.

ปูตินเสนอจัดตั้งตลาดซื้อขายสินค้าเกษตร BRICS ชูข้าวเป็นหัวใจสำคัญ ลดการพึ่งพาตลาดโลก-ตัดวงจรการเก็งกำไร
10-7-2025
การจัดตั้งตลาดซื้อขายสินค้าเกษตรของกลุ่ม BRICS โดยเน้น “ธัญพืช” เป็นองค์ประกอบหลัก อาจไม่เป็นที่จับตาในช่วงแรก ทว่าประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน ของรัสเซีย ได้หยิบยกขึ้นมาอภิปรายอย่างจริงจังระหว่างการประชุมสุดยอด BRICS ที่กรุงริโอเดจาเนโร เมื่อวันที่ 6 กรกฎาคมที่ผ่านมา
ระหว่างการประชุมผ่านวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ในเวที BRICS Summit ปี 2025 ปูตินกล่าวต้อนรับการขยายตัวของกลุ่ม โดยเน้นว่า BRICS ในปัจจุบันมีประเทศสมาชิกหลักจากแอฟริกา เอเชีย ตะวันออกกลาง และละตินอเมริกา ซึ่งสะท้อนบทบาทของกลุ่มในฐานะ “เวทีแห่งความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน” ที่ส่งเสริม “ความเคารพซึ่งกันและกัน” ระหว่างประเทศและวัฒนธรรมที่หลากหลาย
ปูตินประกาศว่า “ระบบความสัมพันธ์ระหว่างประเทศแบบขั้วเดียวกำลังกลายเป็นอดีต” พร้อมแสดงความชื่นชมต่อการเกิดขึ้นของ “โลกหลายขั้วที่ยุติธรรมมากขึ้น” นอกจากนี้ เขายังระบุว่า กลุ่ม BRICS กำลังเดินหน้าแผนการจัดตั้ง “ตลาดซื้อขายธัญพืช” (Grain Exchange) รวมถึงแพลตฟอร์มโลจิสติกส์ถาวร และศูนย์วิจัยด้านภูมิอากาศ ซึ่งล้วนสะท้อนความร่วมมือที่ลึกซึ้งยิ่งขึ้นของประเทศสมาชิก
ตลาดซื้อขายธัญพืชดังกล่าว จะไม่ดำเนินการผ่านตัวกลาง แต่จะเป็นแพลตฟอร์มที่สมาชิกสามารถประกาศความต้องการโดยตรงและติดต่อกับผู้จัดหาอย่างชัดเจน ทั้งนี้เพื่อหลีกเลี่ยงกลไกเก็งกำไรในตลาดโลกที่มักส่งผลให้ราคาพืชผลผันผวน ข้าวโพด ข้าวสาลี และถั่วเหลือง จะไม่ถูกปฏิบัติในฐานะ “สินค้าตลาดหุ้น” (stock market commodities) แต่เป็นสินค้าที่ตอบสนองความต้องการระดับรัฐ ซึ่งแนวคิดนี้สะท้อนความพยายามของกลุ่ม BRICS ที่จะสร้างระบบตลาดเฉพาะของตนเองเพื่อความมั่นคงและเสถียรภาพ
ในเวลาเดียวกัน ระบบดังกล่าวยังทำหน้าที่เป็น แพลตฟอร์มซื้อขายที่ตอบโจทย์ความมั่นคงอาหารของประเทศสมาชิกโดยตรง ยกตัวอย่างเช่น ประเทศอียิปต์ ซึ่งไม่จำเป็นต้องพึ่งพาตลาดซื้อขายธัญพืชของโลกที่ราคาแปรผันตามแรงเก็งกำไรอีกต่อไป แต่จะสามารถซื้อขายโดยตรงผ่านระบบแลกเปลี่ยนที่ประเทศสมาชิกแบ่งปันสินค้าคงเหลือ พร้อมเจรจาเรื่องปริมาณและราคาตรงกันเอง ซึ่งจะช่วยลดต้นทุน ลดความเสี่ยงจากราคาผันผวน และรับประกันการจัดหาอาหารในราคาที่เหมาะสม
ระบบใหม่นี้ยังเปิดโอกาสให้ รัสเซียสามารถระบายสินค้าคงเหลือทางการเกษตรอย่างมั่นคง ขณะที่บราซิลและรัสเซียในฐานะผู้ผลิตรายใหญ่จะมีบทบาทเป็นฝ่ายส่งออก ส่วนประเทศสมาชิกอื่น ๆ จะได้รับประโยชน์จากการนำเข้า ทั้งยังช่วยให้ราคาดีกว่าการพึ่งพาตลาดหุ้นสินค้าเกษตรทั่วไป
ในการประชุม ปูตินยังกล่าวว่า BRICS ยังคงขยายความร่วมมือในสาขาสำคัญโดยเฉพาะด้านเศรษฐกิจ และเน้นย้ำว่า เมื่อพิจารณาตามอำนาจซื้อ (Purchasing Power Parity) กลุ่ม BRICS มีศักยภาพเหนือกว่ากลุ่ม G7 อย่างชัดเจน
“กลุ่ม BRICS ไม่เพียงครอบคลุมพื้นที่หนึ่งในสามของผืนแผ่นดินโลก และประชากรเกือบครึ่งหนึ่งของโลกเท่านั้น แต่ยังครองสัดส่วน 40% ของเศรษฐกิจโลก” ปูตินกล่าว
เขาเสริมว่า สิ่งสำคัญในลำดับถัดไปคือการเร่งความร่วมมือในด้านเทคโนโลยี ทรัพยากร โลจิสติกส์ การค้า และการเงิน โดยเฉพาะการใช้ “สกุลเงินท้องถิ่น” ในการซื้อขายระหว่างประเทศสมาชิก ซึ่งกำลังเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
ทั้งนี้ ปูตินเน้นว่า “การเพิ่มปริมาณการลงทุนร่วมกันระหว่างประเทศสมาชิก BRICS ผ่านกลไกของกลุ่ม ถือเป็นภารกิจเร่งด่วน” และย้ำว่าการจัดตั้งตลาดซื้อขายธัญพืชอยู่ระหว่างการดำเนินการ
จุดเปลี่ยนสำคัญ: ระบบการเงินร่วม และการชำระเงินด้วยสกุลเงินท้องถิ่น
ประเด็นที่มีความสำคัญไม่แพ้ “สินค้าเกษตร” ก็คือ ระบบการชำระเงินผ่านสกุลเงินท้องถิ่น ซึ่งถือเป็นองค์ประกอบที่ขาดไม่ได้ หาก BRICS ต้องการให้ตลาดซื้อขายธัญพืชเป็นจริงได้ หากไม่มีระบบนี้ ทุกอย่างจะจบลงเพียงการหักล้างบัญชีระดับธนาคารกลางเท่านั้น
ระบบใหม่นี้จึงจะต้องเปิดทางให้เกิดธุรกรรมทางธุรกิจตามปกติระหว่างนิติบุคคลของประเทศสมาชิก BRICS ได้อย่างเป็นรูปธรรม
แม้การประชุมจะไม่มีพัฒนาการใหญ่เพิ่มเติม เนื่องจากประธานาธิบดีรัสเซียและจีนไม่ได้เข้าร่วมด้วยตนเอง แต่ประเด็นที่ปูตินหยิบยกขึ้นมาเกี่ยวกับ “การลงทุนร่วม” นับว่ามีนัยสำคัญไม่น้อย
จีนลงทุนมากที่สุด – คำถามคือประเทศอื่นพร้อมแค่ไหน?
สิ่งที่รู้แน่ชัดคือ จีนคือผู้ลงทุนรายใหญ่ที่สุดในกลุ่ม ดังนั้นเมื่อกล่าวว่า “ประเทศสมาชิกควรลงทุนแบบต่างตอบแทน” คำถามจึงอยู่ที่ว่า “ประเทศอื่นมีศักยภาพพอจะลงทุนได้หรือไม่?” ไม่ใช่แค่เรื่องเจตนา
รัสเซียเองมีทุนสำรองระหว่างประเทศประมาณ 600,000 ล้านดอลลาร์ ซาอุดีอาระเบียและสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ก็เป็นผู้เล่นรายสำคัญเช่นกัน ทว่าเมื่อเทียบกับ “พญามังกรแห่งเอเชีย” แล้ว ทุกฝ่ายยังห่างชั้น
ความร่วมมือด้านเทคโนโลยี การเงิน และโลจิสติกส์ระหว่างประเทศ BRICS ไม่ใช่เรื่องใหม่ หากแต่เป็นกระบวนการต่อเนื่องที่เริ่มมีความชัดเจนมากขึ้นในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา การจัดตั้งตลาดซื้อขายธัญพืชครั้งนี้ จึงถือเป็น สัญลักษณ์แห่งทิศทางใหม่ของกลุ่ม BRICS ที่กำลังสร้างระบบของตนเองอย่างชัดเจนและเป็นรูปธรรม
---
IMCT NEWS
ที่มา
https://www.globalresearch.ca/establishing-grain-exchange-advances-brics-integration/5894445