ผู้นำจีนส่งสัญญาณพร้อมรับศึกการค้า-สงครามภาษีรัฐบาลทรัมป์
11-12-2024
เมื่อจันทร์ บรรดาผู้นำจีนส่งสัญญาณแสดงความพร้อมในการใช้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจต่าง ๆ เพื่อรับมือผลกระทบจากสงครามภาษีกับรัฐบาลสหรัฐฯ ชุดใหม่ของโดนัลด์ ทรัมป์ ที่อาจส่งผลต่อตัวเลขจีดีพีของจีน
หลังการประชุมคณะกรรมการโพลิตบูโรของพรรคคอมมิวนิสต์จีนในวันจันทร์ เจ้าหน้าที่กล่าวว่า คณะผู้นำสูงสุดของจีนตัดสินใจปรับเปลี่ยนแนวทางนโยบายการเงินไปเป็นแบบ "ผ่อนคลายอย่างเหมาะสม" และนโยบายการคลัง "เชิงรุกมากขึ้น"
ตลอด 14 ปีที่ผ่านมา ธนาคารกลางของจีนใช้นโยบายการเงิน "แบบระมัดระวัง" ซึ่งเป็นช่วงเดียวกับที่ปริมาณหนี้ภาครัฐ ภาคธุรกิจและครัวเรือน เพิ่มสูงขึ้นกว่า 5 เท่า ในขณะที่ปริมาณผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ หรือ จีดีพี เพิ่มขึ้น 3 เท่าในช่วงเดียวกัน
การปรับเปลี่ยนนโยบายของคณะกรรมการโพลิตบูโรครั้งนี้ชี้ให้เห็นว่า จีนสามารถยอมรับได้หากปริมาณหนี้จะสูงขึ้นอีกอย่างน้อยในระยะสั้น
ชวง ติง หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ประจำภูมิภาคจีนและเอเชียเหนือ ของธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด กล่าวว่า "การปรับนโยบายจากระมัดระวังเป็นผ่อนคลายปานกลาง ถือเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่" และอาจเกิดอะไรตามมาได้มากมาย
ตั้ง เหยา อาจารย์ด้านเศรษฐศาสตร์แห่งมหาวิทยาลัยปักกิ่ง ชี้ว่า การปรับนโยบายครั้งนี้เป็นสิ่งจำเป็นเพื่อกระตุ้นการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ ไม่เช่นนั้นปัญหาหนี้จะยิ่งยากลำบากกว่าเดิม
สงครามภาษีกับรัฐบาลทรัมป์
โดนัลด์ ทรัมป์ กล่าวไว้ว่า เมื่อเขาเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ในวันที่ 20 มกราคมปีหน้า จะมีการประกาศใช้ภาษีนำเข้าสูงกว่า 60% กับสินค้าจากจีนทันที ซึ่งคาดว่าจะมีการตอบโต้จากจีนเช่นกัน ขึ้นอยู่กับเงื่อนเวลาและระดับภาษีที่รัฐบาลสหรัฐฯ นำมาใช้
แลร์รี หู หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์แห่งสถาบันแมคควอรี (Macquarie) เชื่อว่าจีนพร้อมจะทำทุกอย่างเพื่อให้ตัวเลขจีดีพีเป็นไปตามเป้าในปี 2025 ซึ่งก็อยู่ที่ระดับภาษีใหม่ของสหรัฐฯ เช่นกัน
ติง ลู หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์แห่งสถาบันโนมูระ (Nomura) ชี้ว่า รัฐบาลจีนอาจกำหนดเป้าหมายจีดีพีไว้ที่ประมาณ 5% ในปีหน้าเพื่อแสดงให้เห็นว่าจีนไม่หวั่นไหวต่ออัตราภาษี 60% ที่ทรัมป์ขู่ไว้ รวมทั้งมาตรการจำกัดทางเศรษฐกิจต่าง ๆ ที่สหรัฐฯ อาจนำมาใช้
แถลงการณ์การประชุมของคณะกรรมการโพลิตบูโรยังระบุถึง ความเสี่ยงที่เกิดจากปัญหาภาวะเงินฝืดและความต้องการใช้จ่ายที่ลดลงของผู้บริโภคจีน สืบเนื่องจากวิกฤติในภาคอัสงหาริมทรัพย์และปัญหาสวัสดิการสังคม โดยสัญญาว่าจะใช้มาตรการที่จำเป็นเพื่อกระตุ้นการบริโภคของประชาชน
นักวิเคราะห์ของธนาคารมอร์แกนสแตนลีย์ (Morgan Stanley) ระบุว่า การกระตุ้นการบริโภคจะเป็นภารกิจสำคัญอันดับ 1 สำหรับรัฐบาลจีน ในปี 2025 นี้
ส่วนนักวิเคราะห์ของธนาคารโกลด์แมนแซคส์ (Goldman Sachs) กล่าวว่า แถลงการณ์ใหม่ของคณะกรรมการสูงสุดของจีนชี้ถึงส่วนประกอบของการกระตุ้นเศรษฐกิจชุดใหม่ "ที่อาจแตกต่างจากช่วงที่ผ่านมาซึ่งมุ่งเน้นที่การบริโภค การผลิตสินค้าไฮเทค และการควบคุมความเสี่ยงมากกว่าการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานและอสังหาริมทรัพย์"
ที่มา: รอยเตอร์