Thailand
ทรัมป์'เตรียมถอนสหรัฐฯ พ้น WHO พ่ายเชิงกลยุทธ์! เสียอำนาจนำ สธ.โลก เปิดทางจีน-รัสเซียขึ้นแทน
14-1-2025
DW รายงานว่า ผู้เชี่ยวชาญแสดงความกังวลต่อแผนการของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ที่จะถอนสหรัฐอเมริกาออกจากองค์การอนามัยโลก (WHO) โดยระบุว่าจะเป็น "ความผิดพลาดเชิงกลยุทธ์" ที่ส่งผลกระทบรุนแรงทั้งต่อสหรัฐฯ และระบบสาธารณสุขโลก
สำหรับ ความเคลื่อนไหวของโดนัลด์ ทรัมป์ ที่เตรียมถอนสหรัฐอเมริกาออกจากองค์การอนามัยโลก (WHO) ในวันแรกที่กลับมาดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีสมัยที่สอง 20 มกราคม 2568 สร้างความกังวลอย่างมากในวงการสาธารณสุขโลก เนื่องจากสหรัฐฯ เป็นผู้สนับสนุนรายใหญ่ที่สุดขององค์กร
ข้อมูลจาก WHO เผยว่าสหรัฐฯ เป็นผู้สนับสนุนรายใหญ่ที่สุด โดยจ่ายค่าสมาชิกประจำปี (Assessed Contributions) สูงถึง 260.6 ล้านดอลลาร์ มากกว่าจีน (175.1 ล้านดอลลาร์) และญี่ปุ่น (92.2 ล้านดอลลาร์) นอกจากนี้ยังบริจาคเพิ่มเติมรวมเกือบ 1 พันล้านดอลลาร์ต่อปี คิดเป็น 15% ของงบประมาณทั้งหมด ขณะที่มูลนิธิบิลและเมลินดาเกตส์สนับสนุน 10%
ทั้งนี้ 70% ของงบประมาณ WHO มาจากเงินบริจาคที่ผู้ให้กำหนดวัตถุประสงค์การใช้จ่าย (Voluntary Specified Contributions) ซึ่งเจียน ลูกา เบอร์ซี อดีตที่ปรึกษากฎหมาย WHO ระบุว่าเป็นปัญหาเชิงโครงสร้าง เพราะทำให้องค์กรต้องดำเนินงานตามความต้องการของผู้บริจาค
Lawrence Gostin (ลอว์เรนซ์ กอสติน) ผู้อำนวยการศูนย์ความร่วมมือ WHO ด้านกฎหมายสาธารณสุขที่มหาวิทยาลัยจอร์จทาวน์ เตือนว่าการถอนตัวจะเป็น "การทำร้ายตัวเอง" เพราะสหรัฐฯ จะสูญเสียอิทธิพลมหาศาลด้านสาธารณสุขโลก และเปิดโอกาสให้รัสเซีย จีน และกลุ่ม BRICS เข้ามามีบทบาทแทน ที่สำคัญคือจะเสียเปรียบในการรับมือโรคระบาด เช่น ไข้หวัดนก H5N1 เพราะขาดการเข้าถึงข้อมูลวิทยาศาสตร์และระบบเฝ้าระวังโรคทั่วโลก
ความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯ กับ WHO ตึงเครียดมาตั้งแต่ปี 2563 เมื่อทรัมป์กล่าวหาองค์กรเป็น "หุ่นเชิดของจีน" ในช่วงการระบาดของโควิด-19 และเคยพยายามถอนตัวในช่วงท้ายของการดำรงตำแหน่งสมัยแรก แต่ไม่สำเร็จเพราะรัฐสภากำหนดให้ต้องแจ้งล่วงหน้า 1 ปีและชำระหนี้ที่ค้างทั้งหมด ก่อนที่โจ ไบเดนจะชนะเลือกตั้งและยกเลิกคำสั่งดังกล่าว
อย่างไรก็ตาม เบอร์ซี มองว่าการถอนตัวอาจเป็นกลยุทธ์ต่อรองของทรัมป์ ซึ่งมีภาพลักษณ์เป็นนักเจรจา เพื่อผลักดันการปฏิรูป WHO ให้มีความรับผิดชอบและโปร่งใสมากขึ้น โดยสหรัฐฯ อาจยังคงสนับสนุนบางโครงการผ่านการบริจาคแบบองค์กรการกุศล เช่นเดียวกับมูลนิธิเกตส์และองค์กรอื่นๆ ที่รวมกันสนับสนุนงบประมาณ WHO กว่าครึ่ง
กอสตินเสนอให้ทรัมป์ใช้โอกาสนี้ในการเจรจาปฏิรูป WHO ให้เป็นองค์กรที่มีประสิทธิภาพ รับผิดชอบ และโปร่งใสมากขึ้น ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อทั้งสหรัฐฯ WHO และประชาคมโลก แทนที่จะส่งจดหมายถอนตัวซึ่งจะมีผลในเดือนมกราคม 2569 และทำให้การป้องกันโรคระบาดข้ามพรมแดนทำได้ยากขึ้น
---
IMCT NEWS
ที่มา https://www.dw.com/en/trump-withdrawing-us-from-who-would-be-a-strategic-mistake/a-71267252
© Copyright 2020, All Rights Reserved