Thailand
ธุรกิจผลิตอาวุธยุโรป'ได้อานิสงส์ทรัมป์-NATO คาดงบทหารพุ่ง 500,000 ล้านยูโร
21-1-2025
ยุโรปทุ่มงบกลาโหมรับทรัมป์ 2.0 ชี้ไม่ว่าอยู่-ออก NATO ธุรกิจอาวุธยุโรป อุตสาหกรรมป้องกันประเทศได้ประโยชน์ หนุนเพิ่มงบทหาร 2-5% GDP แย่งส่วนแบ่งตลาดจากสหรัฐฯ"
POLITICO รายงานว่า ในขณะที่ยุโรปส่วนใหญ่วิตกกังวลต่อการกลับมาของโดนัลด์ ทรัมป์ แต่ผู้ผลิตอาวุธในทวีปกลับมองเป็นโอกาสทางธุรกิจ โดยเฉพาะหลังการรุกรานยูเครนของรัสเซียที่ผลักดันให้ประเทศสมาชิกต้องเร่งเพิ่มงบประมาณกลาโหม ซึ่งคณะกรรมาธิการยุโรปคาดว่าจะต้องใช้งบถึง 500,000 ล้านยูโรในทศวรรษหน้า
อุตสาหกรรมป้องกันประเทศยุโรปมองว่าไม่ว่าทรัมป์จะถอนสหรัฐฯ ออกจากนาโต้หรือไม่ก็ตาม พวกเขาจะได้รับประโยชน์จากการเพิ่มงบประมาณทางทหาร โดยปัจจุบันมีสมาชิกนาโต้ 24 จาก 32 ประเทศที่ใช้งบกลาโหมถึง 2% ของ GDP และทรัมป์ยังผลักดันให้เพิ่มเป็น 5% ซึ่งมีเพียงโปแลนด์ที่ใกล้เคียงเป้าหมายนี้
อย่างไรก็ตาม สหรัฐฯ ยังคงเป็นผู้นำตลาดอาวุธในยุโรป โดยข้อมูลจากสถาบันวิจัยสันติภาพระหว่างประเทศสตอกโฮล์ม (SIPRI) ระบุว่า การนำเข้าอาวุธจากสหรัฐฯ เพิ่มจาก 35% เป็น 55% ในช่วง 2019-2023 และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอีก โดยเฉพาะเครื่องบินรบ F-35A เฮลิคอปเตอร์ Apache ระบบป้องกันภัยทางอากาศ Patriot และรถถัง Abrams
ขณะที่ผู้ผลิตอาวุธยุโรปยังคงแข่งขันในตลาด อาทิ โปแลนด์ซื้ออาวุธจากสวีเดนมูลค่า 1,500 ล้านยูโร และพิจารณาซื้อเครื่องบิน Eurofighter Typhoon ที่ผลิตโดยคอนซอร์เทียมของ Airbus, BAE Systems และ Leonardo ด้านโรมาเนียสั่งซื้อขีปนาวุธ Mistral 3 จากฝรั่งเศส
มาริโอ ดรากี อดีตนายกรัฐมนตรีอิตาลี เสนอให้สหภาพยุโรปรวมศูนย์การจัดซื้อและเพิ่มสัดส่วนการจัดซื้ออาวุธร่วมกัน พร้อมสนับสนุนให้ใช้อาวุธที่ผลิตในยุโรปมากขึ้น ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากนายกรัฐมนตรีสวีเดน ที่เน้นความสำคัญของมาตรฐานและการจัดซื้อร่วมกัน
ปัจจุบันยุโรปมีโครงการพัฒนาอาวุธสำคัญหลายโครงการ ทั้งเครื่องบินรบรุ่นที่ 6 โครงการวิจัยรถถังใหม่ฝรั่งเศส-เยอรมนี เรือรบคอร์เวต ระบบป้องกันภัยทางอากาศ SAMP/T ฝรั่งเศส-อิตาลี และการพัฒนาโดรน ซึ่งมีมูลค่าการลงทุนหลายพันล้านยูโร แสดงให้เห็นถึงศักยภาพของอุตสาหกรรมป้องกันประเทศยุโรปที่พร้อมแข่งขันในตลาดโลก
---
IMCT NEWS
ที่มา https://www.politico.eu/article/donald-trump-europe-arms-makers-weapons-ukraine-russia-war-defense/
© Copyright 2020, All Rights Reserved