ราคาอาหาร-น้ำมัน ดันเงินเฟ้อสหรัฐฯเดือนม.ค.พุ่ง3%
![](../image/news/content_20250213064247.jpg)
ราคาอาหาร-น้ำมัน ดันเงินเฟ้อสหรัฐฯ เดือนม.ค. พุ่ง 3%
13-2-2025
อัตราเงินเฟ้อสหรัฐฯ ร้อนแรงขึ้นอีกครั้งในเดือนมกราคมที่ผ่านมา จากราคาอาหาร น้ำมันเชื้อเพลิง และค่าเช่าที่พุ่งสูงขึ้น กระทบกับครอบครัวและธุรกิจอเมริกันที่ต้องรับมือกับปัญหาราคาสินค้าพุ่งสูง และมีแนวโน้มที่จะส่งผลต่อแนวทางการดำเนินนโยบายของระบบธนาคารกลางสหรัฐฯ หรือ เฟด ที่มีแผนจะเลื่อนการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายออกไปอีก
สำนักงานสถิติแรงงานของสหรัฐฯ แถลงข้อมูลเมื่อวันพุธ ระบุว่า ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปของสหรัฐในเดือนมกราคม เพิ่มขึ้น 3% ช่วงเดียวกันของปีก่อน และเพิ่มขึ้น 2.9% จากเดือนก่อนหน้า
ส่วนดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐาน (Core CPI) ที่ไม่รวมราคาสินค้าอาหารและพลังงาน พุ่งสูง 3.3% ในเดือนมกราคม เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และเพิ่มจากเดือนธันวาคมปีที่แล้วที่ 3.2%
สินค้าอุปโภคบริโภคในเดือนมกราคม ปรับเพิ่มขึ้น 0.5% เมื่อเทียบกับเดือนก่อน โดยเฉพาะราคาไข่ไก่ที่พุ่ง 15.2% ซึ่งถือว่าเป็นการปรับราคาขึ้นมากที่สุดในรอบ 10 ปี ขณะที่ราคาไข่ไก่ปัจจุบันสูงกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้าถึง 53% อันเป็นผลพวงจากไข้หวัดนก
ทั้งนี้ อัตราเงินเฟ้อสหรัฐฯ ในเดือนมกราคม ยังถือว่าสูงกว่ากรอบเป้าหมายของเฟดที่ 2% ต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 6 แล้ว หลังจากทยอยปรับลดลงต่อเนื่องในช่วง 1 ปีครึ่งก่อนหน้านี้
นักเศรษฐศาสตร์จับตาดัชนีนี้อย่างใกล้ชิด เนื่องจากเป็นตัวกำหนดทิศทางของเงินเฟ้อในอนาคต รวมทั้งต้องจับตาท่าทีของเจอโรม พาวเวลล์ ประธานระบบธนาคารกลางสหรัฐฯ หรือ เฟด ที่จะขึ้นให้ข้อมูลต่อคณะกรรมาธิการด้านการเงินของสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ ในวันพุธ ซึ่งคาดว่าจะมีการพูดถึงตัวเลขเงินเฟ้อ และการจัดการของเฟดในเรื่องนี้
โดยในการขึ้นให้ข้อมูลของประธานเฟดต่อคณะกรรมาธิการด้านธนาคารของวุฒิสภาสหรัฐฯ เมื่อวันอังคาร ระบุว่า “เราไม่จำเป็นต้องรีบร้อน” ในการปรับลดดอกเบี้ย แต่ยอมรับว่า การขึ้นภาษีนำเข้าอาจทำให้เงินเฟ้อสูงขึ้น และจำกัดความสามารถของระบบธนาคารกลางสหรัฐฯ ในการปรับลดดอกเบี้ยได้
ที่ผ่านมา เฟดขึ้นดอกเบี้ยนโยบายในปี 2022 และ 2023 ไปถึงระดับสูงสุดในรอบ 20 ปี ที่ 5.3% เพื่อต่อสู้กับเงินเฟ้อ ที่ทำระดับสูงสุด 9.1% ในเดือนมิถุนายน 2022 ขณะที่ในปี 2024 ที่ผ่านมา เฟดปรับลดดอกเบี้ยนโยบายไป 3 ครั้ง มาที่ระดับ 4.3% ในปัจจุบัน
ในช่วงเช้าวันพุธ ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ โพสต์ผ่านสื่อสังคมออนไลน์ว่า อัตราดอกเบี้ยควรต้องลดลง โดยระบุว่า “เป็นสิ่งที่คู่กับกำแพงภาษีที่กำลังจะมาถึง” อย่างไรก็ตาม ทิศทางราคาสินค้าที่สูงขึ้นยิ่งทำให้แนวโน้มที่เฟดจะปรับลดดอกเบี้ยนั้นลดลง
ในทัศนะของแอนโทนี แซกลิมบีน หัวหน้าฝ่ายกลยุทธ์การตลาดจาก Ameriprise มีความไม่แน่นอนเกี่ยวกับมาตรการกำแพงภาษีที่อาจส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของภาคธุรกิจให้ลดลง และอาจทำให้การจ้างงานและการลงทุนลดลงไปด้วย
นักเศรษฐศาสตร์จาก Goldman Sachs คาดว่าเงินเฟื้อพื้นฐานจะปรับลดลง 1% มาที่ระดับ 2.3% ภายในปลายปีนี้ โดยไม่ได้พิจารณาผลกระทบจากภาษีนำเข้า แต่คาดว่าผลกระทบจากกำแพงภาษีจะทำให้เงินเฟ้อปรับขึ้น 2.8% ในช่วงปลายปีนี้
ที่มา: เอพี