ข้อตกลงนิวเคลียร์ 2.0 ของอิหร่านที่กล้าหาญ?

ข้อตกลงนิวเคลียร์ 2.0 ของอิหร่านที่กล้าหาญ?
15-5-2025
หลังจากที่สหรัฐอเมริกาถอนตัวจากข้อตกลงนิวเคลียร์อิหร่านปี 2015 อย่างเป็นทางการในเดือนพฤษภาคม 2018 ความพยายามที่ตามมาสำหรับการฟื้นฟูข้อตกลงดังกล่าวส่วนใหญ่ยังคงหยุดชะงัก อิหร่านได้เสนอแนวคิดในการร่วมมือโปรเจ็กต์การเสริมสมรรถนะแร่ยูเรเนียมร่วมกับการลงทุนจากสหรัฐฯ และประเทศอาหรับในภูมิภาค ได้แก่ ซาอุดีอาระเบียและสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์
อับบาส อารักชี รัฐมนตรีต่างประเทศของอิหร่านได้เสนอแนวคิดนี้เป็นทางเลือกแทนการเรียกร้องของสหรัฐฯ ในการยุบโครงการนิวเคลียร์ของอิหร่านระหว่างการเจรจาล่าสุดกับผู้แทนพิเศษของสหรัฐฯ สตีเวน วิตคอฟฟ์ ในโอมาน ตามรายงานของนิวยอร์กไทมส์
อิหร่านจะใช้โครงการนี้ในการเสริมสมรรถนะแร่ยูเรเนียมให้เป็นระดับต่ำ ซึ่งต่ำกว่าระดับที่จำเป็นสำหรับอาวุธนิวเคลียร์ ตัวแทนจากประเทศอื่น ๆ รวมถึงสหรัฐฯ จะอยู่ในพื้นที่เพื่อให้ "การดูแลและมีส่วนร่วม"
อิหร่านพร้อมที่จะกลับไปสู่ระดับการเสริมสมรรถนะแร่ยูเรเนียมตามที่ระบุไว้ในข้อตกลงนิวเคลียร์ปี 2015 หากสหรัฐฯ ปฏิบัติตามเงื่อนไขบางประการ ตามรายงานของวอลล์สตรีทเจอร์นัลซึ่งอ้างเจ้าหน้าที่อิหร่านและยุโรป
ตามรายงานของหนังสือพิมพ์ฉบับดังกล่าว อิหร่านต้องการให้สหรัฐฯ ผ่อนคลายมาตรการคว่ำบาตรที่เกี่ยวข้องกับโครงการนิวเคลียร์อย่างรวดเร็ว ได้รับสิทธิเข้าถึงทรัพย์สินแช่แข็งมูลค่าหลายพันล้านดอลลาร์ และยุติแรงกดดันจากสหรัฐฯ ต่อผู้ซื้อพลังงานของอิหร่านในประเทศจีน
เมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา มีการเจรจาทางอ้อมระหว่างรัฐมนตรีต่างประเทศอิหร่าน อับบาส อารักชี กับผู้แทนพิเศษของประธานาธิบดีสหรัฐฯ สตีเวน วิตคอฟ ณ กรุงมัสกัต เมืองหลวงของประเทศโอมาน
วิตคอฟกล่าวว่าการเจรจาระหว่างอิหร่านกับสหรัฐฯ ในโอมานเป็นไปในทิศทางที่สร้างสรรค์และเป็นบวก ขณะที่อารักชีก็กล่าวว่าบรรยากาศของการเจรจาเป็นไปอย่างราบเรียบและสร้างสรรค์ พร้อมขอบคุณรัฐมนตรีต่างประเทศของโอมานสำหรับความพยายามในการอำนวยความสะดวกในการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นระหว่างคณะผู้แทนของอิหร่านและสหรัฐฯ และได้ประกาศว่าการเจรจารอบที่สองระหว่างอิหร่านและสหรัฐฯ ในวันที่ 19 เมษายน
เมื่อต้นเดือนมีนาคม ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์แห่งสหรัฐฯ ได้ส่งจดหมายถึงอยาตอลเลาะห์ อาลี คาเมเนอี ผู้นำสูงสุดของอิหร่าน โดยระบุว่าเขาต้องการทำข้อตกลงกับเตหะรานเกี่ยวกับโครงการนิวเคลียร์ของอิหร่าน แต่หากไม่สามารถตกลงกันได้ ก็พร้อมที่จะใช้ปฏิบัติการทางทหารเป็นทางเลือก
ตามที่ประธานาธิบดีมาซูด เปเซชเคียนของอิหร่านเปิดเผย เตหะรานได้ตอบกลับจดหมายดังกล่าวโดยปฏิเสธที่จะเจรจาโดยตรงกับสหรัฐฯ ในประเด็นนิวเคลียร์ และระบุว่าช่องทางการเจรจาจะเปิดก็ต่อเมื่อมีประเทศที่สามเป็นตัวกลางเท่านั้น
ในปี 2015 สหราชอาณาจักร เยอรมนี จีน รัสเซีย สหรัฐฯ ฝรั่งเศส และอิหร่าน ได้ลงนามในข้อตกลงนิวเคลียร์ร่วมกัน (แผนปฏิบัติการร่วมแบบครอบคลุม หรือ JCPOA) ซึ่งมีเนื้อหาหลักคือการยกเลิกมาตรการคว่ำบาตรอิหร่าน แลกกับการจำกัดโครงการนิวเคลียร์ของอิหร่าน
ในช่วงการดำรงตำแหน่งของทรัมป์ก่อนหน้านี้ สหรัฐฯ ถอนตัวจาก JCPOA ในเดือนพฤษภาคม 2018 และกลับมาใช้มาตรการคว่ำบาตรต่อเตหะรานอีกครั้ง อิหร่านจึงเริ่มลดการปฏิบัติตามข้อตกลงอย่างค่อยเป็นค่อยไป รวมถึงการยกเลิกข้อจำกัดด้านการวิจัยนิวเคลียร์และระดับการเสริมสมรรถนะแร่ยูเรเนียม
ที่มา สปุ๊ตนิก