบางส่วน” บูเคเลระบุผ่าน X หลังจากแถลงการณ์ของรูบิโอ โดย “ค่าธรรมเนียมจะค่อนข้างต่ำสำหรับสหรัฐอเมริกา แต่มีความสำคัญสำหรับเรา เพราะจะทำให้ระบบเรือนจำทั้งหมดของเรามีความยั่งยืน”
ขณะที่รูบิโอกล่าวว่า บูเคเลยินดีที่จะรับพลเมืองเอลซัลวาดอร์และพลเมืองของประเทศอื่นๆ กลับประเทศด้วย โดยดูเหมือนว่ารูบิโอจะแนะนำว่าจุดเน้นย้ำในเอลซัลวาดอร์จะอยู่ที่การคุมขังสมาชิกแก๊งในละตินอเมริกา เช่น MS-13 ของเอลซัลวาดอร์และ Tren de Aragua ของเวเนซุเอลา
“ผู้อพยพผิดกฎหมายในสหรัฐฯ คนใดก็ตามที่เป็นอาชญากรอันตราย ไม่ว่าจะเป็น MS-13, Tren de Aragua หรืออะไรก็ตาม เขาได้เสนอคุกให้กับพวกเขา” รูบิโอกล่าว
ตั้งแต่กลับมาที่ทำเนียบขาวเมื่อเดือนที่แล้ว (พ.ย.2024) ทรัมป์ให้ความสำคัญสูงสุดกับการเร่งการเนรเทศผู้คนนับล้านคนในสหรัฐฯ ที่ไม่มีสถานะทางกฎหมาย พร้อมกับความพยายามที่จะปราบปรามสิทธิในการเป็นพลเมืองโดยกำเนิด ซึ่งได้รับการคุ้มครองในรัฐธรรมนูญสหรัฐฯ
นอกจากนี้ ทรัมป์ยังเปิดเผยแผนการควบคุมตัวผู้อพยพ 30,000 คนในฐานทัพสหรัฐฯ ในอ่าวกวนตานาโมของคิวบา ซึ่งเป็นเรือนจำที่ประธานาธิบดีพรรคเดโมแครตคนก่อนๆ หวังว่าจะปิดลงได้ ท่ามกลางความกระตือรือร้นเป็นพิเศษของรัฐบาลทรัมป์ในการเนรเทศชาวเวเนซุเอลา
นับตั้งแต่เข้ารับตำแหน่งเมื่อเดือนที่แล้ว (พ.ย.2024) ทรัมป์ได้เพิกถอนการคุ้มครองชาวเวเนซุเอลาประมาณ 600,000 คนจากการเนรเทศ เพื่อลบล้างคำสั่งของโจ ไบเดน อดีตประธานาธิบดี โดยอ้างถึงวิกฤตเศรษฐกิจและความมั่นคงในอเมริกาใต้ ที่บริหารโดยนิโคลัส มาดูโร ศัตรูตัวฉกาจของสหรัฐฯ
ขณะที่การปราบปรามของบูเคเล หมายรวมถึงการกวาดล้างผู้ต้องสงสัยจำนวนมากโดยไม่มีหมายค้น และการเปิดเรือนจำความปลอดภัยสูงสุดซึ่งเขาเสนอตัวเป็นเรือนจำสำหรับคุมขังชาวอเมริกัน โดยเรือนจำที่รู้จักกันในชื่อ "ศูนย์กักขังผู้ก่อการร้าย" หรือ CECOT ล้อมรอบด้วยกำแพงคอนกรีตขนาดใหญ่ที่ขอบป่าดงดิบห่างจากซานซัลวาดอร์ไปทางตะวันออกเฉียงใต้ 75 กิโลเมตร (45 ไมล์) ที่ได้รับการออกแบบให้รองรับผู้ต้องขังได้ 40,000 คน โดยคาดว่าจะมีผู้ต้องขังอยู่ประมาณ 15,000 คนในปัจจุบัน ซึ่งผู้ต้องขังที่ CECOT จะออกจากห้องขังได้เฉพาะเมื่อมีการไต่สวนในศาลโดยใช้วิดีโอลิงค์จากห้องในเรือนจำ หรือเพื่อออกกำลังกายวันละ 30 นาทีในโถงทางเดินขนาดใหญ่ ทำให้การกระทำของบูเคเลถูกวิพากษ์วิจารณ์จากกลุ่มสิทธิมนุษยชน
จนถึงขณะนี้ รัฐบาลทรัมป์ยังไม่ได้แตะต้องสถานะที่ได้รับการคุ้มครองจากการเนรเทศชาวเอลซัลวาดอร์ราว 232,000 คนในสหรัฐฯ ซึ่งได้รับการขยายสถานะโดยไบเดนด้วยเช่นกัน
IMCT News