สันติภาพมีราคา' เซเลนสกีจนมุม ทรัมป์เรียกชำระหนี้

สันติภาพมีราคา' เซเลนสกีจนมุม ทรัมป์เรียกชำระหนี้สงคราม กดดันลงนามสิทธิ์ขุดแร่แลกหนี้
23-2-2025
ความตึงเครียดระหว่างประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ และประธานาธิบดีโวโลดิมีร์ เซเลนสกี ทวีความรุนแรงขึ้น หลังสหรัฐฯ เร่งกดดันให้ยูเครนลงนามข้อตกลงมอบสิทธิ์การเข้าถึงแร่ธาตุหายาก เพื่อแลกกับความช่วยเหลือทางทหารที่ให้ไปแล้ว
ยูเครนครอบครองแร่ธาตุมูลค่าสูงหลายชนิด ทั้งลิเธียม (2% ของโลก), กราไฟต์ (4%), นิกเกิล (0.4%), แมงกานีส, ยูเรเนียม และโดยเฉพาะไททาเนียมที่มีถึง 20% ของปริมาณสำรองโลก อย่างไรก็ตาม เกือบ 40% ของแหล่งแร่เหล่านี้อยู่ภายใต้การควบคุมของรัสเซียหรืออยู่ในพื้นที่สู้รบ
แนวคิดนี้เริ่มต้นจากวุฒิสมาชิกลินด์เซย์ เกรแฮม ที่แนะนำให้ยูเครนเสนอทรัพยากรแร่ธาตุเพื่อโน้มน้าวทรัมป์ให้สนับสนุนด้านการทหาร ทีมเซเลนสกีรับแนวคิดนี้ด้วยความหวังว่าจะได้รับอาวุธ การลงทุน เทคโนโลยี และการรับประกันความมั่นคง
แต่ข้อเสนอของทรัมป์กลับเรียกร้องให้ยูเครนมอบความมั่งคั่งจากแร่ธาตุเป็นการชำระคืนความช่วยเหลือทางทหารที่ให้ไปแล้ว โดยไม่มีคำมั่นเรื่องอาวุธหรือการรับประกันความปลอดภัยในอนาคต ส่งผลให้เซเลนสกีปฏิเสธการลงนาม นำไปสู่ความตึงเครียดในการประชุมความมั่นคงที่มิวนิก
ผู้เชี่ยวชาญมองว่าแม้ยูเครนจะลงนาม การดำเนินการก็ยากจะสำเร็จหากไม่ได้รับความเห็นชอบจากรัสเซีย เนื่องจากต้องการความร่วมมือในการรับประกันความปลอดภัยของพื้นที่ขุดแร่ อีกทั้งหลายแหล่งแร่ที่มีศักยภาพอยู่ในพื้นที่สู้รบหรือใต้การควบคุมของรัสเซีย
สถานการณ์นี้ทำให้เซเลนสกีตกอยู่ในสภาวะกลืนไม่เข้าคายไม่ออก ระหว่างการเสี่ยงถูกมองว่าทรยศชาติหากลงนาม หรือเสี่ยงสูญเสียความช่วยเหลือทางทหารหากปฏิเสธ กลายเป็นเบี้ยในเกมการเมืองที่เขาไม่อาจควบคุม ขณะที่ทรัมป์อาจใช้เป็นชัยชนะทางการเมืองในการหาเสียง โดยอ้างว่าเปลี่ยนความช่วยเหลือให้เป็นธุรกรรมที่เป็นประโยชน์ต่อสหรัฐฯ
---
IMCT NEWS / Photo © Global Look Press/Ukraine Presidency
ที่มา https://www.rt.com/russia/613162-no-peace-without-price/
------------------------------------------------
รมต.คลังสหรัฐฯ ยันดีลแร่หายากยูเครนไม่ใช่การบีบบังคับ เน้นฟื้นฟูหลังสงคราม
23-2-2025
Financial Time รายงานว่า รัฐมนตรีกระทรวงการคลังสหรัฐฯ สก็อตต์ เบสเซนต์ ออกมาปกป้องข้อเสนอของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ในการทำข้อตกลงพัฒนาทรัพยากรธรรมชาติและแร่ธาตุสำคัญกับยูเครน ผ่านบทความในหนังสือพิมพ์ไฟแนนเชียล ไทมส์ โดยยืนยันว่าไม่ใช่การกดดันทางเศรษฐกิจที่บีบบังคับ แต่เป็นแผนที่จะช่วยกระตุ้นการเติบโตของยูเครนในช่วงหลังสงคราม
เบสเซนต์ระบุว่า รายได้จากทรัพยากรธรรมชาติ โครงสร้างพื้นฐาน และสินทรัพย์อื่นๆ ของยูเครน จะถูกจัดสรรเข้ากองทุนที่มุ่งเน้นการฟื้นฟูและพัฒนาประเทศในระยะยาว โดยสหรัฐฯ จะมีสิทธิในการบริหารจัดการทางเศรษฐกิจและการกำกับดูแลการลงทุนในอนาคต พร้อมยืนยันว่าการมีส่วนร่วมของสหรัฐฯ จะช่วยป้องกันการทุจริตและการทำข้อตกลงลับ
อย่างไรก็ตาม ฝ่ายยูเครนยังคงมีท่าทีระมัดระวังต่อข้อเสนอดังกล่าว โดยประธานาธิบดีโวโลดิมีร์ เซเลนสกี ระบุว่าข้อเสนอเดิมที่เรียกร้องสิทธิ์ 50% ในแร่หายากและแร่ธาตุสำคัญของประเทศ เพื่อแลกกับความช่วยเหลือทางทหารในอดีตนั้น ไม่เป็นประโยชน์ต่อยูเครน เนื่องจากไม่มีการเสนอความช่วยเหลือในอนาคต
เจ้าหน้าที่ระดับสูงของยูเครนเปิดเผยว่า กำลังจัดทำข้อเสนอตอบโต้ และได้หารือกับคีธ เคลล็อกก์ ทูตพิเศษสหรัฐฯ ประจำยูเครนแล้ว โดยต้องการให้รัฐบาลทรัมป์รับประกันด้านความมั่นคงในข้อเสนอใหม่ก่อนการลงนาม
เบสเซนต์ย้ำว่า สหรัฐฯ จะไม่เข้าเป็นเจ้าของทรัพย์สินทางกายภาพในยูเครน และจะไม่สร้างภาระหนี้เพิ่มเติม พร้อมระบุว่าข้อตกลงจะมีมาตรฐานสูงด้านความโปร่งใส ความรับผิดชอบ และการกำกับดูแลกิจการ เพื่อดึงดูดการลงทุนจากภาคเอกชนสำหรับการเติบโตของยูเครนหลังสงคราม โดยประเทศที่ไม่ได้มีส่วนร่วมในการปกป้องอธิปไตยของยูเครนจะไม่ได้รับประโยชน์จากการฟื้นฟูหรือการลงทุนในครั้งนี้
---
IMCT NEWS
ที่มา https://www.ft.com/content/b4a64be0-7ca6-43f8-b402-af6193576e32
------------------------------------------
ทรัมป์'เสนอดีลใหม่กดดันยูเครน เรียกร้องแบ่งรายได้ 50% จากทรัพยากร-แร่หายาก แต่ไม่มีการันตีความมั่นคง
23-2-2025
สำนักข่าวนิวยอร์กไทมส์รายงานว่า สหรัฐอเมริกาได้เสนอข้อตกลงฉบับใหม่ต่อยูเครน โดยมีเงื่อนไขที่เข้มงวดและรุนแรงกว่าข้อเสนอฉบับก่อนที่ประธานาธิบดีโวโลดิมีร์ เซเลนสกี เคยปฏิเสธไป
ภายใต้ข้อตกลงดังกล่าว สหรัฐฯ เรียกร้องส่วนแบ่งรายได้ 50% จากทรัพยากรธรรมชาติของยูเครน ครอบคลุมทั้งน้ำมัน ก๊าซธรรมชาติ และแร่ธาตุต่างๆ เพื่อเป็นการชดเชยการสนับสนุนทางทหารที่ผ่านมา โดยรายได้ดังกล่าวจะถูกนำเข้ากองทุนที่บริหารโดยสหรัฐฯ จนกว่าจะครบมูลค่ารวม 500,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งสูงกว่ารายได้จริงที่ยูเครนได้รับจากทรัพยากรเหล่านี้ถึง 500 เท่า
นอกจากนี้ ข้อตกลงยังระบุให้นำรายได้บางส่วนจากการดำเนินงานของท่าเรือยูเครนมาใช้ในการชำระคืนด้วย ขณะที่ศูนย์การศึกษายุทธศาสตร์และนโยบายระหว่างประเทศ (CSIS) รายงานว่า บริษัทของสหรัฐฯ จะได้รับสิทธิ์ในการถือครองแหล่งแร่หายากของยูเครนในสัดส่วน 50%
ที่สำคัญ ข้อตกลงฉบับใหม่นี้ไม่มีการระบุถึงการรับประกันด้านความมั่นคงจากสหรัฐฯ ให้แก่ยูเครนแต่อย่างใด
---
IMCT NEWS
ที่มา https://x.com/SputnikInt/status/1893368966921277687
-------------------------------------
'ออร์บาน' ชี้ ยูเครนจะไม่ได้เข้าร่วม NATO-กลายเป็น 'รัฐกันชน'
23-2-2025
วิกเตอร์ ออร์บาน นายกรัฐมนตรีฮังการี คาดการณ์ว่ายูเครนจะไม่ได้รับการเป็นสมาชิก NATO แต่จะทำหน้าที่เป็น “เขตกันชน” ระหว่างกลุ่มทหารที่นำโดยสหรัฐฯ กับรัสเซีย เมื่อความขัดแย้งกับมอสโกสิ้นสุดลง
ตั้งแต่ความขัดแย้งในยูเครนทวีความรุนแรงขึ้นในเดือนกุมภาพันธ์ปี 2022 บูดาเปสต์ก็วิพากษ์วิจารณ์การส่งมอบอาวุธของสหภาพยุโรปให้กับยูเครนมาโดยตลอด รัฐบาลฮังการีสนับสนุนให้มอสโกเจรจามาโดยตลอด โดยออร์บานเรียกร้องให้ยกเลิกการคว่ำบาตรรัสเซีย
เมื่อวานนี้ (22 ก.พ.) นายกรัฐมนตรีฮังการีกล่าวสุนทรพจน์ประจำปีเกี่ยวกับสถานะของประเทศที่บูดาเปสต์ โดยระบุว่าความขัดแย้งซึ่ง “กำลังจะสิ้นสุดลง” ผ่าน “การนำดินแดนที่เรียกว่ายูเครน ซึ่งก่อนหน้านั้นเคยเป็นเขตกันชน รัฐกันชนระหว่าง NATO และรัสเซีย เข้ามาอยู่ภายใต้การควบคุมของ NATO” ซึ่งออร์บานทำนายว่า “ยูเครนหรือสิ่งที่เหลืออยู่ จะกลับมาเป็นเขตกันชนอีกครั้ง และจะไม่ใช่สมาชิกของ NATO”
“เหตุใดเสรีนิยมในยุโรปและอเมริกาจึงคิดว่ารัสเซียจะยืนเฉยอยู่เฉยๆ ยังคงเป็นปริศนา”
การยอมรับเคียฟเข้าร่วมสหภาพยุโรปจะขึ้นอยู่กับการยินยอมของบูดาเปสต์ ออร์บานกล่าวเสริม เป็นนัยว่าฮังการีจะขัดขวางการเข้าร่วมของยูเครน หากเห็นว่าเป็นผลประโยชน์ของชาติตนเอง
เมื่อปลายเดือนธันวาคมที่ผ่านมา (2024) ออร์บานอ้างว่าผู้นำสหภาพยุโรป “กำลังอยู่ในฟองสบู่ที่สร้างขึ้นเอง โดยปฏิเสธที่จะยอมรับว่าสงครามครั้งนี้ไม่สามารถชนะได้ด้วยวิธีที่จินตนาการไว้” ซึ่งการคว่ำบาตรของสหภาพยุโรป “แทนที่จะทำให้รัสเซียพิการ… กลับทำให้ยุโรปอ่อนแอลง”
นายกรัฐมนตรีฮังการีเตือนในครั้งนั้นว่า “ความพ่ายแพ้ของยูเครนไม่เพียงแต่เป็นไปได้เท่านั้น แต่ยังมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้นด้วย” ซึ่งก่อนหน้านี้ ออร์บานได้ชี้ไปที่โจ ไบเดน อดีตประธานาธิบดีสหรัฐฯ ในเรื่องการเพิ่มระดับการสู้รบในปี 2022
รัสเซียอ้างถึงความปรารถนาของยูเครนที่จะเข้าร่วม NATO และแนวโน้มที่โครงสร้างพื้นฐานทางทหารของกลุ่มจะปรากฏในประเทศเพื่อนบ้านอยู่เสมอว่าเป็นหนึ่งในสาเหตุหลักของความขัดแย้ง รวมถึงอธิบายความขัดแย้งนี้ว่าเป็น "สงครามตัวแทน" ที่ต่อต้านรัสเซียที่ดำเนินการโดยชาติตะวันตกผ่านยูเครน
IMCT News
ที่มา https://www.rt.com/news/613163-orban-ukraine-buffer-between-nato-russia/
-------------------------------------
ที่ปรึกษา 'เซเลนสกี' วอนยุโรปหนุนพัฒนาอาวุธ-เพิ่มงบกลาโหมต่อไป
ขอบคุณภาพจาก ecfr.eu
23-2-2025
มิคาอิล โพโดเลียก ที่ปรึกษาคนสำคัญของโวโลดิมีร์ เซเลนสกี ผู้นำยูเครน เปิดเผยว่า การส่งกองกำลังรักษาสันติภาพหรือทหารจากประเทศอื่นไปยูเครนนั้นไม่ใช่เรื่องที่สมจริง โดยโพโดเลียกให้สัมภาษณ์กับสถานีวิทยุ RMF ของโปแลนด์ เพียงไม่กี่วันหลังจากที่เจ้าหน้าที่ระดับสูงของยุโรปหลายคนมารวมตัวกันเพื่อประชุมฉุกเฉินในปารีส ซึ่งก่อนการจัดงาน นายกรัฐมนตรีเคียร์ สตาร์เมอร์ของอังกฤษกล่าวว่า เขา "พร้อมและเต็มใจ" ที่จะส่งกองกำลังของประเทศของเขาไปยังยูเครนเพื่อช่วยรักษาข้อตกลงสันติภาพ
โพโดเลียกกล่าวว่าการส่งกองกำลังรักษาสันติภาพหรือทหารต่างประเทศ "ดูเหมือนสถานการณ์ที่ไม่สมจริงในตอนนี้" แต่เขากลับเสนอว่ายุโรปควรเพิ่มการใช้จ่ายด้านกลาโหม และร่วม "มุ่งเน้นไปที่การพัฒนาอาวุธ" กับเคียฟ และให้การสนับสนุน "ในลักษณะนี้ต่อไป"
ความเห็นดังกล่าวเกิดขึ้นหลังจากที่เจ้าหน้าที่รัสเซียและสหรัฐฯ พบกันในซาอุดีอาระเบียเมื่อวันอังคารที่่านมา (18 ก.พ.) เพื่อหารือเกี่ยวกับการเจรจาในอนาคตเกี่ยวกับการแก้ไขวิกฤตยูเครน ซึ่งประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ของสหรัฐฯ ได้แสดงเจตจำนงหลายครั้งว่าต้องการยุติความขัดแย้งโดยเร็ว
ภายหลังการเจรจา เซอร์เกย์ ลาฟรอฟ รัฐมนตรีต่างประเทศรัสเซีย แถลงว่ามอสโกปฏิเสธอย่างหนักแน่นที่จะให้ส่งกองกำลัง NATO ไปยูเครน ขณะที่กระทรวงการต่างประเทศรัสเซียได้เตือนอย่างต่อเนื่องว่า มอสโกมองว่าการส่งกองกำลังรักษาสันติภาพของยุโรปไปยูเครนเป็นการกระทำที่ยั่วยุซึ่งอาจทำให้ความขัดแย้งรุนแรงขึ้น
สำหรับสตาร์เมอร์มีกำหนดเดินทางเยือนวอชิงตันในสัปดาห์หน้า ซึ่งตามรายงานของ The Telegraph สตาร์เมอร์จะนำเสนอแผนการส่งกองกำลังยุโรป 30,000 นายไปยังยูเครนแก่โดนัลด์ ทรัมป์ และจะพยายามหาทางให้สหรัฐฯ คุ้มกันระหว่างการส่งกองกำลังดังกล่าว ขณะที่เซเลนสกีอ้างเมื่อเดือนมกราคม (2025) ว่ายูเครนอาจต้องการทหารยุโรป 200,000 นายเพื่อรับประกันข้อตกลงสันติภาพ
เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว พีท เฮกเซธ รัฐมนตรีกลาโหมสหรัฐฯ ตัดสินใจไม่ส่งกองกำลังสหรัฐฯ ไปเป็นส่วนหนึ่งของการรับประกันความปลอดภัยที่อาจเกิดขึ้นกับเคียฟ
ขณะเดียวกัน จากรายงานของ Politico บรัสเซลส์กำลังเตรียมแพ็คเกจความช่วยเหลือทางทหารมูลค่าอย่างน้อย 6,000 ล้านยูโร (6,200 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ) สำหรับเคียฟ ซึ่งรวมถึงกระสุนปืนใหญ่ 1.5 ล้านนัดและระบบป้องกันภัยทางอากาศ ซึ่งแพ็กเกจดังกล่าวจะเป็นส่วนหนึ่งในแพ็กเกจความช่วยเหลือทางทหารครั้งใหญ่ที่สุดของสหภาพยุโรป นับตั้งแต่สงครามระหว่างรัสเซียและยูเครนเปิดฉากขึ้นในปี 2022 โดยอาจมีการประกาศให้ทราบล่วงหน้า ก่อนที่คณะกรรมาธิการสหภาพยุโรปจะเยือนเคียฟในวันพรุ่งนี้ (24 ก.พ.)
IMCT News
ที่มา https://www.rt.com/news/613147-foreign-troops-ukraine-unrealistic-podoliak/