Thailand
ดีลเรือดำน้ำอินเดีย-เยอรมนี 1.7 แสนล้าน$ ส่อผลกระทบต่อรัสเซียอย่างไร?
6-2-2025
DW รายงานว่า กลุ่มบริษัท Thyssenkrupp ยักษ์ใหญ่ด้านวิศวกรรมและการผลิตเหล็กของเยอรมนี เตรียมสร้างเรือดำน้ำ 6 ลำให้กับกองทัพเรืออินเดีย ในมูลค่าราว 5.2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 1.7 แสนล้านบาท) หลังชนะการประมูลร่วมกับพันธมิตรท้องถิ่น แต่นักวิเคราะห์มองว่าไม่ได้เป้นสัญญาณที่อินเดียจะลดการพึ่งพาอาวุธจากรัสเซีย
โดย Thyssenkrupp Marine Systems (TKMS) แผนกต่อเรือของกลุ่มบริษัท จับมือกับ Mazagon Dock Shipbuilders (MDS) รัฐวิสาหกิจของอินเดีย เป็นผู้ชนะการประมูลเพียงรายเดียวที่ผ่านการทดสอบภาคสนามของกองทัพเรือ เหนือคู่แข่งอย่าง Navantia จากสเปนที่ร่วมทุนกับ Larsen & Toubro ของอินเดีย
ข้อตกลงครั้งนี้ระบุให้สร้างเรือดำน้ำดีเซลรุ่นล้ำสมัย (advanced conventional submarines) พร้อมเทคโนโลยีขับเคลื่อนอิสระจากอากาศ (AIP) ที่ช่วยให้เรือดำน้ำอยู่ใต้น้ำได้นานขึ้นและเพิ่มความสามารถในการพรางตัว โดย TKMS จะรับผิดชอบด้านวิศวกรรมและการออกแบบ ส่วน MDS จะเป็นผู้ผลิตในอินเดีย
นายนเรนทรา โมดี นายกรัฐมนตรีอินเดีย กล่าวว่าโครงการนี้เป็นส่วนหนึ่งของยุทธศาสตร์เพิ่มขีดความสามารถกองทัพเรือ เพื่อรับมือกับการขยายอิทธิพลของกองทัพเรือจีนในมหาสมุทรอินเดียและเอเชียใต้ พร้อมระบุว่า "อินเดียกำลังก้าวสู่การเป็นมหาอำนาจทางทะเลของโลก"
อย่างไรก็ตาม ข้อมูลจากสถาบันวิจัยสันติภาพระหว่างประเทศสตอกโฮล์ม (SIPRI) ชี้ว่า อินเดียยังคงเป็นผู้นำเข้าอาวุธรายใหญ่ที่สุดของโลก คิดเป็นเกือบ 10% ของการนำเข้าอาวุธทั่วโลกในช่วงปี 2019-2023 โดยรัสเซียยังครองสัดส่วนการนำเข้าสูงถึง 36% แม้จะลดลงจาก 46% ในช่วงปี 2017-2021 และ 69% ในช่วงปี 2012-2016
ด้านซูชานต์ ซิงห์ อาจารย์ด้านเอเชียใต้ศึกษาแห่งมหาวิทยาลัยเยล มองว่าข้อตกลงเรือดำน้ำครั้งนี้เป็นเพียง "โครงการเก่าที่ถูกเลื่อนมานาน" และไม่ได้สะท้อนแนวโน้มการลดการพึ่งพารัสเซีย เนื่องจากรัสเซียยังมีข้อได้เปรียบทั้งด้านราคา การถ่ายทอดเทคโนโลยีขั้นสูง และการควบคุมอะไหล่และกระสุนสำหรับอุปกรณ์ที่อินเดียใช้งานอยู่
แม้เยอรมนีจะเป็นผู้ส่งออกอาวุธรายใหญ่อันดับ 3 ให้อินเดียในครึ่งแรกของปี 2024 ด้วยมูลค่า 153.75 ล้านยูโร และทั้งสองประเทศได้ตกลงสนับสนุน "ความร่วมมือระดับอุตสาหกรรมด้านการป้องกันประเทศที่เพิ่มขึ้น" ในการประชุมระหว่างผู้นำเมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมา แต่นักวิเคราะห์เชื่อว่าการนำเข้าอาวุธจากรัสเซียจะยังคงมีปริมาณสูงต่อไป
---
IMCT NEWS : Photo DW -Image: Tinkeres/imago
© Copyright 2020, All Rights Reserved