Thailand
อินเดีย' ลดสัดส่วนเงินสำรองธนาคารพาณิชย์-ปรับเพดานดึงเงินทุนต่างชาติ- หวังหนุนเศรษฐกิจปี 2025
8-12-2024
ธนาคารกลางอินเดีย (RBI) มีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบาย (Repo Rate) ที่ระดับ 6.5% แต่ปรับลดอัตราส่วนเงินสำรองของธนาคารพาณิชย์ (Cash Reserve Ratio: CRR) ลง 0.5% เหลือ 4% สอดคล้องกับการคาดการณ์ของตลาด พร้อมคงท่าทีนโยบายการเงินที่เป็นกลาง ส่งผลให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอายุ 10 ปี ปรับตัวเพิ่มขึ้น 4 basis points แตะระดับ 6.71% เนื่องจากนักลงทุนบางส่วนคาดหวังการปรับลดดอกเบี้ยในการประชุมครั้งนี้
นายชักติกันตา ดาส ผู้ว่าการธนาคารกลางอินเดีย เน้นย้ำว่า RBI ยังคงให้ความสำคัญกับการรักษาเสถียรภาพราคาเป็นลำดับแรก และยังไม่รีบร้อนที่จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยแม้ตัวเลขการเติบโตทางเศรษฐกิจจะอ่อนแอลง จนกว่าจะเห็นสัญญาณชัดเจนของการชะลอตัวของเงินเฟ้อ โดย RBI คาดการณ์ว่าการเติบโตของ GDP ที่แท้จริงจะเร่งตัวขึ้นเป็น 6.8% ในไตรมาสที่ 4 ของปีนี้ จากระดับ 5.4% ในไตรมาสที่ 3
การปรับลด CRR สะท้อนความตั้งใจของ RBI ในการแก้ไขภาวะสภาพคล่องที่ตึงตัวในระบบธนาคาร อันเป็นผลมาจากการดำเนินนโยบายอัตราแลกเปลี่ยนของ RBI และความผันผวนที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในกระแสเงินทุน นอกจากนี้ RBI ยังได้ปรับเพิ่มเพดานอัตราดอกเบี้ยสำหรับเงินฝากของชาวอินเดียที่ไม่มีถิ่นพำนักในประเทศ เพื่อดึงดูดกระแสเงินทุนจากต่างประเทศ ส่งผลให้เงินรูปีแข็งค่าขึ้น 0.3% แตะระดับ 84.52 รูปีต่อดอลลาร์สหรัฐฯ หลังประกาศนโยบาย
นักวิเคราะห์คาดว่า RBI จะเริ่มปรับลดอัตราดอกเบี้ยในเดือนกุมภาพันธ์ปีหน้า โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากแนวโน้มเงินเฟ้อที่คาดว่าจะลดลงอย่างมีนัยสำคัญจาก 6.2% ในเดือนตุลาคม เหลือ 5.2% ในเดือนธันวาคม จากราคาน้ำมันดิบและอาหารที่อ่อนตัวลง ประกอบกับการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ชะลอตัวลงอย่างมากในไตรมาส 3 ของปี 2024 ที่ 5.4% ต่ำกว่าที่ตลาดคาดการณ์ที่ 6.5% สะท้อนว่าเศรษฐกิจกำลังเข้าสู่ช่วงชะลอตัวตามวัฏจักร
ทั้งนี้ การชนะการเลือกตั้งของโดนัลด์ ทรัมป์ถือเป็นข่าวดีต่อค่าเงินรูปี เนื่องจากอินเดียมีการพึ่งพาตลาดสหรัฐฯ ในแง่อุปสงค์ขั้นสุดท้ายของการส่งออกน้อยกว่า โดยคาดว่าเงินรูปีจะมีแนวโน้มแข็งค่าในเดือนธันวาคม ขณะที่การผ่อนคลายนโยบายการเงินและการมุ่งเน้นการรักษาวินัยการคลังอย่างต่อเนื่องจะเป็นปัจจัยบวกต่อพันธบัตรระยะยาวในปี 2025
---
© Copyright 2020, All Rights Reserved