Thailand
'ออสเตรเลีย' ติดกับดักศึกแย่งแร่หายาก สหรัฐฯ-จีนต่างชิงอิทธิพล
13-2-2025
SCMP รายงานว่า รัฐบาลออสเตรเลียกำลังเผชิญสถานการณ์ลำบากใจ หลังถูกดึงเข้าสู่สงครามแย่งชิงแร่ธาตุสำคัญระหว่างสหรัฐอเมริกากับจีน ที่ทวีความรุนแรงขึ้นในช่วงไม่กี่วันที่ผ่านมา
ความกังวลของจีนพุ่งสูงขึ้น หลังแอนโธนี อัลบาเนซี นายกรัฐมนตรีออสเตรเลีย สนทนาประเด็นการค้ากับประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ แห่งสหรัฐฯ เมื่อต้นสัปดาห์นี้ โดยเฉพาะหลังมีการหารือเรื่องการยกเว้นภาษีนำเข้าเหล็กและอลูมิเนียม 25% ที่สหรัฐฯ ประกาศใช้ใหม่
ออสเตรเลียมีสถานะพิเศษในฐานะประเทศที่มีแหล่งแร่ธาตุสำคัญจำนวนมหาศาล ซึ่งเป็นที่ต้องการของทั้งปักกิ่งและวอชิงตัน ขณะที่ความตึงเครียดระหว่างสองมหาอำนาจเพิ่มสูงขึ้น แคนเบอร์ราก็ยิ่งถูกบีบให้ต้องเลือกข้าง
ในด้านหนึ่ง สหรัฐฯ ไม่เพียงเป็นพันธมิตรการค้าและแหล่งลงทุนสำคัญ แต่ยังเป็นพันธมิตรที่เพิ่งกระชับความสัมพันธ์ทางทหารผ่านข้อตกลงความมั่นคงไตรภาคี AUKUS อีกด้านหนึ่ง จีนก็มีการลงทุนมหาศาลในออสเตรเลีย และพยายามฟื้นฟูความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจที่เคยสะดุดในสมัยรัฐบาลสก็อตต์ มอร์ริสัน
ปักกิ่งกังวลว่าบริษัทจีนอาจถูกกีดกันออกจากตลาดออสเตรเลีย เนื่องจากประเด็นธุรกิจและเศรษฐกิจเริ่มถูกโยงเข้ากับความมั่นคงมากขึ้น โดยเฉพาะหลังนายอัลบาเนซีแถลงว่า "จำเป็นต้องดำเนินการทันทีเพื่อป้องกันไม่ให้ข้อจำกัดทางการค้าขยายไปถึงแร่ธาตุสำคัญและทรัพยากรอื่นๆ ที่จำเป็นต่ออนาคตเศรษฐกิจของออสเตรเลียและห่วงโซ่อุปทานโลก"
ศาสตราจารย์โจว เว่ยฮวน จากมหาวิทยาลัยนิวเซาท์เวลส์ เรียกร้องให้ออสเตรเลียใช้ "แนวทางสมดุล" ในการจัดการการลงทุนจากจีนในอุตสาหกรรมยุทธศาสตร์ แต่ยอมรับว่าไม่คาดว่าออสเตรเลียจะเปลี่ยนแนวทางการคัดกรองการลงทุนต่างชาติในภาคแร่ธาตุสำคัญ โดยเฉพาะเมื่อการกลับมาของทรัมป์จะยิ่ง "เพิ่มหรือเสริม" การพิจารณาประเด็นภูมิรัฐศาสตร์ของแคนเบอร์รา
ปัจจุบัน จีนเป็นนักลงทุนต่างชาติรายใหญ่อันดับ 8 ในออสเตรเลีย โดยมีการลงทุนใหม่มูลค่า 4.2 พันล้านดอลลาร์ออสเตรเลีย ลดลงจาก 9.5 พันล้านดอลลาร์ออสเตรเลียในปีก่อน ขณะที่สหรัฐฯ ครองอันดับ 1 ต่อเนื่อง
ทิม บัคลีย์ ผู้อำนวยการ Climate Energy Finance ระบุว่า นักลงทุนจีนปรับกลยุทธ์มาร่วมทุนกับบริษัทออสเตรเลียมากขึ้น แทนการลงทุนเดี่ยว เช่น การร่วมมือระหว่าง Rio Tinto กับ China Baowu Steel ในการผลิตเหล็กสะอาด และการจับมือระหว่าง Trina Solar กับ SunDrive Solar ในโครงการพลังงานแสงอาทิตย์
---
IMCT NEWS
© Copyright 2020, All Rights Reserved