.

รมว.คลัง ส่งสัญญาณเจรจาภาษีสหรัฐไม่จบง่าย! เตรียมพร้อมรับมือเร่งดึงลงทุน-ปรับโครงสร้างรับมือโลกใหม่
15-7-2025
นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.คลัง เปิดเผยความคืบหน้าการเจรจาภาษีการค้ากับสหรัฐว่ายังคงเดินหน้าอย่างต่อเนื่อง ย้ำชัดว่าประเทศไทยจะยึดหลักผลประโยชน์ของชาติเป็นสำคัญ มุ่งสร้างความสมดุลทางการค้าที่ยั่งยืน แม้เส้นตาย 1 ส.ค. 68 จะใกล้เข้ามา แต่ผลลัพธ์สุดท้ายยังคงต้องจับตา เพราะหลายประเทศก็ยังไม่สามารถสรุปผลการเจรจาได้เช่นกัน
รมว.คลัง ยืนยันว่าไทยไม่ได้ล่าช้าในการเจรจา แต่เป็นการใช้เวลาทบทวนข้อมูลอย่างรอบคอบ เพื่อให้ข้อเสนอเป็นไปอย่างสมเหตุสมผล การได้เห็นบทเรียนจากประเทศอื่นที่เจรจาไปก่อนหน้านี้ถือเป็นประโยชน์อย่างยิ่ง ทำให้ไทยเข้าใจความต้องการหลักของสหรัฐฯ คือ "ความสมดุลทางการค้า" ซึ่งช่วยให้ไทยมีเวลาพิจารณาข้อเสนอที่ยื่นไปเพิ่มเติมอย่างรอบคอบ
สำหรับผลตอบรับข้อเสนอของไทยในการเจรจาภาษีการค้ากับสหรัฐ ขณะนี้ยังมีการพูดคุยกันอย่างต่อเนื่อง ทั้งในเรื่องเงื่อนไขต่าง ๆ ซึ่งคิดว่ายังต้องหารือกันต่อเนื่องในระยะต่อไป ยังไม่จบเลยในทีเดียว ส่วนผลลัพธ์ในการเจรจาครั้งนี้จะเป็นอย่างไร จะจบหรือภายในวันที่ 1 ส.ค. 68 หรือไม่ หรืออาจจะต้องต่อเนื่องไป และยังเป็นเรื่องที่ต้องติดตาม เพราะหลายประเทศที่มีการเจรจาแล้วก็ไม่ใช่ว่าจะจบ
ที่ผ่านมาไทยได้มีการหารือกับสหรัฐฯ ในหลายระดับอย่างต่อเนื่อง ทั้งการเจรจาผ่านระบบออนไลน์ และการเจรจาต่อหน้า ซึ่งการที่ได้เห็นผลการเจรจาของประเทศอื่นเข้าไปก่อนไทย ก็ถือเป็นเรื่องที่ดี ทำให้สามารถมองออกว่าสหรัฐต้องการอะไร ซึ่งหลัก ๆ คือ ต้องการให้เกิดความสมดุลทางการค้า ทำให้เรายังมีเวลาคิดและทบทวนเกี่ยวกับข้อเสนอที่ได้ส่งไป
สำหรับการเจรจาการค้ากับสหรัฐฯ ภายใต้กรอบ Preferential Trade Agreement (PTA) ไทยได้ยื่นข้อเสนอเพิ่มเติม ซึ่งเป็นการทบทวนหลายรอบ โดยไทยพร้อมขยายการเปิดตลาดให้สินค้าสหรัฐฯ เพิ่มเป็น 69% จากปัจจุบันมูลค่าสินค้าสหรัฐที่ส่งมายังไทย อยู่ที่ 63-64% โดยการเปิดตลาดครั้งนี้จะรวมรายการสินค้าที่ไทยไม่เคยเปิดให้สหรัฐฯ มาก่อนในอัตราภาษี 0% เช่น ปลานิล ลำไย และรถยนต์พวงมาลัยซ้าย แม้ว่าสหรัฐฯ อาจจะไม่ได้มีศักยภาพในการส่งออกสินค้าดังกล่าวมากนัก แต่ก็ถือเป็นการแสดงเจตนาที่ดีและคาดว่าจะไม่กระทบผู้ผลิตในประเทศ
ประเด็นสำคัญอีกหนึ่งเรื่องคือ การสวมสิทธิ์ถิ่นกำเนิดสินค้า ที่สหรัฐฯ ให้ความสำคัญอย่างมาก นายพิชัย ชี้ว่า กติกาการค้าโลกอาจจะต้องเปลี่ยนไป โดยสินค้าที่มีสัดส่วน Local Content สูงอาจไม่ได้โดนภาษีนำเข้าจากสหรัฐเพียง 40% อีกต่อไป แต่อาจพุ่งสูงถึง 60-80% ดังนั้นไทยอาจต้องกลับมานิยามคำว่า Local Content กันใหม่ ซึ่งอาจรวมถึงต้นทุนการผลิตในไทย บวกกับต้นทุนจากสหรัฐฯ และพันธมิตร
"วันนี้เราไม่สามารถอยู่นิ่งได้ ต้องปรับตัว โดยเฉพาะการเพิ่ม Local Content ในห่วงโซ่การผลิตให้สูงขึ้นถึง 60-70% ให้ได้ในอนาคต ซึ่งจะเป็นเกราะป้องกันภาษีได้อย่างยั่งยืน" นายพิชัย กล่าว อย่างไรก็ตาม การปรับสัดส่วน Local Content นั้นต้องใช้เวลา บางอุตสาหกรรมอาจใช้เวลาถึง 5-10 ปี เพื่อปรับจาก 5% ไปเป็น 50%
นายพิชัย ย้ำว่า โจทย์สำคัญของไทยในขณะนี้ คือ ต้องดึงการลงทุนใหม่ให้เกิดขึ้น เพราะการลงทุนถือเป็นส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ รัฐบาลจึงให้ความสำคัญอย่างมากในการเตรียมความพร้อมด้านโครงสร้างพื้นฐาน สะท้อนจากการปรับงบประมาณ 1.15 แสนล้านบาทมาเน้นในโครงการระยะสั้นเพื่อเชื่อมโยงไปถึงโครงการในระยะกลางและยาว
นอกจากนั้น ในระหว่างนี้รัฐบาลกำลังเร่งเตรียมมาตรการให้ความช่วยเหลือกลุ่มอุตสาหกรรมที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบโดยตรง ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการเก็บข้อมูลของแต่ละกลุ่มว่าได้รับผลกระทบอย่างไร และต้องการความช่วยเหลืออย่างไร เพื่อที่รัฐบาลจะได้เตรียมมาตรการทางการเงินในการให้ความช่วยเหลืออย่างถูกต้องต่อไป
"ตอนนี้กลุ่มอุตสาหกรรมกำลังทยอยส่งการบ้านมาเรื่อย ๆ ก็เป็นเรื่องที่เราต้องนำมาพิจารณากันต่อว่าเขาต้องการความช่วยเหลือในด้านใดบ้าง ตรงนี้จะทำให้เรารู้ว่าเขาต้องการอะไร หน้าที่ของเราก็มีเพียงแต่ว่าต้องมาดูว่าจะต้องแก้อะไรบ้าง นอกเหนือจากเรื่อง tariffs และมองว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญ โดยอาจจะมีบางเงื่อนไข หรือบางเรื่องที่ต้องผ่านความเห็นชอบจากสภาฯ เช่น อัตราภาษี
เรื่องนี้ไม่ใช่ยาหวาน แต่เป็นยาขมที่ทุกประเทศต้องเจอทั้งหมด ดังนั้นจึงต้องเร่งทำให้เกิดความเข้าใจและเดินไปในทิศทางเดียวกัน โดยการตัดสินใจด้วยการยึดประเทศเป็นหลัก และต้องเข้าใจว่าไม่มีอะไรได้มา 100% อาจจะต้องเสียไปบ้าง" นายพิชัย กล่าว
อย่างไรก็ดี เบื้องต้นได้สั่งการให้สถาบันการเงินของรัฐ โดยเฉพาะธนาคารออมสิน, ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) และธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (ธสน.) หรือเอ็กซิมแบงก์ เตรียมวงเงินซอฟท์โลน 2 แสนล้านบาท เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการเอสเอ็มอีขนาดเล็ก ในอัตราดอกเบี้ย 0.01% เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการกลุ่มเป้าหมายในเรื่องสภาพคล่อง การลงทุนเพื่อเปลี่ยนผ่าน หรือการบริหารจัดการสินค้าคงเหลือในช่วงสุญญากาศ ส่วนบริษัทขนาดใหญ่นั้น เบื้องต้นธนาคารพาณิชย์อยู่ระหว่างการเก็บข้อมูลว่าต้องการความช่วยเหลือขนาดไหน และด้านใดบ้าง ซึ่งหากเกินกว่าที่ธนาคารพาณิชย์จะสามารถรองรับได้ ก็ให้เสนอมาว่าภาครัฐจะสามารถเข้าไปช่วยเหลือในเรื่องใดได้บ้าง
ที่มา Mgronline.com
----------------------------------------
เอกชนโอดภาษีสหรัฐฯ 36% สูงเกินรับไหว หวังต่อรองต่ำกว่าเวียดนาม-แนะลดภาษี 0%บางส่วน
15-7-2025
ภาคเอกชน วอนรัฐรับมือสงครามการค้า หวังอัตราต่ำกว่าเวียดนาม ชี้หากถูกเก็บ 36% สูงเกินไป พร้อมลดภาษีสินค้านำเข้าจากสหรัฐฯ เหลือ 0% ในบางอุตสาหกรรม แต่ไม่จำเป็นต้องเปิดหมดหน้าตักแบบเวียดนามที่ลดเหลือ 0% ทุกรายการ วอนชะลอปรับขึ้นค่าแรง ห่วงวิกฤตแรงงานซ้ำเติม
นายธนากร เกษตรสุวรรณ ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) หรือสภาผู้ส่งออก กล่าวในงานเสวนาหัวข้อ "The Art of The (Re) Deal" ว่า จากที่ได้ทำธุรกิจกับสหรัฐฯ นั้น เห็นว่าความคิดของสหรัฐฯ คือ สหรัฐฯ ดูประเทศไทยมานานแล้ว ซึ่งที่ผ่านมาสหรัฐฯ เป็นเหมือน Big sugar daddy มานาน จนทำให้เขาสูญเสียความสามารถในการแข่งขันไปเยอะมาก ซึ่งประธานาธิบดีทรัมป์เชื่อว่าจะสามารถแก้ไขปัญหานี้ได้ จึงทำให้เริ่มมีแนวคิดในการใช้มาตรการภาษีกับประเทศคู่ค้า โดยหวังว่าทุกประเทศจะรับฟัง ดังนั้น ถ้าไทยสามารถยืนยันเจตนากับสหรัฐฯ ได้ชัดเจนว่าจะไม่ใช่การเจรจาที่มี favor เหนือสหรัฐฯ ก็เชื่อว่าสหรัฐฯ ยังต้องการจะดีลกับไทยต่อ
"ต้องทำให้เขารู้ว่า เราตั้งหลักที่จะไม่ให้ประเทศใดประเทศหนึ่ง มี favor เหนือสหรัฐฯ ซึ่งเป็นประเด็นที่สำคัญที่สุด ถ้าเขามองออกว่า เรามีเจตนาจะไปในทางนั้น หมายถึงเป็น ego treatment ซึ่งฟีลลิ่งนี้ ถ้าเราทำได้ จะทำให้สหรัฐฯ อยากจะดีลกับเราต่อ" นายธนากร กล่าว
นอกจากนี้ การที่สหรัฐฯ ต้องการจะให้เกิดความเป็นธรรมทางการค้านั้น เราจำเป็นต้องกำหนดจุดยืนว่า การดีล 2 tier คือ ภาษี 20% และ 40% ที่เวียดนามบรรลุข้อตกลงไปแล้วนั้น เราจะเลือกแนวไหน เป็นไปได้หรือไม่ว่าเราต้องดีลกับสหรัฐฯ ให้ชัดเจนว่าเราไม่ prefer เรื่องการสวมสิทธิส่งออกสินค้า
"คล้าย ๆ ดีลเดียว แต่เหมือนกับที่เวียดนามโดนนั้น ความเหมาะสมคืออะไรที่เราควรจะโดน เรามีวิธีการจัดเวลาตรงนี้ ให้มันค่อย ๆ หายไปไหม ถ้าเรายอมตรงนี้มากกว่า จะเหมาะสมไหมกับที่ให้เขาไปช่วยลดภาษีของเราให้ดีกว่าเวียดนามที่โดน 20% ถ้าเกิดเราได้น้อยกว่าเวียดนามเพียง 2% ก็มีความหมายมาก การคุยเรื่องนี้ ถ้าจูนเวลาในการปรับเรื่อง local content แสดง intention ว่าเราต้องการดีลกับสหรัฐฯ จริงๆ และต้องการ ego treatment ระหว่างประเทศที่ยิ่งใหญ่ระดับโลกมันแฟร์ ถ้าเขารู้สัญญาณที่ชัดเจนนี้จากไทย เขาก็จะเดินเกมต่อ ถ้าทำตรงนี้ได้ เราดีลอัตราภาษีตรง 20% 40% ว่าแฟร์อยู่ตรงไหน เขารู้สึกว่ารับได้ การดีลก็จะเกิดขึ้นต่อ" ประธาน สรท.กล่าว
พร้อมมองว่า สหรัฐฯ มีธงอยู่แล้วว่าจะเอาคืนกับประเทศในอาเซียน ที่ได้ดุลการค้าจากสหรัฐฯ มาโดยตลอด ซึ่งสหรัฐฯ ต้องการจะเรียกสิ่งที่เคยสูญเสียไปกลับคืนมา ดังนั้นจึงเป็นที่มาของการที่สหรัฐฯ ประกาศใช้แนวทางภาษี Reciprocal tariff เพื่อเข้าสู่ Fair trade
"เขาต้องการบอกโลกว่า สิ่งที่เขาเคยให้มาในอดีต เขาขอคืน ดังนั้น เราต้องแสดงความตั้งใจว่า เรากับเขาจะเป็นพาร์ทเนอร์ที่เป็น fair treatment ถ้า message นี้ไปได้ชัด ผมว่าเขาอยากจะคุย และเข้ามาดีลกับเราจนกระทั่งจบ ซึ่งเรามีเรื่องที่ชัดเจนคือ เราได้ดุลการค้าสหรัฐน้อยกว่าเวียดนามได้ดุลจากสหรัฐ นี่เป็นจุดสำคัญ ถ้าเราสามารถบอกให้สหรัฐ รู้ว่าทำไมเราถึงควรโดนภาษีน้อยกว่าเวียดนาม ที่ 20% และ 40% เพราะเราทำความเสียหายให้กับสหรัฐฯ น้อยกว่าที่เวียดนามทำ ... ทำอะไรก็ได้ ให้สหรัฐฯ รู้สึกว่าเขาอยาก treat เรา และแฟร์กับเราในฐานะที่เป็น partner" นายธนากร ระบุ
นายนาวา จันทนสุรคน รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า จากที่ได้หารือร่วมกับ 47 กลุ่มอุตสาหกรรมนั้น ทุกคนมองว่าหากสหรัฐฯ จะเรียกเก็บภาษีจากสินค้าไทยที่ 36% ถือว่าเป็นอัตราที่สูงมาก ซึ่งจะทำให้บางกลุ่มอุตสาหกรรมไม่สามารถไปรอดได้ เนื่องจากบางอุตสาหกรรมมีการพึ่งพาการส่งออกไปตลาดสหรัฐฯ ในสัดส่วนที่ค่อนข้างสูง เช่น การผลิตถุงมือยางทางการแพทย์ ในขณะที่คู่แข่งของไทย เช่น มาเลเซีย ถูกสหรัฐฯ เก็บภาษีในอัตราที่ 25% ซึ่งต่ำกว่าไทยมาก
"ผลกระทบจะแตกต่างกันไปในแต่ละภาคอุตสาหรรม แต่ภาพรวมถ้าโดนที่ 36% ถือว่าสูงเกินไป และจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจในภาพรวมของประเทศ แต่เรายังมั่นใจทีมไทยแลนด์ และให้กำลังใจ หวังว่าจะเจรจาได้สำเร็จ"
โดยเมื่อวันที่ 11 ก.ค. ได้มีการหารือกันภายในกลุ่มอุตสาหกรรมของ ส.อ.ท. และได้ทำข้อมูลส่งให้กระทรวงพาณิชย์ไปแล้วว่า พร้อมที่จะลดภาษีสินค้านำเข้าจากสหรัฐฯ เหลือ 0% ในบางอุตสาหกรรม แต่ไม่จำเป็นต้องเปิดให้สหรัฐฯ หมดหน้าตักแบบเวียดนามที่ลดเหลือ 0% ทุกรายการ ควรต้องเปิดเท่าที่จำเป็น และเรียงลำดับความสำคัญ ซึ่งการที่เวียดนามเปิดให้หมด 0% นั้นสำหรับสินค้าสหรัฐฯ นั้น ยังมีข้อสังเกตว่าจะได้ คุ้มกับที่เสียหรือไม่
พร้อมระบุว่า สิ่งที่ ส.อ.ท.เสนอไป คือผู้ประกอบการยินดี และเห็นด้วยกับภาครัฐที่จะพิจารณาลดภาษีอากรสินค้าบางประเภทให้เหลือ 0% สำหรับสหรัฐฯ ส่วนประเทศอื่น ๆ ก็ยึดตาม FTA หรือข้อตกลงที่มีอยู่เดิม แต่สิ่งที่เราห่วงมากคือ เราพึ่งพิงตลาดสหรัฐฯ ถึง 18% ดังนั้นต้องระมัดระวังว่าการที่สหรัฐฯ ใช้มาตรการภาษีนี้ จะเป็นการสร้างกำแพงสูงต่อประเทศอื่น ๆ เช่น จีน อินเดีย ดังนั้นการที่ประเทศเหล่านี้ส่งสินค้าเข้าไปสหรัฐฯ ยากลำบากขึ้นจากกำแพงภาษีนี้ จะทำให้หันมาส่งออกสินค้าเข้ามาในไทยมากขึ้น
ดังนั้น สิ่งที่ไทยต้องทำเพื่อป้องกันผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นกับสินค้าอุตสาหกรรมของไทย คือ การสร้างรั้วสูง กำแพงหนา ประตูเหล็ก เพื่อป้องกันตัวเองด้วย ไม่เช่นนั้น เมื่อใดที่สินค้าจากประเทศเหล่านี้เข้าไปสหรัฐฯ ไม่ได้ ก็จะไหลเข้ามาในไทย เหมือนในช่วง 7 ปีก่อน ที่สินค้าเหล็กจากจีนเข้ามาทุ่มตลาดในไทย และสร้างความเสียหายกับผู้ประกอบการในประเทศ ตามมาซึ่งการลดกำลังการผลิต และลดการจ้างงาน
"เราต้องสร้างรั้วสูง กำแพงหนา ประตูเหล็ก มาตรการ AD ที่เราใช้อยู่ มันไม่เพียงพอ กกร.มีมติแล้วว่า รัฐบาลต้องกล้าใช้มาตรการอื่นด้วย เช่น มาตรการปกป้องการนำเข้าที่เพิ่มขึ้น หรือมาตรการตอบโต้การอุดหนุน เราต้องกล้าใช้มาตรการตอบโต้การอุดหนุนด้วย ประเทศไทยออกกฎหมายมาหลายสิบปี ยังไม่เคยใช้แม้แต่ครั้งเดียว และการเยียวยาอีกส่วนหนึ่งที่ภาครัฐเตรียมไว้ คือ soft loan ซึ่งสมาชิก ส.อ.ท.ของเรา เจอฝนตก พายุหนัก แต่ความรู้สึกของเขา เหมือนโดนธนาคารพาณิชย์บางแห่งหุบร่ม แทนที่จะช่วยป้องกันฝน ป้องกันพายุ" รองประธาน ส.อ.ท. กล่าว
นอกจากนี้ สิ่งสำคัญที่จะช่วยเยียวยาโดยตรงแล้ว ขอเสนอว่า ที่ภาครัฐกำลังเร่งผลักดันค่าจ้างขั้นต่ำให้เป็น 650 บาทต่อวันนั้น ขอให้ชะลอไปก่อนจะได้หรือไม่ เพราะขณะนี้ประเทศกำลังเจอวิกฤติ ซึ่งการดำเนินนโยบายนี้อาจยิ่งเป็นตัวเร่งให้แรงงานตกงานเพิ่มมากขึ้น
นายสัมพันธ์ ศิลปนาฎ นายกสมาคมนายจ้างอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์ และอุปนายกสมาคมเซมิคอนดักเตอร์ไทย กล่าวว่า จากประวัติศาสตร์ 50 ปี Local Content มีเพียง 5% ใช้เวลาเกือบ 20 ปี กว่าจะขยับมา 50% เนื่องจากปัจจัยเรื่องไฮเทคโนโลยี คุณภาพ และความละเอียดสูงมาก
"อิเล็กทรอนิกส์และเซมิคอนดักเตอร์ คุ้นเคยกับการนำเข้าส่งออกที่ 0% แต่วันนี้เราโดน 10% ดังนั้น สิ่งแรกที่จะเห็นหลังจากนี้ คือการลด OT ลดกำลังการผลิต และอุตสาหกรรมไหนที่สามารถโยกย้ายวอลลุ่มกำลังการผลิตได้ เขาจะโยกไปประเทศที่อัตราภาษีต่ำกว่า" นายสัมพันธ์ กล่าว
ที่มา https://mgronline.com/stockmarket/detail/9680000066198?tbref=hp
-------------------------------
นักเศรษฐศาสตร์เตือน! สงครามการค้า "ทรัมป์" ศึกหนักของไทย แนะเร่งปรับโครงสร้างประเทศ
15-7-2025
นักเศรษฐศาสตร์ เห็นพ้องสถานการณ์สงครามการค้า โดยการเก็บภาษีในอัตราสูงกับไทยมีเป้าหมายเพื่อ "ดิสรัปซัพพลายเชน" ในภูมิภาค โดยเฉพาะจีน ห่วงลงทุนชะงัก แนะรัฐบาลเร่งปรับโครงสร้างประเทศ เพิ่มการ "อัพสกิล-รีสกิล" แรงงาน เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันในระยะยาว
นายพิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร (KKP) กล่าวว่า สงครามการค้าในครั้งนี้ ประเทศไทยเจอศึกค่อนข้างหนัก โดยมองว่า สิ่งที่นายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ อยากได้ในสงครามครั้งนี้ คือ 1. ต้องการให้เปิดอุตสาหกรรมในประเทศ ลดอัตราภาษี ยกเลิก non-tariff พิธีการต่าง ๆ 2. อยากให้มีการย้ายฐานการผลิตไปสหรัฐฯ และ 3. ทรานชิปเมนต์
"อัตราภาษีที่ไทยกำลังโดนขู่ มองว่าเขาต้องการดิสรัป ซัพพลายเชนทั้งภูมิภาค โดยมีเป้าหมายสำคัญคือจีน และทำให้เกิดสงครามในหลายมิติ โดยในประเทศที่เห็นชัด ๆ คือการบังคับให้เราเลือกระหว่างภาคอุตสาหกรรม และภาคเกษตร บริการ ซึ่งภาคอุตสาหกรรมได้รับผลกระทบแน่นอน เพราะตลาดสหรัฐฯ เป็นตลาดใหญ่ที่ไทยส่งออก 18% ประเด็นตอนนี้อาจไม่ใช่ว่าเราโดนเท่าไหร่ แต่เราโดนเท่าไรเมื่อเทียบกับคู่แข่ง ซึ่งตอนนี้ประเทศรอบ ๆ ต่ำกว่าเราหมด" นายพิพัฒน์ กล่าว
ดังนั้น คำถามสำคัญคือไทยที่มีความไม่แน่นอนในหลาย ๆ ด้าน แล้วทำไมต่างชาติจะต้องมาลงทุนในไทย ซึ่งนี่อาจเป็นวิธีการเจรจาของทรัมป์ที่ใช้ความไม่แน่นอนเป็นเครื่องมือให้เกิดการตกลงเกิดขึ้นเร็ว ซึ่งสิ่งที่จะกระทบมากกว่าความสามารถในการแข่งขัน คือความสามารถในการเป็นฐานการลงทุน
ทั้งนี้ นายพิพัฒน์ มองว่า ถ้าไทยไม่สามารถเจรจาได้ ก็จะเหนื่อย เพราะสิ่งที่ไทยต้องเจอคือผลกระทบต่อภาคอุตสาหกรรมและการลงทุน การเกษตรและบริการ และเงื่อนไขเรื่องอื่น ๆ ที่ไม่ใช่เรื่องทางการค้า รวมถึงการที่ไทยอาจจะต้องเลือกระหว่างสหรัฐฯ กับจีน
"แรงกดดันครั้งนี้รุนแรง ไทยต้องมาปรับโครงสร้าง เปิดเสรีอย่างค่อยเป็นค่อยไป และหาวิธีชดเชยเยียวยา โดยประเด็นสำคัญคือการอัพสกิลรีสกิลแรงงาน เพื่อเพิ่มขีดความสามารถแข่งขันได้ในระยะยาว" นายพิพัฒน์ กล่าว
ส่วนปัจจุบันนโยบายอัตราดอกเบี้ยมีความเหมาะสมกับพื้นฐานเศรษฐกิจไทยแล้วหรือไม่ นายพิพัฒน์ กล่าวว่า ช็อกครั้งนี้ที่ไทยเจอค่อนข้างรุนแรง การที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) สื่อสารชัดเจนว่า ไม่ได้ขัดกับการผ่อนคลายนโยบายการเงิน แต่อยากเก็บกระสุนไว้เผื่อช็อกใหญ่กว่านี้ ในมุมมองของตนมองว่าช็อกครั้งนี้ใหญ่มาก ดังนั้น อาจต้องมานั่งคิดเรื่องการออกแบบ Policy space เพิ่มเติม
"ไม่ใช่ว่าเราเหลือลดดอกเบี้ยได้อีก 5 ครั้ง แล้วต้องมานั่งคิดระมัดระวังว่าจะลดอย่างไรใน 5 ครั้ง แต่สิ่งสำคัญกว่าคือทำอย่างไรให้การลดดอกเบี้ยมีผลที่ดีต่อเศรษฐกิจ ที่ผ่านมาจะได้เห็นว่าการผ่อนคลายนโยบายการเงิน ในเรื่องการส่งผ่านอาจมีข้อจำกัด ดังนั้น ต้องกลับไปคิดว่าทำอย่างไรให้การใช้นโยบายการเงินมีประสิทธิผลมากที่สุด และถ้าหากใช้หมดแล้วยังมีนโยบายอะไรอีกที่จะสามารถทำได้" นายพิพัฒน์ กล่าว
ด้านนายบุรินทร์ อดุลวัฒนะ กรรมการผู้จัดการ และ Chief Economist บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด กล่าวว่า ตอนนี้เรามองแต่ประเทศเวียดนามว่าเป็นคู่แข่ง แต่เมื่องมองในภาพกว้าง สิ่งที่ควรมองคือสหรัฐฯ เป็น America First และต้องการจัดการประเทศจีน รวมถึงจัดการประเทศที่พึ่งพาจีน รวมถึงต้องการสร้างซัพพลายเชนในละตินอเมริกา ดังนั้น ไทยต้องหาจังหวะในการปรับโครงสร้างของประเทศ ในขณะที่เครื่องจักรทั้งท่องเที่ยวและส่งออกกำลังมีปัญหา
อย่างไรก็ดี มีความกังวลนโยบายเยียวยาผลกระทบจากมาตรการภาษีทรัมป์ของรัฐ ที่จะออกซอฟท์โลน โดยตั้งคำถามว่า การเยียวยาจะยั่งยืนหรือไม่ ถ้าต้องเปิดการแข่งขันจริงธุรกิจเหล่านั้นอาจสู้ไม่ได้ และตั้งคำถามว่าจะต้องช่วยไปอีกนานเท่าไร ดังนั้น จึงอยากให้ใช้จังหวะนี้ให้รัฐบาลใช้ซอฟท์โลนช่วยเยียวยา แต่ต้องเป็นอุตสาหกรรมที่ยั่งยืน และในที่สุดต้องสามารถแข่งขันได้ ไม่ใช่ช่วยไปเรื่อย ๆ เหมือนที่ช่วยภาคเกษตร ที่สุดท้ายเหมือนน้ำซึมบ่อทราย
"ถ้าเทียบกับเวียดนาม ไทยเสียเปรียบในเรื่องภาษีถ้าโดน 36% ถ้าเขาจะเลือกลงทุนในไทย ด้านการส่งออกอาจไม่กระทบมาก ทั้งปีภาพรวมอาจบวก แต่ผลจะมาในระยะกลางและยาว ความไม่มั่นใจเป็นตัวทำให้การลงทุนชะงัก ตอนนี้เรามีทั้งเรื่องภาษีที่สู้ไม่ได้ และมีเรื่อง FTA ที่เสียเปรียบ" นายบุรินทร์ กล่าว
นอกจากนี้ จากการที่สหรัฐฯ ไม่ค่อยอยากคุยกับไทย สะท้อนว่าไทยมีความสำคัญน้อยลงในเศรษฐกิจโลก ดังนั้น เราต้องทำตัวเองให้สำคัญ เช่น ปฏิรูปเกษตร และการศึกษา และมากกว่าการเยียวยาคือการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ และทำให้มีการแข่งขันให้มากขึ้นเพื่อให้เกิดนวัตกรรมใหม่
ที่มา mgronline.com