ปธน.เกาหลีใต้ประกาศ 'กฎอัยการศึกฉุกเฉิน' ก่อนยกเลิกหลังสภาโหวตคว่ำ
4-12-2024
ประธานาธิบดียูน ซุก ยอล แห่งเกาหลีใต้ ประกาศ 'กฎอัยการศึกฉุกเฉิน' ในวันอังคาร โดยกล่าวหาว่าพรรคฝ่ายค้านพยายามควบคุมรัฐสภา เอนเอียงหาเกาหลีเหนือ และกระทำการต่อต้านรัฐซึ่งทำให้รัฐบาลเป็นอัมพาต
ปธน.ยูน มีคำประกาศทางโทรทัศน์ โดยให้คำมั่นว่าจะ "กำจัดกลุ่มผู้สนับสนุนเกาหลีเหนือ และปกป้องระบอบประชาธิปไตยตามรัฐธรรมนูญ"
แต่อีกไม่กี่ชั่วโมงต่อมา รัฐสภาเกาหลีใต้ได้ลงมติยกเลิกกฎอัยการศึก โดยทางประธานสภาผู้แทนราษฎร วู วอน ชิก ประกาศว่า "สมาชิกรัฐสภาจะช่วยกันปกป้องประชาธิปไตย" พร้อมขอให้ตรวจและทหารถอนกำลังออกจากบริเวณอาคารรัฐสภา
สำนักข่าวยอนฮับของเกาหลีใต้รายงานว่า หลังการประกาศกฎอัยการศึกฉุกเฉินโดยปธน.ยูน กองทัพเกาหลีใต้ได้สั่งห้ามการชุมนุมทางการเมืองเพื่อป้องกัน "ความสับสนทางสังคม" และส่งกำลังทหารไปยังรัฐสภาเพื่อควบคุมความสงบเรียบร้อย
หลังคำประกาศไม่นาน ประธานสภาฯ ได้มีประกาศฉุกเฉินทางช่องยูทูบ เพื่อให้สมาชิกสภาฯ เข้าร่วมประชุมลงมติที่รัฐสภา และขอให้ตำรวจและทหารอยู่ในความสงบ โดย ส.ส. ผู้ร่วมประชุม 190 คนได้ลงมติให้ยกเลิกกฎอัยการศึกทันที
ภายใต้กฎหมายเกาหลีใต้ กฎอัยการศึกนั้นสามารถยกเลิกได้หากผลการลงมติในรัฐสภาไม่เห็นด้วย
ก่อนที่ในเวลา 4.30 น. ตามเวลาท้องถิ่นของเกาหลีใต้ ปธน.ยูน ประกาศยกเลิกกฎอัยการศึก หลังมีมติไม่เห็นด้วยจากสภา ขณะที่มีรายงานผู้ชุมนุมลงถนนเพื่อคัดค้านการออกกฎอัยการศึกของผู้นำเกาหลีใต้
ทั้งหัวหน้าพรรคพลังประชาชน (People Power Party) ซึ่งเป็นพรรครัฐบาลแนวทางอนุรักษ์นิยม และพรรคประชาธิปไตย (Democratic Party) ซึ่งเป็นพรรคฝ่ายค้าน ต่างออกมาตำหนิประธานาธิบดียูนที่ออกมาประกาศกฎอัยการศึกในครั้งนี้ โดยบอกว่าเป็นการกระทำที่ไม่ถูกต้อง รวมทั้ง "ผิดกฎหมายและขัดกับรัฐธรรมนูญ"
ปธน.ยูน ผู้ซึ่งมีคะแนนนิยมลดลงในช่วงไม่กี่เดือนมานี้ ประสบอุปสรรคในการผลักดันวาระต่าง ๆ ผ่านรัฐสภาที่ครอบครองโดยพรรคฝ่ายค้าน นับตั้งแต่ขึ้นบริหารประเทศเมื่อปี 2022 ขณะที่พรรคพลังประชาชนของเขา ประสบความติดขัดในการผ่านร่างกฎหมายงบประมาณสำหรับปีหน้า
ขณะเดียวกัน ตัวปธน.ยูน เองได้ออกมาปฏิเสธเสียงเรียกร้องให้มีการสืบสวนอิสระต่อข่าวอื้อฉาวที่พัวพันกับสตรีหมายเลขหนึ่ง และเจ้าหน้าที่ระดับสูงคนอื่น ๆ จนก่อให้เกิดการวิจารณ์อย่างรุนแรงจากคู่แข่งทางการเมืองของเขา
การประกาศกฎอัยการศึกครั้งนี้ถือเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่เกาหลีใต้มีการปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตยเมื่อปี 1987
จุดเริ่มต้นของจุดจบทางการเมือง
ทั้งนี้ ปธน.ยูน ซึ่งคว้าชัยเลือกตั้งที่ขับเคี่ยวอย่างมากในเกาหลีใต้เมื่อปี 2022 ได้รับการยอมรับจากผู้นำชาติตะวันตก ในฐานะของพันธมิตรสหรัฐฯ ในความพยายามผนึกกำลังของประเทศประชาธิปไตยในการต่อสู้กับระบอบเผด็จการในจีน รัสเซีย และพื้นที่อื่น ๆ ในโลก แต่ในเกาหลีใต้แล้ว ปธน.ยูนถูกกล่าวหาว่าใช้มาตรการแข็งกร้าวในการบริหารประเทศ จากการปราบปรามการประท้วงในช่วงที่ผ่านมา
นักวิเคราะห์มองว่า ประเด็นการใช้กฎอัยการศึกของผู้นำโสมขาว อาจส่งผลกระทบต่อเกาหลีใต้ในเวทีโลกได้ โดยเมสัน ริชีย์ อาจารย์จาก Hankuk University ในกรุงโซล บอกกับรอยเตอร์ว่า “สำหรับประธานาธิบดีที่มุ่งเน้นเรื่องชื่อเสียงในระดับสากลของเกาหลีใต้ สิ่งนี้ทำให้เกาหลีใต้ดูไร้เสถียรภาพอย่างมาก” และว่าสิ่งนี้จะส่งผลเชิงลบต่อตลาดเงินและค่าเงินวอน รวมทั้งจุดยืนด้านการทูตของโสมขาวในเวทีโลก
ส่วนนักการทูตชาติตะวันตกรายหนึ่งที่ไม่ประสงค์ออกนาม บอกกับรอยเตอร์ว่ากฎอัยการศึกจะทำให้การเจรจาเข้าร่วมหน่วยงานระหว่างประเทศของเกาหลีใต้เกิดความยากลำบากมากขึ้น
ด้านเจนนี ทาวน์ จากสถาบันคลังสมอง Stimson Center ให้ทัศนะกับรอยเตอร์ว่าท่าทีนี้ “ดูสิ้นหวังและอันตราย” และอาจเป็นจุดเริ่มของจุดจบในบทบาทประธานาธิบดีของยูนก็เป็นได้ โดยกล่าวว่า “เขาไม่ได้เป็นที่ชื่นชอบอยู่แล้ว แต่นี่อาจเป็นฟางเส้นสุดท้ายที่ทำให้กระบวนการถอดถอนจากตำแหน่งเดินหน้าไปได้”
นับตั้งแต่ปธน.ยูนเข้ารับตำแหน่ง Varieties of Democracy Institute at the University of Gothenburg ในสวีเดน เผยรายงานประจำปีเมื่อเดือนมีนาคมว่า มีการดำเนินคดีที่เกี่ยวกับรัฐบาลชุดก่อนและการคุกคามความเท่าเทียมทางเพศ รวมทั้งลิดรอนสิทธิการแสดงความเห็นมากขึ้น จากที่ปธน.ยูนตอบโต้ผู้วิจารณ์ว่าเป็นการเผยแพร่ข่าวปลอม และยื่นฟ้องหมิ่นประมาทมากกว่าผู้นำคนอื่น ๆ อีกทั้งยังมีการกีดกันการทำงานของสื่อมวลชนอีกด้วย
นอกจากนี้ ในยุคของปธน.ยูน เกาหลีใต้ตกอันดับจาก 47 มาเป็น 62 ในดัชนี global press freedom index ของ Reporters Without Borders
ที่มา: เอพี, รอยเตอร์